“เอ็นนู-ครูสน” ทบทวนการทำงานปฏิรูป...ครบปี
นับแต่เริ่มการทำงาน เมื่อกลางปีที่แล้ว ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 1 ปี ดูไปอาจทำอะไรได้ไม่มาก สำหรับการปฏิรูปประเทศไทย ของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ชุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ชุดที่มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ด้วยปัญหานานัปประการที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อน ชนิดที่แยกกันไม่ออก อีกทั้งรากเหง้าปัญหาก็หาใช่ความบกพร่องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทั้งหมดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในสังคมไทย
แม้ว่า คปร.ชุดนายอานันท์ ได้ยุติบทบาทการทำงานไปก่อนหน้านี้แล้ว หลังทำงานมาได้ 10 เดือน โดยเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา เจตนาจะศึกษาและทำข้อเสนอหลายเรื่องเอาไว้ให้สังคมไทยได้ขบคิดกันต่อ
แน่นอนว่า ในส่วนของ คสป.ที่ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ร่วมกับสมัชชาที่เป็นภาคีเครือข่าย และโอกาสครบครอบ 1 ปี ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย เช็คการทำงานที่ผ่านมา กับวาระงานปฏิรูปที่เหลืออีก 2 ปี...
เอ็นนู ซื่อสุวรรณ
“การทำงานของ คสป. ตามสโลแกนลดความเหลื่อมล้า สร้างความเป็นธรรม
นับว่า หยิบจับประเด็นได้ถูกต้อง เช่น ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ แต่เอาเข้าจริง ผลเกิดขึ้นได้ยาก”
“การทำงานในภาพรวมของ คสป.ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีระยะเวลาทำงานสั้นมาก อีกทั้งยังเน้นแต่เร่งให้ชาวบ้านข้างล่างแสดงความคิดความเห็น จึงขาดความร่วมมือของส่วนราชการ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง สังเกตได้จากมติสมัชชาในปีแรก แม้จะไปถึงมือคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ก็ส่งเรื่องให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้น้อยมาก เพราะกระทรวงที่เกี่ยวข้องมักอ้างว่า เป็นเรื่องใหญ่ น่าจะมีการทบทวนเป็นขั้นเป็นตอน จะทำในทันทีไม่ได้
หรือบางกระทรวงที่ข้อเสนอไปกระทบกับอำนาจโดยตรงก็จะโต้แย้งว่า ชาวบ้านยังไม่พร้อมรับอำนาจไป กลัวว่าจะมีปัญหาตาม เป็นต้น
ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วย ก็มีแต่กระทรวงที่ไม่เกี่ยวข้อง ฉะนั้น ผลจึงเกิดยาก
ผมจึงมองดูว่า ปีถัดไปอาจต้องทำงาน ประสานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนออกมติ อย่างเช่น ยุทธศาสตร์ของภาคเกษตรตั้งแต่นี้ต่อไป จนถึงการประชุมสมัชชาในปีหน้า จะมีการปรับท่าทีทำงานร่วมกัน 4 ฝ่าย ทั้งเครือข่ายเกษตรกร องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
อย่างไรก็ตาม ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 11 พบว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอวิสัยทัศน์ที่ตรงกับเรา โดยเสนอว่า เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นฐานสร้างรายได้ให้กับแผ่นดิน ดังนั้น ทางเครือข่ายต้องรีบเข้าไปทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนแผน ช่วยขับเคลื่อนเกษตรกรให้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตร
หากทำในลักษณะเช่นนี้ ต่อไปเมื่อนำมติไปเสนอต่อรัฐบาลก็จะง่ายขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงที่เกี่ยวข้องรับรู้และมีส่วนร่วมในการจัดทำมติอยู่แล้ว
บทเรียนการทำงานช่วง 1 ปี พิสูจน์แล้วว่า เมื่อภาครัฐไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำมติ ได้แต่มารับฟังความคิดเห็นอย่างเดียวเท่านั้น จึงรู้สึกไม่สบายใจที่จะทำตามมติ การเดินหน้าหลังจากนี้คงต้องสร้างความเข้าใจต่อกัน หนุนให้แผนภาครัฐที่สอดคล้องเดินต่อได้
สำหรับการทำงานของ คสป. ตามสโลแกนลดความเหลื่อมล้า สร้างความเป็นธรรม นับว่า หยิบจับประเด็นได้ถูกต้อง อย่างเช่น เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ แต่เอาเข้าจริง ผลเกิดขึ้นได้ยาก เพราะแต่ละเรื่องไปกระทบกับอำนาจ ซึ่งคงไม่มีใครอยากลดอำนาจตนเอง ฉะนั้น เพื่อไม่เป็นการบีบบังคับผู้มีอำนาจมากเกินไป คงต้องสร้างความเข้าใจระหว่างกัน โดยชี้ให้เห็นว่า แม้อำนาจจะลดลง แต่ความเหน็ดเหนื่อยและความรับผิดชอบก็จะถูกแชร์มากขึ้น รวมทั้ง เพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า สังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน เรียกร้อง รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
สุดท้ายการทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่นั้น ผมเชื่อว่าน่าจะไปได้ เพราะหากดูจากนโยบายใหญ่ๆของรัฐบาลก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเกษตรหลายเรื่อง”
สน รูปสูง
“การจัดเวทีสมัชชาฯ ไม่ได้หวังพึ่งอะไรมากมาย แต่อย่างน้อยก็ได้เป็นการ “กระแทก” เข้าไปสู่สังคม”
“ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จของการปฏิรูปคืองานวิชาการ การรวบรวมประเด็นต่างๆ มาทำเป็นเอกสาร และข้อเสนอ เพื่อเป็นเครื่องมือในการให้การศึกษาและขยายความคิดต่อไป แต่สิ่งสำคัญอย่างการขับเคลื่อนพลังจากข้างล่างเพื่อจะกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ยังทำไม่ได้ การเคลื่อนไหวจากข้างล่างมันยังไม่เกิด การปฏิรูปจากคนข้างล่างยังไม่เกิด มันจึงนำไปสู่ความล้มเหลว ฉะนั้น หากมีการขับเคลื่อนจากข้างล่าง อุดช่องโหว่ พยายามเคลื่อนความคิดของคนให้สูงขึ้นจากข้างล่าง เชื่อว่า ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลสักกี่ชุดการทำงานยังคงต้องดำเนินต่อไป
ทุกรัฐบาลก็เหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ไม่เคยยืนอยู่ข้างประชาชนอย่างแท้จริง ไม่เคยมีนโยบายของพรรคใดที่มุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การปฏิรูปที่ดิน การแก้ไขปัญหาหนี้สิน รวมถึงการจัดการโครงสร้างน้ำ มีแต่เรื่องของประชานิยมที่แจกเงินกันทั้งนั้น
ดังนั้นในช่วงเดือนธันวาคมปี 2554 นี้จะจะเกิดเวที “สมัชชาประชาชนสู่จังหวัดจัดการตนเอง” ขึ้น เพื่อนำเสนอ 10 ประเด็นใหญ่ ต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ซึ่งในส่วนนโยบายของพรรคที่มีอยู่แล้ว คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป จะไม่แตะต้อง ให้มีการดำเนินการต่อไป แต่จะมีการเสนอสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีการเสนอไว้
สำหรับการจัดเวทีสมัชชาฯ ไม่ได้หวังพึ่งอะไรมากมาย เพราะบางสิ่งที่เสนอไปอาจจะได้บ้าง และบางสิ่งที่ก็อาจจะไม่ได้เลย แต่อย่างน้อยก็ได้เป็นการ “กระแทก” เข้าไปสู่สังคม เป็นการเปิดเวทีให้พี่น้องได้เรียนรู้กัน
สิ่งที่ทำมาตลอดและจะดำเนินการต่อไปในส่วนของการ “ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” คือ การขับเคลื่อนประชาชนให้มีการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ยุบอำนาจส่วนกลางลง แล้วถ่ายไปยังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบท.) โดยต้องมีส่วนของสภาประชาชนอยู่ด้วย เพื่อคอยควบคุม ตรวจสอบแผนงาน โครงการของ อปท. ให้มีภาวะถ่วงดุลจากประชาชนด้วยในการจัดโครงสร้างใหม่ นอกจากนี้ยังชี้ให้ชาวบ้านได้เห็นถึงสาเหตุของวิกฤตทางการเมืองที่เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจ
ดังนั้นทางออกของประเทศไทยคือ การกระจายอำนาจมาให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง โดยหลังจากนี้ไปมีการตั้งเป้าไว้ว่า ปี พ.ศ. 2555 จะคลอดกฎหมาย “พระราชบัญญัติจังหวัดจัดการตนเอง” เมื่อมีความพร้อมในทุกด้านแล้ว ก็จะร่างกฎหมาย แล้วล่ารายชื่อชาวบ้านทุกตำบลให้ครบ 10,000 คน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หลังจากนั้นก็นำเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ
“ถ้าจะเอากฎหมายเดี๋ยวนี้เลยก็ได้ แต่ประชาชนไม่เข้าใจทำไปก็เสียเปล่า มันต้องให้ทุกภาคส่วนได้รู้สึกถึงอำนาจที่กลับคืน และมีเครือข่าย มีสภาที่เข้มแข็ง จึงจะเป็นหลักประกันว่าการกระจายอำนาจถึงมือประชาชน”