แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
โลกของส้วม ไม่ใช่แค่ที่ "ปลดทุกข์"
‘ส้วม’ พื้นที่เล็กๆ ที่คนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพา ทั้งในยาม ‘หนัก’ และ ‘เบา’
ใครจะไปเชื่อหากสืบค้นเรื่องราว ตำนานของส้วม ความเป็นมาของนวัตกรรมการขับถ่ายของคนไทย จะพบมุมมองที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง
เราไปดูกันว่า มี ‘ดีไซน์’ อะไรบ้าง ที่มนุษย์ทั้งโลกต่างคิดใคร่ครวญหาส้วมที่ดีที่สุดขึ้นมา กำจัด 'อึ' ในงานนิทรรศการที่แสดงความเป็นมาของส้วมในประเทศไทย และคาบเกี่ยวประวัติศาสตร์ของโลก
ตั้งชื่อได้อย่างเก๋ไก๋ “สืบ จาก ส้วม”
‘ส้วม’ ผลผลิตจากการ ‘หยิบยืม’ แนวคิดของกลุ่มชาติพันธุ์
อันที่จริง มนุษย์ทั่วโลกตั้งแต่ล้านปีที่แล้วต่างคิดใคร่ครวญเพื่อหาส้วมที่ดีที่สุด รวมทั้งคนไทย ซึ่งมีการตื่นตัวและมีวิวัฒนาการด้านการขับถ่ายมาอย่างยาวนาน
เริ่มตั้งการอึในท้องทุ่งนาแบบที่เรียกว่าใกล้ชิดธรรมชาติสุดๆ ไปสู่การอึแบบแยกน้ำ แยกกาก ช่วยลดกลิ่น โดยส้วม ‘ถานพระ’ จากเมืองแขก หรือการอึแบบ ‘เทพ’ ของชนชั้นปกครอง รวมไปถึงการอึใส่ ‘ถังเมล์’ ของคนเมืองรุ่นแรกที่ได้รับแนวคิดจากชาวจีน ฯ ซึ่งแน่นอน รูปแบบส้วมมากมายขนาดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีความหลากหลายของกลุ่มคนให้เรา ‘หยิบยืม’ ความคิดมาปรับใช้และสูดดม
ถึงกระนั้น แม้จะมีไอเดียบรรเจิดจากหลากหลายชนชาติ แต่การขยายตัวของ เว็จสาธารณะ (พระสงฆ์ มีคำเรียกสถานที่ขับถ่ายโดยเฉพาะ คือ ‘เว็จ’) หรือ ส้วม กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากความคุ้นชินของผู้ใช้ ทุนทรัพย์ที่มีจำกัดจำเขี่ย รวมทั้งการขาดแคลนน้ำประปา ทำให้อัตราส้วมต่อครัวเรือนของไทย ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ มีส้วมใช้เพียง ๕๐%
แต่ในขณะนั้นมีการคาดว่า ประเทศไทยจะมีส้วมครบ ๑๐๐ % ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ (ซึ่งก็คือปีนี้นี่เอง...)
‘ส้วม’ เครื่องบ่งชี้ความศิวิไลซ์
ย้อนกลับไปในอดีต สมัยพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ การพัฒนาบ้านเมืองมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการหลีกเลี่ยงข้อดูหมิ่นและข้ออ้างในการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ‘ชนชั้นสูง’ จึงต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมี ‘อารยธรรม’ รวมทั้งในเรื่องของการขับถ่ายที่ได้มีการนำเข้าสุขภัณฑ์จากต่างประเทศ เพื่อใช้เป็น ‘เครื่องประดับ’ และตกแต่งความมีอารยะ ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะแท้จริงแล้ว สุขภัณฑ์ของนอกดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงมากนัก เนื่องจากเจ้านายบางพระองค์ยังคงโปรดปฏิบัติพระกิจแบบเดิม แต่กระนั้นก็จำต้องซื้อหามาไว้อยู่ดี เพราะเรื่องส้วมๆ ดันเข้าไปเกี่ยวข้องกับ ‘การเมือง’ อย่างมีนัยยะสำคัญ
ยิ่งในยุคที่บ้านเมืองคลาคล่ำไปด้วยผู้คน การ ‘เก็บดอกไม้’ การ ‘ยิงกระต่าย’ หรือกระทั่งการ ‘ทิ้งระเบิดอึ’ ตามทุ่ง ตามท่า ก็เป็นอันต้องยุติลง เพราะ ‘หลวง’ ได้สร้าง ‘เว็จสาธารณะ’ ให้แก่ชาวเมืองใช้กันอย่างอิสระและทั่วหน้า โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากหลวงจะจ่ายเบี้ยจัดจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาทำหน้าที่ขนถังเมล์ที่บรรจุซากอึแบบเต็มเอียดไปเททิ้งเอง เพื่อหวังกำจัด ‘อึ’ และพิชิตเชื้อโรค อย่างพยาธิปากขอและอหิวาตกโรค รวมไปถึงการป้องกันการคุกคามจากเจ้าสี่ขา เพราะเจ้าหมาและเจ้าหมู พร้อมจู่โจมเข้าหากอง ‘อึ’ อาหารอันโอชะตลอดเวลา
เรื่องส้วมๆ ไม่ใช้เรื่องขี้ประติ้วอีกต่อไป
พลังของคนยุคใหม่ ได้รับการปลดปล่อยและระบาย ‘ไอเดีย’ ใส่ส้วมกันอย่างหนำใจ จนกระทั่งหน้าตาของส้วมยุคนี้ดูดีและแปลกตากว่าเดิมอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อตอบสนองต่อค่านิยมและความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด โดยไอเดียส้วม พัฒนาภายใต้ ‘คอนเส็ปต์’ เปลี่ยนห้องอับทึบ กลายเป็นห้องเสพความรื่นรมย์ส่วนตัว บนรสนิยมที่เลือกได้เอง ทำให้เกิดส้วมรูปแบบใหม่ๆ ขึ้น
เริ่มตั้งแต่ ส้วมอนุบาลกุ๊กไก่ ที่เกิดขึ้นจากแนวคิด ‘เด็กๆ ก็มีหัวใจ’ ทำให้ส้วมจิ๋วเหล่านี้ได้รับการฟูมฟักเป็นอย่างดีทั้งเรื่องการดีไซน์และการใช้งานให้ประดุจราวสองมือแม่ที่ประคองก้นลูกน้อย
ส้วมผู้พิการ ที่ใครหลายคนต่างยอมรับว่ารูปทรงดูดีกว่าส้วมผู้พิการครั้งใดที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะออกแบบให้สอดรับกับการใช้งานของผู้พิการ แม้ในยามนั่งรถเข็นก็ตาม ซึ่งนับเป็นเครื่องการันตีได้ว่า ผู้พิการยังคงได้รับการเหลียวแลจากสังคมอยู่มาก
ส้วมอัจฉริยะ สุขภัณฑ์ขั้นเทพที่มีกลไกวอร์มที่นั่งให้อุ่นก่อนใช้บริการ เมื่อเสร็จภารกิจก็มีกระสวยน้ำพุ่งเข้าชำระล้าง แถมเป่าลมจนแห้งสนิทโดยอัตโนมัติ เรียกว่าสะดวกสบาย จนทำลายภาพส้วมกลิ่นเหม็นคละคุล้งในอดีตจนหมดสิ้น
ส่วนส้วมที่อินเทรนด์สุดๆ ต้องยกให้ ส้วมแบบเคลื่อนที่ หรือ ‘ส้วมมือถือ’ เนื่องจากรูปร่างกะทัดรัด พกพาสะดวก ใช้งานได้ง่ายดาย และไม่จำเป็นต้องตั้งนิ่งอยู่กับที่ ซึ่งนวัตกรรม ‘ส้วมมือถือ’ ได้แก่ คอมฟอร์ด-100 ผลิตภัณฑ์สร้างสุขบนท้องถนนให้แก่สุภาพบุรุษ เมื่อยามที่การจราจรติดขัด รวมไปถึงผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ทั้งชายหญิง สามารถ ‘ปล่อยของ’ ได้ทั้งหนักและเบา
ส้วมมือถืออีกชิ้น ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยามทุกข์ยาก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมา เราได้เห็น ได้รู้ มีหลายกลุ่มคนที่ร่วมใจกันบริจาคช่วยน้ำท่วม บ้างก็บริจาคเรื่องเงิน บางก็บริจาคอาหารและของใช้จำเป็น
แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประสบภัยจำเป็นต้องใช้และหลายคนคิดไม่ถึง นั้นคือ "ส้วมกระดาษ"
นวัตกรรมใหม่สำหรับการปลดทุกข์ขั้นพื้นฐาน ที่เกิดจากการพัฒนาความคิดของบริษัทเอกชนที่คำนึงถึงความสะดวกสบายในการใช้ งานและการจัดส่งไปยังพื้นที่ประสบภัย ด้วยคุณสมบัติ ส้วมกระดาษมีน้ำหนักเบา โดดเด่นในเรื่องความแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักของผู้ใช้ร่างอ้วนท้วมได้ถึง ๑๐๐ กิโลกรัม
นอกจากนี้ยังมีไอเดีย ‘ส้วมดีมีสีเขียว’ ซึ่งมองเรื่องการสร้างส้วมตามแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หรือกระแส ‘สีเขียว’ หรือ ปรากฏการณ์ส้วมสะอาด ที่นำไปสู่การต่อยอดทางธุรกิจมูลค่ามหาศาล ขณะเดียวกันยังมีภาพยนตร์สั้นชุดพิเศษ ชุด “ขี้” คลาย คดีเด็ดเว็จแตก ย้อนอดีตสยามประเทศ ที่จะพาผู้ชมทุกท่านย้อนเวลากลับไปรับรู้เรื่องราวการขับถ่ายของสังคมไทยในอดีตได้อย่างสนุกสนาน
โดยนายทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร นักจัดการความรู้ มิวเซียมสยาม บอกถึงสิ่งที่คนไทยจะได้เรียนรู้จากนิทรรศการชุดนี้ว่า ส้วมทำให้เราได้รู้จักสังคมไทยดีขึ้น สังคมไทยที่มีความหลากหลาย ทั้งความคิดและวัฒนธรรม คนแต่ละกลุ่ม แต่ละสถานะ มีส้วมเป็นของตนเอง ซึ่งหากเราไม่มีความหลากหลายส้วมก็จะมีเพียงแบบเดียว
สำหรับใครที่ยังไม่จุใจ กับตำนานเรื่องส้วม สามารถเดินทางไปสัมผัสความ‘ศิวิไลช์’ อย่างใกล้ชิดได้ที่มิว เซียมสยาม กรุงเทพฯ ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มิวเซียมสยาม ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมศิลปากร และ SCG จัดนิทรรศการ "สืบ จาก ส้วม" ให้ได้ดูยาวจนถึงเดือนเมษายนปีหน้าเลยทีเดียว
ส้วมยังมีอีกหลากหลายรูป มีทั้งของในและของนอก
ส้วมเจ้า ณ พระรามราชนิเวศน์ (พระราชวังบ้านปืน)
สร้างขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อทรงใช้ประทับแรมนอกพระนครในฤดูฝน ออกแบบโดยนายคาร์ล เดอห์ริง สถาปนิกชาวเยอรมัน มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบบาโรล ผสมอาร์ตนูโว สไตล์เยอรมัน เช่นเดียวกับพระราชวังไกเซอร์ ประเทศเยอรมัน ที่พระองค์เคยประทับ
ห้องสรง มีสิ่งใหม่ที่น่าสนใจคือ โถพระบังคนเซรามิก แบบนั่งราบ ผลิตจากต่างประเทศ มีแท็งก์น้ำอยู่สูง นอกจากนี้ ยังมีอ่างน้ำที่พ่นละอ่องน้ำได้หลายระดับอีกด้วย นับเป็นความทันสมัยที่สุดของยุคนั้น
เชื่อไหม พระราชวังแวร์ชายส์อันสวยหรูของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศส.... ไม่มีส้วม
ไม่ใช่เพราะมองข้ามเรื่อง ขี้ๆ หรอก แต่เขาใช้ส้วมมือถือกันทั้งนั้น
หน้าตาเป็นเหมือนเก้าอี้ที่เจาะรูตรงกลาง มีกระโถนวางอยู่ข้างใต้ เมื่อเสร็จกิจแล้ว ก็ให้บ่าวไพร่นำไปเททิ้ง ส่วนขุนนางและชาววังอื่นๆ ก็อาศัยปลดทุกข์ตามพุ่มไม้หลังราชวัง ดูๆ ไปก็ไม่ต่างจากการถ่ายทุกข์ของเจ้านายและบริวารในพระราชวังไทยเลย
ส้วมโรมัน
เมื่อสองพันปีก่อน คนโรมันอึกันอย่างไร ไม่มีใครเกิดทัน แต่นักโบราณคดีขุดพบส้วมสาธารณะ ที่เมืองเก่าออสเตรีย เมืองท่าโรมัน ทำให้รู้ว่าชาวโรมันอึกันแบบเปิดเผย ไม่พึ่งพาคอกกั้น และสงสัยว่าจะเป็นที่พบปะสังสรรค์ด้วยละมั่ง
ส้วมพระ
บางครั้งเรียกกันว่า ถานพระ บางครั้งก็เรียกว่า เว็จกุฎี ส้วมแบบนี้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาแบบลังกา ในช่วงอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งมีการเจริญความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างเหนียวแน่น ถือเป็น นวัตกรรม ที่สงฆ์ไทยรับมาใช้ เนื่องจากมีกลไกในการกำจัดกลิ่นอย่างแยบยล
ส้วมคอห่าน ‘ทำมือ’
ในช่วงก่อนทศวรรษ ๒๕๑๐ ส้วมคอห่านเป็นของแพง เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ว่าแล้วเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ชวนชาวบ้านมาหล่อส้วมคอห่าน ‘ทำมือ’ ชะเลย ก่อนจะเปลี่ยนจากส้วมหลุดมาใช้ส้วมคอห่านก็ต้องสร้างคันโยกสูบน้ำบาดาลเสียก่อน ไม่อย่างนั้นจะเอาน้ำที่ไหนมากลั้วคอ (ห่าน) นอกจากนี้ การขุดเจาะน้ำบาดาล ยังทำให้ได้น้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภคอีกด้วย เป็นการป้องกันโรคทางเดินอาหารได้อีกทางหนึ่ง
ส้วมไพร่
ส้วมแบบที่ได้รับการสร้างขึ้นเพื่อเป็น ‘เว็จสาธารณะ’ ให้ไพร่ฟ้าได้ใช้กันอย่างฟรีๆ
เป็นส้วมแบบ ถังเท สันนิษฐานว่า ยืมแบบมาจากชาวจีน
แต่อย่าได้ดูแคลนส้วมหน้าตา บ้านๆ แบบนี้เชียว เพราะนี่แหละคือเครื่องมือสร้างความศิวิไลช์ให้บ้านเมือง ราษฎรจะได้ขับถ่ายเป็นที่เป็นทางมากยิ่งขึ้น แทนการไปทุ่ง ไปท่า อย่างแต่ก่อน