กบอ.เดินหน้าลุย! บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ต้องมี “เขื่อน"
เริ่มมีรายละเอียดและความชัดเจนมากขึ้น ทันทีที่แม่ทัพน้ำ "ปลอดประสพ สุรัสวดี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ซึ่งสวมหมวกอีกใบ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) รีบออกมาชี้แจงแถลงไข ทุกข้อข้องใจ หลังจาก กบอ. เปิดกว้างให้บริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ายื่นหลักฐานขอรับเอกสารรายละเอียดในการเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน หวังแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยทั้งระบบ เมื่อต้นสัปดาห์
ผ่านไปแค่ 4 วัน ตัวเลขบริษัทสนใจเข้ามาขอรับ TOR แล้วกว่า 100 ราย แบ่งเป็นบริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนในต่างประเทศ 5 ราย บางส่วนกำลังรอเอกสารจากสถานเอกอัครราชทูต นอกนั้นเป็นบริษัทในประเทศไทยและบริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนในประเทศไทย กำลังเตรียมทำข้อเสนอมาช่วงชิงอภิมหาโปรเจก ภายใต้งบฯ 350,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันงบฯ ก้อนโต ก็ทำให้หลายฝ่ายอยากเห็นรายละเอียด TOR ที่ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ห่วงใยมาตรการป้องกันการทุจริตถึงการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ กังวลการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติที่ล่าช้า รวมทั้งไม่ได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจนในการคัดเลือกว่าท้ายที่สุดแล้วจะมีกี่บริษัทที่ได้เค้กนี้ไป รวมถึงหลายโครงการยักษ์นั้น ยังไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ หรือศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเลย ฯลฯ
เรื่องนี้ นายปลอดประสพ ขอให้อดใจรอ ติดตามในวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ กบอ. จะเชิญภาคเอกชนและบริษัทต่างๆ เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อซักถามทีโออาร์ ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. หรือ NSTDA)
หลังจากวันนั้นจึงจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบใน 2 ขั้นตอน คือ
1.คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ ที่จะประกอบด้วยข้าราชการล้วนๆ เข้ามาดูการจดทะเบียนของแต่ละบริษัทว่า จัดตั้งถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งคาดจะแต่งตั้งเสร็จสิ้นภายหลังการชี้แจงรายละเอียดทีโออาร์ในวันดังกล่าว
2.คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่มีข้อเสนอดีๆ นั้น จะใช้ระบบให้คะแนน ทุกบริษัทที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจะถูกสัมภาษณ์และส่งเอกสารประกอบ คณะกรรมการชุดนี้ ประกอบไปด้วยข้าราชการ และข้าราชการบำนาญที่ทำงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน ที่สำคัญไม่มีนักธุรกิจ เข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการแต่อย่างใด
ปลอดประสพ คาดว่า คณะกรรมการชุดที่ 2 จะแต่งตั้งเสร็จสิ้นและออกระเบียบวิธีการพิจารณา ก่อนที่บริษัทจะเสนอรายละเอียดการออกแบบ (detail design) จากนั้นใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทใดได้เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย
ไขข้อข้องใจ หลักเกณฑ์การคัดเลือก
สำหรับขั้นตอนในการพิจารณาคัดเลือกบริษัท ประธาน กบอ. ยืนยันว่า จะยึดหลักเกณฑ์การนำเสนอแนวความคิดบนพื้นฐานข้อเสนอเดิมของ กยน.
- เป็นข้อเสนอทางเทคนิคที่ใช้ได้กับเมืองไทย
- เป็นข้อเสนอที่ดี มีราคาถูก ก่อสร้างเร็ว ชาญฉลาด
- และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนไทยได้
ในส่วนของการว่าจ้างนั้น ปลอดประสพ เชื่อว่าบริษัทที่ได้รับคัดเลือกน่าจะเป็นบริษัทที่ทำการออกแบบและการก่อสร้างในรูปแบบของบริษัทร่วมค้า อีกทั้ง มีความเป็นไปได้ว่า บริษัทที่ไม่ได้คัดเลือกจะร่วมมือกับบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งตามกฎระเบียบแล้วสามารถทำได้ พร้อมกับแสดงความมั่นใจว่า จะไม่มีบริษัทใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน
"เมื่อพิจารณาโครงการแล้วจะคัดเลือก 3 บริษัทหรือมากกว่านั้น, อาจเลือก 1 บริษัท ที่สามารถทำได้ครอบคลุมทั้งหมด,อาจแยกเป็น 2 บริษัท ไปดูแล 2 ลุ่มน้ำใหญ่ หรืออาจมีบริษัทที่นำเสนอแผนเด่นเฉพาะเรื่องก็จะได้ดำเนินการเรื่องนั้นไป" ประธาน กบอ.ยกตัวอย่าง ซึ่งอาจออกมาในหลายรูปแบบ
พูดง่ายๆ ไม่ได้หมายความว่า จะมีบริษัทเดียวที่ได้ทั้งโครงการนี้ไป
และเมื่อถามว่า ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นกี่บริษัท ? ตัวประธาน กบอ.ก็ตอบไม่ได้ บอกได้เพียงว่า จนกว่าจะได้เห็นเอกสารนำเสนอรายละเอียดการออกแบบโครงการ หลังจากนั้น รัฐบาลจึงควักงบประมาณให้ โดยมีหลักเกณฑ์ 1.5 – 2% ของค่าก่อสร้าง ที่รัฐบาลกำหนด คือ 3 แสนล้านบาท ส่วนทางบริษัทจะเสนอมาเท่าไหร่เป็นสิ่งสำคัญที่จะพิจารณา
แม่วงก์-แก่งเสือเต้น พื้นที่ควบคุมไม่ได้
ส่วนโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ 5 ลุ่มน้ำ งบฯ 5 หมื่นล้านบาท ที่มี "แก่งเสือเต้น และแม่วงก์" รวมอยู่ด้วยนั้น จากการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำล่าสุด ของ กบอ.ที่มีนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ปลอดประสพ ชี้ว่า มี 2 พื้นที่ที่ยัง "ควบคุม" ไม่ได้ทั้งสถานการณ์และมวลชน คือ แม่น้ำสะแกกรัง (เขื่อนแม่วงก์) และแม่น้ำยม (เขื่อนแก่งเสือเต้น)
ซึ่งเป็น 2 แม่น้ำที่เป็นต้นเหตุของน้ำท่วมปีที่แล้วทั้งคู่
"เท่าที่ทราบมาชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีปัญหา พบว่าชาวบ้านนอกพื้นที่เท่านั้นที่มีปัญหา"
ในส่วนของเขื่อนแม่วงก์ ล่าสุดกรมชลประทานได้รับอนุญาตจากรมอุทยานให้เข้าไปสำรวจเจาะดิน ผ่านการทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA) ประชาพิจารณ์และได้อนุมัติงบประมาณในหลักการเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่เขื่อนแก่งเสือเต้น ยังไม่ผ่านการอนุมัติ แต่ก็ได้เริ่มพูดคุยกับชาวบ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีแล้ว ฉะนั้น เขาเชื่อว่า ไม่น่าจะมีปัญหา โดยทั้ง 2 เขื่อนจะอยู่ในกรอบวงเงิน 3 แสนล้านบาทเช่นกัน
"ผมเชื่อว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แต่กลับไม่สร้างเขื่อนรองรับ หรือสร้างระบบในการควบคุมปริมาณน้ำในลุ่มน้ำนั้นๆ"
เพิ่มเงินเยียวยาพิเศษ พื้นที่รับน้ำนอง
กรณีพื้นที่รับน้ำนอง ที่ประชุม กบอ. ได้ข้อสรุปพื้นที่รับน้ำนอง ไม่ว่าพื้นที่ชลประทานหรือนอกพื้นที่ชลประทานที่น้ำท่วมโดยธรรมชาติจะได้รับการเยียวยาในเกณฑ์เดิม เช่นเดียวกับปีที่แล้ว
แต่หากพื้นที่ใดน้ำท่วมจากการบริหารจัดการ จะได้รับการเยียวยาตามเกณฑ์เดิมและ "เพิ่มเติมเงินพิเศษ" ให้
พื้นที่ใดจะได้รับเงินเยียวยามากหรือน้อยนั้น คำถามนี้ ปลอดประสพ แจกแจงว่า ต้องพิจารณาระยะเวลาในการท่วมขังด้วยว่า ขังนานเท่าใด หรือสูญเสียโอกาสมากน้อยเพียงใด โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกรมชลประทานทำหลักการเข้า ครม.เร็วๆ นี้
"ตามหลักการแล้วระดับน้ำที่ท่วมสูงหรือต่ำ จะไม่เป็นปัจจัยในการพิจารณาให้เงินเยียวยา ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีการประกาศว่า พื้นที่ใดเป็นพื้นที่รับน้ำนอง เพราะจะได้รับการเยียวยาอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากมีการผันน้ำเข้าพื้นที่ใดก็จะมีการแจ้งล่วงหน้าตามระบบเตือนภัย"
มองอนาคต จะเร็ว จะช้าก็ต้องมีเขื่อน
ขณะที่นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เสริมว่า ในแผนงานทีโออาร์ที่มีการระบุเรื่องเขื่อนขนาดใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่ เขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนแม่วงก์นั้น ในขั้นตอนของ "เขื่อนแม่วงก์" ขณะนี้ได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการจาก ครม. โดยได้ร่างแบบแผนการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การเสนอผลการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) หากอนุมัติก็จะสามารถของบประมาณในวงเงิน 1.3 หมื่นล้านดำเนินการได้ทันที ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงบฯ 3 แสนล้านบาท
กรณี "เขื่อนแก่งเสือเต้น" อธิบดีกรมชลฯ ยอมรับว่า ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องนโยบาย เนื่องจากต้องทำการศึกษาในการเลือกพื้นที่แม่ยมและแม่ยมตอนบนเพิ่มเติม โดยในขณะนี้ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาแล้ว
"ที่ผ่านมาการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยมีเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ที่ช่วยทั้งอุปโภคและบริโภค แต่ก็สร้างมาแล้วกว่า 50 ปี และขณะนั้นมีประชาชนใช้พื้นที่เพาะปลูกเพียง 1-2 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันมีเพิ่มเป็น 14 ล้านไร่ ทำให้ในอนาคตมีโอกาสที่จะต้องเผชิญวิกฤติน้ำไม่พอใช้" อธิบดีกรมชลฯ ยกเหตุผล และความจำเป็น มาอธิบายปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก
เพื่อให้เห็นว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่เราต้องหาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติม นั่นก็คือ การสร้างเขื่อน แม้ การพัฒนาส่วนนี้ จะหลีกเลี่ยงผลกระทบ ทั้งต่อธรรมชาติและมวลชนไม่ได้
ปลอดประสพ ย้ำสบายใจได้ "กทม.เอาอยู่"
สถานการณ์น้ำล่าสุด ที่ กบอ.เก็บข้อมูลเปรียบเทียบวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 กับ 9 กรกฎาคม 2554 โดยรวม เป็นที่น่าสบายใจได้ว่า ในปี 2555 น้ำจะไม่ท่วม หรือไม่ควรจะท่วม ตามเหตุผล 4 ประการ ดังนี้
1.สถานการณ์พายุ ในปีนี้มีพายุ 2 ลูกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้แก่ ปาข่า และด็อกซูหริ ซึ่งต่างจากปี 2554 ที่มีพายุถึง 5 ลูก แสดงให้เห็นว่าพายุที่จะส่งผลกระทบให้สถานการณ์น้ำในประเทศไทยควบคุมยากมีโอกาสน้อยกว่าปีที่แล้ว
2.ในส่วนสถานการณ์ฝน พบว่า ปริมาณฝนสะสมในปีนี้วัดได้ 78 มิลลิเมตร น้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 11
ส่วนพฤติกรรมของฝนในปีนี้ ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว แต่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีปริมาณน้อยกว่าปีที่แล้ว นั่นหมายความว่า ฝั่งภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม จะได้รับอิทธิพลของฝนที่กระทบมาน้อยกว่าปีที่แล้ว
3.สถานการณ์น้ำในเขื่อน สำหรับเขื่อนภูมิพล ขณะนี้ปริมาณน้ำไหลเข้าสะสมน้อยกว่าปีที่แล้วถึง 1,527 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนก็จะเต็มช้า ส่วนน้ำที่ระบายออกสะสมในขณะนี้สูงกว่าปีที่แล้วอยู่ 4,547 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำไหลเข้าสะสมในปีนี้ต่ำกว่าปีที่แล้ว 1,164 ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำระบายออกสะสม มากกว่าปีที่แล้ว 2,436 ล้านลบ.ม.
เมื่อพิจารณาทั้ง 2 เขื่อนรวมกันพบว่า มีการระบายน้ำออกมากกว่าปีที่แล้วถึง 7,000 ล้านลบ.ม.
4.สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ในส่วนค่ายจิรประวัติมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว 360 ลบ.ม./วินาที ส่วนท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว 340 ลบ.ม./วินาที สำหรับเขื่อนพระรามหก สถานการณ์การระบายน้ำอยู่ในขั้นปลอดภัย ไม่กระทบกระเทือนกรุงเทพฯ ยกเว้นที่ลุ่มมากๆ เมื่อฝนตกหนักอาจท่วมในขณะหนึ่ง