ซื้อใจ พนง.กับมาตรการบริษัทใหญ่ตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือน้ำท่วมครบวงจร”
ท่ามกลางสถานการณ์น้ำที่กำลังไหลบ่าครอบคลุมเกือบทุกเขตพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ส่งผลโดยตรงต่อพนักงานบริษัทที่ต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย ความช่วยเหลือระยะใกล้ที่สุดหนีไม่พ้นที่ “บริษัท” เจ้าของกิจการจะต้องเข้ามาดูแลอย่างเต็มที่ในลักษณะ “ใจซื้อใจ” ซึ่งแต่ละแห่งจะมีมาตรการอย่างไรบ้างนั้น
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูป ได้รวบรวมมาฝาก...
“SCG” ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงาน สื่อสารองค์กรบริษัท เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ทางบริษัทได้ประเมินสถานการณ์น้ำว่ามีโอกาสท่วมแน่นอน จึงประกาศหยุดงานตั้งแต่ 20 ตุลาคม ขณะนี้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้และส่วนหนึ่งบ้ายไปที่ออฟฟิศชั่วคราวในจังหวัดต่างๆ ติดต่อและส่งงานผ่านระบบไอทีที่ทางบริษัทติดตั้งไว้ กระทั่งสามารถทำงานได้ตามปกติ
สำหรับความช่วยเหลือในระยะแรก SCG ได้จัด “หน่วยประเมินผลสถานการณ์น้ำ” และแนะนำให้พนักงานอพยพออกมาก่อนที่น้ำจะท่วม เพราะถ้าน้ำท่วมแล้วจะอพยพลำบาก จากนั้นได้ประเมินสถานการณ์ต่อ พบว่าน้ำจะขยายมาที่บางซื่อเลยให้พนักงานย้ายไปพักที่ชลบุรี พัทยา ระยอง ซึ่งน่าจะปลอดภัยจากน้ำท่วม โดยทางบริษัทออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เฉลี่ยตามจริง เช่น ครอบครัวมี 6 คน ก็จะแบ่งเป็น 2 ห้อง จนถึงขณะนี้พนักงานก็ยังพักอยู่ประมาณ 2,000 กว่าคน
สำหรับ “ศูนย์ช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบ” ในศูนย์ประสานงานมี Call Center รับแจ้งเหตุต่างๆ เช่น ประสานขอถุงทราย ให้พนักงานคนละ 100 ถุง จัดที่จอดรถให้ที่จังหวัดราชบุรี โดยจะให้พนักงานขับรถไปไว้ และมีรถบัสรับส่งกลับมา รวมถึงมีการประสานงานหาที่อยู่ให้สัตว์เลี้ยง ตั้งทีมพยาบาลและหน่วยช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับครอบครัวพนักงาน
ส่วนความช่วยเหลือเรื่องการซ่อมแซม แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.เงินที่ให้กู้โดยไม่มีดอกเบี้ยสำหรับภาวะน้ำท่วม ให้พนักงานที่ต้องการป้องกันน้ำท่วมในระยะนี้ เป็นเงิน 20,000 บาท ผ่อนใช้คืน 24 เดือน 2.เงินซ่อมแซมบ้านให้วงเงินกู้ 50,000 บาท ผ่อนใช้คืน 24 เดือน ภายหลังจากผ่อนเงินก้อนแรกเสร็จ
“True” ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ออกสวัสดิการและมาตรการช่วยเหลือพนักงานที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือพนักงานภายในกลุ่ม สำหรับ 1.พนักงานที่ต้องปฏิบัติงานเฝ้าระวังเครือข่าย 7 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลเครือข่ายการให้บริการแก่ลูกค้า จะจัดที่พักชั่วคราว จัดส่งอาหารน้ำดื่มทุกวัน และอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางทั้งจัดหารถ 4-WD เรือ และเสื้อชูชีพ
2.พนักงานที่ไม่ได้ปฏิบัติงานเฝ้าระวังเครือข่าย แต่ประสบปัญหา บริษัทได้จัดมาตรการความช่วยเหลือ คือ จัดหาที่พักชั่วคราวให้พนักงานและครอบครัว จัดหาที่จอดรถให้กับพนักงาน ทั้งที่ตึกและที่ใกล้เคียง จัดหากระสอบทราย และน้ำดื่มราคาพิเศษ และจัดโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน: ร่วมบริจาค และเป็นทีมอาสาสมัคร จัดส่งถุงยังชีพ 3.บริษัทจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ True Search & Rescue เพื่อค้นหาและช่วยเหลือพนักงานและครอบครัวผู้ประสบภัยรวมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่พนักงาน นำทีมโดยผู้บริหารระดับสูง พร้อมด้วยเพื่อนพนักงาน (ซึ่งปัจจุบัน ณ วันที่ 4 พ.ย. 2554 มีพนักงานติดต่อขอความช่วยเหลือ 175 ราย ทีมงานสามารถช่วยพนักงานออกมาได้แล้ว 90 ราย จำนวน 226 คน และสัตว์เลี้ยง 68 ตัว)
ทั้งนี้ บริษัทได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อนพนักงาน คือ 1.มอบถุงยังชีพมูลค่า 1,000 บาท แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยรวมถึงตัวแทนขายด้วย 2.กรณีบ้านพักของตนเองที่อาศัยอยู่ประจำได้รับความเสียหายจะช่วยเหลือตามจริง ไม่เกิน 20,000 บาท 3.กรณีบ้านเช่าหรือบ้านพักอาศัยที่อยู่เป็นประจำ แต่ไม่ใช่ของตนเอง ได้รับความเสียหาย จะช่วยเหลือตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท 4.รถยนต์ที่ใช้เป็นประจำเสียหาย ช่วยเหลือตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท
5.รถจักรยานยนต์ที่ใช้เป็นประจำเสียหาย ช่วยเหลือตามจริงไม่เกิน 5,000 บาท 6.กรณีเสียหายทั้งบ้านพักและยานพาหนะ จะช่วยเหลือตามจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท หรือ 10,000 บาท ตามเกณฑ์บ้านพักของตนเอง หรือบ้านเช่าอาศัย 7.บ้านรวมทรัพย์สินภายในบ้านของบิดามารดา ที่พนักงานไม่ได้อาศัยอยู่ประจำช่วยเหลือตามจริงไม่เกิน 5,000 บาท 8.บริษัทช่วยเหลือค่าเช่าที่พักอาศัยชั่วคราว ตามจริงไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท ไม่เกิน 2 เดือน 9.บริษัทให้ยืมเงินเพื่อสำรองค่าใช้จ่าย สำหรับกรณีน้ำท่วมแบบปลอด ดอกเบี้ย สำหรับพนักงานประจำไม่เกิน 30,000 บาท และพนักงานสัญญาจ้างไม่เกิน 10,000 บาท โดยชำระคืนด้วยการหักเงินเดือนเป็นระยะเวลา 6 เดือน
“DTAC”
ด้านนายวรรษิษฐ์ ไสยวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า ทางบริษัทเตรียมมาตรการความช่วยเหลือ และบรรเทาทุกข์ให้พนักงาน ในช่วงปฏิบัติงาน เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัย ได้อนุญาตให้พนักงาน (ที่ไม่ได้มีภาระรับผิดชอบโดยตรงต่อการปฏิบัติงานวันต่อวันของธุรกิจ) ทำงานอยู่ที่บ้าน หรือในที่ปลอดภัย ทั้งนี้ พนักงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพผ่านระบบเครือข่ายของดีแทค กรณีที่บ้านพักอาศัยของพนักงานถูกน้ำท่วม และไม่สามารถมาปฏิบัติได้ตามปกติ ให้ใช้สิทธิลากิจ หรือลาพักร้อน
สำหรับความช่วยเหลือต่อพนักงาน ทางบริษัทได้จัดเตรียมทีมงานพิเศษเพื่อรับเรื่องร้องเรียน ให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน ผ่านสายด่วน **39701-**39710 ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ยังได้จัดทำประกันภัยที่พักอาศัย กรณีที่พักอาศัยประสบภัยพิบัติ (สาธารณภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้) ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท รวมทั้ง ได้จัดเตรียมพื้นที่ชั้น 38 อาคารจัตุรัสจามจุรี (dtac house) เพื่อใช้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับพนักงานและครอบครัวที่ประสบภัยพิบัติ โดยขณะนี้มีผู้เข้าพักพิงที่ศูนย์ฯ แล้วประมาณ 120 คน
ในส่วน “ความช่วยเหลือด้านการเงิน” ทางบริษัทจะมอบเงินช่วยเหลือค่าที่พัก จำนวน 5,000 บาท กรณีพนักงานอพยพออกจากบ้านพักอาศัย ซึ่งอยู่ในเขตอพยพตามประกาศของกรุงเทพมหานคร และ/หรือ ศปภ. และมอบเงินช่วยเหลือกรณีบ้านพักอาศัยของพนักงานถูกน้ำท่วม เป็นเงินช่วยเหลือค่าที่พัก จำนวน 5,000 บาท และหากมีความจำเป็นต้องเช่าที่พักเกินกว่า 1 เดือน จะได้รับเงินช่วยเหลือเหมาจ่ายอีก 5,000 บาท หรือเข้าพักในโรงแรมที่ดีแทคจัดเตรียมไว้ให้ รวมทั้ง จัดเตรียมเงินกู้ฉุกเฉินไม่มีดอกเบี้ย สำหรับพนักงานที่บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วม สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 24 เดือน