ผู้นำศาสนา “อิสลาม คาทอลิก พุทธ” เตือนสติสังคมไทย
ประเทศไทยที่เคยสงบสุข ร่มเย็น วันนี้กลับรุ่มร้อนไปทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน บ้านเมืองเข้าขั้นจลาจล มีผู้คนล้มตายจากการสลายการชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น
ขณะที่หลายฝ่ายยังอยู่ในอาการสลดหดหู่ใจ แต่สำหรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หนึ่งหน่วยงานที่ไม่ละความพยายาม เดินหน้าเป็นตัวเชื่อมในการเจรจาเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ร่วมกันหาทางออกของประเทศไทย และสร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ล่าสุด ได้เชิญผู้นำจากศาสนาอิสลาม คาทอลิก และพุทธ มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุม
โดยหวังว่า แนวคิดทางศาสนาจะช่วยให้ชี้นำให้คนไทยตั้ง “สติ” ได้
เริ่มต้นที่ ผู้นำศาสนาอิสลาม:
ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม รักษาการจุฬาราชมนตรี และประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี
“วันนี้เป็นวิกฤติของสังคมไทยที่เราจะต้องช่วยกันหาทางออก สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องยอมรับกันในข้อเท็จจริงอำนาจสำคัญของประเทศเวลานี้กำลังล่มสลาย อำนาจนิติบัญญัติไม่มีที่จะประชุม สภาไม่ทำงาน ทุกอย่างเป็นเงื่อนตายทำอะไรไม่ได้เลย อำนาจบริหารก็เร่ร่อนประชุมกันในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่อเนจอนาถแก่ประชาชนที่พบเห็น
ประชาชนมองสภาพของรัฐบาลด้วยความเวทนา อำนาจตุลาการเวลานี้กำลังสั่นคลอน และถูกประชาชนมองไปในแง่มุมต่าง ๆ มองด้วยความไม่สบายใจ เพราะอำนาจหลัก ๆ ที่สำคัญของประเทศเวลานี้กำลังจะล่มสลาย ประเทศมีสถาบันหลักอยู่ 3 สถาบัน หลังจากสถาบันกำลังล้มคว่ำคะมำหงาย เรากำลังกลับมาสถาบันหลัก 3 ศาสนาคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แต่วันนี้เรามาที่สถาบันศาสนาเป็นที่พึ่ง
ความยุติธรรมเป็นสิ่งแรกที่จะต้องธำรงรักษาไว้อย่างยิ่ง ยุติธรรมไม่มีสามัคคีไม่เกิดแน่นอน ใครก็ตามที่มีอำนาจของประเทศจะต้องรักษาไว้ด้วยศักดิ์ศรีและเกียรติยศในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบ การเคารพกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน กลุ่มไหนก็ตามต้องเสมอหน้ากัน หลักของนิติรัฐเป็นที่ชัดเจนว่าเราจะต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เลื่อนลอยปราศจากจุดหมายปลายทาง
ประเด็นต่อมาเรื่องผลประโยชน์ของชาติต้องมาก่อน สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดก็คือเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายบารัก โอบามา เชิญรัฐมนตรีฝ่ายค้านที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังมาทำหน้าที่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจการเงินนั้นหมายความว่า ไม่ยึดติดกับรูปแบบของการเมืองแต่ผลประโยชน์ของชาติจะต้องมาก่อน แต่ในประเทศไทย เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่การเข้ามาเป็นผู้นำ เข้ามาด้วยโควตา เข้ามาด้วยพรรคพวก เพราะบ้านเราเป็นสังคมระบบอุปถัมภ์ ซึ่งวัฒนธรรมแนวความคิดแบบนี้ควรจะยกเลิกไป
เรื่องความสมานฉันท์ของคนในชาติ ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้ว เราต้องดำเนินชีวิตอย่างมีสติ คิดทบทวนในสิ่งที่ผ่านมาและผ่านไป การที่จะทำให้ประเทศชาติอยู่ได้คนในสังคมต้องรักกัน มีความผูกพันกัน และต้องความรับผิดชอบร่วมกัน ในความแตกต่างเอกภาพบนความหลากหลายเราสามารถทำได้ เหมือนหลาย ๆ ประเทศที่เป็นอยู่ ต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างศาสนา เช่น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ต่างเชื้อสายมีทั้งอิตาลี เยอรมัน และฝรั่งเศส คำว่า unity in diversity ยังเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก ผู้นำนอกจากจะต้องมีสติแล้วจะต้องแสวงจุดร่วมและสงวนจุดต่าง คุณลักษณะของความผิด ความรุนแรง การฝ่าฝืน เป็นคุณลักษณะของมนุษย์ แต่คุณลักษณะของพระเจ้าก็คือคุณลักษณะของการให้อภัยตลอดกาล
หลักของศาสนาอิสลามจะต้องตอบโต้ความชั่วร้ายหรือความดี อย่าเอาไฟดับไฟ แต่ให้เอาน้ำดับไป องค์ประกอบของผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีคุณสมบัติที่อดทนอย่างยิ่ง ผมมีความเชื่อว่าหลักที่นำเสนอจะเป็นการแก้วิกฤติ ช่วยกันหาทางออกได้ เพราะสถาบันทางศาสนาจะเป็นสถาบันที่ทรงอิทธิพลที่สุด หากมนุษย์ทั้งหลายจะได้เข้าใจทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เราจะต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ทางการเมือง เราจะไม่ใช้สัญลักษณ์ของการยั่วยุ โดยการแสดงออกไม่ว่าจะตีนตบ มือตบ ต้องยกเลิกโดยเด็ดขาด มิใช่ลักษณะของคนที่จะแสดงถึงความบริสุทธิใจ ความรักกัน
การแก้กฎหมายการชุมนุม ตามมาตรา 63 ต้องทำแบบรัฐธรรมนูญของอังกฤษต้องรู้ว่าใครจะชุมนุม ชุมนุมกันเรื่องอะไร ขอบเขตอย่างไร ไม่ใช่ทำกันจนไร้เหตุผลและก้าวไปสู่ความรุนแรง การแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญมารตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรค เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ความผิดของคน ๆ เดียวเป็นความผิดของคนทั้งหมด เป็นเรื่องฝืนกฎธรรมชาติของมนุษย์โดยทั่วไป และสิ่งที่เลวร้ายก็จะเกิดขึ้น สถาบันที่หวังที่จะพึ่งในขณะนี้คือ สถาบันทางศาสนาเท่านั้น อำนาจบริหารไร้ทิศทาง อำนาจตุลาการสั่นคลอนอย่างหนัก ท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายโปรดมีสติ คำเตือนเหล่านี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์”
ผู้นำศาสนาคริสต์:
มุขนายกเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
“ในฐานะที่เป็นคริสต์ศาสนิกชน เราเชื่อเสมอ มนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน เชื่อในพระเจ้าซึ่งเป็นบิดาของเรา แม้ว่าในสังคมอาจจะเกิดมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จนบางครั้งกลายเป็นความขัดแย้งแต่พวกเราก็ยังเชื่อว่า พวกเราสามารถที่จะอยู่ร่วมโลกกันได้ ร่วมประเทศกันได้ ร่วมสังคมกันได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะต้องเปิดใจให้กว้าง และเมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาและปัญหานั้นถึงขั้นวิกฤติ อาจจะเพียงบอกว่า เปิดใจให้กว้างไม่พอ อาจจะต้องขยายขีดจำกัดให้กว้างมากขึ้น เพื่อจะให้มีที่ที่สามารถรองรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากเรา
ด้านหนึ่งอาจมีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองอันเป็นสิทธิในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย แต่ในอีกด้านก็ต้องเป็นการชุมนุมที่เป็นไปตามกฎหมายของบ้านเมือง ผู้ชุมนุมจะต้องเคารพสิทธิของผู้อื่นและไม่ใช้ความรุนแรง มีเจตนาบริสุทธิ ไม่มีสิ่งใดแอบแฝง ขณะนี้ต้องยอมรับว่า สถานการณ์บ้านเมืองลุกลามและบานปลายจนเกิดความรุนแรง แต่การสูญเสียร้ายแรงมากแล้ว แต่พวกเราก็ไม่ควรที่จะหมดหวัง เชื่อว่าคนไทยทุกคนก็มีความหวังด้วย หันหน้ามาพูดคุยกัน มาเจรจากันหาทางออกให้กับสังคมและประเทศชาติของเราด้วยสันติวิธี
เท่าที่รับฟังความรู้สึกนึกคิดของประชาชนคนไทยโดยรวมผ่านทางสื่อต่าง ๆ ก็พอจะรับรู้ได้ว่าเป็นความต้องการร่วมของคนไทยส่วนใหญ่ นั้นคือ ความสงบ สันติ ความปรองดองสมานฉันท์ ความปลอดภัย เคารพซึ่งกันและกันทุกกลุ่ม ทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์เวลานี้จะปล่อยให้สังคมดำเนินต่อไปอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่ได้ จำเป็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องหยุด และหันมาทบทวนอีกครั้ง
ประเทศไทยทั้งหมดจะพ่ายแพ้ไม่ได้ ประเทศไทยโดยรวมจะสูญเสียมากไปกว่านี้ไม่ได้ จึงขอวิงวอนพี่น้องชาวไทย ทุกคน ทุกฝ่าย ผู้มีสำนึกเป็นคนไทย ผู้มีใจฝักใฝ่ในสันติวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอวิงวอนผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่าย ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันและกำลังขัดแย้งกันอยู่ ขอให้ทั้งสองฝ่ายหยุด หยุดการเคลื่อนไหว หยุดการใช้ความรุนแรง จะต้องหยุดทั้งสองฝ่ายและหันมาสู่การเจรจา
แต่ละฝ่ายที่จะเจรจาได้นั้นจำเป็นต้องมีท่าทีประนีประนอม ผ่อนปรน พร้อมที่จะรับฟัง การที่จะเจรจาจะต้องขยายขีดจำกัดของเรา เปิดใจให้กว้างมากขึ้น ยิ่งสถานการณ์เข้าสู่วิกฤตินั้น เราก็ต้องยิ่งขยายขีดจำกัดในจิตใจของเราให้กว้างมากขึ้นในความรู้สึกนึกคิด จิตใจของเราต้องขยายให้มากขึ้น นอกจากนี้ต้องมีเจตนาร่วมเพื่อจะหาทางออก ไม่มีผลประโยชน์อื่น มีเจตนาร่วมประการเดียวว่า เราทุกคนปรารถนาที่จะให้ประเทศของเรา สังคมของเรามีทางออก ดังนั้นจึงต้องหยุดสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังก่อความเสียหายให้กับประเทศของเราในทุก ๆ ด้าน และเจรจาเท่านั้น เจรจาด้วยสันติวิธี อาจจะเป็นการเจรจาสองฝ่ายอย่างที่เราเห็นเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นภาพที่ทุกคนสุขใจ สบายใจ ดีใจ ดูเหมือนก้าวไปในทางที่น่าจะเป็นแล้ว ยังเป็นไปได้ ยังไม่สิ้นสุด หากว่าเราขยายใจของเราให้กว้างขึ้น มีครั้งที่ 3 ก็จะต้องมีครั้งที่ 4 และ 5 ต่อไป เป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าสังคมไทยต้องการ
จากนั้นก็มีกลไกทางรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีอยู่ เป็นทางเลือกทางหนึ่ง กลุ่มองค์กรไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บรรดาอาจารย์จากมหาวิยาลัยต่าง ๆ ที่ทุกคนเห็นว่าจำเป็นต้องมีส่วนร่วม ยื่นมือเข้ามาและพร้อมที่จะช่วยผสานคิดว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ขาด ความหวังสำหรับสังคมไทยยังมี ขอให้เราเชื่อในความหวังนั้น
เวลาเดียวกันจะต้องระวัง ฝ่ายใดก็ตามที่ปฏิเสธการเจรจา ฝ่ายใดก็ตามที่ไม่ยอมหยุดสังคมไทยทั้งหมดจะถือว่าผู้นั้นฝ่ายนั้นก่อการทำร้ายประเทศไทย เราทุกคนต้องหันเข้าหากันและปฏิเสธที่จะเจรจา ที่จะพูดคุยกันไม่ได้ เพราะว่าจะเป็นการปิดโอกาสสำหรับกับประเทศไทยของเรา ซึ่งเรายังเชื่อว่าประเทศไทยของเรายังมีโอกาสอยู่ และเนื่องจากประเทศไทยเป็นนิติรัฐ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลความสงบเรียบร้อย และผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม ความเสมอภาค ผู้ชุมนุมแม้จะมีสิทธิในการชุมนุมแต่ในสถานการณ์ขณะนี้เข้าขั้นวิกฤติ เกรงว่าอาจจะมีการปฏิบัติตามกฎหมาย อาจจะเกิดความเสียหายบาดเจ็บ ล้มตายไปมากกว่านี้ ซึ่งไม่เป็นความพึงปรารถนาต่อผู้ใดทั้งสิ้น ดังนั้นจำเป็นต้องทบทวนและตัดสินใจกันใหม่ พร้อมที่จะเข้ามาพูดคุยกัน”
ผู้นำศาสนาพุทธ:
พระธรรมโกศาจารย์ ประยูร ธมฺมจิตฺโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
“ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะเผชิญหน้ากัน การเผชิญหน้ากันก็ทราบดีว่า มีผู้ถืออำนาจรัฐฝ่ายหนึ่งและผู้ชุมนุมอีกฝ่ายหนึ่ง ที่น่าวิตกกังวลก็คือผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายซึ่งมีกระจายอยู่ไปทั่วทำให้นึกถึงภาพของการแตกแยกในเรื่องสมัยโบราณว่า เวลาคนทะเลาะกันถ้าควบคุมไม่ได้มันจะแตกแยกตั้งแต่พื้นปฐพีไปจนถึงพรหมโลก การแตกแยกคือการเผชิญหน้าอย่างนี้ เกิดภาวะฝุ่นตลบ ในภาวะที่ฝุ่นตลบนั้นจะมองไม่ออกว่าใครมิตร ใครศัตรู หรือที่จริงก็คือคนไทยด้วยกัน เกิดการเผชิญหน้า เหมือนคนสองกลุ่มถืออาวุธจ้องใส่กัน ความรุนแรงที่มีทั้งสองฝ่ายเปรียบเหมือนอาวุธเมื่อเผชิญหน้ากัน จ้องใส่กันก็มีความเป็นไปได้ 1. เรายิงเขาตาย 2. เขายิงเราตาย 3. ยิงพร้อมกันตายทั้งคู่ ซึ่งคำว่ายิงในที่นี้ก็คือการทำลาย ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดก็ตาม ถ้าไม่ตั้งสติและทำลายพร้อมกันตายทั้งคู่ คือประเทศชาติตาย ย่อยยับ อับจน ชัยชนะที่ได้มาบนซากปรักหักพังของแผ่นดิน จะมีประโยชน์อะไรดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยตรัสไว้ครั้งหนึ่ง
เพราะฉะนั้นก็ถึงวาระที่เราจะตั้งสติว่า ชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบนซากปรักหักพังไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา สิ่งที่พูดมาคือความเป็นไปได้ 3 แบบ คือ 1. เราชนะเขาแพ้ เรียกว่า อัตตาธิปไตย เรายิ่งใหญ่ 2. คนอื่นชนะเราแพ้ เรียกว่า โลกาธิปไตย เขายิ่งใหญ่ ซึ่งทั้งสองแบบนี้นำมาสู่ความเคียดแค้นชิงชังไม่ว่าฝ่ายไหนชนะก็จะผูกเวรกัน จองเวรกันไม่รู้จบ แม้จะมาให้ตั้งโต๊ะเจรจาก็จะไปพูดกันแต่เรื่องไม่พอใจใครทำใครก่อน ไม่ได้มานึกถึงปัจจุบันว่าเกิดวิกฤติขึ้นแล้ว เราจะไม่ให้เผชิญหน้า ไม่ให้ชนกันได้อย่างไร
ส่วนประเด็นที่พึงปรารถนาคือ ธรรมาธิปไตย คือ ต่างฝ่ายต่างชนะ ไม่มีฝ่ายใดชนะโดยเด็ดขาด เพราะว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรวบเบ็ดเสร็จมันก็อยู่ร่วมกันลำบากก็จะต้องเป็นวงจรแก้แค้นกัน ธรรมาธิปไตย คือต่างฝ่ายต่างอะลุ่มอล่วย เรียกว่าถอยกันคนละก้าว เพราะการที่จะให้เขาชนะบ้างเราชนะบ้าง ก็ต้องยอมกันบ้าง คนไทยเคยขอกันกินมากกว่านี้ แล้วเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากไม่มีการอะลุ่มอล่วย ไม่มีการถอย ตั้งหลัก ตั้งสติ ในที่สุดสังคมไทยก็จะไปสู่ “อนาธิปไตย” ไม่มีขื่อ ไม่มีแปร ไม่มีความศักดิ์สิทธิของกฎหมายระเบียบไม่มีใครทำอะไรได้ มือใครยาวสาวได้สาวเอา แล้วประเทศชาติจะเหลืออะไร
ในตอนนี้วาระนี้มาตั้งสติถอยกันคนละก้าว ถ้าเราคิดอย่างนี้ขึ้นมาก็จะเห็นได้ว่า ยิ่งดันทุรัง ยิ่งมุทะลุมันก็เข้าสู่ภาวะชนะศึกแต่แพ้สงคราม เราชนะทุกฝ่ายแต่อยู่บนความย่อยยับของสิ่งที่เราได้มา บางทียอมแพ้ศึกเพื่อชนะสงคราม ยอมแพ้แนวรบย่อย ๆ แต่ส่วนรวมเหลือรอดไว้ ประเทศชาติอยู่รอด สถาบันอยู่รอดทำอย่างไร ภาษาคนไทยแต่โบราณได้พูดเป็นคติเตือนใจ ซึ่งคนมักจะไม่ทำว่า “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร” คนบอกว่าเป็นพระก็ต้องแพ้อยู่ร่ำไป มารก็ต้องชนะ ฉะนั้นเป็นมารดีกว่าชนะดีกว่า แต่จริง ๆ เราเข้าใจความหมายคำนี้ผิด
คำว่า แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร หมายความว่า เรายอมแพ้ให้ใคร เราเป็นพระในใจของคน ๆ นั้น เราชนะฝ่ายใดร่ำไป เราเป็นมารในใจของคน ๆ นั้น แล้วอย่าลืมว่าคนที่จะมาเป็นมาร คือคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น แล้ววงจรเหล่านี้ก็ไม่ยุติ จะถอยในฝ่ายไหนก็ตามทั้งสองฝ่ายต้องตั้งสติ เพื่อไม่ให้ไปสู่อนาธิปไตย รักษาชาติบ้านเมืองเอาไว้แล้วก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า win win ต่างฝ่ายต่างได้ ต่างฝ่ายต่างชนะ เรียกว่า ธรรมาธิปไตย
แต่สถานการณ์ปัจจุบันนี้ เข้ามาในวงจรของการจองเวร อาฆาต พยาบาท ใครทำใครก่อน ตั้งสติด้วยการตัดวงจรแห่งการจองเวรนี้ แล้วก็ถามตัวเราด้วยการตั้งสติพินิจพิจารณาว่าเราจะให้วงจรแห่งการแก้แค้นนี้หมุนต่อไปทำลายทุกฝ่ายหรือไม่ ฉะนั้นในทางศาสนาจึงได้ขอให้เราตัดวงจรตรงนี้ด้วยการให้อภัย เยียวยาบาทแผลที่ภายในจิตใจของกันและกัน อย่าเยาะเย้ยกัน อภัยกัน และที่สำคัญก็คือแผ่เมตตา มองกันในแง่ดี
ในทางพุทธศาสนานั้นถือว่าในเวลาที่เกิดการเกลียดชัง โกรธแค้นเราไม่เคยมองกันในแง่ดี ทั้ง ๆ ที่เขาก็มีแง่ดีให้มอง เราจะจับจ้องแต่ในแง่ร้ายของกันและกัน แผ่เมตตาคือเอาจุดดีความเป็นคนไทย ความเป็นผู้ที่มีความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง ความคิดเห็นอาจจะแตกต่างแต่อย่านำมาสู่ความแตกแยก เมื่อแผ่เมตตากันอย่างที่ว่าแล้ว ให้เกิดสภาวะที่กลับไปสู่คุณค่าแห่งสังคมไทยเดิม ๆ
สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพได้เคยกล่าวไว้หลายสิบปีมาแล้วว่า ประเทศไทยมีคุณธรรมที่รักษาความเป็นไทยอยู่ 3 ประการ ในสมัยก่อน ประการที่ 1 ความรักอิสรเสรีไม่ยอมตกเป็นเมืองขึ้นของใคร ประการที่ 2 อวิหิงสา คือ การไม่เบียดเบียน ความอดทนอดกลั้น ต่อสิ่งที่แตกต่างกัน เราอยู่ร่วมกับคนต่างศาสนากันอย่างสามัคคีกัน เพราะความอดทนอดกลั้นยอมรับสิ่งที่แตกต่างจากเรา ประการที่ 3 คนไทยถนัดในการประสานประโยชน์ ใครมีดีตรงไหนก็มาร่วมกัน มาช่วยกันทำ คนต่างชาติ ต่างศาสนามาประเทศไทยมาอยู่ร่วมกัน ช่วยกันพัฒนาสังคมไทย พัฒนาบ้านเมืองของเรา
เราเคยเกิดความขัดแย้ง เราก็สามารถเปลี่ยนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเรามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และสร้างสังคมไทยให้เป็นปึกแผ่น ด้วยคุณธรรมทางศาสนา คือ ขันติ ความอดทนต่อความแตกต่าง ใครอาจจะคิดเห็นแตกต่างจากเรา ทนกันได้ ฟังกันได้ เมตตา ความรัก เห็นว่าเป็นพวกเดียวกัน และอภัยต่อกัน ไม่เพิ่มวงจรแห่งการจองเวรกันต่อไป
เพราะฉะนั้นเรามาตั้งสติและแผ่เมตตากัน เพื่อไม่ให้โกรธเกลียดกัน และไม่ได้แผ่เมตตาเฉพาะกลุ่มเราเท่านั้น แผ่ความรักไปทุกกลุ่มทุกฝ่าย เชื่อว่า ทำอย่างนี้ค่อย ๆ ดึงสติกลับคืนมาสู่สังคมไทย และค่อย ๆ แกะ ค่อย ๆ แก้จะด้วยวิธีใดก็ตาม ก็จะทำให้นำสันติสุขกลับมาสู่สังคมไทยที่เรารักอีกครั้งหนึ่ง”