ฉายภาพสังคม ด้วยไฟเยาวชน(นัก)ทำละคร
ราวกับว่าเรื่องราวบนเวทีคือความจริงที่อั้นในความรู้สึกมานาน ครั้นถึงคราวต้องแสดงออก “พวกเขา” จึงไม่รีรอที่จะเผยสิ่งนั้นออกมาอย่างสุดเหวี่ยง เห็นเอาจากท่วงท่าผนวกเสียงร้องสลับพูด ที่แม้ไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ ทว่าระยะห่างไม่มากพอจะสังเกต
หลังผ่านพ้นโครงการในปีแรกพร้อมย่างสู่ระยะถัดมา “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่กลุ่มเยาวชนสนใจ ด้วยทั้งหมดล้วนศรัทธาในศิลปะแขนงนี้ และพกความเชื่อติดตัวที่ว่าละครเวทีดีๆสักเรื่องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เสพได้ ซึ่งหลักฐานที่ว่านี้หนีไม่พ้นแววตาจากบรรดาคนรุ่นใหม่ ที่ต่างเฝ้ารอร่วม“เทศกาลละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง (ภาคกลาง)” ณ ห้องอเนกประสงค์ มิวเซียมสยามกรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ละคร(เร่)เวทีหนนี้ นอกจากประเด็นเรื่องการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาเพื่อใช้เป็นปัจจัยดำรงชีวิตที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)เน้นย้ำแล้ว มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) ในฐานะหนึ่งภาคียังได้สอดแทรกหลักคิดกระบวนการผลิตสื่อมุ่งรับใช้ความเป็นชุมชน เสริมสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนแนวคิดทางการเมือง สังคม ผ่านรูปแบบละครเร่ ตามแบบฉบับกลุ่มนักคิดยี่ห้อ“มะขามป้อม”อีกด้วย
“พฤหัส พหลกุลบุตร “(ก่วย) ผู้อำนวยการฝ่ายละครการศึกษา มูลนิธิสื่อชาวบ้านและผู้จัดการโครงการ บอกว่า ละครเร่ ยังคงเป็นสื่ออิสระ ที่ช่วยเสริมสร้าง-ขัดเกลาพฤติกรรมคนในสังคมได้อยู่เสมอ โดยสื่อประเภทนี้ได้ทำหน้าที่ของมันไม่แพ้สื่อใด ทั้งการชี้ให้เห็นปัญหาและมุ่งวิพากษ์สังคม พ่วงด้วยการสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมโดยที่ไม่ลืมความบันเทิง ประหนึ่งเป็นฟันเฟืองที่ดีอย่างหนึ่งที่สังคมขาดไม่ได้
ส่วนเยาวชนในฐานะผู้ขับเคลื่อนสังคมกับการได้รับพื้นที่แสดงออกนั้น“พฤหัส”มองว่า ด้วยธรรมชาติคนวัยนี้เป็นวัยที่เร็วต่อความรู้สึกและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากที่สุด พวกเขาจึงมีกระบวนการพิจารณาสังคมด้วยสายตาของอนาคต สามารถมองเห็นปัญหาที่ผู้ใหญ่อาจจะมองข้ามไป
“ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง จึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดเฉพาะตัวผู้ทำกิจกรรมซึ่งถูกบ่มเพาะจากกระบวนการทำละครเพียงอย่างเดียว แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมหมายถึงการที่พวกเขาร่วมกัน “ผลักดัน”สังคมในวันต่อๆไป เพราะถึงแม้ละครจะจบแต่ความคิดในตัวเยาวชนเหล่านั้นนั้นไม่ได้จบตาม เช่นเดียวกับผู้ชมที่จะเกิด “ประกาย”ที่มีคุณค่าไม่มากก็น้อย ก่อนจะนำไปขยายต่อชุมชน เพื่อพัฒนาในโอกาสต่อๆไป”เขากล่าว
หากอ้างอิงตามหลักนิเทศศาสตร์ ว่ากันว่าสื่อประเภทภาพยนตร์-การละคร เป็นสื่อที่สามารถแสดง“นัยยะ”ได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับการมองและการถอดรหัสของตัวผู้รับสารเอง พร้อมกันนั้นสื่อประเภทนี้ยังทรงช่วยสร้างความรู้สึกนึกคิดให้แก่ผู้รับสารได้มาก
ตัวอย่างจากละครเวทีเรื่อง “บีบี” ที่ “ซอฟท์-จิรกานต์ อารีสินทพิทักษ์” หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม “Unseen” จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พวกเขาตั้งใจทำละครที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมที่นับวันยิ่งน้อยลงหลังการเข้ามาของเทคโนโลยี
“พวกเรามองว่าทุกวันนี้อุปกรณ์การสื่อสารอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเราไปแล้ว หากไม่ได้พกออกจากบ้าน จะรู้สึกไม่มั่นใจ ซึ่งแน่นอนว่าจะมองถึงประโยชน์มันมีอยู่แล้ว แต่อย่างที่รู้กันว่ามุมของความเป็นโทษหรือดาบสองคมก็มีมากไม่แพ้กัน และ”บีบี” ก็ได้บอกเล่าถึงชาย-หญิงคู่หนึ่งที่รักกัน แต่เขากลับมองข้ามสิ่งที่ควรพูดและแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่กลับใช้บีบีคุยกันเนื่องจากคิดว่าจะแทนกันได้ และนั่นนำมาสู่การทะเลาะและเลิกราในที่สุด”
“พวกเราเลือกที่จะมองชุมชน มองสังคมที่ตัวเองอยู่ในมุมนี้ ตรงนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคของพวกเรา ดังนั้นละครที่เราจะทำจึงเลือกที่จะตอบโจทย์และสร้างความรู้สึกให้แก่ผู้ชม เพื่อหันมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราให้ความสำคัญกับคนรอบข้างของเราเพียงพอแล้วหรือ”ซอฟท์อธิบาย
ส่วนการมองสังคมการเมืองในแบบฉบับของทีม “เมื่อตะกี๋” นิสิตภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ก็คมคายไม่แพ้กัน โดย “ฮ็อกกี้เดชาธร บำรุงเมือง”เล่าว่า พวกเขาเลือกใช้ละครที่ชื่อว่า “ละครสัตย์” ในการวิพากษ์ชุมชนและสังคมที่พวกเขาพบเจออยู่
“เป็นเรื่องราวง่ายๆของสัตว์2ประเภทที่ให้คำมั่นสัญญาระหว่างกัน ว่าตัวใดตัวหนึ่งจะไม่ทำร้ายอีกฝ่าย หากแต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป กลับมีฝ่ายหนึ่งที่เลือกจะทำในสิ่งที่ผิดคำมั่นสัญญา จึงเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียและเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครได้ประโยชน์”
“จะว่าไปก็เหมือนเรื่องปัญหาการเมืองในตอนนี้ครับ (หัวเราะ) บางทีทุกอย่างอาจจะจบลงได้ด้วยความซื่อสัตย์ของแต่ละฝ่าย นักการเมืองก็ต้องซื่อสัตย์กับประชาชน ประชาชนเองก็ต้องซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ที่ตัวเองได้รับ ทำงานที่ตัวเองรับผิดชอบด้วยความซื่อสัตย์” ฮ็อกกี้อธิบายสั้นๆ ถึงมุมมองร่วมสมัยที่เขาสื่อผ่านละคร
ถึงเช่นนั้นเทศกาลละครฯครั้งนี้ จะลืมกลิ่นอายท้องทุ่งตามแบบฉบับบริบทภาคกลาง ด้วยละครที่มีชื่อว่า “สัญญาบ้านนา”จากกลุ่มนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ก็ได้สื่อสารประเด็นความผูกพันธ์ระหว่างสังคมได้อย่างสนุกซึ่ง“ดิว-ปริวัท สิงห์เชื้อ”สรุปว่า ละครของพวกเขาบอกถึงความสัมพันธ์ของคนกับคน และคนกับสัตว์ โดยเนื้อเรื่องได้เล่าถึงการที่ชายคนหนึ่งมัวแต่พะวงคำสัญญาในรูปแบบหนุ่มสาว จนต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงที่ผูกพันธ์ในที่สุด
“เมื่อได้ทำละคร ประเด็นต่างๆที่เราเสนอมันก็ได้ถูกทบทวนด้วยว่าที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับสิ่งหนึ่งจนลืมอีกสิ่งหนึ่งไปหรือไม่ เหมือนเป็นการเรียนรู้และขัดเกลาตัวเองไปพร้อมๆกัน” เขาบอกถึงคุณค่าที่ได้รับ ทั้งนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เขาได้ผ่านการคิดและลงมือปฏิบัติหลังร่วมกิจกรรมทำละคร
ราวกับว่าเรื่องราวเสมือนจริงบนเวทีที่ทุกคนแสดงผ่านเสียงร้องและท่าทาง มอบตำราขนานดีที่พร้อมถูกใช้ในชีวิต