ปฏิกิริยาโต้กลับ “พ.ร.ฎ.อภัยโทษทักษิณ”
หลังจากที่ข่าวหลุดออกมาว่า ครม.วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 มีการประชุมวาระจร 'ลับ' เรื่องร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.... ซึ่งจะเป็นการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักโทษที่จะเข้าข่ายในการเข้ารับพระราชทานอภัยโทษ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 จนทำให้หลายฝ่ายมองกันว่า พ.ร.ฎ.ดังกล่าวส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพิจารณาอภัยโทษด้วยนั้น
รุ่งขึ้น มีปฏิกิริยาเกิดขึ้น ทั้งกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ในมุมคัดค้าน หนุนเสริม และแสดงความคิดเห็นต่อการประชุมลับ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบบทความ บทวิเคราะห์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ เว็บบล็อก รวมทั้งผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ซึ่งศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปฯ ได้ประมวลประเด็นละเอียดอ่อนนี้ ในหลายมุมมอง...
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
อ.ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ.
“แก้ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทักษิณให้ได้รับการปล่อยตัว
สู้รัฐบาลใช้ "อ๊อพชั่น" ออกกม.นิรโทษกรรมทั่วไปจะดีกว่า ”
ดร.สมศักดิ์ มองถึงกรณีการแก้พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ผ่านหน้าเฟซบุ๊คของตนเองว่ายังอยากเห็นรายละเอียด แต่ถ้าเป็นไปตามข่าว ก็เองมีข้อไม่เห็นด้วย 2 ข้อ คือ
(1) การอภัยโทษนั้น ไม่ได้แปลว่า คนที่ถูกอภัยโทษ "ไม่มีความผิด" ตรงข้าม แปลว่า คนนั้นมีความผิด แต่ได้รับการ "อภัย" ในแง่ของ record ทางการเมือง คนนั้นจะเป็น convicted criminal (ผู้ทำผิดทางอาญาที่ถูกตัดสินแล้วว่าผิดจริง) ซึ่งผมมองว่า ไม่ถูกต้อง ในกรณีทักษิณ (เพราะกระบวนการที่นำมาซึ่งการตัดสินไม่ถูกต้อง) เป็นการไปยอมรับ ในสิ่งที่ไม่ควรยอมรับ
(2) ข้อนี้ อาจจะสำคัญยิ่งกว่านั้นอีก คือ การแก้กฎหมาย นั้น จะมีผลระยะยาว ที่จะใช้บังคับใช้กับกรณีอื่นๆ ด้วย
“เรื่องยาเสพย์ติด, คอร์รัปชั่น ฯลฯ ผมมองว่าไม่ถูกต้อง ถ้าการแก้นี้เพื่อช่วยทักษิณ ก็เป็นการสร้างแบบอย่างที่ไม่ดีทางกฎหมายในกรณีอื่นๆ ที่จะเกิดตามมาทั้งหมด อีกหน่อยถ้ามีกรณีที่มีคนทำผิดจริงๆ และเข้าข่าย พ.ร.ฎ. ที่ถูกแก้ (อายุเกิน 60 คำตัดสินไม่เกิน 3 ปี และไม่เคยติดคุก เช่น อาจจะหนีไป) ก็สามารถ "หลุด" ได้เช่นกัน การแก้กฎหมายที่ไม่ใช่กฎหมายที่แย่ในตัวเอง (เช่น วิอาญา, พ.ร.ฎ. อภัยโทษ ฯลฯ) ในลักษณะนี้ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง”
ดร.สมศักดิ์ เสนอว่า ถ้าเรื่องการแก้ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนที่จะช่วยทักษิณให้รับการปล่อยตัว สู้รัฐบาล ใช้ "อ๊อพชั่น" ที่ออกกฎหมาย "นิรโทษกรรมทั่วไป" (general amnesty) เสียจะดีกว่า เพราะจะนิรโทษกรรม ปล่อย เสื้อแดงอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ในคุก รวมทั้งคนที่โดนตัดสินไปแล้ว 20-30 ปี คดีเผาจวนต่างจังหวัด (ซึ่งเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรจะช่วยเลย) และอาจจะได้รวมถึงคดี 112 ด้วย (แต่อันหลังสุด ผมว่า ต่อให้มี general amnesty รัฐบาลก็คงไม่กล้า หรือไม่มีกำลังพอจะทำ แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยได้ช่วยพวกเสื้อแดงที่กำลังโดนคดีดังกล่าว)
“ผมว่า ที่จริง general amnesty ย่อมหมายถึง ทหาร อภิสิทธิ์ สุเทพ ก็ได้รับการนิรโทษกรรมได้ แม้หลายคนไม่เห็นด้วย แต่ผมอยากให้ลองคิดชังน้ำหนักว่า ถ้าออก/แก้ พ.ร.ฎ. อภัยโทษ เพื่อช่วยทักษิณ ก็จะช่วยทักษิณกลับได้คนหนึ่ง แต่คดีเสื้อแดงอีกเป็นร้อย ไม่ได้อะไรเลย”
จักรกฤษณ์ เพิ่มพูน
สื่อมวลชนในเครือเนชั่น
“การเสนอ พ.ร.ฎ.โดยอาศัยช่วงวันเฉลิมฯ
เป็นการซ่อนเงื่อนไขของ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย ไม่เคยปรากฏมาก่อน”
ขณะที่นายจักรกฤษณ์ นำเสนอมุมมองผ่านเว็บบล็อกโอเคเนชั่น โดยมีหัวเรื่องว่า “น้องช่วยพี่ อัปปรีย์แห่งชาติ !” ว่า คำ ยืนยันที่ว่าจะไม่มีการขอพระราชทานอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรมให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย โดยจะมุ่งมั่นทำงานเพื่อส่วนรวมของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อแรกเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น บัดนี้ ได้ประจักษ์ชัดแล้วว่า เป็นถ้อยคำที่ขอเพียงเอาตัวรอด หาได้มีความจริงใจที่จะรักษาคำมั่นสัญญากับประชาชนไม่
ภาพนี้เกิดขึ้น หลังจากที่คณะรัฐมนตรี ได้ผ่านการพิจารณาลับ ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ....มีเนื้อหาบางประการที่เอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยตรง…
“สาระสำคัญโดยปกติในการพิจารณาว่าสามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้หรือไม่ จากการตรวจสอบเบื้องต้นในยุคพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีการอภัยโทษ ให้กับผู้ต้องโทษที่หลบหนี หรือไม่เคยรับโทษจำคุกตามคำพิพากษา โดยส่วนใหญ่ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับอภัยโทษ ต้องรับโทษคุมขังมาแล้วระยะหนึ่ง”
อย่างไรก็ตาม กฎหมายให้อำนาจรมว.ยุติธรรม เป็นผู้ทำความเห็นประกอบฎีกา เพื่อเสนอไปยังสำนักพระราชวังว่า สมควรอภัยโทษหรือไม่ แต่ทั้งนี้ การอภัยโทษ ถือเป็นพระราชอำนาจ ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นรายบุคคลนั้น ผู้ต้องโทษหรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง จะใช้สิทธิยื่นเรื่องราวทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ผ่านเรือนจำหรือส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องก็ได้ เช่นสำนักราชเลขาธิการ ก.ยุติธรรม ก.ต่างประเทศ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รู้ดีว่าถ้าขอเฉพาะรายมีปัญหาการคัดค้านแน่นอน
การเสนอเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นอำนาจตรากฎหมายของฝ่ายบริหาร โดยอาศัยช่วงจังหวะวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นความพยายามที่จะเบี่ยงเบนประเด็น ให้สำคัญผิดว่าเป็นการเสนอพระราชทานอภัยโทษในวาระปกติ และเป็นการเสนอเพื่อผู้ต้องโทษส่วนใหญ่ ที่มีความประพฤติดี เป็นนักโทษชั้นดี สมควรปล่อยตัว ให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดีในสังคมต่อไป แต่การซ่อนเงื่อนไขเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีคุณสมบัติที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ หลักเกณฑ์เช่นนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ก็คือความอัปปรีย์ของรัฐบาลนี้ ที่ต้องขับไล่ความชั่วร้ายนี้ออกไปให้เร็วที่สุด…
สุทธิรักษ์ อุฒมนตรี
สื่อมวลชนในสังกัดกรุงเทพธุรกิจ
“มติครม. 15 พ.ย. แสดงให้เห็นการกระทำผิดหลายกรรม หลายวาระ และตราพ.ร.ฎ.ที่เป็นโมฆะ ตั้งแต่แรกแล้ว”
ด้านนายสุทธิรักษ์ วิเคราห์ผ่านเว็บไซต์ข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ในชื่อเรื่อง “พ.ร.ฎ.อภัยโทษส่อ"โมฆะ"!" ว่า ตามหลักการ "ตรากฎหมาย" ของไทย นั้น จะต้องสอดคล้องกับกฎหมายที่มีความสำคัญตามลำดับคือ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และพ.ร.ฎ.ตามลำดับ
ดังนั้น พ.ร.ฎ.อภัยโทษ หากออกโดยครม.วันที่ 15 พ.ย.แล้วนั้น จึงไปขัดกับพ.ร.บ.อภัยโทษ ที่ยกเว้น คดียาเสพติด และคดีคอร์รัปชั่น จะไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
“กรณีนี้ หากมีมติคณะรัฐมนตรี 15 พ.ย.จริง! ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ว่า รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใด ของกฎหมาย กฎ หรือ ข้อบังคับ ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้น เป็นอันใช้บังคับ มิได้ ดังนั้น เมื่อมีการตรากฎหมายเล็กขัดกฎหมายใหญ่ก็สามารถฟ้องร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เพิกถอน พ.ร.ฎ.ดังกล่าว เพราะเห็นได้ชัดเจนว่าตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.อภัยโทษ นั่นเอง”
สำหรับกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจประชาชนที่ จ.สิงห์บุรี และไม่สามารถเดินทางกลับมาร่วมครม.ได้ทัน เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ไม่มีเรดาร์ นายสุทธิรักษ์ เห็นว่า เป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า โดยแหล่งข่าวในกองทัพเผยว่า เฮลิคอปเตอร์รุ่นดังกล่าวมีสมรรถภาพเพียงพอ และมีเรดาร์สามารถบินช่วงกลางคืนได้ แต่หากเรดาร์ไม่สามารถใช้การได้จริง นายกฯ สามารถประสานขอเครื่องลำอื่นไปทดแทนได้ ซึ่งกองทัพพร้อมที่จะจัดให้อยู่แล้ว แต่กลับไม่มีการร้องขอมา จึงคิดว่า นายกฯ น่าจะมีเจตนาที่จะไม่กลับ กทม.
ทั้งนี้ เมื่อนายกฯ เดินทางกลับมาถึงในเวลา 11.00 น. และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนประมาณ 20 นาที จากนั้นเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่คณะรัฐมนตรียังคงประชุมอยู่ แต่ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับไม่เข้าร่วมประชุม กลับใช้เวลาช่วงดังกล่าวบันทึกเทปสัมภาษณ์พิเศษโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ก่อนเดินทางเข้าร่วมประชุมอาเซียน จากนั้นเมื่อเวลา 14.20 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงได้เดินทางเข้าร่วมประชุมรัฐสภา
กรณีนี้เองเป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ครบองค์ประกอบการกระทำ จึงเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ "ละเว้นการกระทำที่มีผลเป็นการกระทำ" แม้ไม่เข้าร่วมประชุมครม.ก็ไม่อาจพ้นไปจากความรับผิดนี้ได้
“ในประเด็นนี้ สามารถฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ รวมถึงคณะรัฐมนตรี ที่อยู่ในห้องประชุมทั้งหมดก็จะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏว่ามีใครแสดงความเห็นแย้งต่อการออก พ.ร.ฎ.ดังกล่าว”
ประการต่อมา ประชาชนยังสามารถฟ้องต่อศาลปกครอง ได้ ตามมาตรา 3 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง กรณีนี้มีคดีตัวอย่างที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.สรรหา เคยฟ้องเพิกถอน พ.ร.ฎ.แปรรูปรัฐวิสาหกิจ มาแล้ว
ประเด็นต่อมา ผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมจะยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรี "ส่อ" ว่ากระทำการหรือละเว้นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ ได้อีกทางหนึ่งด้วย
มติครม. 15 พ.ย. แสดงให้เห็นการกระทำผิดหลายกรรม หลายวาระ และตราพ.ร.ฎ.ที่เป็นโมฆะ ตั้งแต่แรกแล้ว...