ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ “เยียวยา” แบบไม่เลือกข้าง-เลือกสี (แดง)
นับเป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม สังคมไทยได้เห็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังเร่งรีบทำ คือการมุ่งเยียวยาบุคคล บริษัท ห้างร้านผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการก่อวินาศกรรมเผาบ้านเผาเมือง ในรูปการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย หาสถานที่ค้าขาย ช่วยเหลือลูกจ้างหรือการช่วยเหลือเรื่องเงินทุน
ในทางกลับกันอีกด้านหนึ่ง แม้การชุมนุมจะยุติลงไปแล้ว คนเสื้อแดงหลายพันคนได้ก้าวขึ้นรถโดยสาร รถไฟ ตามที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จัดให้ มุ่งเดินทางกลับบ้าน นอกจากจะพกปัญหาที่เป็นรากเหง้าเดิมๆ ทั้งปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ สองมาตรฐาน กลับไปด้วยแล้ว คนกลุ่มนี้ยังแบกเอาความบอบช้ำ เจ็บปวด โกรธแค้น เพิ่มเติมเข้าไปในจิตใจ
และจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หลายคนอาจลืมนึกถึง คนเสื้อแดงที่กลับบ้านไปแล้วเขาจะเป็นอย่างไร ขณะที่พื้นที่สื่อส่วนใหญ่พูดถึงแต่การเยียวยาทางกายภาพเท่านั้น
ในความเห็นของนางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. มองว่า เป็นแม้การชุมนุมจะยุติไปแล้ว แต่เป็นเพียงชั่วคราว หากนายกรัฐมนตรีไม่รีบดำเนินการปรองดองกับประชาชนที่กำลังมีปัญหาอย่างแท้จริง เชื่อว่าการชุมนุมจะกลับมาอีกครั้ง
สิ่งที่แรกที่ควรทำ หลังการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลผ่านพ้นไปแล้ว ส.ว.รสนา เห็นว่า การเข้าไปแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง รัฐบาลควรทำเป็นลำดับแรกๆ โดยนายกรัฐมนตรีจะต้องใช้อำนาจบริหารทำให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
สิ่งที่ต้องเรียนรู้ จากเหตุจลาจลกลางกรุง
สำหรับบทเรียนจากเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนี้ ที่คนในสังคมไทยได้รับกลับไป นักวิชาการที่คลุกคลีศึกษาวิจัยเรื่องสังคมชนบท ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ให้เห็นทีละประเด็น 1. ความคิดทางการเมืองของคนทั่วไป โดยเฉพาะคนในชนบทที่มีความตื่นตัวมากขึ้น 2. ที่เคยเข้าใจกันว่า สังคมไทยไม่มีความรุนแรง หรือสยามเมืองยิ้ม เป็นสังคมที่รักสงบนั้น ก็ทราบแล้วว่า ไม่จริง ความรุนแรงยังมีอยู่ในสังคมไทยและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
“ในอดีตหลายคนคิดว่า คนรากหญ้าไม่ได้มีสำนึกทางการเมืองที่ชัดเจน หลังจากการเลือกตั้งก็หายไป ไม่มีบทบาท หรือ ชาวบ้านไม่ได้สนใจการเมือง เพราะนักการเมืองเพียงเข้าไปกอบโกยเสียง และเข้ามานั่งในรัฐสภาเท่านั้น"
แต่ในครั้งนี้ สำหรับการออกมาเรียกร้องของกลุ่มเสื้อแดง ผศ.ดร.ยุกติ ถือว่า เป็นอีกสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนผู้คนในชนบท เริ่มมีบทบาทและสำนึกทางการเมือง การออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ความเท่าเทียม ความยุติธรรม สังคมสองมาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นประเด็นทางการเมืองทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน การชุมนุมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมกับคนในพรรคการเมืองที่ชื่นชอบนั้น ก็ยังแสดงให้เห็นว่า การที่พรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง ได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ ติดต่อกัน 2-3 ครั้ง นับได้ว่า คนส่วนมากตื่นตัวทางการเมืองอย่างแท้จริง
นักวิชาการที่คลุกคลีศึกษาวิจัยเรื่องสังคมชนบท มองเรื่องของความรุนแรง โดยสะท้อนให้เห็นว่า ความรุนแรงที่เคยมีอยู่ในสังคมเป็นระยะๆ จากที่ห่างไกล ได้ขยับเข้ามาอยู่ใกล้ตัวคนที่อยู่ในเมืองหลวงมากขึ้น
"กรุงเทพมหานครกำลังได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นผลจากความรุนแรงในหลายๆที่ในสังคมไทย ที่ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจัง และถูกกลบเกลื่อนด้วยความขัดแย้งมาตลอด จนกระทั่งวันนี้ สร้างความเดือดร้อนไปทั่วประเทศ หากมองในแง่ดี สังคมไทยเริ่มจะมีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น ปัญหาที่มีในสังคมจะต้องได้รับการจัดการ โดยประชาชนด้วยกันเอง หรือโดยวิถีกฎหมายทางประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วน"
“ลดความเคียดแค้น” ทางเยียวยาที่ดีที่สุด
เมื่อถามถึงปัญหาใหญ่สุดขณะนี้ ดร.ยุกติ ตอกย้ำให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้มองเห็นว่า สิ่งที่กำลังช่วยเยียวยาจะเป็นการสร้างความแตกแยกให้มากขึ้น เพราะถึงที่สุดแล้ว กลุ่มเสื้อแดงยังเห็นภาพของรัฐบาลกำลังไล่ล่า กำจัด ในนามของการปราบปราม ผู้ก่อการร้าย แม้รัฐบาลพยายามอธิบายว่า ไม่ได้หมายความถึงทุกคนเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งในเขต กทม. และต่างจังหวัด แต่นั่นไม่ใช่วิธีการที่ดีที่จะทำให้เกิดความปรองดอง ซึ่งหากต้องการทำ อย่างได้ผลจริงๆ รัฐบาลต้องเยียวยาให้ทั่วถึง ประกาศให้ชัดเจนว่า เป็นรัฐบาลที่จริงใจ ช่วยเหลือทุกคนอย่างเท่าเทียม และสำคัญ คือ หยุดไล่ล่า เพราะทุกคนเป็นคนที่มีค่าสร้างประโยชน์ที่แตกต่างกันไป
“ตอนนี้รัฐบาลระแวงกลุ่มเสื้อแดง และไม่สามารถทำงานได้ ประเทศก็ไม่สงบสุข ต่อไปการที่ทุกคนจะคิดว่า เราเป็นคนไทยด้วยกันอาจจะไม่พอ แต่ต้องมองให้เห็นว่า เรื่องทุกเรื่องเป็นเรื่องของคนใกล้ตัว สามารถอยู่ด้วยกันได้ เป็นคนในชุมชนเดียวกัน เริ่มมองจากจุดเล็กๆ ในชุมชน หากมีปัญหาขึ้นมาจะต้องไม่มีสี ต้องถอดเสื้อ โดยเรื่องเช่นนี้จะพูดลอยๆ ไม่ได้ แต่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง หยุดการแบ่งแยก หยุดการไล่ล่า”
เร่งเยียวยา ให้เห็นภาพเท่าเทียม
ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่กำลังเยียวยาเฉพาะหน้าให้กับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการก่อเหตุจลาจลในกรุงเทพฯ ด้วยการมอบเงินจำนวน 5 หมื่นบาท และให้เงินกู้ในการประกอบอาชีพนั้น นักวิชาการผู้นี้เห็นว่า ถือเป็นสิ่งที่ดีและสมควรทำในเหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่หากเปรียบเทียบในวงเงินจำนวนมากเช่นนี้ ในชนบท ชาวไร่ ชาวนา จะสามารถเก็บไว้เป็นทุนในการประกอบอาชีพ ได้อย่างน้อย 4-5 ปี หรือมากสุด 10 ปี ในพื้นที่ทำกินจำนวน 20-30 ไร่ ซึ่งจากจุดเล็กๆนี้ เองหากรัฐบาลไม่ออกมาจัดการและดูแลทุกๆคนได้ ก็อาจทำให้เกิดเห็นความไม่เท่าเทียมกันได้อีกในอนาคต
“ผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์การชุมนุม จากเหตุการณ์เผาร้านค้า แน่นอนว่าไม่ใช่รัฐบาลที่ทำ และคนที่ถูกยิงก็ยังไม่จับไม่ได้ แต่รัฐบาลก็ต้องช่วยเหลือ เงินที่ได้เพียง 4-5 แสนบาท โดยไม่มีหลักประกันชีวิต ก็ต้องเข้าไปช่วยดูแลครอบครัว ต้องสำรวจจริงจัง ช่วยเรื่องการกู้ยืมเงิน ประกอบอาชีพ การศึกษา ซึ่งตรงนี้ที่รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจอย่างมาก”
เลือกตั้งใหม่คำตอบลดความเคียดแค้น
เมื่อถามถึงการจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วนั้น ดร.ยุกติ เชื่อว่า การเลือกตั้งจะทำให้ความเคียดแค้นลดน้อยลงอย่างดีที่สุด จะเป็นการจัดการภายในชุมชน ทุกคนจะได้คิด ตัดสินใจ เพราะจากการได้ลงเข้าไปพูดคุยกับคนในชุมชน ในชนบท ครอบครัวหนึ่ง มี 10 คน เชียร์คนละกลุ่ม จะมีการแบ่งคะแนนกันอย่าลงตัว เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า ความขัดแย้งสามารถไกล่เกลี่ยได้จากการเลือกตั้ง ชุมชนจะดูดซับความขัดแย้ง แต่ทุกวันนี้ความขัดแย้งยังอยู่บนท้องถนน อยู่บนจอทีวี และการเผชิญหน้าของคนแปลกหน้า ความแตกแยกจึงยังอยู่และดำเนินไปเรื่อยๆ ซึ่งหากเรามีการเลือกตั้งเชื่อได้ว่า จะเกิดความชอบธรรมทางการเมือง
“ที่ผ่านมา เมืองไทยมีประชาธิปไตยอยู่แล้ว หากมีการเลือกตั้ง หรือ มีการเรียกร้องว่าไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ และเกิดการไกล่เกลี่ยได้เองจากชุมชน สิ่งนั้น ก็คือ ประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้เกิดจากคนที่อยู่ในรัฐสภาเพียงไม่กี่คน ซึ่งกลุ่มเสื้อแดงก็ต้องการขออำนาจคืน หากผลต่อไปเป็นเช่นไร ก็ยอมรับ แต่ในวันนี้ผลทางการเมืองยังไม่เป็นที่ยอมรับ ความจริงประชาธิปไตยไม่ต้องมีการสั่งสอนชาวบ้าน แต่คนที่ต้องสอน คือ คนที่อยู่ในพรรคการเมือง”
และจากประสบการณ์ที่เคยลงไปวิจัยในชนบท ชาวบ้านมีคำถามว่า ทำไมคน กทม. ไม่ชอบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ก็ไม่สามารถอธิบายได้ แต่กลับพบว่า ชาวบ้านสามารถอธิบายได้ว่า ดีอย่างไร ได้เงินแล้วแบ่งกันอย่างไร
“แน่นอนว่าโกงกัน แต่ก็เรียนรู้ได้ ทำให้ทราบว่า เหตุที่ชาวบ้านไม่สนใจการเมืองนั้น เพราะการเมืองไม่ได้มีประโยชน์ ซึ่งเมื่อไรที่การเมืองมีผลกับใคร ก็จะตื่นตัวขึ้นมา เมื่อตื่นตัวและเรียกร้อง แล้วรัฐบาลไม่ฟัง ก็จะรู้สึกไม่มีความชอบธรรม”
เยียวยาแต่นายทุน ตอกย้ำ 2 มาตรฐาน
ขณะที่นายสน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง มองประเด็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุจลาจล แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ จะเป็นการประทุครั้งใหญ่ เพราะในต่างจังหวัดมีการพูดถึงของคนฐานราก ค่อนข้างมาก การนำเอาเงินไปช่วยรับผลกระทบ พวกนายทุน ยิ่งตอกย้ำ ถึงความแตกต่างสองมาตรฐาน ซึ่งกลุ่มเสื้อแดงมองว่า เป็นภาษีของชาวบ้าน เป็นประเด็นใหญ่ ที่รัฐบาลต้องระมัดระวัง เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการซ้ำเติมชุมชนฐานรากทั่วไป โดยเฉพาะคนเสื้อแดง
“เสียงวิพากษ์วิจารณ์เยอะมาก ผมเองไม่ใช่รัฐบาล คงไปตอบปัญหาแทนไม่ได้ แต่ที่รู้ คือ ตอนนี้เสียงจากข้างล่างไม่สู้ดีนัก อาจนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นมาได้ใหม่ จึงขอต้องเตือนรัฐบาล ปัญหาจะนำไปสู่การคลี่คลาย นำไปสู่ความปรองดองได้นั้น ต้องหันหน้าเข้าหากัน คือ ต้องมีการปฏิรูปประเทศ ใหม่ สร้างสังคมไทยใหม่ อันเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ของคนไทยทุกคนจริงๆ”
และสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจคนเสื้อแดงได้ดีที่สุด รองประธานสภาพัฒนาการเมือง บอกว่า 1.อย่าดูถูก 2.อย่าประณาม อย่าซ้ำเติมบ่อยนัก อย่างสื่อทีวี ที่ซ้ำเติมว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ยิ่งเกิดบาดแผลที่ใหญ่ขึ้น เพราะการที่กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาชุมนุม ไม่ใช่เพราะพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ไม่ได้ออกมาเพื่อไปช่วยพรรคการเมืองนั้น เราต้องมองให้ลึกลงไปว่า ปัญหาที่เราดำรงอยู่เป็นจริงหรือไม่ ทั้งปัญหาหนี้สิน ปัญหาพื้นฐานในการดำรงชีวิตต่างหากที่เป็นมูลเหตุ มูลฐาน แห่งคนฐานราก ไม่ใช่การเชื่อพรรคการเมือง หรืออยากได้คนที่ถูกขับออกจากประเทศกลับมา
ส่วนนายสุรศักดิ์ อินทรประสิทธิ์ เครือข่ายพลเมืองกรุงเทพมหานคร เล่าถึงการลงได้ไปสำรวจพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ในการช่วยเยียวยาพี่น้องผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์จลาจลว่า ตอนนี้สิ่งที่กลุ่มเสื้อแดงกำลังรู้สึก คือ ความหวาดระแวง และเรื่องของจิตใจ ตรงนี้ในฐานะผู้ที่คลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน อยากให้รัฐบาลจัดตั้งเวทีพูดคุย ปรึกษาหารือ รับฟังความเห็นของชาวบ้านให้มาก เพื่อให้ได้ข้อมูลจริงจากพื้นที่ และรัฐบาลควรรับฟัง อย่าคิดว่าเสื้อแดง คือ ศัตรู เพราะกลุ่มเสื้อแดงหรือเสื้อสีอะไร ก็เป็นคนไทยเหมือนกัน อย่าแยก และอยู่ร่วมกัน ต้องเกื้อกูลกัน ไม่มีคนจน ก็ไม่มีนักธุรกิจ ไม่มีมวลชน ก็ไม่มีนักการเมือง ไม่มีคนไทยก็ไม่มีประเทศไทย
เช่นเดียวกับนางอัฐฌาวรรณ พันธุ์มี ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลนครอุบลราชธานี ที่บอกว่า การเผาศาลากลางจังหวัดในพื้นที่ทางภาคอีสาน เป็นภาพสะท้อนของปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่ประชาชนประสบปัญหาเรื่องภาวะทางเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา หลายเรื่องไปติดที่ศาลากลางจังหวัด ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่ชื่นชอบนโยบายประชานิยมในรัฐบาลชุดก่อน อย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค จึงไม่พอใจรัฐบาลในชุดปัจจุบัน เป็นปรากฏการณ์ปัญหาอย่างหนึ่งที่การปฏิรูปสังคมไทยต้องทบทวนในเรื่องนี้
สุดท้ายเราคงต้องยอมรับว่า แค่ยกแรกรัฐบาลเริ่มต้นกระบวนการ "เยียวยา" ก็ออกแบบต่อท่อส่งไปถึงคนทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะไม่เท่าเทียมกันเสียแล้ว...