“ตลาดนัดความคิด...ไอเดียประเทศไทย” วัฒนธรรมใหม่ในกระแสปฏิรูป
งวดเข้ามาทุกทีสำหรับกิจกรรมดีๆ โครงการปลุกพลังคนไทยร่วมพัฒนาสังคม “โครงการไอเดียประเทศไทย” กับการจัด “ตลาดนัดมหกรรมการซื้อ-ขายความคิดคนไทย” หรือ “Ideas Festival” ที่ เพิ่งผ่านพ้นไป เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ณ ลานกิจกรรมชั้น 1 สยามดิสคัฟเวอรี่ หลังคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใช้เวลากลั่นกรอง คัดสรรไอเดียจากทั่วประเทศ กว่า 3, 191 ไอเดีย ให้เหลือ 50 ไอเดีย และ 20 ไอเดียสุดท้าย มุ่งสู่การพัฒนาประเทศโดยประชาชนอย่างแท้จริง
20 ไอเดียที่ พร้อมใช้ ทำได้จริง ผ่านการช้อปปิ้งแล้ว จาก 4 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ดร.ชฎามาศ ธุวเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด จาก DTAC และนายชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ กรรมการผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ได้หยิบจับออกมาเป็น 5 หมวด
คือ ไอเดียพัฒนาด้านเทคโนโลยี-สื่อสารสนเทศ มี 2 ไอเดียที่เข้ารอบสุดท้าย, การพัฒนาด้านเศรษฐกิจซึ่งมี 4 ไอเดีย โดย 2 ไอเดียแรกเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาเกษตรกร, หมวดสุขภาพ-ศิลปวัฒนธรรมมี 4 ไอเดีย , สิ่งแวดล้อมอีก 6 ไอเดีย และหมวดสุดท้ายคุณภาพชีวิตอีก 4 ไอเดีย
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ขอหยิบ 5 ใน 20 ไอเดียประเทศไทย ที่เข้ารอบสุดท้ายมานำเสนอเป็นน้ำจิ้มให้ลองชิม ลองชมกัน
ชิ้นแรก “นั่งTaxi อย่างสบายใจ IT ช่วยได้” เจ้าของไอเดีย “เฟื่องฟ้า เป็นศิริ” ผู้หญิงที่มองเห็นมหันตภัยแท็กซี่ จึงได้คิดหาทางแก้ปัญหาด้วยนำไอทีมาใช้เป็นกลยุทธ์ ให้รถแท็กซี่ทุกคันติดตั้งเครื่องออกใบเสร็จรับเงินอัตโนมัติ ข้อมูลในกระดาษใบเล็กๆ นี้ มีทั้งระยะทาง อัตราค่าโดยสาร ที่สำคัญมีรายชื่อและข้อมูลเกี่ยวกับคนขับรถ-ตัวรถอย่างละเอียดชัดเจน แค่นี้ก็ทำให้ผู้โดยสารนั่งอย่างสบายใจได้เปาะหนึ่ง ไม่พอยังมีการติดตั้งเทคโนโลยี RFID และ QR Code ที่เบาะนั่งหน้า ผู้โดยสารสามารถใช้โทรศัพท์มือถือตรวจสอบติดตามการทำงานของคนขับรถได้ตลอดเวลา ที่นั่งโดยสารไป หรือหากมีเหตุฉุกเฉินก็สามารถแจ้งความด่วนโดยส่งภาพ QR Code ไปยังศูนย์ได้ทันที
อีกไอเดีย “จิตสำนึกใหม่ไทยแลนด์ : Wake up Thailand” เป็นของนักเขียนบทโฆษณาหนุ่มวัย 29 ปี “กอล์ฟ”-สุนทร สุทธิขาว คิดสร้างภาพยนตร์สารคดีสั้นประมาณ 90 นาที “กระตุ้นความคิด กระตุกจิตสำนึก สร้างแรงบันดาลใจเพื่อการเปลี่ยนแปลง” โดย หวังให้ทุกคนในสังคมร่วมกันลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงประเทศ เริ่มจากสร้างการรับรู้-ความเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา เฉกเช่นเดียวกับแนวคิดของกลุ่ม “พลังบวก” ที่พยายามจะผลิตสื่อลักษณะนี้ โดยกอล์ฟเชื่อว่า สื่อชิ้นนี้จะทำให้เกิด “พลัง Big Bang ของการปฏิรูปประเทศ” ได้ ไม่แพ้สารคดี An Inconvenient Truth ที่รณรงค์ให้ความรู้-ทางออกเรื่องภาวะโลกร้อน ของนายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
สำหรับการผลิตจริงนั้น หนุ่มน้อย ตั้งเป้าหาทุนประมาณ 8 หมื่นบาทเพื่อผลิต Teaser ประมาณ 4 นาทีของสารคดีเรื่องนี้ก่อน เลือกบุคคลตัวอย่างของสังคมที่สร้างแรงบันดาลใจ เช่น พระมหาวุมิชัย วชิรเมธี, คุณประภาส ชลศรานนท์, พ่อผาย สร้อยสระกลาง,นพ.ประเวศ วะสี ฯลฯ มาพูดสร้างแรงบันดาลใจ จากนั้นจะระดมมืออาชีพผู้ผลิตสื่อมาช่วยกันผลิต Teaser นำไปเสนอบริษัทต่างๆ ที่มีทุนสนับสนุนการผลิตสารคดีเรื่องนี้ ซึ่งก็เหมือนกับการสร้างภาพยนตร์หนึ่งเรื่องให้คนไทยดู สร้างแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม
โครงเรื่องของสารคดีชุดนี้ กอล์ฟ บอกว่า ได้วางไว้แล้ว เบื้องต้น 5 องก์ องก์แรกบอกปัญหามีเรื่องใดบ้าง องก์ต่อๆ มาบอกทางออกจะแสดงให้เห็นว่า ทุกคนต้องร่วมกันเปลี่ยนประเทศไทย ทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนประเทศนั้นต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน เริ่มจากนำเสนอวิกฤติการณ์สั้นๆ องก์ที่ 3นำเสนอภาพแนวโน้มของปัญหา ฉายภาพผลที่จะเกิดในอนาคตหากไม่แก้ไข หรือแก้ไข เสนอแนวทางออกในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกใหม่ในองก์ที่ 4 และจบด้วยบทสรุปองก์สุดท้าย “รุ่งอรุณใหม่ของประเทศไทย”
“ผม เชื่อว่าหลายคนมีไอเดียดีๆ อยู่เยอะมาก แต่เพียงต้องการแรงบันดาลใจบางอย่างให้ลุกขึ้นมาทำ และเชื่อว่าการจะเปลี่ยนแปลงอะไรนั้นต้องเริ่มจากเปลี่ยนจิตสำนึกของคนก่อนด้วย ซึ่งไอเดียที่ผมเสนอนี้ก็เป็นโปรเจคต์ของคนไทยทุกคน” กอล์ฟบอกด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ
ยังมีไอเดียในหมวดของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่แม่ค้าคนแรก น.ส.กนิษฐา นิลแดง นำเสนอขายไอเดีย “การจัดการเกษตรกรรมไทย ครัวไทยสู่ครัวโลก” ให้รัฐกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศร่วมกันจัด “ทีมนักศึกษาเฉพาะกิจ” ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยการบริหารจัดการเกษตรกรรมในท้องถิ่นของตนเอง โดยมีอาจารย์ผู้สอนเป็นหัวหน้าโครงการ
“กนิษฐา” มองเห็นปัญหาที่เกษตรกรไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการการเกษตร อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าการบริหารต้นทุน การผลิต ที่ผลผลิตล้นตลาดบ้าง ขาดตลาดบ้าง รวมถึงการตลาด จึงขายไอเดียนี้เพื่อหวังติดอาวุธให้เกษตรกรไทยได้ต่อรองพ่อค้าคนกลางเป็น พร้อมทั้งหวังให้การวิจัยนี้จะช่วยสร้างพื้นที่เกษตรกรรมต้นแบบได้ด้วย และมีเป้าหมายระยะไกลที่จะยกระดับเกษตรกรไทยให้มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ
เช่นเดียวกับ “โครงการช่วยเหลือเกษตรกร 3 จังหวัดชายแดนใต้” ของนายอีเลียส แวฮามะ ที่เสนอให้รัฐรวบรวมปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่มาถ่ายทอดภูมิปัญญาและจัดตั้ง “สถานีศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียงและตลาดสินค้าเกษตร3 จังหวัดชายแดนใต้”
เปิดตลาดซื้อขายความคิดกันได้สักพัก เสียงบรรดาพ่อค้า แม่ขายก็ยิ่งดังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ เสนอขายสินค้าของตนที่ต่างหอบมา แกะกล่องขายในงานนี้โดยเฉพาะ บรรยากาศตลาดสดแห่งนี้ยิ่งสนุกขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีไอเดียดีๆ ที่ต้องการตีตลาดระดับล่าง อย่างตลาดชาวบ้านๆ ในท้องถิ่นทั่วประเทศ เมื่อคุณ “น้ำ” หรือ นายเฟื่องรัฐ เป็นศิริ ที่มีดีกรีถึงนักเศรษฐศาสตร์หนุ่มจากอังกฤษ ได้เสนอขายไอเดียยกระดับวัฒนธรรม ด้วยมาดเท่ๆ ของหนุ่มนักเรียนนอก เรียกแขก เรียกลูกค้าด้วยไอเดีย “ถนนสายภูมิปัญญา”
“ถนนสายภูมิปัญญา” สายนี้ยกระดับให้ชาวบ้านทั่วประเทศขุดนำภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ขึ้นมา เปิดตลาดขายเป็น “นวัตกรรมภูมิปัญญา” เน้น หลักการ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมกับสร้างนวัตกรรมเชิงคุณค่าบน 76 ถนนสายภูมิปัญญาทั่วประเทศ โดยให้ชาวบ้านในพื้นที่ทุกจังหวัดระดมรื้อฟื้น ภูมิปัญญา องค์ความรู้ งานศิลปะ งานฝีมือ วัฒนธรรมท้องถิ่นของพื้นที่ตนเองขึ้นมาสร้างสรรค์นิทรรศการ หรือประติมากรรม ทางศิลปะ ประดับตกแต่งบนถนนสายสำคัญของจังหวัดเพื่อเสนอขายนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
เขาย้ำว่าต้องเน้นการสร้างคุณค่า “อัตลักษณ์เฉพาะของจังหวัด” แล้วจากนั้นเสนอให้จัดทำพ็อกเก็ตบุ๊ครวมภูมิปัญญาทั้งประเทศมาขายเป็นลายแทงแจกในแต่ละจังหวัดด้วย ซึ่งผลทางอ้อมจะทำให้เกิด “ฐานข้อมูล” “คลังภูมิปัญญาภายในชุมชน” ของ ทั้งประเทศไทยอีกด้วย โดยเชื่อว่าไอเดียนี้จะสร้างการเปิดตลาดท่องเที่ยวเชิงภูมิปัญญาในประเทศ เกิดนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มจากคนในพื้นที่ เกิดการจ้างงานในชุมชน เกิดสินค้าสินค้าในชุมชน เนื่องจากการพัฒนาภูมิปัญญาที่มีอยู่มาเสนอขาย
“ไอเดียนี้ผมต้องการให้คนในแต่ละจังหวัด คนในพื้นที่ได้ร่วมกันออกแบบ สร้างกันเอง ไม่ต้องรอส่วนกลาง อาจจะมีกองงานส่วนกลางคอยสนับสนุน การเชื่อมโยงจัดระบบข้อมูล เอกลักษณ์แต่ละจังหวัดไม่ให้ซ้ำกัน พร้อมช่วยสอนการจดทะเบียนสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ทางปัญญาให้ชุมชน ซึ่งไอเดียนี้จึงแม้จะไม่ได้รับเงินทุนชนะเลิศ แต่ผมคิดว่านี่ก็ได้เสนอให้ทุกคนได้รู้ หากพื้นที่มีความพร้อม ศักยภาพแล้วก็สามารถนำไอเดียไปร่วมกันจัดทำได้เลยก็ได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีมาก โดยอาจร่วมกันระหว่างชุมชน อปท. จังหวัด ททท.จังหวัด ก็ได้อีก” คุณน้ำขายความคิดด้วยความตั้งใจ และทิ้งท้ายด้วยว่า
“ผมแค่อยากเสนอไอเดียดีๆ ช่วยสังคมบ้าง อยากนำความรู้ที่จบด้าน Economics Behavior มาช่วยสร้างนวัตกรรมยกระดับภูมิปัญญา วัฒนธรรมในบ้านเราที่มีอยู่จำนวนมาก ให้เกิดคุณค่าและมูลค่าที่ทุกคนจับต้องได้จริงๆ”
สุดท้ายก่อนปิดตลาด ขอจบด้วยไอเดียที่ชื่อว่า “ธนาคารความดี (Bank of Good)” จากพ่อค้าคนสุดท้ายผู้เป็นนักวิชาการด้านศาสนา จากจ.เชียงราย อย่างนายโสไกร ใจหมั้น ที่ตั้งใจเปิด “ธนาคารความดี” ที่มีกระบวนการเหมือนธนาคารทั่วไป ทว่าเปลี่ยนจาก “ตัวเงิน” เป็น “ตัวกิจกรรมกระทำดี” แทน ซึ่งมีสมุดบัญชี มีระบบฐานข้อมูลทุกอย่างเหมือนธนาคาร การกำหนดรายการความดีกับอัตราแต้มแลกเปลี่ยนเป็นรางวัลแด่คนดี เช่น การบริจาคโลหิต การปฏิบัติตามศีล5 เก็บขยะ ทำความสะอาดโรงเรียน บริจาคทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งลุงโสไกรบอกว่าไอเดียนี้ทำที่เชียงรายมา 3 ปีกว่าแล้วซึ่งชาวบ้านก็สนุกร่วมกันมาก
ลุงโสไกร บอกว่า ธนาคารความดีนี้ จะเป็นกิจกรรมที่เน้นความร่วมมือใน 3 สถานที่ คือ วัด โรงเรียน บ้านหรืออปท.ในชุมชน โดยใครที่ทำความดีในวัดก็ต้องให้เจ้าอาวาสหรือพระช่วยเซ็นชื่อรับรองในสมุด ฝาก-ถอนความดีด้วย แล้วนำสมุดนั้นไปทำรายการคีย์ข้อมูลลงระบบคอมพิวเตอร์ที่อปท.ในชุมชน ซึ่งลุงเชื่อว่าพระย่อมไม่โกหกแน่ ในโรงเรียนก็เช่นเดียวกันให้ครูรับรอง ในบ้านก็พ่อ-แม่ ส่วนแต้มสะสมโบนัสความดีที่ฝากมานั้นลุงบอกว่า สมาชิกสามารถนำมาแลกสินค้า ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ไฟฟ้าของธนาคารหิ้วกลับไปบ้านใครบ้านมันได้เลย ซึ่งของเหล่านี้คนมาสนับสนุนอยู่ตลอดซึ่งความยั่งยืน 3 ปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์ได้ว่าธนาคารนี้อยู่รอด เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นไอเดียที่ดี
“สิ่งที่ผมทำ คือ การฝึกนิสัยให้คนในสังคม ในชุมชน เป็นคนดี มีนิสัยที่ดี เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนคนดี แล้วมีรางวัล การชมเชยยกย่องคนที่ทำดีด้วย ให้คนในสังคมเห็นว่าคนทำดีต้องไม่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งเงื่อนไขง่ายๆ ของการเข้ามาเป็นสมาชิกธนาคารไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แค่อยากเป็นคนดี อยากทำดีก็เข้ามาได้เลย แล้วที่ทำเห็นผลจริงด้วยที่ชุมชนบ้านผมคนในพื้นที่เปลี่ยนจิตสำนึกจิตใจแล้ว จริงๆ ไม่ใช่การสอนแต่วาจา แต่สอนด้วยการลงมือทำกันจริงๆ ซึ่งไอเดียนี้ใครจะเอาไปทำต่อทำไปได้เลย เพราะผมมาวันนี้เพื่ออยากขยายต่อความคิดนี้” พ่อค้าขายไอเดียคนสุดท้ายบอก
นอกจากนี้ยังมีไอเดีย ชิ้นอื่นๆ ที่น่าสนใจ ผ่านเข้ารอบ เช่น “โครงการ CSR 76 จังหวัด” จากนักการตลาดหนุ่ม พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ซึ่งต่อยอดจากโครงการ CSR Campus เดิม ที่ริเริ่มเมื่อปี 2551 ที่จะส่งเสริมความรู้ ฝึกอบรมการจัดการธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมท้องถิ่น แก่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศให้ได้ระดมสมองร่วมคิด เสนอ ทำ โดยคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง และหากไอเดียนี้เป็น 1 ใน 5 สุดยอดไอเดียประเทศไทย ภายใน 3 เดือนก็จะเห็นรูปธรรมซีเอสอาร์ใน 25 จังหวัดแรก ส่วนระยะที่ 2 และ 3 อีกครั้งละ 25 จังหวัด
“ให้พื้นที่เช่า 9 บาทต่อเดือนสำหรับร้านการกุศลในหน่วยงานรัฐ” ของ นิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น ที่เสนอแก้ปัญหาความร่วมมือของหน่วยงานรัฐกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ปัจจุบัน หลายแห่งไม่ค่อยมีสัมพันธภาพต่อกันในทางที่ดีนัก โดยขายไอเดียเฟ้นหาหน่วยงานรัฐต้นแบบที่มีศักยภาพพร้อมเปิดพื้นที่ให้องค์กร พัฒนาเอกชน องค์กรการกุศล มูลนิธิที่ทำงานเพื่อสังคมต่างๆ แต่ขาดการสนับสนุนได้สามารถเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานในค่าเช่า 9 บาทต่อเดือน เปิดหน้าร้านขายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเพื่อระดมทุนขับเคลื่อนองค์กรได้ มี เงื่อนไขง่ายๆ ว่าองค์กรรัฐต้นสังกัดควรมีพันธกิจสอดคล้องกับองค์กรที่จะได้รับการสนับสนุน ด้วย เช่น มูลนิธิเกษตรยั่งยืนเปิดร้านในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ
หรือ อีกฟากของสินค้าเพื่อสุขภาพ แบบที่นายประพันธ์ จีระวัง ได้เสนอขายไอเดียเท่ๆ ที่เน้นจิตอาสาง่ายๆ ชนิดที่ไม่มีต้นทุน ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ ในการดำเนินการ แต่เป็นกิจการที่คุ้มค่าสร้างกำไร ไม่เน้นมูลค่า แต่ให้ราคากับคุณค่าแก่ประโยชน์ที่ผู้ด้อยโอกาส ตามสถานสงเคราะห์ นักโทษยากไร้ในเรือนจำ คนยากจนในสังคมจะได้รับ ชื่อไอเดียว่า “กองทุนอาหารก่อนวันหมดอายุ” ที่เสนอให้ห้าง ร้านกิจการต่างๆ ร่วมอนุเคราะห์ อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใกล้หมดอายุและจำหน่ายไม่ทันมาบริจาค จัดสรรปันอาหารแก่คนด้อยโอกาสในสังคม
เช่นเดียวกับ “Share to Patient ปันผู้ป่วย” ที่ น.ส.ณัฏฐนันท์ กิติพรพิศาล ต้องการเติมเต็มช่องทางการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ ซึ่งเสนอตัวเป็นคนกลางจัดทีมงานอาสาผ่านช่องทางกลุ่ม Share to Patient บนเฟซบุ๊ค ใน การประสาน และจัดหาความต้องการใช้-ความต้องการบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการดูแลผู้ ป่วย อาทิ วีลแชร์ วอร์คเกอร์ ฯลฯ จากผู้เคยป่วยสู่ผู้ป่วยที่ขาดแคลนการช่วยเหลือ เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้มีราคาแพง
ทั้งนี้มีไอเดีย "คนไทยสบายดีหรือเปล่า?" ดัชนี ชี้วัดเพื่อพัฒนาความสุขของคนไทย จากนายนที จารยะพันธุ์ ที่ตั้งใจจะสร้างฐานข้อมูลความสุขคนไทยทั้งประเทศ โดยการให้ทุกคนร่วมตอบแบบสอบถามความสุข และเรียนรู้ทำความเข้าใจทุกข์-สุขกันและกันในสังคม เพื่อช่วยกันสังเคราะห์ดัชนีชี้วัดเพื่อพัฒนาความสุขคนในประเทศ
ส่วนหมวดสิ่งแวดล้อม ก็มีไอเดีย เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากน้ำฝน ใช้งานควบคู่กับโซล่าเซลเพื่อประชาชน โดยว่าที่ ร.ต.อาคม ไทยเจริญ , โครงการตึกพฤกษชาติแนวดิ่งของน.ส.สุจิตราภรณ์ คำพล ที่พยายามรณรงค์ให้คนเมืองช่วยกันปลูกต้นไม้เท่าที่จะร่วมกันได้, สระน้ำสาธารณะประโยชน์เพื่อเกษตรกรไทย ของนางจิดาภา พันธุ์ทอง ที่ต้องการให้คนในชุมชนร่วมกันอปท.ช่วยสร้างพื้นที่สระน้ำสาธารณะให้ชุมชน เกษตรกรในพื้นที่ได้กิน-ใช้ เกิดเป็น “ทรัพยากรสาธารณะสมบัติร่วมกัน” , โครงการรณรงค์ลด คัดแยกขยะ ลดภาวะโลกร้อน จากนายสายชล เหล่าภักดี หรือไอเดียแบบการสร้างต้นแบบ โรงเรียนรักสิ่งแวดล้อม จากนายอนุรักษ์ ภัทรเลาหะ เช่นเดียวกับไอเดียของน.ส.วอรอุมา สันตวิธี โครงการ “สหกรณ์ขยะ”
"โครงการผู้นำรุ่นใหม่เพื่ออนาคตประเทศไทย" จากโดยคุณสุพัตรา พันธุ์สะอาดที่เสนอขายแนวคิดการสร้าง “เยาวชนคนรุ่นใหม่จังหวัดละ 1 คน” นำการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยผ่านการอบรม ฝึกความคิดจิตอาสาจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆ คนที่สังคมให้การยอมรับ หรือ ไอเดีย เปลี่ยนคนร้ายให้กลายเป็นคนดี โดยนางอังคนา มาศรังสรรค์ เสนอให้สังคมควรเปิดโอกาสให้เยาวชนที่หลงกระทำความผิดได้มีโอกาสมีพื้นที่ “ยืน” ในสังคมอีกครั้ง โดยอาศัยกิจกรรมการเปลี่ยนแปลงตนด้วยการผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน หรือ “กระบวนการสุนทรียสนทนา” , ไอเดีย Design party จากนายสรณัญช์ ชูฉัตร ที่สนับสนุนให้เปิดพื้นที่ให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาร่วมสนุกกันออกแบบ “กิจกรรมเพื่อสังคม” ที่เน้น ”ความสนุก สะดวก สร้างสรรค์” ร่วมกันก่อนปิดตลาดรอบคัดเลือกนี้ด้วย
กระบวนการ “ตลาดนัดความคิด...ไอเดียประเทศไทย” ต่อจากนี้ ทั้ง 20 ไอเดียสุดท้าย จะนำไปประชัน ออกอากาศอย่างเจาะลึกผ่านรายการ “ไอเดีย..ประเทศไทย” ทุกวันเสาร์ เวลา 21.30 น. ทางช่องเอ็นบีที และช่อง TNN ทุกวันเสาร์เวลา 15.00-15.30 น. เพื่อเปิดโหวตประมูลเฟ้นหา “5 สุดยอดไอเดีย เมืองไทย คนไทยสร้างได้” ต่อไป
ใคร สนใจอยากกร่วมโหวตซื้อ 5 สุดยอดไอเดียจาก 20 ไอเดียนี้ เพื่อให้บรรดาพ่อค้า-แม่ค้าที่หาบไอเดียมาขาย ได้รับทุนไปผลิต ผลักดันความคิดสู่การปฏิบัติจริง ทุนละ 1 แสนบาท ก็สามารถเช้าไปช่วยกันโหวตได้แล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 21 พ.ย. ช่วยช้อปปิ้งความคิดผ่านทาง www.ideas.in.th และwww.pm.go.th/ideasforthailand หรือจะเข้าไปหยิบจับ เลือกช้อปไอเดียที่คิดว่าน่าสนใจและเหมาะกับแต่ละหน่วยงานของตนก็ได้ตามอัธยาสัย
งานนี้ไม่มีกำไร ไม่มีขาดทุน
ขอ ให้ทุกคนสนุกกับการซื้อ ช่วยกันช้อป ช่วยกันสร้างเมืองไทย เพื่อให้ไอเดียเหล่านี้ไม่ล้นตลาดจนไร้ราคา ถ้าเราทุกคนช่วยซื้อเพื่อระบายไอเดียไปสู่การผลิตจริง ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์จริงเรื่องการพัฒนาประเทศ ในยุคที่ความเห็นเรื่องการปฏิรูปล้นตลาดกันเหลือเกิน.