ความเป็นธรรมใน "ธุรกิจพลังงาน"
เมื่อพลังงานเป็นต้นทุนของเศรษฐกิจภาคการผลิต รวมทั้งยังเป็นต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนทุกคน หากนโยบายพลังงานขาดความเป็นธรรม ขาดธรรมาภิบาล
ความเหลื่อมล้ำนับวันจะถ่างมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร
รสนา โตสิตระกูล และรศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ มีคำตอบ ...
นางรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร
"ประเทศไทยไม่ได้ขี้ริ้ว เราขุดน้ำมันดิบขายเป็นอันดับที่ 35 แต่ปรากฏว่าส่วนแบ่งรายได้ของรัฐมีน้อยมาก"
กำไรของ ปตท. ตั้งแต่ปี 2544-2550 มีทั้งสิ้น 4.54 แสนล้านบาท ปรากฏว่าผู้ที่ถือหุ้น 48% ได้ส่วนแบ่งไป 2.16 แสนล้านบาท อีกทั้งเมื่อรัฐถือหุ้นอยู่ 52% ปตท. จึงไม่ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายแข่งขันทางการค้า สามารถผูกขาดได้ทุกอย่าง จะกำหนดราคาเท่าไหร่ก็ได้
ทั้งนี้ พลังงานเป็นต้นทุนของเศรษฐกิจภาคการผลิต เป็นต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนทุกคน หากการดำเนินงานด้านพลังงานขาดความเป็นธรรม ขาดธรรมาภิบาล ประชาชนจะถูกเอาเปรียบ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยิ่งทวีช่องว่างที่ถ่างมากขึ้น รวมทั้งทำให้ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจไม่สามารถเกิดขึ้นได้
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา การแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ระบุว่า ประเทศไทยนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงถึง 55% แต่ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่งจะพบว่า เราสามารถพึ่งตนเองได้ถึง 45% ฉะนั้นประชาชน ควรได้รับโอกาส ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรที่เรามี แต่ปรากฏว่า เราไม่ได้พูดถึงในส่วนนี้เลย
และอันที่จริงพลังงานที่นำเข้ามา 55% นั้นเราก็นำมากลั่นและส่งออก โดยในปี 2551 ประเทศไทยส่งออกพลังงานมีมูลค่าถึง 2.9 แสนล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าส่งออกมากกว่าข้าวและยางพารา แต่คนไม่ค่อยรู้กันมากนัก
ขณะเดียวกัน เมื่อปี 2552 องค์กรด้านพลังของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อว่า ‘Energy Information Administration’ ได้มีการสำรวจประเทศที่ผลิตน้ำมันมาขาย พบว่า ประเทศไทยไม่ได้ขี้ริ้ว เราขุดน้ำมันดิบขายเป็นอันดับที่ 35 จาก 224 ประเทศทั่วโลก มากกว่าประเทศบรูไน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีน้ำมันด้วยซ้ำ
อีกทั้งในส่วนของการผลิตก๊าซธรรมชาติ ประเทศไทยก็รั้งอันดับที่ 23 ของโลก ผลิตก๊าซได้มากกว่าประเทศบรูไน โบลิเวีย พม่า คูเวต แต่ปรากฏว่าส่วนแบ่งรายได้ของรัฐมีน้อยมาก
กัมพูชาได้ส่วนแบ่งรายได้อยู่ที่ 65%-68% มาเลเซียได้ 68% พม่าได้ 90% ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมภาษี แต่ประเทศไทยตั้งแต่เราเริ่มขุดน้ำมันและก๊าซ ในปี 2524 ถึงปัจจุบัน เราได้ส่วนแบ่งรายได้อยู่ที่ 5%-15% มาตลอดระยะเวลา 30 ปี
“เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ในส่วนของกรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เคยชี้แจงว่า บ่อน้ำมันของบ้านเรามีขนาดเล็ก อีกทั้งยังขุดเจาะยาก จึงทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ค่าภาคหลวงจึงไม่เคยถึง 15% เลย แต่หากไปดูกำไรขั้นต้นของบริษัท ปตท. จะพบว่าต่ำสุดอยู่ที่ 75%”
สำหรับมูลค่าก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้ในแผ่นดินไทยตั้งแต่ปี 2524 -2552 มีประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งค่าภาคหลวงที่เก็บได้อยู่ที่ 12.54% รวบกับภาษีเงินได้อีกประมาณ 16% เราได้เม็ดเงินน้อยมากจากทรัพยากรของประเทศ
ตัวเลขที่น่าตกใจคือ งบประมาณแผ่นดินทั้งหมด 2.07 ล้านล้านบาท ในปี 2554 มาจากการเก็บภาษีทั้งระบบ 1.5 แสนล้านบาท ส่วนค่าภาคหลวงทั้งระบบ ทั้งจากค่าภาคหลวงจากแร่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมกับทรัพยากรอื่นๆ สร้างรายได้ให้รัฐเพียง 2.5% ของงบประมาณแผ่นดินในปี 2554
“รัฐบาลเมื่อเข้ามาสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง มักมีความชอบธรรมมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่เท่าที่ผ่านมาทุกรัฐบาลไม่มีความแตกต่าง เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบที่ตนเองต้องการ ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติของคนทั้งชาติกลับสามารถสร้างรายได้เพียง 2.5% เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมการพัฒนาที่ผ่านมา ทำให้เราเกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดช่องว่าง 12-15 เท่า ในขณะที่ญี่ปุ่น สแกนดิเนเวียช่องว่างห่างกันเพียงไม่กี่เท่า
ดิฉันคิดว่า ประชานิยมของรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลทักษิณ ที่พูดถึงนโยบาย 30 บาท กองทุนหมู่บ้าน พักหนี้เกษตร ส่วนเป็นประชานิยมเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนรากหญ้า แต่ประชานิยมเนื้อๆ มันไปอยู่ที่คนรวย เอื้อประโยชน์ให้คนรวยในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจเข้าถึงพลังงานราคาถูก ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำ
เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นภาคต่อจากรัฐบาลทักษิณ นโยบายของรัฐบาลทุกมิติจึงมีเรื่องเกี่ยวกับพลังงาน ตั้งแต่คลังน้ำมันสำรอง กองทุนความมั่งคง แลนด์บริดจ์ รวมถึงการเจรจาพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชาฝนเพื่อปิโตรเลียม ซึ่งในกระบวนการ โครงการทั้งหลายดังกล่าว สิ่งที่เป็นจักรกลในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลชุดนี้คือ ปตท.
“รัฐบาลพูดหลายครั้งว่า กองทุนความมั่งคั่งจะให้ ปตท. ดำเนินการ ทั้งที่ปกติแล้ว การสำรองน้ำมันควรเป็นเรื่องของเอกชน แต่การลวงเงินกงสีไปลงทุนสำรองน้ำมัน ขาดทุนอยู่ที่รัฐ กำไรไปที่เอกชนจึงเป็นรูปแบบที่พบเห็นได้ตลอดเวลา”
นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังจะลอยตัวแอลพีจี เอ็นจีวี และจัดทำบัตรเครดิตพลังงานให้กับแท็กซี่ รถสาธารณะ รวมทั้งคูปองพลังงาน สำหรับผู้ยากไร้ นั่นความหมายว่า เมื่อลอยตัวแล้ว รัฐบาลต้องควักกระเป๋าจ่ายทั้งหมด ซึ่งสร้างภาระให้กับรัฐ
คำถามคือ ทำไมรัฐต้องชดเชย ไม่ปล่อยให้มีการแข่งขันอย่างแท้จริง...
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และกรรมการสมัชชาปฏิรูป
"น้ำมันและพลังงานเปรียบเสมือน ‘เลือด’ ของระบบทุนนิยม"
ในยุคทุนนิยม น้ำมันและพลังงานเปรียบเสมือน ‘เลือด’ ของระบบ ทุนนิยมขาดน้ำมันก็เหมือนร่างกายที่ขาดเลือด เพราะฉะนั้น ระบบทุนนิยมจึงพยายามที่จะควบคุมเส้นโลหิตและเม็ดเลือดเพื่อให้ตนเองเติบโต มันเป็น ‘ทุนสามานย์’ ตั้งแต่ระดับโลกถึงระดับประเทศ
ทุนสามานย์นั้นแปลว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม และไม่ธรรมนูญ
ซึ่งหากเราดูระดับโลกจะพบว่า พวก ‘7 นางยักษ์’ ได้แก่ เชฟรอน เอ็กซอน เท็กซาโก้ โมบิล ก๊าซออยล์ บริทิชปิโตรเลียม เชลล์ คุมทุกกิจกรรมน้ำมันของโลก 80% ไม่ว่าจะสัมปทานน้ำมัน เรือขนส่ง ปั๊ม โรงกลั่น ดังนั้น น้ำมันจะขึ้นจึงอยู่กับกลุ่มบริษัทดังกล่าวแล้ว อีกทั้งยังถูกเกร็งกำไร ควบคุมการผลิตขนส่ง รวมทั้งควบคุมการซื้อขายล่วงหน้าอีกด้วย
แต่ทุกครั้งเมื่อเกิดปัญหาน้ำ มันกลับไปชี้ไปที่กลุ่มโอเปค 12 ประเทศ ถามว่า โอเปคมีบทบาทอย่างนั้นไหม ง่ายๆ ก็คือ มี แต่น้อย ดังนั้น ทฤษฎีทุนสามัญของโลกนี้ จึงอยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า ‘โจร ร้องให้จับโจร’
มาถึงบ้านเรา กิจการ ปตท. ก็เป็นรูปธรรมของทุนสามานย์ ซึ่งผมมองว่า ทุนสามานย์เริ่มจากความไม่โปร่งใส จำนวนมหาศาล ขายได้นาทีเดียวหมด ในขณะที่คนจองหุ้นเข้าคิวยาวเหยียด ปตท.ถูกสร้างจากเมล็ดพันธุ์ของภาษีประชาชน เคยเป็นองค์การเชื้อเพลิง เป็นน้ำมันสัมปทานมาก่อน แล้วจึงกลายพันธุ์มาเป็น ปตท. แต่ถามว่า ประชาชนทั่วไปที่จ่ายภาษี มีอำนาจ มีบทบาทและมีประโยชน์อะไรบ้างที่ควรจะเป็น
เอาง่ายๆ เวลาตลาดโลกขึ้นราคาน้ำมัน ปตท. รีบขึ้น แต่พอตลาดโลกลดราคาลง ปตท.ไม่อยากลง บอกว่าของเก่ายังขายไม่หมด แค่นี้ก็เห็นความไม่เป็นธรรมแล้ว อีกทั้งยังไม่สมดุลด้วย เพราะนอกจากมีอำนาจทุนแล้ว ยังมีอำนาจรัฐค้ำหัวอีกด้วย เนื่องจากคนของรัฐเข้าไปนั่งอยู่ในกิจการของ ปตท. ดังนั้น มันจึงมีอำนาจมากกว่าบริษัทอื่นทั่วไป แถมยังไปจำกัด ควบคุมพลังงานทดแทนด้วยอีก เพราะฉะนั้น ปตท. จึงเป็นทุนสามานย์โดยสมบูรณ์
ผมคิดว่าชื่อ ปตท. ไม่เป็นมงคลเลย ผมขอร้องให้เปลี่ยน เพราะมันแปลได้หลายอย่างมาก
ปตท. แปลว่า ปิดหูปิดตาประชาชนไทย...
ปตท. แปลว่า ปล้นและต้มตุ๋นประชาชนไทย...
ปตท. แปลว่า ปีศาจตะกละแห่งประเทศไทยก็ได้
เพราะฉะนั้น ผมขอร้องให้เปลี่ยนเป็น ปตถ. แปลว่า ไปตายเสียเถอะ
ทุนสามานย์ ไม่ได้เป็นพฤติกรรมของตัวบุคคล แต่เป็นพฤติกรรมของกลุ่มบุคคล ซึ่งกำลังเพิ่มความเข้มข้นในสังคมไทย อีกทั้งยังบ่มเพาะสังคมให้ยอมรับความสามานย์ด้วยวาทกรรม ‘โกงได้ แต่ขอให้มีผลงาน’ เราจึงมักเห็นภาพ ‘โกงมโหฬาร แต่โอ้อวดผลงานหน่อมแน้ม’
ทุนสามานย์ในประเทศไทยกำลังสร้างความสับสนให้คนไทย ด้วยทฤษฎีโจรร้องให้จับโจรเช่นเดียวกัน เพราะทุนสามานย์สามารถซื้อสื่อบางสื่อ ซื้อคนบางคนไปรับใช้ได้ รวมทั้งยังสามารถซื้ออำนาจรัฐด้วยเงินได้ เมื่อมันได้อำนาจรัฐ ก็เอาอำนาจรัฐไปสร้างศักยภาพ สร้างความร่ำรวยให้ทุนสามานย์ต่อไป ท้ายที่สุดก็กลับไปยึดอำนาจรัฐอย่างไม่สิ้นสุด