“เฉลิมชาตรี-ทรงกลด-ธนกร”3มุมมองด้านจริยธรรมในสังคมยุคGeneration Y
คนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2520 หรือที่เราเรียกว่า กลุ่มคนในยุค Generation Y หรือ Gen Y ได้รับคาดหวังว่าจะมีศักยภาพในการเรียนรู้สูงกว่าคนทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากความทันสมัยในการใช้เทคโนโลยี บวกกับไอเดียสร้างสรรค์ แบบที่เรียกกันว่า ‘คิดนอกกรอบ’ แต่จะแปลกแหวกแนวถึงเข้าขั้นหลุดขั้วจริยธรรมด้วยหรือไม่นั้น
ในงานสัปดาห์ส่งเสริมจริยธรรมแห่งชาติ ประจำปี 2553 ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน เพิ่งจบไปหมาดๆ ได้ระดมคนจากหลากหลายอาชีพที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้ง “ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล” ซีอีโอ บริษัท ฟุ๊คดุ๊ก โปรดักชั่น “ทรงกลด บางยี่ขัน” บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day และ “ธนกร ฮุนตระกูล” นักธุรกิจหนุ่ม เจ้าของโรงแรมบ้านท้องทราย เกาะสมุย มาถ่ายทอด มุมมองด้านจริยธรรมในสังคมยุค Generation Y ร่วมเวทีเดียวกัน โดยมี ดร.อริศรา กำธรเจริญ เป็นผู้ตั้งคำถาม กับหนุ่มนักคิดรุ่นใหม่
ดร.อริศรา : คนยุค Generation Y มีลักษณะเช่นไร
ทรงกลด: Generation Y คือคนที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ.2520 เติบโตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์ โตบนโลกไซเบอร์และไม่ค่อยพบปะผู้คน
ธนกร: คนที่มีความเป็นเด็กอยู่ตัวสูง ไม่ค่อยโต (ความคิด)
ดร.อริศรา: มีมุมมองต่อจริยธรรมของคนยุค Gen Y อย่างไร
ทรงกลด: ผมคิดว่า จริยธรรม คือการทำเพื่อผู้อื่นมากกว่าตัวเอง แต่ยุคปัจจุบันการแก่งแย่งมีสูง สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ คนเมืองถูกบีบคั้น เอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้น และเมื่อสภาพสังคมแวดล้อมกดดัน ทำให้เราคิดถึงผู้อื่นน้อยลง
ธนกร: ค่านิยมของคนสมัยนี้ คิดแต่เรื่องเงิน เรื่องหน้าตาเป็นสำคัญ ทำให้คนมองกันเพียงแค่เปลือกจนกระทั่งลืมเรื่องจิตใจภายใน อย่างเช่นเรื่องของจริยธรรม ฉะนั้น เราควรปรับทัศนคติและวิธีคิดของคนในสังคมยุคนี้เสียใหม่ ให้ลดความสำคัญกับเรื่องเงินลง เพราะที่จริงแล้วบางคนหาเงินได้เยอะก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร แต่เราน่าจะถามตัวเองว่าต้องการอะไรในชีวิต และเมื่อคุณได้มาแล้วจะรู้สึกพอไหม แต่ไม่ใช่จะคิดว่าจะต้องหาเงินให้เยอะๆ จนไม่มีที่สิ้นสุด
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี: ผมมองว่าในคำว่า ‘จริยธรรม’ มีคำหนึ่งที่สามารถแยกออกมาได้คือคำว่า ‘ธรรม’ ซึ่งธรรมในแต่ละสังคมนั้นย่อมมีความแตกต่างกัน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีธรรมเป็นของตนเอง
“พื้นเพของสังคมไทยมีความสอดคล้องกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต่อมาเมื่อประเทศไทยเริ่มรับนานาอารยธรรมเข้ามา จากต่างชาติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและธรรมในสังคมก็ถูกแทรกแซง ซึ่งหากสิ่งที่รับเข้ามาไม่ใช่ความคิดที่ดี ก็จะยิ่งทำให้เกิดความผิดแผกทางจริยธรรม และธรรมดั้งเดิม เช่น ความโลภ ความโกรธ อาฆาต การแข่งขัน สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ดังนั้นเราควรเลือกรับแต่ความคิดที่ดี เพราะความคิดที่ดีจะได้รับการหล่อหลอมจนกลายเป็นจริยธรรม”
ดร.อริศรา: ถามม.ร.ว. เฉลิมชาตรี มองเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ก็มีส่วนเช่นกันที่ทำให้ ธรรม จากต่างชาติที่เข้ามาไม่กลมกลืนกับของไทย
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี: การเข้ามาของวัฒนธรรมข่าวสาร เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ เรามีภูมิคุ้มกันแค่ไหนที่จะรองและรับสิ่งเหล่านี้ ภูมิคุ้มกันในที่นี้ผมใช้คำว่า วิจารณญาณ ในปัจจุบันเราใช้วิธีการป้องกันวิจารณญาณ แต่ไม่ได้ใช้วิธีการสร้างวิจารณญาณ
“เราพยายามควบคุมเด็กให้ “ทำ” เท่านั้นเท่านี้ เราตั้งกรอบให้เขารู้ว่าจริยธรรมอยู่ที่ไหน แต่ไม่ได้สร้างให้รู้ว่าความจริงแล้ว เขาสามารถตัดสินได้ว่าจริยธรรมคืออะไร โดยการเข้าใจบรรทัดฐานของสังคม เข้าใจธรรมของสังคม”
ดร.อริศรา: เมื่อคนในสังคมให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘เงิน’ แล้วจะมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้างในการใช้ชีวิต
ธนกร: ‘เงิน’ เป็นเรื่องที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนทุกคน ไม่ว่าจะยุคสมัยใด เพราะไม่มีเงินก็อยู่ไม่ได้ เมื่อเงินกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต การที่จะเปลี่ยนก็คงเป็นไปไม่ได้ ยิ่งเมื่อบวกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ทำให้สิ่งเหล่านี้หอมหวนเย้ายวนมากขึ้น เช่นการทำธุรกิจ เราอาจตั้งเป้าไว้ที่ 100 แต่เอาเข้าจริงเราอาจทำแค่ 60 ลดความต้องการ ลดกำไรลง หากต้องแลกกับการทุจริต เพราะการมุ่งเน้นที่จะหาเงินเพียงอย่างเดียว อาจไม่ให้ความสุขทางใจ
“การที่คนเราคิดถึงเรื่องเงินเป็นส่วนใหญ่ เพราะเราไม่มีความมั่นคงในชีวิต ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้การศึกษาฟรีมีคุณภาพ ทำอย่างไรให้คนไม่ต้องพยายามหาเงินมากๆ เพื่อเก็บไว้ใช้รักษาตัวยามเจ็บป่วย ถ้าเกิดรัฐเข้ามาช่วยในการแบ่งเบาภาระด้านปัจจัยสี่ อาจจะทำให้คนคิดถึงเรื่องเงินน้อยลง”
ดร.อริศรา: สิ่งใดที่ทำให้ ‘ธนกร’ ยืนหยัดอยู่บนความพอเพียงได้
ธนกร: ผมเชื่อว่าสิ่งที่ ‘ยิ่งใหญ่’ ไม่ได้แปลว่า ‘ยิ่งดี’ ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งเหนื่อย และความเหนื่อยก็นำพาไปสู่ความทุกข์มากขึ้น
“พระพุทธเจ้าสอนเราในเรื่องการพ้นทุกข์ สอนเราในเรื่องการหมดห่วง และเมื่อตอนเราตายก็ไม่สามารถเอาอะไรไปได้สักอย่าง หากเราหยุดกิเลส หรือความต้องการลงบ้าง ก็จะก่อให้เกิดความสุขทางใจ ผมมองว่าชีวิตมีอะไรมากกว่าการทำธุรกิจหรือหาเงิน และคิดว่าคำว่า ‘พอดี สำคัญกว่า ซึ่งแน่นอน ความพอดีของแต่ละคนก็ต่างกัน แต่เมื่อเราถามตัวเราว่าความพอดีเท่าไหร่และได้เท่านั้นก็ต้องรู้จักพอ
ดร.อริศรา: ทิศทางจริยธรรมของคนทำหนังสือและผู้เสพผลงานเปลี่ยนไปหรือไม่
ทรงกลด: โลกสมัยนี้มันเร็วขึ้น คนอยากใช้เวลากับทุกอย่างน้อยลง นักจิตวิทยาท่านหนึ่งบอกว่า คนเราต้องการการยอมรับเสมอ และต้องการเพียง 1 ใน 4 อย่างเท่านั้น คือ เก่ง สวย รวย ดี ทุกวันนี้วัยรุ่นมองว่าคนเก่งไม่เท่ห์ เป็นเด็กเนิร์ด (Nerd) แต่กลับมองคนสวยหล่อที่เป็นดารานักร้องว่าดูดี คนจะให้ความสำคัญกับความสวยความหล่อมากกกว่าคนเก่ง หรือคนดี ทั้งที่ในความจริงแล้ว ‘ความดังไม่คงที่ ความดีกลับคงทน’
“สื่อสามารถช่วยกระตุ้นให้วัยรุ่นคิดได้ว่าคนเก่งก็สวยก็เท่ห์ได้ หรือคนที่เป็นคนดี คิดอ่านดีก็เท่ห์ได้เช่นกัน เนื่องจากสื่อมีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคม เมื่อก่อนเรามักพูดกันว่า ประวัติศาสตร์ถูกเขียนโดยผู้ชนะ แต่ปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ถูกเขียนด้วยปลายปากกา สื่อนั่นแหละที่เป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริงจะถูกนำเสนอผ่านสื่อ ใครเป็นคนดีคนเลว สื่อว่าอย่างไร พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เป็นอย่างไร”
“วงการบันเทิงมีพื้นที่ในสื่อเยอะมากแล้ว เราควรเปิดพื้นที่สื่อเชิดชูคนดีในสังคมเพิ่มขึ้น และผมเชื่อว่าจะทำให้โลกดีขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเกิดจากการบังคับหรือออกกฎหมายอีกกี่ฉบับก็ตาม เพราะคนสมัยนี้ดื้อมาก การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ที่เกิดขึ้น เกิดจากคนหนึ่งคนทำจนประสบความสำเร็จ และขยายตัวต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้น สื่ออาจเริ่มทำให้เห็นก่อนว่ามันสามารถทำได้ เกิดขึ้นได้ในที่สุดก็จะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภค ทั้งผู้อ่าน ผู้โฆษณา”
ดร.อริศรา: จะทำอย่างไรให้คนยุคใหม่เห็นค่า ‘ความดี’ มากกว่า ‘ความสวยหล่อ’
ทรงกลด: สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย คือ ไม่ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ประเทศไทยไม่เคยมีมารยาททางสังคมเลย
“ผมมองว่าเด็กยุคนี้ ยุคชิมิ ยุคบีบีเป็นยุคที่อ่อนแอมาก สิ่งที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจคือเพื่อนและวัตถุ”
‘ครอบครัว’ จึงต้องสอนว่าแก่นชีวิตคืออะไร ทำไมต้องมี มีแล้วมันเหาะได้หรือ คือเราต้องสอนให้เด็กคิดก่อนเสมอ เพราะฉะนั้นครอบครัว หรือครูอาจารย์ก็ควรจะสร้างแก่นให้เด็กมั่นใจในตัวเองจากข้างในไม่ใช่เปลือก ซึ่งหากทำได้ก็จะทำให้เด็กปลอดภัยมากในสังคมยุคนี้”
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี: ผมคิดว่าสังคมอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ทางสังคมที่เป็นหน่วยย่อยเล็กๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับรูปแบบจริยธรรมที่เราต้องมองดูพื้นที่ที่เล็กที่สุด ด้วยเงื่อนไขทางพื้นเพและสังคมที่ต่างกัน
“การสร้างตัวอย่างที่ดี โดยทำให้เห็นว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูกเป็นเรื่องสำคัญ ความดีที่เกิดผล โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝัง เพราะจะทำให้ความดีและจริยธรรมเกิดขึ้นในสังคม แต่ทั้งนี้จะต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความดีเจริญเติบโตต่อไปได้และก่อเกิดความสุขที่แท้จริง”
ดร.อริศรา: อยากเห็นอนาคตของสังคมไทยในยุค Gen Y เป็นอย่างไร
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี: ผมอยากเห็นคนไทยเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ธนกร: ผมอยากเห็นสื่อเชิดชูคนดีคนที่ทำหน้าที่ อยากเห็น ‘ฮีโร่’ ในทุกอาชีพและอยากเห็นพื้นที่ป่าในเมืองเพิ่มมากขึ้น
ทรงกลด: ทุกคนพยายามเคร่งครัดกับคนอื่น แต่ผ่อนปรนกับตัวเองเสมอ เราจึงมักได้ยินแต่คนพูดมากกว่าที่จะลงมือทำ ที่เหนือกว่านั้นเรายังทำน้อยกว่าที่ศักยภาพเราจะทำได้
ขอบคุณภาพจาก http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=931
http://www.mbamagazine.net/home/images/resized/05.jpg
http://www.liverpoolthailand.com/forum/index.php?showtopic=36926