แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ทีมกรุ๊ป ส่งเสียงเบรก TOR จัดการน้ำ 'ปิดกั้น-เร่งรัด-ละเอียดไม่พอ'
ภายหลังที่ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ออกโรงตั้งโต๊ะแถลงการณ์ 2 ฉบับ ร้องขอให้รัฐบาล โดยการนำของ "โต้โผใหญ่" นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ทบทวน TOR ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยอีกครั้ง
เนื่องจาก วสท.มีข้อห่วงกังวลถึงการกำหนดคุณสมบัติที่เป็นการ "ปิดกั้น" คนไทย บวกกับความเร่งรีบ และการไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
แต่ที่สุดแล้ว วันนี้ดูเหมือนเสียงที่ส่งไปไม่ "ดัง" พอที่จะทำให้รัฐบาลให้ความสนใจ...
นายชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำ และกรรมการผู้จัดการ บริษัททีมกรุ๊ป เป็นอีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาให้ความเห็นต่อ TOR ประกาศเชิญชวนดังกล่าว โดยมองว่า มีประเด็นที่ควรให้ความสนใจและดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นขั้นตอนตามหลักวิศวกรรม
กรณีการกำหนดเวลาที่ทุกโครงการจะต้องเริ่มดำเนินการพร้อมกันในวันที่ 31 มกราคม 2556 นั้น เขายืนยัน "เป็นไปไม่ได้" เนื่องจากความพร้อมของโครงการต่างๆ ไม่เท่ากัน
ประเด็นแรกของขั้นตอนการดำเนินการตามหลักวิศวกรรมที่ นายชวลิต ขอวิพากษ์ คือ การศึกษาความเหมาะสม รวมทั้งระบบของลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ (Comprehensive Feasibility Study of the Greater Chaophaya River Basin) ซึ่งประกอบด้วย 8 ลุ่มน้ำ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจัดทำเอกสารประกวดราคาให้แล้วเสร็จเสียก่อน จึงดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้าง ที่จะเป็นการออกแบบรวมการก่อสร้าง (Turnkey หรือ Design and Built) ต่อไป
"เนื่องจากแผนแม่บท (Master Plan) ที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ทำไว้นั้น เป็นการประสานโครงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ได้ศึกษาแยกกันมา โดยมีความละเอียดของการศึกษาในแต่ละโครงการย่อยที่ "แตกต่าง" กันมาก"
บางโครงการได้การได้ดำเนินไปถึงขั้นออกแบบรายละเอียดแล้ว
บางโครงการศึกษาความเหมาะสมแล้ว
แต่บางโครงการศึกษาในระดับเบื้องต้นเท่านั้น
อีกทั้ง โครงการส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมาย
เขาบอกว่า ทุกโครงการยังไม่ได้นำมาศึกษารวมกันเป็นแผนพัฒนารวมทั้งลุ่มน้ำในระดับการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) ฉะน้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาการบูรณาการ (Integrated Feasibility Study) เพื่อศึกษาระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบระบายน้ำ และแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่บูรณาการกันทั้งลุ่มน้ำ พร้อมกับศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกที่เหมาะสมทั้งระบบ ให้องค์ประกอบต่างๆ ของโครงการสอดคล้องกัน ไม่ขัดแย้งกัน เสริมกันและกันให้เกิดความลงตัว
เรียกได้ว่า ต้องสร้างระบบที่แก้ไขปัญหาแบบบูรณาการที่ยั่งยืนและเหมาะสมที่สุด
"แม้จะเร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมทั้งระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ อย่างน้อยๆ ก็ต้องใช้เวลา 8 เดือน" ผู้บริหารทีมกรุ๊ป มั่นใจ และฟันธงต่อไปถึงโครงการใดติดขัดในขั้นประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เชื่อเลยว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 12 เดือน จากนั้นค่อยคัดเลือกโครงการที่อยากก่อสร้างโดยเร็ว
ประเด็นถัดมา เรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นายชวลิต เห็นว่า ควรมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการย่อยต่างๆ ให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน ทั้งในโครงการที่ยังไม่ได้ทำการศึกษา โครงการที่ศึกษามานานแล้ว แต่ควรต้องศึกษาปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันในบางประเด็น รวมถึง โครงการที่ต้องทำการศึกษาให้ครบถ้วนตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ไว้
ในส่วนประเด็นที่ถกเถียงกันมากว่า รัฐบาลมีเจตนาที่จะ "เร่งรัด" ให้มีการ่อสร้างโดยเร็วนั้น เขาชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วสามารถทำได้
อาทิ บางโครงการย่อยที่มีความพร้อม และศึกษาความเหมาะสมทั้งระบบลุ่มน้ำ มีความก้าวหน้าถึงรายงานระดับกลาง (Interim Report) และสามารถกำหนดทางเลือกที่เหมาะสมทั้งระบบของลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่แล้ว ก็สามารถคัดเลือกเอาโครงการย่อยบางโครงการที่มีความเหมาะสมและมีความพร้อมที่จะดำเนินการมาเร่งรัดแยกออกมาจัดทำเอกสารประกวดราคา และดำเนินการจัดซื้อ-จัดจ้างก่อสร้างเป็นรายโครงการย่อยได้ เช่น โครงการย่อยในกลุ่มที่ 7 เรื่องงระบบฐานข้อมูล การพยากรณ์และระบบการเตือนภัย เป็นต้น
สำหรับการจัดทำเอกสารประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างรวมการออกแบบของระบบ Turnkey หรือ Design and Built นั้น ในทางวิศวกรรมแหล่งน้ำ ทีโออาร์จะต้องมีรายละเอียดต่างๆ มากเพียงพอ ที่จะนำมาจัดซื้อจัดจ้างได้ โดยวิธีดังกล่าว จะต้องประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้
1. สามารถกำหนดรายละเอียดองค์ประกอบของโครงการย่อยที่เหมาะสม กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการย่อย ความต้องการ ขอบเขตของงานและผลผลิต (Objectives, Target, Project Requirements, Scope of work and Output) ได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องบูรณาการประสานสอดคล้องกับระบบการพัฒนาลุ่มน้ำทั้งระบบ ทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ และแต่ละลุ่มน้ำย่อย
2. มีแบบที่มีความละเอียดในระดับ Outline Design Drawing ที่จะนำไปใช้เป็นแบบอ้างอิงในสัญญา เพื่อกำหนดความต้องการและขนาดองค์ประกอบของโครงการ ที่จะสามารถตอบสนองต่อการใช้งานตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการย่อยต่างๆ ได้อย่างถูกต้องชัดเจน มีความละเอียดเพียงพอที่จะใช้ในการคิดคำนวณปริมาณงานก่อสร้าง เพื่อใช้ในการคำนวณราคากลางของโครงการย่อยๆ นั้นได้
3. มีเอกสารเกณฑ์การออกแบบรายละเอียด (Design Criteria) ขององค์ประกอบต่างๆ ทั้งระบบ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ กำหนดวิธีการคิดคำนวณอาคารและส่วนประกอบต่างๆ โดยใช้วิธีการที่เหมาะสม ได้มาตรฐานสากลและมีเกณฑ์ค่าความปลอดภัย รวมทั้งเกณฑ์ค่าต่างๆ ที่ยอมรับได้ในการใช้งาน ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพ ประสิทธิภาพของแต่ละองค์ประกอบของโครงการย่อยต่างๆ และจะมีผลถึงราคาค่าก่อสร้างติดตั้งด้วย
4. มีเอกสารกำหนดข้อกำหนดรายละเอียดด้านวิศวกรรมและวิชาการ (Specifications) ที่ชัดเจนและรัดกุมเพียงพอที่จะใช้ในการตรวจรับงานได้ตามมาตรฐานสากล
5. สามารถนำรายละเอียดต่างๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นมาใช้ในการคำนวณเพื่อกำหนดราคากลางของโครงการย่อยนั้นๆ ตามหลักเกณฑ์กรจัดซื้อจัดจ้างที่ดีได้
หากกล่าวถึงบริษัทผู้นำหลักที่จะมารับทำงาน วิศวกรแหล่งน้ำ จากบริษัททีมกรุ๊ป บอกว่า การพัฒนาแหล่งน้ำและการวางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งนั้น เป็นการศึกษาวางแผน สำรวจ ออกแบบและก่อสร้างที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถและความเข้าใจในสภาพพื้นที่อย่างลึกซึ้ง ซึ่งบริษัทไทยมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีเครื่องจักร เครื่องมือที่เหมาะสมและมีความชำนาญทั้งในการวางแผน ศึกษา สำรวจ ออกแบบและก่อสร้างงานในลักษณะนี้เป็นอย่างดี และเป็นเวลานานมาแล้ว
ดังนั้น เมื่อสามารถทำงานทั้งหมดได้โดยกลุ่มบริษัทไทย จึงสมควรให้บริษัทไทยเป็นบริษัทหลักนำในการทำงานทุกสัญญา
ส่วนบริษัทต่างชาติและบุคคลากรต่างชาตินั้น สมควรให้เข้ามาทำงานเฉพาะในส่วนที่มีแนวทางและวิธีการใหม่ๆ ที่นำสมัย และต้องเป็นที่ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นแนวทางและวิธีการที่ดี มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา และเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศและเหมาะสมกับการนำมาประยุกต์ใช้งานกับประเทศไทยเป็นอย่างดีเท่านั้น
ข้อกำหนดสำคัญ ที่ทีโออาร์ฉบับนี้ ระบุเอาไว้และกลายเป็นข้อกำหนดที่ "ปิดกั้น" บริษัทไทยให้ไม่สามารถเข้าร่วมในโครงการได้ หรือ "ล็อคสเป็ค" บริษัทจากประเทศใดเอาไว้แล้วนั้น คือ การกำหนดประสบการณ์กำหนดให้กลุ่มบริษัทที่เสนองานต้องมีประสบการณ์สูง และเป็นโครงการด้านน้ำ โครงการละไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท และเมื่อนับรวมกันในระยะเวลา 10 ปี ล่าสุดแล้วต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท
จึงเป็นข้อกำหนดที่สูงมากเกินไป มีผลทำให้บริษัทคนไทยสามารถเสนอตัวเข้าแข่งขันได้จำนวนน้อยราย
ดูคร่าวๆ แล้วมีประมาณ 5 บริษัทเท่านั้น !!
"โครงการที่ตั้งงบประมาณไว้สูง และมีจำนวนโครงการที่ต้องก่อสร้างจำนวนมาก หากจะเร่งรัดงานให้เสร็จโดยเร็ว และมีคุณภาพดี ควรแบ่งงานออกเป็นหลายสัญญา ให้ผู้รับจ้างหลายรายได้เข้ามาระดมกำลัง ในการดำเนินการในแต่ละสัญญาคู่ขนานกันไป หากยกโครงการใหญ่มามัดรวมกันเป็นโครงการเดียว ดำเนินงานไม่กี่บริษัทก็ไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างพร้อมกันได้" นายชวลิต เสนอ
ฉะนั้น รัฐบาลยังมีเวลาตัดสินใจอย่างถี่ถ้วน โดยฟังข้อคิดเห็นจากเหล่าวิศวกร "คนไทย" ผู้ซึ่งเข้าใจและหวังดีต่อประเทศไทยมาที่สุด ควรต้องพิจารณา "ลดข้อกำหนดประสบการณ์" ลงให้เหลือเพียงร้อยละ 10 ของมูลค่าแต่ละสัญญา เพื่อให้บริษัทคนไทยหลายรายมีโอกาสเสนอตัวเข้าร่วมแข่งขัน และดำเนินการไปตามขั้นตอนตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ทั้งการศึกษาความเหมาะสมรวมทั้งระบบของลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเพิ่มเติมรายะเอียดต่างๆ ในการจัดซื้อจัดจ้างมากขึ้น
ความ "รอบคอบ" และ "ความละเอียดถี่ถ้วน" ย่อมนำมาซึ่ง "บาดแผล" ที่จะเป็นความผิดพลาดในการจัดการน้ำของประเทศ น้อยที่สุด...