ปลุก "พลังในตัว" เปลี่ยนประเทศไทย กับ "Ignite Thailand"
เต็มไปด้วยพลังแห่งความประทับใจ สำหรับบรรยากาศงาน "Ignite Thailand" ครั้งที่ 2 เวทีพูดสร้างแรงบันดาลใจปลุกพลังบวกคนไทย ที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา ภายในหอประชุมจุฬาฯ 1,300 ที่นั่งแน่นขนัดไปด้วยผู้คนทุกสาขาอาชีพ มาร่วมสร้างปรากฏการณ์ “ฟัง” 21 Igniters (นักจุดประกาย) “พูด”
แม้ช่วงเวลาอันจำกัดแค่ 5 นาที กำหนดให้ Igniters แต่ละคนพูดสร้างแรงบันดาลใจ ผ่านการเล่าเรื่อง แบ่งปันประสบการณ์ และจุดประกายพลังบวกไปพร้อมๆ กับสไลด์พรีเซ็นเทชั่น 20 หน้า กินระยะเวลารวมๆ กว่า 2 ชั่วโมง แต่สามารถตรึงคนฟังให้นั่งนิ่งไม่ลุกหนีไปไหนได้
และนี่คือบางส่วนที่คัดมาจากเวทีคิดบวก พลังที่ Igniters หยิบขึ้นมาใช้ทั้งพูด คิด ทำ และลุกขึ้นทำด้วยตัวเองอย่างคิดสร้างสรรค์
คนหนึ่งคนจะ “สร้าง” อะไรได้
Igniter: ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ผู้เรียกตนเองว่า “คนนอกระบบ” เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่น 1 ด้านเกษตรกรรม (การปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม) เจ้ากรมราษฎรส่งเสริม บ้านปากช่อง ต. สนามชัย อ. สตึก จ. บุรีรัมย์ กับหัวข้อ: วิจัยไทยบ้าน
ปราชญ์ชาวบ้านจากดินแดนอีสานใต้ ยกคำพูดอันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการทำนาว่า “ทำนาปีมีแต่หนี้กับซัง ทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้”
ความเปลี่ยนแปลงในชนบทมีมากมาย คนอยากแต่จะรวยมากๆ รวยง่ายๆ รวยเร็วๆ ถ้าทำได้ มันก็ดี แต่วิธีคิดเหล่านี้มันเป็นได้น้อยมาก สาเหตุมาจากความรู้ไม่พอใช้ จึงพากันทิ้งถิ่น เรื่องทั้งหมดทั้งมวลสาเหตุมาจากการศึกษา ทำให้ครูบาสุทธินันท์ คิดสร้าง “มหาชีวาลัย” ขึ้นมาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เป็นยาขมหม้อใหญ่ ปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อรักษาไข้ใจของชาวอีสาน เพราะคนอีสานใจเต้นตูมๆ ใจไม่สงบ
“วันนี้จึงเข้ากรุงมาตามควาย ทุกวันนี้ควายหายไป มีคนบอกว่าเอาควาย4ตัว มาแลกควายเหล็กได้ตัวหนึ่ง แต่ควายเหล็กมันออกลูกไม่ได้ ขี้ก็ไม่ได้ แถมตกน้ำทีไรเสียเงินทุกที ใช้ควายเหล็กทำงานมันสั่นสะเทือนไปทั่วร่างกาย สุดท้ายก็เจ็บป่วย จึงขายควายทยอยเข้าโรงงานลูกชิ้น เจ้าของควายก็ตามมาเข้าโรงงานด้วย ควายเป็นลูกชิ้น แล้วเจ้าของควายจะเป็นลูกอะไรละครับ ควายหายไป สงสารแต่นกเอี้ยงเคยเลี้ยงควายเฒ่า มาวันนี้เอี้ยงเหงามองหาควายไม่เห็น”
ส่วนเรื่องการศึกษา ครูบาสุทธินันท์ ให้ข้อคิดไว้ว่า ถ้าเรียนในห้องได้ความรู้ เรียนนอกห้องได้ความจริง เอาความรู้มาบวกกับความจริง ได้ความรู้จริง ปัญหาการศึกษาก็คือ เรียนในห้องแคบๆ เรียนกับคนใจแคบ ปฏิรูปอะไรไม่ได้ ซึ่งจะต้องปรับกระบวนการทำให้ผู้เรียนอยากรู้ อยากเห็น อยากทดลอง ก็พบว่า ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ไม่น่าเบื่อ ไม่น่าเซ็ง การเรียนรู้ทำไมต้องทุกข์ด้วย เรียนรู้ให้สนุกสนาน เรียนให้ภาคภูมิใจ ซึ่งมีวิธีการเยอะแยะ
“กระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า เปิดห้องเรียนสู่โลกกว้าง ให้ทุกอย่างเป็นครู แต่ยังปิดห้องสอน ทำไมเราไม่เรียนในโลกกว้างในห้องที่มีออกซิเจนเยอะ ในบรรยากาศดีๆ ในความคิดดีๆ ผมคิดว่าเด็กรุ่นนี้เป็นเด็กพันธุ์ใหม่ ถ้าหากสอนแบบเก่า เด็กจะทิ้งครู ปิดห้องเรียน เกิดปัญหาทางการศึกษา จะต้องยกกระบวนการย้ายห้องเรียน ไปเรียนในห้องที่มีออกซิเจนเยอะๆ สมองจะได้ปลอดโปร่ง
"วันนี้ ถ้าจะทำให้หัวใจคนไทยเต็มไปด้วยความเข้าใจ และความตั้งใจ พาสังคมพาประเทศไปได้ ปัญหาคือ เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ มองคนละมุม มองคนละส่วน ทำอย่างไรการเรียนรู้ ทำอย่างไรจะมีชีวิต ชีวา และการเรียนรู้ต้องเรียนรู้เชิงรุก ต้องลุกจากเก้าอี้เสียก่อน ไม่ใช่ว่า เชิงรุก และยังนั่งติดเก้าอี้ มันพัฒนาไม่ได้”
Igniter:สมคิด ชัยจิตวนิช ผู้ก่อตั้งโครงการ กรุณาแห่งรัก (Art Care) กับหัวข้อ: Art Care
สร้าง “โรงพยาบาลน่าอยู่” ด้วย “ศิลปะบำบัด” สมคิด ชัยจิตวนิช ช่างภาพข่าวหลายสำนักที่มานำเสนอโครงการดีๆ ที่ช่วยเหลือคนป่วยในโรงพยาบาล โดยโครงการนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2552 ณ อาคารฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ
สมคิดและเพื่อนพ้องช่างภาพเห็นและเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยหนักที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลภายใต้บรรยากาศที่เศร้าและหดหู่ใจ จึงเกิดไอเดียนำภาพถ่ายต้นไม้สีเขียว ใบไม้ หยดน้ำ ที่สื่อความรู้สึก ผ่อนคลาย สงบ เย็นและมีสติ มาประดับตามผนังอาคาร สร้างบรรยากาศให้เหมือน Art Gallery
และล่าสุดเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาโครงการนี้ก็ที่ได้ถูกสานต่อไปยังพื้นที่ห่างไกล อย่างโรงพยาบาลหัวทะเล จ.นครราชสีมา ตามด้วยการเปิดอบรมการถ่ายภาพให้บุคลากรในโรงพยาบาล หวังให้เขาเหล่านั้นสามารถที่ถ่ายภาพสวยๆ ได้ด้วยตนเอง
ช่างภาพอิสระ อย่าง “สมคิด” ยังบอกด้วยว่าสิ่งเหล่านี้เราทุกคนสามารถช่วยกันสร้างโรงพยาบาลน่าอยู่ในชุมชนของตัวเองได้ ไม่ใช่ปล่อยให้โรงพยาบาล มีบรรยากาศหดหู่ เป็นสถานที่ที่ทุกข์ทรมานของคนไข้ และญาติผู้ป่วย
คนหนึ่งคนจะ “ทำ” อะไรได้
Igniter:ดร. อาบทิพย์ ธีรวงศ์กิจ อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้มีความสุขกับการเล่นดนตรีโดยเฉพาะขิม กับหัวข้อ : บทเพลง ความสุข และการแบ่งปัน
ปลุกพลังบวกง่ายๆ “ทำที่สิ่งที่รัก แล้วแบ่งปัน” ดร. อาบทิพย์ หรือ “ครูอ้อม” เลือกใช้เครื่องดนตรีไทยที่เธอชื่นชอบถ่ายทอดความสุขเล็กๆ เกิดขึ้นได้จริง จากการทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และรู้จัก แบ่งปัน ความสุขนั้นให้แก่คนรอบข้าง แทนคำพูดบนเวที สลับกับสไลด์ที่ฝากให้ทุกคน 1.ลองค้นหาตัวตนและสิ่งที่ตัวเองรัก (Discovery your self) 2.เติมความคิดสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์ (Be Creativity) และ 3.แบ่งปันสิ่งดีๆ เหล่านั้นสู่ผู้อื่น (Sharing) เช่น ที่เธอทำด้วยการเล่นขิมแสดงศักยภาพของเครื่องดนตรีไทยผ่านบทเพลงมากมายที่สร้างความสุขให้ผู้คน ผ่านช่องทางทั้งยูทูปว์และเฟซบุ๊ค ที่ http://www.youtube.com/aomjaija http://www.facebook.com/aomkhim
ซึ่งคุณอ้อมบอกว่า “ทุกคนก็สามารถมีโอกาสเป็นผู้จุดประกายสิ่งดีๆ ในสังคมได้ เพียงแต่ค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบแล้วเลือกใช้เครื่องมือที่มีอยู่ แบ่งปันความสุขดีๆ กลับคืนให้สังคม”
Igniter:วิลาวัลย์ บุญจันทร์ ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ดาวิน ชอยส์ และอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม(อิสระ) กับหัวข้อ: การให้และรักที่ปราศจากเงื่อนไข
นักประชาสัมพันธ์สาวบริษัทเอกชน เล่าประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กกำพร้า บ้านปากเกร็ด กว่า 3 ปีที่เธอใช้เวลาทุกวันพุธมาทำงานเพื่อเด็กๆ เพียงแค่ 4 ชม. สิ่งที่เธอคิดว่าจะนำมาให้เด็กๆ กลับกลายเป็นว่า ตัวเองได้รับกลับมาแทน
“งานนี้ทำให้เราได้เปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เวลาว่างในวันหยุด เกิดความสุขใจแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เกิดมุมมองที่แตกต่างในการมองเด็กกำพร้า เมื่อเราให้เขาและรักเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งในประเทศของเรายังมีน้องๆ ที่รอโอกาสแบบนี้อีกมากที่ต้องการความอบอุ่น และความรักรออยู่”
คนหนึ่งคนจะ “พลิก” อะไรได้
Igniter: “ ป๋วย P2WARSHIP” คงยศ วงษ์วิกย์กรณ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งวงดนตรีครีเอทีฟอารมณ์ดี ที่สรรสร้างเพลงดี ๆ เจ้าของเพลง อย่า อยู่ อย่าง อยาก และ เพลงจอมยุทธ์ อันโด่งดัง กับหัวข้อ : คนขี้รำคาญ
“ป๋วย-คงยศ” มองสิ่งที่คนกรุงเทพฯ น่าจะรำคาญเสียส่วนใหญ่ ทั้งเรื่องอากาศร้อน ฝนตก รถติด ด้วยการคิดบวกว่า ในความ “รำคาญ” ของแต่ละคนนั้น ยังมีคำว่า “โอกาส” ของอีกคนเสมอ
เช่น รถติด: ทุกคนไม่ชอบ แต่ในความที่มีความรำคาญในการเดินทาง ก็ก่อให้เกิดอาชีพของเด็กขายพวงมาลัย แถวนางเลิ้งจะเห็นเด็กขายกล้วยแขก เป็นการสร้างรายได้ กระจายอาชีพ สำหรับผู้หญิงบางคนก็อาจใช้เวลารถติดไปกับการแต่งหน้า ก่อนไปพบลูกค้าหรือเข้าประชุม ส่วนลูกๆหลานๆ ก็ได้กินขนม ไม่ต้องกลัวว่า ส้อม ไม้จิ้มฟันจะแทงปาก มีเวลาอ่านหนังสือ หรือจะดูหนัง ฟังเพลง ทำอะไรก็ได้ตามใจ ในช่วงเวลาเล็กๆ
ฝนตก: รถก็ติดเหมือนเดิม แถมน้ำท่วมด้วย แต่หากมองไปรอบๆ ชาวไร่ ชาวนา ได้ประโยชน์ ก็ได้ทำนา อากาศเย็น อยู่ กทม.นอนไม่ต้องเปิดแอร์ เขื่อนได้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สร้างผลผลิต ได้พืชพันธ์ธัญอาหาร ผลไม้ออกตามฤดูกาล สิ่งที่สร้างความรำคาญ แต่เมื่อคิดเป็นบวกก็จะมีความสุข
อากาศร้อน: สามารถทำนาเกลือได้ สามารถตากปลาหมึกให้แห้งได้ ฝรั่งก็มาท่องเที่ยวที่เมืองไทย หรือจะพาลูกไปเที่ยวทะเล เกิดความรักกลมเกลียวในครอบครัว มีความสุข กลับมาก็มีความสุข ครอบครัวใกล้ชิดมากขึ้น
“บางครั้งความขี้รำคาญก็ทำให้เราพลาดโอกาสดีๆ เสมอ”
Igniter:ภาณุมาศ ทองธนากุล (ใบพัด) นักเขียนที่ประกาศตัวชัดเจนในทุกๆ เล่มว่า อยู่เคียงข้างคนขี้แพ้ คนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง และคนเก่งที่ยังหาตัวเองไม่เจอ กับหัวข้อ : ประกาศอิสรภาพ
ตลอดเวลา 5 ปี เขาเปลี่ยนงานมาแล้ว 7 แห่ง เพื่อค้นหาในสิ่งที่ใช่ สำหรับตัวเอง และหลังจากนั้น อาการลาออกก็หายไป เขาบอกว่า ตัวเองเป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเองมากๆ ชีวิตเหมือนอยู่ในเกมส์ ๆ หนึ่ง เชื้อเชิญมาหาความหมายเพื่อชีวิตของเรา เดาสุ่มไปเรื่อย เจออะไรที่ไม่ชอบ ก็ลาออก แม้จะรู้ว่า ความคิดเช่นนั้น น่ากลัวมาก อาจจะนำพาชะตาชีวิตมาสู่จุดจบที่ไม่ค่อยดี
ปัจจุบันอาการอยาก “ลาออก” ของภาณุมาศหายไปแล้ว หลังลองผิดลองถูกมาหลายปี จนเจอความลับของจักรวาล ที่เป็นเคล็ดลับ นั่นก็คือการ “เก็บตังค์”
"เงินที่เราเก็บเหมือนตาข่ายที่รองรับความเสี่ยงในชีวิต หากมีอะไรผิดพลาดขึ้นมา ตาข่ายนี้ จะเป็นสิ่งที่รองรับเราเอาไว้ ชีวิตเราไม่ได้แตกต่างจากนักแสดงผาดโผน เป้าหมายอยู่ตรงนั้น เราเดินบนลวดเส้นเล็กๆ บนความสูงหลายสิบเมตร ผมเพิ่งทำงานไม่กี่ปี ก็พบความไม่แน่นอนคนรู้จักของผม พ่อเขาป่วย ต้องใช้เงินจำนวนมาก ถ้าเหตุการณ์แบบนั้น เกิดขึ้นกับผมคงรับมือไม่ไหว"
เหตุการณ์นี้อาจเป็นจุดเล็กๆจุดหนึ่ง ที่ทำให้ชายหนุ่มคนนี้เริ่มอยากสานตาข่ายเล็กๆ ด้วยเงินเก็บทีละเล็กทีละน้อย
"มีคนบอกว่า เก็บเงินยากจะตาย เราอยู่ในยุคสมัย มีสินค้าให้เลือกซื้อ เยอะไปหมด ยุคสมัยที่คนประหยัด และอดออมไม่ได้ดูเท่ห์ในสายตาเพื่อน แต่กิจกรรมนี้ ต้องอาศัยความมุ่งมั่น อดทน ทันทีที่ เราเก็บเงินได้ มากพอ แน่นหนาพอ วันนั้น เราจะเปลี่ยนสถานะทันที จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นมาก อยากทำอะไร กล้ามากขึ้น" นักแสดงผาดโผนคนนี้ เดินไปสู่หนทางได้ง่าย โดยไม่ต้องคำนึงถึงอะไร ตกไปก็ไม่เจ็บ เพราะสามารถไปเลือกทำงานค่าตอบแทนลงหน่อย แต่ความอิ่มใจ มีความสุขมากขึ้นได้
"ผมจะไม่สามารถรู้ได้เลย หากผมไม่รู้จักเก็บเงิน มิเช่นนั้น ชีวิตก็ไม่ต้องทนทำสิ่งที่ขัดใจ เพียงต้องการเงินเยอะๆจากมัน”
นี่คือ อิสรภาพ ที่เด็กหนุ่มตัวเล็ก ค้นพบ และกล้าประกาศก้องดังๆ บนเวที สะท้อนไปยังน้องๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตคนทำงานว่า “น้องเก็บ ตังค์”
Igniter:จิตร์ ตัณฑเสถียร ชายหนุ่มผู้ที่อยู่ในอาชีพโฆษณามา 10 กว่าปี เจ้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านงานวิจัยและสื่อสารสร้างแบรนด์ HATS Consulting & Research, อดีตบรรณาธิการวารสารพลัม กับหัวข้อ : ขอคืนพื้นที่ใจ
นักโฆษณาหนุ่ม ปลุกพลังคนฟังเปิดใจ ไม่ตีกรอบให้จิตใจ ให้คิดนอกกรอบ อย่ายึดติดและเอาความรู้สึกเดิมๆ ไปตัดสินทุกอย่าง
“แก้วน้ำ ถ้าเรามองมันเป็นแค่แก้วน้ำมันก็จะเป็นแค่นั้น แก้วก็ต้องเป็นแก้ว จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ความคิดที่จำกัด เช่นนี้ เราจะพลาดอะไรไปเยอะ ลองคิดดู ทันทีที่เราใส่น้ำลงไป เสียบดอกไม้ แก้วก็เป็น แจกัน ,ใส่น้ำลงไปสักหน่อย ให้ปลาลงไปอยู่สัก 2 ตัว แก้วกลายเป็น คุกของปลา ,คว่ำลงสักหน่อย เอาดินสอวาด แก้วก็กลายเป็นวงเวียน ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุด คือ อย่ายึดมั่นถือมั่นว่า แก้ว ก็คือ แก้ว ควรปล่อยวาง ก็จะเห็นว่าแก้วเป็นได้ทุกอย่าง หรือ ถาเป็นเลดี้กาก้า เธอก็อาจจะบอกว่า นี่คือยกทรงของหนูก็ได้ นี่คือ เสน่ห์ของความว่างที่จะเป็นไปได้”
คนหนึ่งคนทำอะไรได้มากกว่าที่คิด ถ้าลงมือทำ
Igniter:ดร.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้พิการตาบอดที่คว้าตำแหน่งที่ 1 คะแนนสูงสุดของการสอบเข้าและการจบเป็นบัณฑิตของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับทุนภูมิพล ผู้พิการที่ได้เป็นข้าราชการคนแรกของประเทศไทย และในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) เพียงคนเดียวที่ร่วมจุดประกายปลุกพลังบวกในค่ำคืนนั้น กับหัวข้อ: สี่พลังมหัศจรรย์ สร้างคนพิการ สร้างสังคมสันติสุข
4 พลังมหัศจรรย์ ของดร.วิริยะ นั้น เริ่มจากพลังความเชื่อและศรัทธา เป็นพลังที่ช่วยให้มนุษย์ปลดปล่อย ความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่ กล้าที่จะทำเรื่องท้าทาย รักทำเรื่องใหญ่ๆไปเรื่อยๆ รู้จักใช้สิ่งที่เป็นโอกาสไปเรื่อยๆ
“ผมรู้สึกความรู้สึกนี้ เมื่อผมประสบอุบัติเหตุ ตาบอด แต่มีท่านหนึ่งบอกผมตลอดเวลาว่า ตาบอด ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด”
รวมทั้ง พลังแห่งปัญญา พลังแห่งสมาธิ และอีกพลังหนึ่งที่ทำให้อาจารย์วิริยะประสบความสำเร็จ คือ พลังแห่งความรัก ที่จะทำให้มนุษย์เห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นมนุษย์ ความรักจะเกิดขึ้นได้ เมื่อมนุษย์ มีอุปนิสัยถ่อมตน ยินดีรับใช้ผู้อื่น ไม่ขี้อิจฉา ไม่ใส่ร้ายป้ายสี เป็นคนที่มีมุทิตาจิต ดีใจที่คนอื่นได้ดีด้วย ให้อภัยคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นคนตระหนี่ รู้จักให้ทาน ให้ปัญญา และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
Igniter:ปรีดา ลิ้มนนทกุล ผู้ทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรจากอุบัติเหตุ ซึ่งในปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ PWD Outsource Management บริษัทที่ก่อตั้งโดยคนพิการเพื่อคนพิการ โดยเป็นผู้สนับสนุนเครือข่ายสินค้าเพื่อสร้างอาชีพให้กับผู้พิการ กับหัวข้อ : By Heart จากใจคนพิการ
“คนพิการรุนแรง คนทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร” เป็นคำที่ ปรีดานำฉายบนสไลด์ตอกย้ำ เพื่อจะบอกว่า ตั้งแต่เขาต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถวิลแชร์ กายพิการ แต่ “ใจไม่พิการ” และยังมีศักยภาพสามารถทำงานได้
“ผมไม่เคยถูกถามว่า ทำงานได้หรือเปล่า และไม่มีบริษัทรับเข้าทำงาน ผมไม่โทษใคร เพราะการเปลี่ยนวัฒนธรรมทางความคิดคนพิการทำงานไม่ได้ ยังต้องใช้เวลา”
หนุ่มผู้ทุพพลภาพทางกายผู้นี้ เห็นว่า ยังมีคนพิการอีกมากในสังคมไทยหรืออย่างน้อย 4 ล้านคนที่ต้องการโอกาสเหล่านี้ วันนี้สิ่งที่เขาทำไม่เพียงสร้างอาชีพให้ตนเอง ยังเป็นตัวอย่างของ Social Enterprise สร้างอาชีพให้คนพิการอีกหลายคน ด้วยการใช้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีมาช่วยสร้างและพัฒนาอาชีพให้คนพิการ รวมกลุ่มคนพิการให้วาดภาพแล้วนำภาพมาขายบริการดาวน์โหลดวอลเปเปอร์บนมือถือ, นำคนพิการมาบันทึกเสียงอ่านดูดวงให้บริการบนมือถือ, เปิดเว็บไซต์ขายผลิตภัณฑ์ฝีมือคนพิการแบบออนไลน์ (www.pwdom.com), การผลิตนิตยสาร PWD (Person With Disabilities) เพื่อสร้ารายได้ให้คนพิการ ฯลฯ
สุดท้ายคุณปรีดา ย้ำว่า “เราเพียงแต่ต้องการเป็นพลังบวกเล็กๆ เพื่อให้สังคมเห็น ให้ผู้มีอำนาจ สถานประกอบการ หรือผู้มีศักยภาพ ได้ทราบว่าคนพิการสามารถทำได้”
Igniter: ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา วิศวกรชาวไทย ผู้มีส่วนร่วมและคิดค้นระบบการลงจอดของยานอวกาศบนดาวอังคาร ร่วมกับองค์การนาซ่าของสหรัฐอเมริกา ผู้ก่อตั้งและบริหารโรงเรียนสัตยาไส โรงเรียนสร้างคนดี ที่อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี หัวข้อ: Ignite
ดร.อาจอง ขึ้นเวที Ignite Thailand เป็นคนสุดท้าย ยืนยันว่า “ไม่มีอะไรที่มนุษย์เราทำไม่ได้ ถ้าเรารู้จัก Ignite จุดประกายตัวเราด้วยความคิดทางบวก”
“ชีวิตวัยเด็กช่วงไปเรียนต่างประเทศ เป็นเด็กเกเร ชกต่อย เรียนหนังสือสอบได้ที่โหล่ทุกวิชา จนอายุ 15 ปี ถึงได้คิด ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงชีวิต ตั้งใจเรียน เริ่มฝึกสมาธิ จากที่โหล่ปีเดียว กลายเป็นที่หนึ่งของชั้นเรียน สอบเข้ามหาวิทยาลัย แคมป์บริด มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของอังกฤษได้ จบปริญญาตรี โท เอก อย่างรวดเร็ว ผลมาจากการนั่งสมาธิ เกิด Ignite ตัวเอง”
ช่วงเวลาที่ทำงานให้กับนาซ่าปีแรกๆ อาจารย์อาจอง เล่าว่า ทำงานเหมือนนักวิทยาศาสตร์ นั่งวิจัย นั่งทดลอง ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้ค้นพบว่า การทำงานแบบนี้ไม่เหมาะ จนได้ออกไปอยู่บนภูเขา ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้มีโอกาสฝึกสมาธิทำจิตใจให้สงบ แล้ววันหนึ่งก็ "ปิ๊ง" ขึ้นมารู้วิธีสร้างยานอวกาศที่จะลงจอดบนดาวอังคาร
นักวิทยาศาสตร์ของไทย ผู้ที่มี เซอร์ไอแซก นิวตัน และอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นบุคคลที่สร้างแรงบรรดาใจ วันนี้บอก “ไม่เอาแล้ว เคยประสบความสำเร็จมาทุกเรื่อง ทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ จะขอทุ่มเทจิตใจทั้งหมดให้อยู่กับการศึกษา การสร้างคน ตั้งโรงเรียนสัตยาไส ที่ จ.ลพบุรี แค่นี้ผมก็มีความสุขมากที่สุด”
เมื่อได้ฟังเรื่องราวดีๆ จนมาถึงบรรทัดนี้ หลายคนคงเห็นแล้วว่า คนหนึ่งคน...ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และจะดียิ่งขึ้นหากเราจะเริ่มต้นส่งต่อพลังบวก เพื่อปลุก "พลังในตัวคุณ - The Power of One" ออกมา
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.ignite.in.th/