แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เช็คลิสต์บัญชีคดีค้างอื้อป.ป.ช.-อัยการ ตีกลับเหตุผลเดิม”พบข้อไม่สมบูรณ์”
จุดตายสำคัญของทุกรัฐบาลและนักการเมืองทุกคนรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ เช่นองค์กรอิสระ-ข้าราชการทุกคน ก็คือเรื่อง
"การทุจริตคอรัปชั่น-โกงกินประเทศ-ยักยอกเงินงบประมาณแผ่นดิน-ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์จนร่ำรวยผิดปกติ"
ดูได้จากตัวอย่างล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมากับสองเรื่องสำคัญ
เรื่องแรก มติเอกฉันฑ์ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อ 24 ก.ค. 2555 ที่ป.ป.ช.เห็นว่า"สุพจน์ ทรัพย์ล้อม" อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม มีทรัพย์สินเช่นเงินสด-ทองรูปพรรณ-รถยนต์-ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยไม่สามารถชี้แจงถึงการได้มาของทรัพย์สินได้ จึงถือว่า ร่ำรวยผิดปกติ ป.ป.ช.จึงมีการยื่นสำนวนการสอบสวนและมติป.ป.ช.ส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์สินดังกล่าวที่ชี้แจงไม่ได้ประมาณ 64.7 ล้านบาทตกเป็นของแผ่นดิน
ถือเป็นเคสการสอบสวนคดีใหญ่ของป.ป.ช.ที่สอบสวนอดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงที่มากด้วยผลประโยชน์อย่างกระทรวงคมนาคมของป.ป.ช.ชุดนี้ที่สุดท้ายมีการฟันบิ๊กข้าราชการระดับนี้ได้
และกรณีที่สองคำพิพากษาของศาลอาญาเมื่อ 25 ก.ค. 2555 ที่ตัดสินจำคุก พลเอกธีรเดช มีเพียร ซึ่งในชีวิตผ่านตำแหน่งสำคัญมาแล้วมากมาย เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม-ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน-ประธานวุฒิสภา ในคดีความผิดการขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทนให้กับตัวเองโดยมิชอบ เป็นเวลา 2 ปีแต่โทษให้รอลงอาญา
พร้อมกับจำเลยอีก 2 คน คือ นายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและอดีตผู้ตรวจการแผ่นดินและนายปราโมทย์ โชติมงคล อดีตเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน อันมีผลทำให้พลเอกธีรเดชต้องพ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาอันทรงเกียรติไปโดยทันทีเมื่อการอ่านคำพิพากษาสิ้นสุดลง จากผลพวงที่ไปขึ้นค่าตอบแทนตัวเองรวม 6 หมื่นบาทแม้ต่อให้มีการนำไปคืนแล้วเมื่อเกิดเรื่องแต่ก็ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว
ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสอบสวนและชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ทำคดีพวกอดีตบรรดาองค์กรอิสระช่วงปี 2547 ขึ้นค่าตอบแทนให้กับตัวเอง แล้วก็ส่งเรื่องไปตามลำดับขั้นตอนจากป.ป.ช.ไปอัยการและศาล
และต้องขอบอกว่ายังไม่จบแค่นี้ ยังมีพวกอดีตองค์กรอิสระที่ต้องลุ้นต่อจากนี้ อาทิ "อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ช่วงปี 2547 ที่ก็มีการขึ้นค่าตอบแทนให้กับตัวเองเช่นกัน และคดีดังกล่าว ป.ป.ช.ก็มีการส่งสำนวนการสอบสวนและมติ ป.ป.ช.ไปให้อัยการส่งฟ้องต่อศาลอาญาไปนานแล้ว ส่วนจะมีคำตัดสินออกมาเมื่อใดคงต้องติดตามกันต่อไป
ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็มีคำตัดสินเมื่อปี 2548 จำคุกอดีตกรรมการ ป.ป.ช. ชุด พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ และพวกรวม 9 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่ออกระเบียบขึ้นเงินเดือนตัวเอง
และตามมาด้วยศาลอาญาก็จำคุกอดีตผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา-อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการผู้ตรวจการฯ อย่างพล.อ.ธีรเดช-พูลทรัพย์-ปราโมทย์ ในความผิดเรื่องการขึ้นเงินเดือนตัวเองแบบเดียวกัน
จึงทำให้เป็นที่น่าสนใจไม่น้อยว่า แล้วพวกคดีสำคัญๆ ซึ่งประชาชนสนใจหรือเคยเป็นข่าวดังก่อนหน้านี้หลายต่อหลายคดีที่ ป.ป.ช.ได้มีการรับเรื่องไว้ไต่สวนและมีการชี้มูลความผิดโดยเฉพาะคดีซึ่งผู้ถูกสอบสวนเป็นพวก
"นักการเมือง-ข้าราชการระดับสูง"
หลายต่อหลายคน แต่ละสำนวนมีความคืบหน้าเป็นอย่างไรบ้าง ทำไมหลายเรื่องหายเงียบไปเฉยๆ
"ทีมข่าวนโยบายสาธารณะ" ได้ทำการตรวจสอบบัญชีสำนวนคดีของ ป.ป.ช.ที่แจ้งไว้อย่างเป็นทางการผ่านเว็บไซด์ของสำนักงาน ป.ป.ช. พบว่าหลายคดีซึ่งไม่ใช่คดีที่ ป.ป.ช.รับสำนวนโอนมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่เคยเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจ
ปรากฏว่ามาถึงตอนนี้หลายเรื่องแทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลยว่ามีการส่งสำนวนไปถึงอัยการเพื่อให้ยื่นฟ้องเอาผิดคดีอาญาหรือยัง-หรือมีการแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกสอบสวนที่ยังคงรับราชการอยู่หรือไม่ หรือว่ามีการติดขัดปัญหาอย่างไรเช่น ความเห็นในการทำคดีของ ป.ป.ช.กับอัยการขัดแย้งกันหรือไม่อย่างไรและเห็นไม่ตรงกันในประเด็นไหน
เรื่องความล่าช้าในการทำความเห็นสั่งคดีในส่วนของคดีซึ่งสังคมให้ความสนใจที่พบว่าหลายคดีแทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ นั้น
"วิชา มหาคุณ" กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวกับ "ทีมข่าวนโยบายสาธารณะ" ว่าหลายคดีที่ ป.ป.ช.เคยมีมติชี้มูลความผิดโดยการให้เอาผิดทั้งคดีอาญาและวินัยกับนักการเมืองหรือข้าราชการที่เกี่ยวข้องนั้น ยอมรับว่ามีความล่าช้าในขั้นตอนการประสานงานกันอยู่ระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการ ที่มีความเห็นไม่ตรงกันในหลายเรื่อง จึงนำมาสู่การตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการ แต่ก็ยังมีความเห็นในการทำสำนวนและความเห็นในทางคดีไม่ตรงกันอีก ก็มีการคุยกันประชุมกันไปมาหลายรอบบางคดีก็ยังไม่คืบบางคดีก็คืบหน้าไปมากแล้ว เช่น ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.กับอัยการเคยมีความเห็นไม่ตรงกันในคดีปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทยฯ ก็ปรากฏว่าพอ ป.ป.ช.เห็นว่าสำนวนส่งไปอัยการนานแล้วและ ป.ป.ช.เห็นว่าสำนวนสมบูรณ์ครบถ้วนแล้วแต่อัยการเห็นไม่ตรงกัน ครั้นป.ป.ช.กำลังคิดจะยื่นฟ้องเองก็ปรากฏว่าจู่ๆ อัยการสูงสุดและคณะทำงานคดีนี้ของอัยการก็เห็นควรสั่งฟ้องก็มีการไปยื่นฟ้องคดีเลย
"สำหรับบางคดีเช่นคดีการสลายการชุมนุมฯเหตุการณ์พันธมิตรฯชุมนุมกันที่หน้ารัฐสภาหรือเหตุการณ์ 7 ตุลาฯนั้น หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ส่งสำนวนไปให้อัยการคดีพิเศษ เขาก็แย้งกลับมาว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ขอให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมสองฝายอัยการกับ ป.ป.ช. ก็ได้ข่าวว่าประชุมกันไปหลายรอบ ทางอัยการก็เห็นว่าควรต้องมีการหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม สำนวนพบข้อไม่สมบูรณ์ในบางประเด็น ก็ทำให้ตอนนี้คดีสลายการชุมนุมก็ยังอยู่ในชั้นการหารือร่วมกันอยู่ขณะที่คดีสลายเสื้อแดงต้องรอฟังการไต่สวนคดีชันสูตรพลิกศพในชั้นศาลเสร็จสิ้นก่อน"
เมื่อถามถึงคดีที่เอาผิดอดีตผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานรัฐ เช่น คดี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนางจุฑามาศ อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบุตรสาวถูกตั้งข้อกล่าวหาร่วมกันเรียกรับเงินจาก นางเจอรัลด์ กรีน และ นางแพทริเซีย กรีน นักธุรกิจ ชาวอเมริกัน ในการจัดงานเทศกาล ภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯนั้น "วิชา" แจงว่า ป.ป.ช.ก็ส่งสำนวนไปให้อัยการนานแล้วหลายเดือน แต่จนถึงขณะนี้คดีก็อยู่ในชั้นอัยการ มีการขอให้สอบสวนตั้งกรรมการร่วมสองฝายกันอยู่เพราะทางอัยการเห็นว่าหลักฐานบางอย่างที่ ป.ป.ช.เอาผิดนางจุฑามาศ เช่น เอกสารของกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกาที่สอบสวนเรื่องการจ่ายสินบนดังกล่าวยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ขอให้เราหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมบางส่วน ก็ได้รับรายงานว่าก็กำลังมีการดำเนินการกันอยู่ เพราะอัยการมองว่าเอกสารส่วนดังกล่าวที่ได้จากสหรัฐฯ ไม่ใช่เอกสารในลักษณะทางการเพียงพอ
"เรื่องความล่าช้านั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของความเห็นที่ไม่ตรงกันของคณะทำงานสองฝ่าย ทางอัยการก็อาจต้องการให้สอบสวนเพิ่มเติมก็ประสานกันไปมา บางเรื่องเราส่งไปแล้วก็ไม่ตอบกลับมา ก็ต้องรอนานเหมือนกันกว่าจะตอบกลับมาว่าอัยการเห็นอย่างไร พอเห็นไม่ตรงกันก็นำไปสู่การตั้งกรรมการร่วมกันอีก อย่างเช่นคดีสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ ก็ยังอยู่ระหว่างการหารือ ยังไม่ได้ข้อยุติ เขาก็บอกว่าสำนวนบางส่วนยังไม่ชัดเจนขอให้มีมากกว่าที่ส่งไป เขาบอกมีหลายส่วนที่ต้องการความชัดเจนมากกว่านี้" กรรมการป.ป.ช.ผู้นี้สะท้อนปัญหาการทำงานให้ฟัง
หากความล่าช้านั้นเป็นไปด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่ายที่ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงอย่างเต็มที่ มีการสอบสวนหาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงอย่างละเอียดรอบด้านมากที่สุด ไม่ได้พิจารณาสั่งคดีหรือทำความเห็นไปตามกระแสสังคมหรือคำสั่งของใครรวมถึงพิจารณาตามทิศทางการเมือง ต่อให้ล่าช้าสักหน่อยก็ทำไปเถอะ หากล่าช้าแล้ว ทุกอย่างไปตามข้อเท็จจริงและยุติธรรม
เพราะหลักกฎหมายที่ว่าปล่อยคนผิด 10 คน ดีกว่าเอาผิดคนบริสุทธิ์เข้าคุก 1 คนยังใช้ได้การเสมอไม่ว่าจะเป็นยุคไหนก็ตาม
คดีสำคัญๆ ในชั้น ป.ป.ช.-อัยการ หลายคดี ซึ่งไม่ค่อยมีข่าวอะไรคืบหน้ามากนัก "ทีมข่าวนโยบายสาธารณะ" ลิสต์มานำเสนอเอาเฉพาะที่น่าสนใจก็ เช่น
- คดีทุจริตสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ ปีงบประมาณ 2552 ซึ่งป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาทางวินัยและอาญากับพวกผู้บริหารกรมการปกครองในช่วงดังกล่าวโดยเฉพาะ นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครองเวลานั้น ซึ่งปัจจุบันแม้จะเกษียณอายุราชการแล้วแต่ก็มีตำแหน่งใหญ่เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ทำงานประสานการเมืองระหว่างฝ่ายการเมืองในเพื่อไทยกับข้าราชการกระทรวงมหาดไทย
โดยคดีดังกล่าวนี้ หลังจากมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่าผ่านไปเกือบสองปี คดีนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมา เฉกเช่นเดียวกับคดีความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบ ตามโครงการจัดทำระบบให้บริการประชาชน ด้านการทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่ ของกรมการปกครอง วงเงิน 3.4 พันล้านบาท ที่ป.ป.ช.รับสำนวนมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งแต่เมื่อปี 2553
ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจะต้องถูกสอบสวนอาทิคณะกรรมการประกวดราคา – คณะทำงานทดสอบด้านเทคนิค-ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงมหาดไทยเป็นต้น ก็พบว่าทั้งเรื่องสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอหรือการจัดซื้อคอมพ์ฯ มหาดไทยจนถึงขณะนี้ก็ยังเงียบฉี่ ไร้ความคืบหน้าใดๆ
- สำนวนการสอบสวนนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบุตรสาว ก่อนหน้านี้ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิด ของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และมาตรา 11 และ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ขณะที่บุตรสาวก็ถูกเอาผิด ในฐานะเป็นผู้สนับสนุน การกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งหลังมีข่าวว่าป.ป.ช.จะส่งเรื่องไปให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
- คดี ป.ป.ช.สอบสวน คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และผู้บริหารสตง.จากกรณีจัดสัมมนาโครงการ "สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา" ซึ่งมีการนำบุคลากรสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไปที่จังหวัดน่าน อันเป็นเท็จ โดยป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดตั้งแต่ 6 กันยายน 2554 และให้เอาผิดคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ตาม พ.ร.บ.ประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97
นอกจากนี้ ในส่วนของคดีนักการเมืองที่น่าสนใจและยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ มากนัก ก็เช่น คดีซึ่ง ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดเมื่อช่วงมีนาคม 2554 กับนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชาชน เนื่องจากสมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ได้ แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ประธานกรรมการ และกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมิชอบ ป.ป.ช.จึงมีมติชี้มูลความผิดทางอาญา นพ.สุรพงษ์ด้วยการส่งสำนวนการสอบสวนและความเห็นไปยัง อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
หลายต่อหลายคดีดังกล่าวที่ยกมาข้างต้น ก่อให้เกิดคำถามตามมาไม่น้อยถึง สาเหตุความล่าช้าในการพิจารณาดำเนินการทั้งในชั้น ป.ป.ช.-อัยการ
ยิ่งหากตรวจสอบจากเว็บไซด์ของสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบสำนวนต่างๆ ที่ป.ป.ช.สอบสวนก็จะพบว่าหลายเรื่องค้างคาเป็นเวลานานหลายปี ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ทั้งที่หลายคนพ้นจากตำแหน่งการเมืองหรือการรับราชการไปแล้วหลายปี แต่เรื่องก็ยังอยู่ในทะเบียนการสอบสวนของ ป.ป.ช.
เช่น ข้อกล่าวหาตั้งแต่ปี 2541 ที่มีการกล่าวหา นายสมิทธ ธรรมสโรธ สมัยดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกันตรวจรับ Super Computer ไม่ตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในสัญญา โดย ป.ป.ช.แจ้งว่าได้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนเมื่อปี 2550 เวลานี้อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามมติคณะกรรมการป.ป.ช.
ขณะที่บางคดีก็มีความคืบหน้าไปบ้างแล้วแต่ไม่ค่อยเป็นข่าวมากนักอาจเป็นเพราะเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วหลายปีหรือคนที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โตในรัฐบาลแล้ว อาทิ คดีชี้มูลความผิดนายชูชีพ หาญสวัสดิ์ อดีตนักการเมืองรุ่นใหญ่จังหวัดปทุมธานี กรณีการทุจริตการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ 1.31 แสนตัน วงเงิน 367 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ ปี 2545 ของกรมส่งเสริมการเกษตร
ซึ่งนอกจากนายชูชีพแล้วยังมี นายวิทยา เทียนทอง อดีต ส.ส.สระแก้ว พรรคไทยรักไทย ที่เป็นอดีตเลขานุการรมว.เกษตรฯ และนายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในเวลานั้นก็โดน ป.ป.ช.เอาผิดในคดีเดียวกันด้วย คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ใช้เวลาในการไต่สวนคดีนี้ยาวนานมากหลังจากป.ป.ช.รับเรื่องไว้สอบสวนมาตั้งแต่เมื่อปี 2545 คือผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่คดีก็ยังเพิ่งกำลังจะออกจากตึกป.ป.ช.
แต่บางคดีก็มีการยื่นฟ้องเอาผิดต่อศาลยุติธรรมไปแล้วแต่เป็นข่าวไม่หวือหวามากนักเพราะคนที่โดนเอาผิดไม่มีบทบาทการเมืองแล้วเช่นสอบตกหรือไม่ได้เป็นรัฐมนตรี-ส.ส. ขณะที่บางคดีซึ่งเงียบหายไปทั้งที่เคยเป็นคดีใหญ่มาก่อน บางสำนวนก็พอเข้าใจได้ถึงเหตุผล อย่างคดีสลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ที่มีการร้อง ป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิดอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กรณีการออกคำสั่งสลายม็อบเสื้อแดงโดยมิชอบจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ
สาเหตุที่หยุดชะงักไปช่วงนี้ก็เป็นเพราะตำรวจ-อัยการได้มีการเข้ามาสอบสวนทำสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อทำการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตบางส่วน เช่น 6 ศพวัดปทุมวนาราม ทำให้ ป.ป.ช.จึงต้องรอให้การสอบสวนสำนวนคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพยุติเสียก่อนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงทุกอย่างครบถ้วนจึงจะเดินหน้าทำคดีต่อไปได้ อันเป็นเหตุผลที่รับฟังขึ้นอยู่เพราะในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพจะทำให้ทราบข้อเท็จจริงหลายเรื่องที่สำคัญซึ่งจะได้ข้อมูลที่ลึกและรอบด้านกว่า ป.ป.ช.สอบเสียอีก จากนั้นพอคดีได้ข้อยุติจึงค่อยมีการขยายผลสอบสวนในชั้น ป.ป.ช.ต่อไปก็เชื่อว่าน่าจะทำให้สำนวนคดีการสลายการชุมนุมของ ป.ป.ช.เร็วขึ้นมาแล้ว
กระนั้นในส่วนของคดีสลายการชุมนุมเสื้อเหลือง กลับพบว่าหลังจาก ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด คดีการสลายผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สั่งการให้สลายการชุมนุม รวมทั้งชี้มูลความผิดทางอาญา และวินัยร้ายแรงในฐานความผิดเดียว กับพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาตำรวจนครบาล
อันพบว่าจนถึงขณะนี้คดีดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากฝ่ายอัยการหรือ ป.ป.ช.แต่อย่างใด หลังจากก่อนหน้านี้อัยการฝายคดีพิเศษมีความเห็นให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ตาม การทำความเห็นในการสอบสวนสั่งคดีหรือการพิจารณาของ ป.ป.ช.ว่าจะชี้มูลความผิดอย่างไรและการใช้ดุลยพินิจของอัยการในการสั่งคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง