3 หัวหอก "สายพันธุ์ใหม่" แหวกฟ้าหา "อุดมคติ" 2010
ก่อนที่ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ทายาทนักเคลื่อนไหวทางการเมือง "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" และ "จิระนันท์ พิตรปรีชา",ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day และสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ จะร่วมเสวนาในงานปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทองประจำปี 2553 ครั้งที่ 36 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่น ผู้ขันอาสาทำให้ทั้ง 3 คนคุยกันแบบออกรส ได้แอบถาม “พวกเรารู้ไหมว่า อุดมคติสายพันธุ์ใหม่ 2010 ไวรัสหรือวัคซีน” แปลว่าอะไร ต้องการให้พูดเรื่องอะไร
และเมื่อฉันทามติร่วมกัน คือไม่มีใครรู้ พิธีกรหนุ่มจึงเริ่มต้นเสวนาประเทืองปัญญาและอารมณ์แบบลืมๆหัวข้อไปก่อน เอาเฉพาะเรื่องอุดมคติ
ภิญโญ : เริ่มต้นต้องถาม อุดมคติของคุณสฤณี คืออะไร ต่างจากอุดมคติที่จินตนาการในสังคมไทยอย่างไร
สฤณี : อาจจะตอบยาก เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองมีอุดมคติ แต่หากถามว่าอยากเห็นสังคมไทยเป็นแบบไหน ตอบกว้างๆ คืออยากให้คนมีสันติภาพ ได้ใช้เสรีภาพทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้คิดในระดับครุ่นคิดกับมัน
เรา 3 คน ไม่มีใครเข้าใจ เวลาพูดถึงอุดมคติสายพันธุ์ใหม่ 2010 ไม่มีใครปิ๊งขึ้นมา อาจสะท้อนว่า ปี 2010 อาจไม่มีสิ่งที่เรียกว่า อุดมคติหนึ่งเดียวอีกต่อไป ย้อนกลับไปสมัยพ่อแม่ยังหนุ่มสาวก็เป็นยุคที่ค่อนข้างจะมีการต่อสู้ ทางการเมืองชัดเจน และแบ่งฝั่งคอมมิวนิสต์ ฝั่งทุนนิยม ทุกคนเหมือนกับมีค่าย ในเมืองไทยเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ เหมือนไม่ต้องคิดว่า เออเราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพราะคำว่าเผด็จการ ชัดเจนมาก ไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อน
ภิญโญ : แสดงว่า ยุคนั้นเราแค่ต่อต้านเผด็จการก็กลายเป็นคนมีอุดมคติแล้วใช่หรือไม่
สฤณี : เหมือนตัดสินใจง่าย หากเราเป็นคนเรียกร้องประชาธิปไตย เราเชื่อว่าทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองก็ตัดสินใจง่ายที่จะออกไป ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ประเทศอื่นก็มีเหตุการณ์ประมาณนี้ตัดสินใจไม่อยากที่จะรณรงค์อะไรสักอย่าง
ภิญโญ : ก่อนที่เราจะไปกันต่อ เวลาพูดถึงตุลาฯ เราคิดถึงวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เราจะนึกถึงหน้าเสกสรรค์ ลอยมา จีระนันท์ ลอยตามมาติดๆ แล้ว วรรณสิงห์ พอพูดถึงตุลาฯ นึกถึงอะไร
วรรณสิงห์ : นึกถึงหน้าพ่อและแม่ สำหรับคำถามอุดมคติคืออะไร คำว่า อุดมการณ์ ก็คิดคล้าย ๆ พี่ยุ้ย (สฤณี) พอคำว่า อุดมคติ รู้สึกว่า เป็นโลกอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่ไม่มีพันธุ์ อุดมคติไม่ใช่อยู่แค่การเมืองหรือสังคมอย่างเดียว เป็นตั้งแต่ผู้ชายในอุดมคติ ครอบครัวในอุดมคติ แล้วมนุษย์ทุกคนก็จะมีอุดมคติเสมอไป ไม่ว่าจะอยู่ในจุดไหน หรือสูงแค่ไหนก็ตาม ก็ยังมีสิ่งที่อยากได้อยากไขว่คว้าเสมอ สุดท้ายอุดมคติสำหรับผม เป็นกิเลศอย่างหนึ่ง แค่นั้นเอง ไม่มีวันที่มาถึงได้ เราคุยเรื่องอุดมคติไม่ใช่อุดมการณ์
ภิญโญ : อุดมคติในนิยามของ ทรงกลด คืออะไร
ทรงกลด : ไอเดียแรก คือยูโทเปีย (Utopia) โลกสมมุติ ในฝัน รู้สึกว่าอยากให้เป็นอย่างนั้น ผมว่า ยุคก่อนโลกอาจใบใหญ่มาก เช่นอยากจะเห็นทุกคนเท่าเทียมกัน อยากเห็นคนกินดีอยู่ดี แต่ปัจจุบันโลกเล็กลง เป็นโลกส่วนตัวมากขึ้น อุดมคติอาจไม่ใช่อยากเห็นประชาชนกินดีอยู่ดี ทุกคน แต่ฉันกินดีอยู่ดี รู้สึกว่าปัจจุบันโลกเล็กลงนี้ เป็น Individual มากขึ้น
ภิญโญ : มาถึงเรื่องอุดมการณ์ส่วนตัวของสฤณี
สฤณี : (ตอบทันควัน) ไม่มี เพราะเป็นคนไร้อุดมการณ์ในความหมายที่ว่า อยากจะทุ่มเทเพื่อเป้าหมายที่สูงส่งกว่า แต่ตรงนี้ อธิบายยากนิดหนึ่ง แต่เป็นคนที่ว่าอยากจะรู้ทุกๆอย่างที่ทำ ไม่ได้เบียดเบียนใคร ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ได้เป็นส่วนเล็กในส่วนที่ใหญ่ ไม่เคยตั้งเป้าหมาย เห็นด้วยกับประเด็นของทรงกลดที่โลกเล็กลง ที่รู้สึกว่าเล็กลง เพราะมีเทคโนโลยี มีอินเทอร์เน็ต ทำให้เรารู้ว่า อะไรที่เคยเป็นอุดมคติของเรา อาจไม่ใช่อุดมคติของคนอื่น มีความแตกต่างค่อนข้างเยอะ พอมีความแตกต่าง เราก็ต้องกลับมาคิดว่า อุดมคติของเรากับของคนอื่นที่แตกต่าง ต้องมาอยู่บนโลกใบเดียวกัน อยู่ในกฎกติกาในสังคมเดียวกัน เราจะตัดสินอย่างไรว่า อะไรถูกอะไรผิด จึงเป็นโลกที่น่าสนใจ ทำให้เราเห็นความหลากหลายที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
จริงๆเมื่อก่อนโลกก็คงหลากหลายแบบนี้ แต่เราไม่เคยรู้ว่ามันหลากหลาย จนกระทั่งมีเทคโนโลยี เครื่องมือต่างๆที่ทำให้เราเห็นความหลากหลาย ประเด็นว่า แล้วมีอะไรหรือไม่ที่เป็นสากล มีชุดความเชื่อหรือมีคุณค่าอะไรบ้างไม่ว่าเรามาจากไหนเราตกลงร่วมกันได้ว่าเป็นสากล เป็นประเด็นที่ท้าทายในโลกสมัยใหม่ สิ่งที่เคยคิดว่าถูกอาจจะไม่จริงแล้ว อาจจะไม่ถูกสำหรับคนอีกที่หนึ่ง แสดงว่าไม่มีอะไรถูกเลยโลกนี้ นี่คือบทสรุปหนึ่งที่บางคนคิดแบบนั้น
สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าโลกนี้น่าสนใจก็คือ การพยายามคิดไปไกลกว่านั้นว่า มีอะไรบ้างที่เป็นสากล แล้วบรรดาอุดมคติที่หลากหลายของเราที่มีอยู่ในแต่ละคน จะอยู่รวมกันได้อย่างไร ดังนั้นจึงคิดว่า อุดมคติในความหมายของสายพันธุ์ใหม่ อาจไม่มีคำตอบหนึ่งเดียว ไม่ชัดเจนขนาดนั้น แต่ก่อนพูดถึงประชาธิปไตย ปัจจุบันก็มีเผด็จการในคราบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในคราบเผด็จการ วนไปวนมา ไม่มีความชัดเจนอีกต่อไปแล้วเหมือนสมัยรุ่นพ่อแม่ ทุกสิ่งทุกอย่างเราต้องมานั่งดู ค่อยๆพิเคราะห์ว่าอะไรคือจุดร่วมกันได้
ภิญโญ : (อ่าน) อุดมคติในความหมายของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พูดไว้ในงานปาฐกถาโกมลคีมทองครั้งแรก 2517 บอกว่า อุดมคติคือวิถีอันนำไปสู่สิ่งประเสริฐ ต้องมีลักษณะสำคัญคือ ต้องตั้งมั่นในฐานของธรรมะ ในตัวอย่างต่างๆ ที่ผมยกขึ้นมากล่าวนั้น อุดมคติต้องตั้งมั่นในฐานอันแน่นแฟ้นความจริง ความงาม ความดี อุดมคติเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อบุคคลในสังคม ใช้ความคิดได้อย่างเสรี แล้วนิยามอุดมคติในความหมายของทรงกลด เคลื่อนจากอาจารย์ป๋วย ไปเยอะหรือไม่
ทรงกลด : ผมว่าเยอะ ผมเกิดไม่ทันยุคนั้น พอพูดถึงอุดมคตินึกถึงเพลงเพื่อชีวิตก่อน พอสังคมเปลี่ยนจากยุคที่ผู้นำมีปัญหาค่อนข้างมาก ยุคหนึ่งการเมืองเริ่มเบาบาง คนสนใจเรื่องปากท้องมากขึ้น สนใจเรื่องของตนเองมากขึ้น ผมไปญี่ปุ่นและมีโอกาสสัมภาษณ์ ตามร้านค้าต่างๆ ชาวบ้านมีข้อมูลที่น่าสนใจ เขาบอกว่า เขาขายข้าวมา 3 ชั่วอายุคน เวลานี้ทำก๋วยเตี๋ยวมา 4 ชั่วอายุคน
แล้วผมถามว่า คุณอยากทำเหรอ เขาบอกว่า ผมก็ไม่อยากทำ แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่า ผมต้องทำอย่างอื่น ไม่เคยตั้งคำถามว่า ทำไมผมต้องมีฝันของตัวเองก็พ่อแม่ทำมา ก็ทำไป ผมคิดว่าคนอายุสัก 40 ไม่เคยสงสัยหรือมีคำถามเหล่านี้ แต่ยุค 10 ปีที่ผ่านมา อุดมคติจากสิ่งใหญ่ๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมในภาพรวม เริ่มกลับมาสู่ตัวตนส่วนบุคคลมากขึ้น เราเริ่มสนใจฉันอยากเป็นอะไร ฉันอยากทำอะไร
ผมจึงรู้สึกว่า อุดมคติหากเป็นเพลงอาจเปลี่ยนจากเพลงเพื่อชีวิต กลายเป็นความเชื่อของบอดี้สแลมแล้ว ยุคความเชื่อ 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นเราเห็นการเติบโตของคนเล็กๆจำนวนมาก เห็นฮีโร่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นแขนงธุรกิจ แขนงบันเทิงต่างๆ รู้สึกว่า ฉันอยากเป็นแบบนั้น ก่อนจะเปลี่ยนแปลงโลก กลายเป็นสนใจบุคคลมากขึ้น แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดแรงเหวี่ยงอีกครั้งหนึ่ง โอเคฉันเปลี่ยนแปลงตัวฉันแหละ แต่เป้าหมายไม่ใช่เพื่อฉันแต่เพื่อโลก
ภิญโญ : แล้วนิยามอุดมคติวรรณสิงห์ เคลื่อนจากอาจารย์ป๋วยไปมากแค่ไหน
วรรณสิงห์ : ยุคนี้เป็นยุคที่มีความหลากหลาย สิ่งสำคัญของอุดมคติ ไม่ใช่แค่เรามีอุดมคติ ถูกต้องอันใดอันหนึ่งแต่อยู่ที่ว่า อุดมคติทุกรูปแบบมีที่ให้อยู่ในสังคมได้ ยุคปัจจุบันเรามีอุดมคติเพื่อแสดงออก แต่ไม่ได้มีอุดมคติในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า เหมือนคนมีอุดมคติเพื่อหาความหมายสักอย่างให้ตัวเอง
ยุคก่อนอาจารย์ป๋วย การมีความหมายคือการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ยุคนี้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคนจะเป็นส่วนหนึ่งพร้อมกันได้นั้น ไม่เหลือแล้ว หรืออาจจะเหลือบ้าง เลยคิดว่า คนสักกี่คนจะเชื่อว่า อุดมคติของตนจะเป็นจริงได้ ทุกคนเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น แต่ไม่เป็นจริงได้ จึงเป็นเพียงแค่การแสดงออกเท่านั้นเอง
ภิญโญ : อุดมคติของ วรรณสิงห์ แตกต่างจากอุดมคติของเสกสรรค์ อย่างไร
วรรณสิงห์ : อุดมคติของเสกสรรค์เห็นความเสมอภาค อยากให้คนจนมีโอกาส พ่อเชื่อในวิธีที่ต้องเกิดการต่อสู้ ต้องมีการถ่วงอำนาจ ต้องมีการตรวจสอบผู้มีอำนาจ ต้องมีโครงสร้างทางอำนาจที่สมดุล ของผมรัฐบาลจะเป็นใครก็ได้ การเมืองไม่ค่อนสน เชื่อในพลังของเอกชนมากกว่า ถ้าโครงการมีการระดมทุนนำทรัพยากรไหลไปสู่เซ็กเตอร์ที่มีประโยชน์ส่วนต่างๆในสังคม นี่คือ ยูโทเปีย
ภิญโญ : อุดมคติของสฤณี เคลื่อนจากอาจารย์ป๋วยหรือจากอาจารย์เสกสรรค์อย่างไร
สฤณี : เนื่องจากอาจารย์ป๋วยพูดไว้ดีมาก ความดีความงามความจริง และพูดไว้กว้าง ไม่คิดว่าจะเคลื่อนได้เพียงแต่หน้าตาความดีความงามความจริงคืออะไร กระบวนการนำไปสู่ความดีความงามความจริงคืออะไรต้องมีความแตกต่างกันพอสมควร ในยุคพ่อแม่เราหนุ่มสาวเกิดการต่อสู้ต้องเลือกข้าง ตัดสินใจไม่อยาก สิ่งที่ปู่ย่าตายายได้วางรากฐาน พูดถึงการเมืองเราก็ต้องยอมรับว่า เรามีระบอบประชาธิปไตย จะขึ้นไป จะ 10% หรือเนื้อหาจะแปลกปลอมก็เป็นอีกประเด็น แต่อย่างน้อยเรามีรากระดับหนึ่ง เหมือนเราปลูกต้นไม้ เอาเมล็ดมาหย่อนไปในหลุม อาจไม่ได้ยากในการทำให้มันปลูกให้ได้ แต่การประคมประหงม ดูแล คิดถึงปัจจัยต่างๆ จะมีความเสี่ยงอะไรบ้าง จะมีแมลงมากินหรือไม่ ให้ปุ๋ยทำให้ดินเสียหรือไม่ เป็นประเด็นที่ยาก
รากฐานที่คนรุ่นอาจารย์ป๋วย หรือรุ่นปู่ย่าต่อสู้มาเป็นรากให้เรา ถึงจุดนี้เป็นโลกที่มีความซับซ้อนต้องใช้องค์ความรู้มากขึ้นในการเข้าใจปัจจัยเสี่ยง ไม่อย่างนั้นจะเป็นการพูดแต่เรื่องอุดมคติ ไม่ได้พูดกระบวนการ
ส่วนหนึ่งที่ชอบระบบทุนนิยม เพราะว่าให้ความสำคัญกับกระบวนการ ให้ความสำคัญกับจุดตั้งต้น เป็นระบบที่เชื่อว่าหากคุณให้โอกาสคน ให้คนมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ และมีการเสริมว่า ต้องเข้าใจความยั่งยืนของธรรมชาติ ต้องเข้าใจเรื่องต้นทุนที่มองไม่เห็น เข้าใจต้นทุนทางสังคม ถ้าเกิดคุณให้โอกาสคนให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจ ให้คนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ใช้ศักยภาพ ผลลัพธ์จะออกมาในทางที่อาจมองไม่เห็น ไม่สามารถจินตนาการได้ เราควรเน้นกระบวนการที่เหมาะสมและควรให้โอกาสคนทุกคนได้แสดงออก ส่วนตัวไม่ค่อยพูดเรื่องอุดมคติเท่าไหร่ เพราะเป็นผลลัพธ์ ซึ่งจินตนาการหน้าตายาก
ภิญโญ : ในฐานะคนรุ่นใหม่ต้องถามทรงกลด ดูประเด็นที่มูลนิธิโกมลคีมทองตั้งมา เหมือนกล้าๆกลัว ๆ ก็อยากจะคุยกับคนรุ่นใหม่ แต่ก็ตั้งคำถามกับคนรุ่นใหม่จะดีจริงหรือเปล่า หรือจะเป็นไวรัส วัคซีน คนรุ่นเก่าก็เสียวๆกับคนรุ่นใหม่จะเป็นของจริงหรือเปล่า
ทรงกลด : หากเรามองรุ่นโตกว่าหรือเด็กกว่า สิ่งแรกที่เห็นคือยังไม่เห็นความสมบูรณ์แบบ ยังไม่ลงตัว หากมองไปหารุ่นอดีต บางเรื่องก็ให้ค่านิยมต่างกัน ผมรู้สึกว่าทุกรุ่นมีความหลากหลาย ทุกคนมีสิทธิให้ค่ากับความเชื่อที่ต่างแบบกันได้ ที่สำคัญเราต้องเข้าใจกันมากกว่า ทำอย่างไรถึงทำให้ความเชื่อสมดุล
ภิญโญ : อะไรคือความหวาดเสียวของคนรุ่นใหม่
วรรณสิงห์ : สิ่งหนึ่งที่เสียว หรือไม่ชอบ คือจริยธรรมสาธารณะที่โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ในสังคมไทย หรือความดีสาธารณะ สิ่งนี้คือความดี แล้วทุกคนก็ดีตามเพื่อความเซฟของตัวเอง ไปอยู่ตรงนั้นกันหมด หากคนเชื่อก็ไม่เป็นไร แต่หากไม่เชื่อไปอยู่ตรงนี้เพื่อเซฟตัวเอง ไม่แสดงออกว่า หวาดกลัว
ภิญโญ : ผมเห็นความพยายามของมูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชนที่พยายามสื่อสาร กับคนรุ่นใหม่ แต่ก็ออกมาเก้ๆกังๆ การสื่อสารต้องปรับท่าทีอย่างไร ไม่ให้เชย
ทรงกลด : ปัญหาคือ ทุกวันนี้คนจะพูดในสิ่งที่อยากพูด ใครฟังไม่ฟังไม่รู้ แต่คิดว่าฉันจะพูด หากไม่ฟังแสดงว่าอ่อนไม่เข้าใจโลก ซึ่งการสื่อสารที่ดีต้องนึกหน้าผู้ฟังด้วย กำลังพูดให้ใครฟัง หากอยากพูดให้เด็กฮิปฮอปฟัง ต้องพูดภาษาเดียวกับเขา ยุคนี้ต้องสั้นกระชับได้ใจความ หรือว่าสาระอาจไม่เยอะมาก หากเป็นเว็บไซต์คือประเด็นสั้นๆ ลิงก์อ่านต่อเอง เชื่อเรื่องการมองหน้าผู้อ่านให้เห็นก่อน เดาใจเขาก็จะเข้าใจเขาได้
สฤณี : ก่อนอื่นต้องพูดภาษาเดียวกับเขา วิถีชีวิตของวัยรุ่นไปเร็วมาก รุ่นพ่อแม่อาจไม่ต่างจากรุ่นปู่ย่าตายายเท่าไหร่ แต่รุ่นเราต่างจากรุ่นพ่อแม่ และเราก็ต่างจากเด็กวัยรุ่นเยอะ ต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่เขาอยู่ หากโลกออนไลน์ก็ต้องโลกออนไลน์
ส่วนที่วรรณสิงห์พูดเรื่องจิตสาธารณะ ไม่ได้พยายามปกป้อง ลักษณะปัญหาซับซ้อนมองยาก ปัญหารุ่นพ่อแม่เรื่องปากท้องไม่มีจะกิน วิธีแก้ปัญหาไม่ยาก เหมือนไม่มีต้นไม้เลยต้องปลูกต้นไม้ แต่พอปลูกต้นไม้ขึ้นมาแล้ว ต้นไม้ตอนนี้มีปัญหารากกำลังจะเน่า ปลวกกิน เราจะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือปัญหา ปัจจุบันปัญหาซับซ้อนกว่ามองผิวเผินไม่ได้เลยเห็นใจรุ่นใหม่ที่ต้องมาเจอปัญหาซับซ้อน ทางกลับกันวิถีชีวิตเร็วทำให้สมาธิสั้น สังเกตุโลกออนไลน์มาเร็วไปเร็วจริงๆ คือความท้าทาย คนรุ่นนี้สมาธิสั้น ชอบอะไรเร็ว เราต้องเปลี่ยนวิธีสอนใช้องค์ความรู้มากกว่าเมื่อก่อน
ภิญโญ : ศัตรูที่มองไม่เห็นของคนรุ่นใหม่กำลังสู้กับอะไร คนรุ่นวรรณสิงห์ สู้กับอะไร
วรรณสิงห์ : สู้กับความรู้สึกไม่มั่นคง เนื่องจากไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าตัวเราแล้ว ไม่มีอะไรให้ค้นหานอกจากกลับมาสู่ตัวเรา มีบ้าน ลูก เมีย มีหน้ามีตา แก่ไปไม่อายเขา ความปลอดภัยของเรื่องจิตใจไปเพิ่งอะไรหลายๆอย่าง หลายๆครั้งได้มาแล้วก็แค่นั้นเอง ศัตรูที่มองไม่เห็น คือการไม่กล้าเดินออกจากตรงนั้น เพราะความกลัวในสิ่งที่ ในอนาคตไม่มั่นคงไม่แน่นอน
ทรงกลด : ศัตรูที่มองไม่เห็นของคนยุคนี้คือ ความฉลาด คนอ่านเยอะ ฟังเยอะคิดเยอะคิดเก่งคิดเป็น หลายครั้งการถกเถียงกันเยอะขึ้น สิ่งหนึ่งที่จำเป็น เราไม่ได้เริ่มจากเหตุผลก่อน แต่เป็นการหาเหตุผล ข้ออ้างมาใส่ โดยเฉพาะเรื่องจริยธรรมความดี เชื่อว่าหลายคนอยากเป็นคนดี แต่บางครั้งทำในสิ่งที่ไม่ค่อยดีก็หาเหตุผลมาใส่ ไม่ผิด ตรงนี้น่ากลัวเพราะทำได้ทุกอย่าง และหาเหตุผลดีมาบอกเสมอ ผมกลัวเผลอคิดไปกับสิ่งเหล่านี้
สฤณี : กลัวคิดอะไรไม่ออก กลัวหลงตัวเองและอคติ และมองไม่เห็น อินเทอร์เน็ตด้านร้าย ในเมื่อมีข้อมูลที่ทะลักเข้ามาแล้วสังคมไทย ที่สอนกันมาแบบท่องจำ เด็กอาจคิดทำไมต้องไปโรงเรียนถามครูกูเกิ้ลได้ รู้ทุกอย่าง ปัญหาคือจะแยกแยะ ได้อย่างไรว่าที่เจอข้อมูลนี้ผิดถูก เรื่องไหนถูกผิด คิดว่าเป็นอันตราย แยกแยะไม่เป็นจะมีอคติได้ เพราะไม่ว่าจะคิดอะไรก็หาเหตุผลมายืนยันได้ตลอดไม่ใช่เป็นปัญหาของคน กระทั่งทฤษฎีทางการเงินที่เป็นรากฐานของระบบ วันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่ามันไม่ถูก เป็นปัญหาที่ใหญ่มากในทุกระดับตั้งแต่คนถึงระดับประเทศ
ภิญโญ : อะไรเป็นเรื่องที่ทนได้ยาก ทนไม่ได้
วรรณสิงห์ : ทนไม่ได้กับเรื่องไม่จริง และทนไม่ได้ที่สังคมไทยเถียงกันอยู่ได้แต่ไม่มีใครทำ เวลาผ่านไปกลัวว่าจะไม่ได้ทำทุกอย่างที่หวังจะได้ทำ มีเรื่องน่ารู้ น่าทำเยอะเกินไป จนนำไปสู่การเปรียบเทียบตัวเองกับบางคน
ทรงกลด : ยุคนี้เป็นยุคของคนชอบมีความเห็น แต่ส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูล มีแต่ความเห็นเรื่อยเจื้อยสุดท้ายด่ากัน เป็นเรื่องน่ากลัวมาก
สฤณี : ไม่ชอบเรื่องการหน้าไหว้หลังหลอก รู้สึกขำหลายคนคิดว่าชีวิตแยกส่วนได้ การทำงานเอาเปรียบผู้คนเป็นเรื่องปกติธรรมดา แล้วหลังงานเลิกก็เข้าวัด ไม่ใช่แค่ระดับคน แต่เป็นระดับบริษัทระดับประเทศ ถึงจุดหนึ่งแล้วเราควรมาคุยกันว่า ยุคนี้มองแบบแยกส่วนไม่ได้แล้ว จนเกิดลัทธิแสวงหาความสุข ซึ่งก็มีความหน้าไหว้หลังหลอกในตัวของมันเอง โจรที่ไปปล้นเขามายอมรับไปปล้นมายังน่านับถือกว่า
ภิญโญ : ความยากในการรักษาอุดมคติในโลกแห่งความจริง
ทรงกลด : ใช้ชีวิตที่ดีควรใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งเพื่อหา อีกครึ่งหนึ่งเพื่อให้กับคนอื่น
วรรณสิงห์ : ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกว่ายาก มีพ่อแม่ช่วยได้ พ่อชอบพูดว่าโดดเดี่ยวย่อมเดียวดาย หลายครั้งอาจตอบรับกับสิ่งที่ไม่ยากทำไปแล้ว แต่สุดท้ายก็นึกถึงพ่อแม่ สิ่งที่อยากให้ตัวเองเป็นคือใช้ชีวิตอย่างมีความหมายและแท้จริง
สฤณี : เราควรทำในสิ่งที่ตัวเองชอบทำ
ภิญโญ : เรื่องเงินมีความหมายกับชีวิตมากแค่ไหน
ทรงกลด : การมีเงินใช้เป็นเรื่องที่ดี การรวยไม่ใช่สิ่งน่าเกลียด แต่คุณแลกอะไรบ้าง เชื่อการได้มาและเสียไป
วรรณสิงห์ : เกิดมาโชคดีงานที่ทำเป็นสิ่งที่ชอบหมด ทั้งเล่นดนตรี เขียนหนังสือ เป็นพิธีกรรายการพระพุทธทาส ตอนนี้ยังไม่เห็นความสำคัญของเงินเกิดมายังไม่เจอความลำบากยังไม่สามารถพูดได้เต็มที่
ภิญโญ : บั้นปลาย วาดฝันหรือจินตนาการเป็นอย่างไร
สฤณี : อยากทำในสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ อยากเห็นสิ่งที่เป็นทางเลือกไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งเลือกจริง เลือกเอง อยากเห็นสังคมมีทางเลือกมีทางใหม่ น่าเลือกมากขึ้น
ทรงกลด : อยากเป็นคนแก่ที่มีพลัง พูดแล้วมีน้ำหนักในสังคม ไม่ผ่านลอยไป
วรรณสิงห์ : ไม่ต้องทำงานเยอะ เป็นบั้นปลายที่มีคนรักและเขารู้ว่าเรารักเขาอยู่
ภิญโญ กับคำถามปิดท้ายรายการ : เลือกได้อยากเป็นใครในอุดมคติ
สฤณี : ไม่อยากเป็นคนอื่น อยากเป็นตัวของตัวเอง
ทรงกลด : อยากเป็นใครก็ได้ไม่ได้อยู่ในอุดมคติที่ไม่ได้เป็นจริง
วรรณสิงห์ : เป็นตัวเองก็โอเค เป้าหมายของชีวิตอยากเป็นคนสิ้นหวัง ไร้ความคาดหวังทำอะไรทำไปเลยไม่ต้องหวัง แต่มีคนทำได้สักกี่คน คนไร้ความคาดหวัง อยากลองเป็นให้ได้