ระดมสมองภาษาสถาปนิก (ไทย) ร่วมฝ่าวิกฤต สร้างบ้านแปงเมือง
“วิชาชีพวิศวกรรม และวิชาชีพสถาปัตยทางอาคาร เราต้องยอมรับว่า เป็นวิชาชีพหนึ่งที่รับใช้คนมีกิน เหลือกินเหลือใช้ รับใช้คนมีเงิน หรือนายทุน เดินๆ ไป เราก็จะห่างจากประชาชนบางส่วนไปเป็นธรรมดา แล้วก็มีปัญหาชนชั้นเกิดขึ้น เราต้องยอมรับว่า วันนี้เป็นปัญหาของชนชั้นจริงๆ”
นายยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวนำเข้าสู่การเสวนาและระดมความคิดและร่วมกันหาบทสรุปเพื่อ(ฟื้นฟู) บ้านและเมือง ด้วยองค์ความรู้ทางวิชาชีพ/วิชาการทางสถาปัตยกรรม และ...ด้วยหัวใจของคนไทย ณ ห้องประชุมใหญ่ 2301 ชั้น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อช่วงเวลาใกล้ค่ำ วันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา
ในมิติของสถาปัตยกรรมและวิธีคิดของคนในสังคมไทย ต่อไปนี้เราจะเข้าใจ คำว่า “ ชนชั้น” ในเชิง “ชนชั้น”สถาปัตยกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น จากนักสถาปนิกผู้ “รักชาติ” มีจิตสาธารณะ นอกจากรับใช้ผู้มีอันจะกินแล้ว วันนี้ผู้คร่ำหวอดในวงการออกแบบก่อสร้าง ร่วมระดมสมอง คิดหาหนทางช่วยชาติ ทั้งในฐานะ "คนไทย" และในฐานะ "สถาปนิกไทย"
ตั้งคำถามสถาปนิกไม่มีประโยชน์กับสังคมจริงหรือ
ผศ.รัชด ชมภูนิช คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มก. กล่าวเปิดการเสวนา ในหัวข้อเรื่อง “ความรับผิดชอบของสถาปนิกไทยในฐานะคนไทย” ว่า เหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.2553 เป็นวันที่คนไทยต้องจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย จากประเทศที่เชื่อว่าเป็นประเทศที่มีรอยยิ้ม มีความสุข ความสามัคคี เราอาจทำใจให้ยอมรับไม่ได้ว่า ภาพนั้นเกิดขึ้นในเมืองไทยของเรา
“ผมมีความรู้สึกมากมาย ผมได้เรียนรู้วาทกรรมคู่ตรงข้ามที่น่าสนใจ วาทกรรมเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดวิวาทะกับคนกับชีวิต กับประเทศของเรา ไม่ว่าจะเป็นคำว่า ศอฉ.กับผู้ก่อการร้าย หรือการก่อการร้าย การก่อจลาจล การก่อกบฏ กับคำว่า ชุมนุมโดยสงบ สันติ อหิสา หรือเราได้รู้จักกับคำว่า สองมาตรฐานกับการปฏิบัติตามหลักนิติรัฐอย่างความไม่ประนีประนอมกับความไม่ถูกต้อง เรารู้จักคำว่า อำมาตย์กับไพร่ เรารู้จักคำว่า เผด็จการ ทรราชย์กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ เรารู้จักคำว่า ขอคืนพื้นที่ กระชับพื้นที่กับการสลายการชุมนุม รู้จักอาวุธเก่าของทางราชการ ”
เหตุการณ์ร้ายๆ ที่ผ่านมา คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มก. เห็นว่า ปัญหาเหล่านี้อาจเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากประเทศไทยเราสงบสุขมาเป็นเวลาช้านาน ไม่เคยคิดเรื่องความขัดแย้ง การบริหารจัดการความขัดแย้งระดับต่างๆ สังคมไทยจึงต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข ท่ามกลางความขัดแย้ง ทางความคิด รู้จักฟังและทำความเข้าใจกับความแตกต่างที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
อย่างไรก็ตาม ผศ.รัชด ได้ตั้งคำถามกับผู้ที่อยู่ในวิชาชีพนี้ว่า ทำไมสถาปนิกจึงไม่ค่อยมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม หรือมีบทบาทสำคัญๆ ของบ้านเมือง เป็นเพราะไม่มีเวลา งานเยอะ ไม่สนใจ หรือรอให้คนอื่นทำไปก่อน แล้วค่อยทำตาม หรืออาจจะรอให้เหตุการณ์สงบก่อน แล้วค่อยคิดค่อยทำ หรือเป็นไปได้ว่า สถาปนิกอาจไม่รับผิดชอบกับสังคม ไม่มีประโยชน์กับสังคมจริงหรือไม่
“วันนี้ถึงเวลาที่คนในวิชาชีพ ต้องแสดงบทบาท ความรับผิดชอบต่อบ้านต่อเมืองครั้งนี้ด้วยองค์ความรู้ ความสามารถ และด้วยจิตสำนึกของคนไทย”
อาคาร-ตึกพลังทลาย ก่อรอยบางรอยขึ้นในใจคน
ภาพเหตุก่อจลาจลการเผาตึก หรือสถานที่ต่างๆในกรุงเทพฯ ลามไปที่ศาลากลางจังหวัดบางแห่ง นายวิญญู วินิชศิริโรจน์ รองประธานบริหาร บริษัท ดีไซต์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มองว่า แม้จะเป็นเรื่องของวัตถุ แต่การพังทลายของอาคารเหล่านี้ เรากลับลืมคิดไปว่า สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดรอยบางรอยในจิตใจของคน หลายคนถอดใจ หมดอาลัยตายอยากกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่รู้จะพูดอย่างไร ซึ่งอาคารที่พังทลายไปทำให้เกิดความรันทดสำหรับผู้ที่มองเห็น แต่สิ่งที่เยียวยาได้ยากที่สุด คือ จิตใจของเราเอง
หลายคนถามว่า สถาปนิกจะทำอะไรได้ นายวิญญู กล่าวตอกย้ำว่า อย่าลืมว่าเราเป็นประชาชน แม้เราจะแก้ไขปัญหานี้ด้วยความเป็นธรรมไม่ได้ แต่เราสามารถแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเป็นประชาชนได้
ขณะที่สถาปนิกอีกคนที่มีจิตสาธาณะ นายสิน พงษ์หาญยุทธ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ บอกเล่าด้วยน้ำเสียงที่ปนเศร้า ทั้งตั้งคำถามและตอบในเวลาเดียวกันว่า เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะสิ่งสำคัญที่ทำให้มันเกิด ก็คือคนที่ล้วนแล้วแต่ในอดีต เคยพูดว่า จะรับใช้สังคม
“30-40 ปีที่แล้วก็คือการก่อการร้ายอย่างหนึ่ง เหตุการณ์ในกรุงเทพฯ ที่กลัวกันนี้ เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว แต่มีขอบเขตอยู่ในชนบท และมีขอบเขตที่บอกได้ว่า ตรงไหนควรไปตรงไหนไม่ควรไป มีผู้สนับสนุน มีมวลชน ที่บอกว่า ทุกอย่างสงบเรียบร้อยเมื่อ30-40 ปีก่อน ประเทศกลับสู่ความสงบ
แต่สิ่งเหล่านั้นคือระเบิดที่ฝังใต้ดิน กลบดินอยู่ โดยไม่ได้ถอดสเก็ด โดยปัญหาที่แท้จริงไม่ได้มีการรตามแก้ไข วันหนึ่งเป็นความพอดี ต่างคนต่างคิดว่าจะได้รับประโยชน์จากกัน จึงไปต่อสายชนวน พร้อมระเบิด ประกอบกับเทคโนโลยี ความรู้ การสื่อสารสมัยใหม่ ทำให้เรารู้อะไรมากขึ้น นี่คือแง่ร้าย เราทันสมัยตลอดแม้กระทั่งเรื่องความรุนแรง เศร้า ตรงที่ว่า คนกลุ่มหนึ่งที่เคยเป็นที่วางใจของประชาชน เอาประชาชนมาขาย หากมองในด้านบวก มีการตื่นตัวของสังคมอีกกลุ่ม คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ”
สำหรับคำถามทำอย่างไรให้ประเทศนี้เดินไปข้างหน้าได้ นายสิน แนะนำว่า ง่ายที่สุดทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง เป็นทหารทำตามคำสั่ง เป็นตำรวจรักษากฎหมาย เป็นสถาปนิกก็ต้องเป็นสถาปนิก เพราะงานของสถาปนิกอยู่ทุกที่ สามารถมองภาพรวมได้ดีกว่าวิชาชีพอย่างอื่น เป็นผู้แก้ปัญหามากกว่ามองภาพรวม อย่าลืมว่า เราทำงานกับคนไม่ได้ทำงานกับผัง เวลานี้เราจับคนเข้าไปอยู่ในผัง ในแปลน โดยลืมไปว่า เรารู้จักคนเหล่านั้นดีหรือไม่
นายสิน กล่าวถึงสิ่งที่สถาปนิกจะทำได้ โดยเฉพาะกับคนชนบท คือการกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง ทุกอบต.อยากได้นักคิดนักสร้างสรรค์ แล้วมาแข่งกัน ระหว่าง อบต. คนจะสัมผัสได้จากสิ่งเหล่านี้ อย่าคิดเรื่องค่าตอบแทน เพราะสิ่งที่จะได้กลับมาคือบารมี ความไว้เนื้อเชื่อใจ ต่างหาก คือความร่ำรวยที่แท้จริง ไม่อับจน
ความอาฆาตก่อเกิดสงครามแบบใหม่
“ต่อไปนี้เราจะเจอสงครามแบบใหม่ สงครามการก่อการร้าย ซึ่งจากที่พบระเบิดมีทั้งของอิสราเอล เกาหลี จีน หลังๆเจอระเบิดแสวงเครื่อง เป็นระเบิดที่ใช้ในการก่อการร้าย ไม่ใช่ใช้ในการสงคราม จุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือกับนาฬิกา ซึ่งเชื่อว่า หากใครบางคนยังไม่หมดความอาฆาต เราจะเจอสงครามเหมือน 3 จังหวัดชายแดนใต้” พ.ต.ท.บัณฑิต ประดับสุข สถาปนิกมือหนึ่งด้านความปลอดภัยของอาคารจาก DSI วิเคราะห์จากประสบการณ์จริง
และในฐานะสถาปนิก มองในเชิงสถาปัตยกรรม พ.ต.ท.บัณฑิต ชี้ให้เห็นว่า จากการเข้าพื้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นคณะแรกๆ พบถังน้ำมันขนาดใหญ่ ที่ไม่สามารถยกคนเดียวได้ไหว พบยางรถยนต์ และสยามแสควร์พบจำนวนมาก จึงเชื่อว่า ไม่ใช่อาการตกใจแล้ววิ่งเข้าห้างโน้นห้างนี้ ได้โดยไม่ได้มีการเตรียมการ
เผาศาลากลางมุกดาหาร ระบายอารมณ์หรือเตรียมการ
อีกจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน กับข้อสงสัยการเผา ศาลากลางมุกดาหารจนวอดเป็นจุณ เป็นฝีมือคนพื้นที่หรือไม่นั้น หนึ่งในสถาปนิกดังของเมืองไทย มีบรรพบุรุษอาศัยอยู่จังหวัดนี้ บริจาคที่ดินให้ราชการ จนต่อมานำมาสร้างเป็นศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร นายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ คนปัจจุบัน บอกเล่าให้เห็นว่า มุกดาหารเป็นจังหวัดเล็กๆ ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้จักหน้าคร่าตากันหมด การถูกกาว่าเป็นจังหวัดสีแดง ก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่นั่นจะไม่รักบ้านเมือง จนถึงขั้นทำลายทรัพย์สิน
แต่เมื่อวันหนึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้น นายทวีจิตร ได้ยกหูโทรศัพท์ไถ่ถามเพื่อนฝูง ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า คนในพื้นที่ไม่รู้ว่า คนก่อเหตุมาจากไหน ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร คนมุกดาหาร หรือไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จึงสรุปไม่ได้ว่า การกระทำนี้เพราะต้องการระบายอารมณ์หรือมีการเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า
“ในเหตุการณ์ทุกคนงงหมด แม้แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเองก็งง คิดว่าไม่ใช่เกียร์ว่าง แต่เป็นเพราะขาดการตัดสินใจในนาทีวิกฤตมากกว่า ผมเข้าใจนี่คือปัญหา บรรยากาศอลเวงไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ก็เชื่อว่ามีการเตรียมการมาอย่างดี”
ท่ามกลางความเลวร้ายนี้ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ คนปัจจุบัน มองว่า ยังมีเรื่องดีๆ มีคนที่มีจิตอาสา มารวมตัวกัน ซึ่งสมาคมฯ อยากสนับสนุนสถาปนิกจิตอาสาที่ทำงานเพื่อสังคม ไม่ว่าจะในนามกลุ่มสถาปนิกสร้างชาติ กลุ่มสถาปัตย์อาสาฟื้นฟูประเทศ เราหวังให้เรื่องนี้ก้าวต่อไป รวมถึงกรณีมูลนิธิผู้บริโภคถูกไฟไหม้ ด้วย ทางสมาคมฯ ขอสนับสนุน พร้อมให้ความช่วยเหลือโดยไม่มีเงื่อนไข
ออกแบบอาคารเพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรม
ด้านนายประภากร วทานยกุล อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ผู้ออกแบบเซ็นทรัลเวิลด์ กล่าวถึงเหตุไฟไหม้ตึกและอาคารในกรุงเทพฯ พร้อมกัน 35 จุด ว่า พม่าเผากรุงศรีอยุธยา 200 กว่าปีมาแล้ว จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ เราเคยพบเห็นว่า มีไฟไหม้พร้อมกันหลายๆ จุดในกรุงเทพฯ กี่ครั้ง จะพบว่า ไม่เคยเกิดขึ้นเลย
“วันนี้กฎหมายควบคุมอาคารมีประสิทธิภาพเฉพาะเหตุการณ์ปกติ ขณะนี้เหตุการณ์ไม่ปกติ การออกแบบอาคารเพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรม เป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทย เป็นศาสตร์ที่ยังไม่มีบริษัทในเมืองไทยทำ ต่อไปนี้เป็นโจทย์ ต้องเริ่มมีบริษัทแบบนี้เข้ามาช่วยในการออกแบบอาคารแบบนี้”
ส่วนนายพิศิษฐ์ โรจนวานิช อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าวว่า การช่วยเหลือ หรือความปรารถนาดีต้องทำควบคู่กับความเข้าใจด้วย ซึ่งไม่อยากให้ทำตัวเป็นกาฝากเข้าไปฉวยโอกาสจากหายนะที่เกิดขึ้น เราอยากเข้าไปอย่างมีคุณูปการจริงๆ แม้จะมีความหวังดีล้นปรี่ แต่การเข้าไปช่วยสังคม ต้องเป็นเรื่องที่ win-win ชนะทุกฝ่าย มีผลกับมวลชนระดับกว้าง ไม่ใช่ปัจเจกชน และต้องเป็นเรื่องค่อยๆ ทำ ใช้เวลาไม่มาก แต่ทำสำเร็จ
“ระยะสั้น ความเป็นไปได้ มีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น อาจสร้างหอพักแถวบ่อนไก่ที่ถูกเผา หมอบ้าน หรือทำซุ้มแลนด์มาร์ค ระยะกลางอาจลงไปปรับปรุงชุมชนบ่อนไก่ พัฒนาราชประสงค์ วัดปทุมฯ หรือระยะยาว คิดเรื่องภัยพิบัติ จลาจลในเมือง อาจจะต้องมีการวางแผนระบบต่างๆ ไว้ ขณะเดียวกันปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับทิศทางทางสังคม”
บทสรุป สถาปนิกไทย น่าจะต้องทำอะไรต่อไป เพื่อช่วยฟื้นฟูบ้านเมืองนั้น นายยอดเยี่ยม เสนอสิ่งที่สามารถทำได้อีกมากมาย อย่างเช่น ออกแบบสร้างศาลากลางจังหวัด ทั้ง 4 แห่งใหม่ ให้สวยดี ไม่มีที่ติ จนไม่มีใครอยากจะไปเผา หรือสถาปนิกที่มีอยู่กระจายทั่วประเทศ กลับไปช่วยเหลือดูแลโรงพยาบาลชุมชน สร้างโรงพยาบาลที่มีหลายๆเตียง เพื่อลดปัญหาเรื่องชนชั้น เป็นต้น
ตกแต่งบ้านให้น่าอยู่ ฟื้นจิตใจ หลอมอยู่จุดเดียวกัน
สุดท้ายในฐานะนักผังเมือง รศ.ดร.เอกรินทร์ อนุกูลยุทธธน อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มก. กล่าวถึงปัญหาทางสังคมว่า วิชาชีพนี้จะช่วยได้อย่างไรบ้าง พร้อมกับฝากถึงสถาปนิกรุ่นใหม่ มองให้เห็นเนื้อแท้จริงๆ ของสถาปัตยกรรม คุณค่าที่สะท้อนออกมาให้เห็นถึงจิตวิญญาณ กระทบกับคน ทำอย่างไรให้งานสถาปัตยกรรมนั้นอยู่ยั่งยืน และไม่เป็นอันตราย
“วันนี้พิสูจน์แล้วว่า การหวังรอคอยความช่วยเหลือจากภายนอก ช่วยไม่ได้เลย เจ้าของอาคารอาจต้องมีมาตรการช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ต้านไฟได้ เช่น สปริงเกอร์ ต้องมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ หรือหากให้สถาปนิกออกแบบให้มีบ่อน้ำ สนามหญ้า แทนที่จะเป็นลานคอนกรีตหมด บางอย่างอาจช่วยเรื่องความปลอดภัยได้ ”
รศ.ดร.เอกรินทร์ ย้ำว่า ไม่ค้านกับสิ่งที่มากับความทันสมัย เพราะงานต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่อาคารสูงเวลานี้ต้องทบทวน สูงเท่าไหร่จึงจะพอ สูงอย่างปลอดภัย สูงอย่างยั่งยืน ต้องคิดด้วยว่า วันนี้รถดับเพลิงมีประสิทธิภาพสูงฉีดน้ำดับเพลิงได้กี่เมตร นอกจากการช่วยเหลือตัวเองแล้ว การมีเฮลิคอร์ปเตอร์ดับไฟทางอากาศ หากเรามีความทันสมัยจริง มีเฮลิคอร์ปเตอร์ดับไฟทางอากาศก็อาจไม่เสียหายเท่านี้ ความทันสมัยแต่ไม่พัฒนาคงลำบาก
“ขณะที่ 60% เป็นแรงงานต่างชาติ หากยังเร่งสร้างเมืองต่อไปโดยไม่ดูว่า พอควร เหมาะหรือยัง ก็ยิ่งโถมสร้าง นำแรงงานต่างชาติเข้ามา อยากให้ทบทวนที่เสียไปแล้ว คือสิ่งที่ไม่มีใครให้เกิด ในสังคมไม่ว่าสีอะไร ต้องพยายามล้างให้หมด ต้องให้ หากทุกคนมองว่า บ้านหลังนี้คือ เมืองไทย บ้านหลังนี้มีพ่ออยู่ ขณะนี้พ่อนั่งน้ำตาไหลดูเราทะเลาะกัน” รศ.ดร.เอกรินทร์ กล่าว และว่า...
ปัญหาทางสังคมใหญ่มาก ทุกคนต้องช่วยกัน ในวิชาชีพสถาปนิกช่วยได้ แต่ไม่อยากให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสที่แรงเกินไป ทำอย่างไรให้พอเหมาะพอควร มาตกแต่งบ้านให้น่าอยู่ คิดด้วยว่า ทำอย่างไรฟื้นจิตใจของคนให้หลอมอยู่จุดเดียวกัน เพื่อเดินไปบนถนนแบบไม่ต้องหวาดระแวง