ทางเลือกระบบประกันสังคม ประเด็นความเหลื่อมล้ำ 'เสือ' หรือ 'จระเข้'
หากจะกล่าวถึงระบบประกันสังคมของผู้ใช้แรงงาน ถือได้ว่า เป็นระบบที่มีพัฒนาการมาอย่างยาวนานร่วม 100 ปี เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกที่ประเทศเยอรมณี ด้วย “หลักการ” เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขระหว่างสมาชิกผู้ประกันตนด้วยกันเอง บริหารจัดการกันเอง โดยไม่ต้องรอรับความช่วยเหลือจากแหล่งอื่น
สำหรับประเทศไทยได้ตัดสินใจใช้ระบบประกันสังคมมาเกือบ 20 ปีแล้ว โดยในช่วงเวลานั้นยังไม่มีระบบประกันสุขภาพแบบอื่นๆ เลย จวบจนถึงวันนี้ จะว่าไปแล้วก็มีพัฒนาการเป็นไปตามลำดับขั้นตอน แต่กระนั้น ประเด็น “ความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสังคมกับระบบอื่นๆ” ก็ถูกจุดขึ้นมา เพื่อให้ได้ตั้งข้อสังเกตกัน จนกลายเป็นประเด็นวิวาทะที่มีทั้งเสียงสนับสนุนและเห็นคัดค้าน
“ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” หยิบข้อมูลอีกด้าน ในอีกมุมมองกับบริการประกันสุขภาพของไทย เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างกัน....
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน
“ประกันสังคมคือการไม่ปล่อยให้สวัสดิการสิทธิประโยชน์ เป็นไปในลักษณะหยิบยื่นให้ตามยถากรรม”
“การประกันสังคม คือ การร่วมกันรับผิดชอบ ร่วมทุกข์ ร่วมสุข โดยหลักการรัฐบาลไม่อาจเก็บภาษีได้จากประชาชนทุกคน จึงต้องมี 'คนกลุ่มหนึ่ง' ที่เข้ามาร่วมรับผิดชอบสังคม ซึ่งจะต้องมองในภาพรวมทั้งหมด
ระบบประกันสังคม คือ การไม่ปล่อยให้สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ เป็นไปในลักษณะที่แล้วแต่จะมีผู้ใด หรือแหล่งใดมาหยิบยื่นให้ตามยถากรรม สิ่งใดยังขาดตกบกพร่องก็มีการบริหารจัดการพิจารณาดูแลกันเพื่อช่วยเหลือ เกื้อกูลกันไป จึงนับว่า เป็นระบบที่ทุกชาติสมาชิกที่ใช้ระบบประกันสังคมยอมรับว่า มีความสะดวกและมีความยั่งยืน ซึ่งประเด็นความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสังคมกับระบบอื่นๆ ไม่มีสิ่งใดแตกต่างกัน เพราะเป็นระบบของรัฐขึ้นอยู่กับความสามารถในการอำนวยความสะดวกและการดูแลประชาชนให้ได้มากที่สุด ยืนยัน สำนักงานประกันสังคมไม่ได้แข่ง กับใคร และไม่ปิดกั้น พร้อมจะให้ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกใช้บริการทุกระบบ”
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์รพ.ศูนย์/ทั่วไป
“มองให้ลึกการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายจากผู้ประกันตน มีบริการที่โดดเด่นอยู่หลายประการที่ระบบอื่นไม่มี”
“หากมองให้ลึกลงไปการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายจากสมาชิกผู้ประกันตนมีการบริการที่โดดเด่นอยู่หลายประการที่ระบบอื่นไม่มี แม้กระทั่งระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ เช่น ผู้ประกันตนได้รับสิทธิพิเศษเป็นคนไข้ในที่มีห้องพิเศษ การได้รับการตรวจจากคลินิกนอกเวลา โดยแพทย์เฉพาะทางทุกสาขา ซึ่งผู้ป่วยระบบอื่น แม้แต่ข้าราชการก็มาร่วมใช้โดยถือเป็นผลพลอยได้ แต่ต้องเสียเงินหัวละ 300 บาท ในขณะที่ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่าย
หรืออย่างเช่น การบริการตรวจการได้ยิน การมองเห็นทุกๆ ปี โครงการตรวจคัดกรองความเสี่ยง จากโรคเบาหวาน การตรวจเยี่ยมจากเจ้าหน้าที่ประกันสังคมในแต่ละโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็คการให้บริการของโรงพยาบาลที่เข้าโครงการ เป็นต้น”
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
“แม้จะมีมาตรฐานทางการรักษาพยาบาล แต่การใช้สิทธิ์ เป็นคนละเรื่อง
มีความแตกต่างได้ ระหว่างผู้เลือกจ่ายเงินสมทบกับผู้เลือกรักษาฟรี”
“แต่ละระบบควรให้มีการรวบรวมข้อดี-ข้อเสียเหล่านั้นมาร่วมกันพิจารณาก่อนตัดสินใจ เนื่องจากผู้ประกันตนเป็นเจ้าของกองทุนประกันสังคม จึงมีศักดิ์ศรีในการเลือกบริหารจัดการกองทุนกันเองได้ และมีสิทธิ์มีเสียงชี้ขาดในการจัดการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีผู้ชี้แนะให้ไขว้เขว บางกองทุนที่ดูแลการรักษาพยาบาล มีทั้งผู้ยากจนจริง และ “ผู้อยากจน” เข้ามาร่วมใช้เงินกองทุนอย่างไม่มีศักดิ์ศรี ดังนั้นแม้จะมีมาตรฐานทางการรักษาพยาบาล แต่การใช้สิทธิ์ในการรักษาเป็นคนละเรื่องคนละประเด็น ตรงนี้มีความแตกต่างได้ ระหว่างผู้เลือกจ่ายเงินสมทบกับผู้เลือกรักษาฟรี
ยกตัวอย่างเช่น ในด้านบริการทางการแพทย์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับจากสถานพยาบาลคู่สัญญา ในเรื่องของการได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคและการบำบัดรักษาทางการแพทย์จนสิ้นสุดการรักษา บริการการกินอยู่ และการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลสำหรับคนไข้ได้รับยาและเวชภัณฑ์ที่มีมาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้รับการจัดส่งต่อเพื่อการรักษาระหว่างสถานพยาบาล ได้รับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยมีการให้สุขศึกษาและภูมิคุ้มกันโรคตามโครงการแห่งชาติ สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์อื่นที่ผู้ประกันตนสามารถขอรับสิทธิจากสำนักงานประกันสังคม
เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูก เปลี่ยนอวัยวะกระจกตา การบำบัดทดแทนไต ยาต้านไวรัสเอดส์ ทันตกรรม และยังมีแนวทางพัฒนาระบบของประกันสังคมเอง โดยสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลต้นแบบเพื่อเน้นคุณภาพบริการและรวดเร็ว สนับสนุนการจัดระบบเครือข่ายเพื่อเน้นความสะดวกในการเข้ารับบริการ สำรวจความคิดเห็นโดยทำโพลล์สำรวจ และยังให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมประชาพิจารณ์ เปิดโอกาสในการเลือกระบบอย่าง “สมัครใจ” โดยพิจารณาตัดสินใจดูเองจากความพึงพอใจเป็นหลักเกณฑ์พิจารณา”
นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบสมองและประสาท รพ.ราชวิถี
“ระบบรักษาฟรี เมื่อเงินสนับสนุนหมด วันนั้นทุกคนก็จะรู้ว่า การตัดสินใจของตนเองผิดพลาดหรือไม่”
“ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกไม่มีระบบการรักษาฟรีแบบประเทศไทย มีแต่ให้การดูแลรักษาสิทธิสวัสดิการของประชาชนที่ควรจะได้รับจากรัฐอย่างเสมอภาคในทุกระดับชั้นของคนในสังคม
ข่าวที่ว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ในขณะที่คนส่วนใหญ่จำนวนหลายสิบล้านรับบริการรักษาพยาบาลฟรี เรื่องนี้เห็นว่า ระดับความเสมอภาคไม่ควรต้องดึงทุกคนเข้ามารับความต่ำต้อยจากการบริการอย่างไร้คุณภาพโดยเท่าเทียมกันแต่อย่างใด ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือการเข้าสู่ระบบคอมมิวนิสต์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ภาครัฐนำส่วนต่างทางการผลิตของแต่ละบุคคลรวมมาไว้ส่วนกลางแล้วนำมาเฉลี่ยให้เท่าๆ กัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นธรรม
ระบบประกันสังคม ให้ทุกคนเสมอภาคในการจ่ายเงินสมทบไม่ใช่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาจ่ายเพียงฝ่ายเดียว การรักษาฟรีที่มีผู้ไปใช้บริการจำนวนมหาศาลบางครั้งก็ไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุนได้ทั่วถึง ท้ายที่สุดผู้ป่วยก็ต้องไปวิ่งเต้นกู้ยืมเงินมาจ่ายให้แก่โรงพยาบาลอยู่ดี ผู้ประกันตนจึงต้องพิจารณาไตร่ตรองข้อมูลให้รอบคอบว่า ระบบรักษาฟรีนั้น เมื่อเงินสนับสนุนหมด วันนั้นทุกคนก็จะรู้ว่าการตัดสินใจของตนเองผิดพลาดหรือไม่”
นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภา
“ขอให้ผู้ประกันตนตั้งมั่นในการเป็นเสรีชนที่ดูแลตัวเองได้
จงมองว่า ความเสมอเหมือนในแบบของขอทานที่ต้องรอการหยิบยื่นจากผู้อื่นนั้น น่าเศร้าที่สุดในโลก”
“ระบบการจัดการให้บริการรักษาพยาบาลรวมเป็นระบบเดียวทั่วประเทศ ไม่มีการแข่งขันนั้น ปัจจุบันในระดับสากลเขาเลิกกันไปแล้ว ระบบประกันสังคมเป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว เพราะหลักการของประกันสังคมเป็นโครงการบริหารทางสังคมในระยะยาว (ยั่งยืน) อีกระบบหนึ่งที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดขึ้น ด้วยการให้ประชาชน “ผู้มีรายได้” แต่ละคนได้มีส่วนช่วยตนเองหรือครอบครัว โดนร่วมกันเสี่ยงภัย ไม่ได้หมายความว่า ผู้ประกันตนทุกคนต้องพบกับภัยนั้นๆ หรือช่วยเหลือบำบัดทุกข์ยากเดือดร้อน ซึ่งกันและกันระหว่างผู้มีรายได้ในสังคม ด้วยการออกเงินสมทบเข้ากองทุน
เห็นด้วย ให้คัดแยกผู้มีรายได้ ผู้ไม่มีรายได้ออกจากกัน ผู้มีรายได้ที่ไม่ใช่ผู้ประกันตน อาจต้องมีการจัดตั้งกองทุนอื่นเป็นต่างหาก ส่วนผู้ไม่มีรายได้ เมื่อไม่มีทางเลือก เราในฐานะผู้เสียภาษีก็ยินดีให้พวกเขาได้รับการรักษาฟรี แต่ไม่ใช่เอาเงินกองทุนประกันสังคมไปรวมกองไว้ด้วยกันกับทุกระบบ แล้วเฉลี่ยบริการสวัสดิการ แบบนั้นมันไมใช่ เพราะเป็นการนำกฎหมายมาตีขลุม
จริงๆ แล้วกฎหมายไม่ได้ให้คนทุกกลุ่มมาอยู่มาตรฐานเดียวกัน มาตรฐานการรักษาพยาบาลต้องมี คือรักษาอย่างมีคุณภาพ รักษาแล้วมุ่งหวังผลให้หาย นั่นคือมาตรฐานการรักษา ส่วนจะได้รับบริการเสมอกันหรือไม่ เช่น นอนห้องแอร์ หรือนอนห้องพัดลม ตรงนี้มันต่างกันอยู่แล้ว เป็นต้น
ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ผู้ประกันตนมีสำนักงานประกันสังคมบริหารจัดการให้ โดยมีค่าใช้จ่าย เขาก็ย่อมต้องได้รับบริการในอีกระดับหนึ่ง เพราะสำนักงานประกันสังคมมีการเหมาจ่ายให้แก่โรงพยาบาลในเครือข่ายตามที่เกิดค่าใช้จ่ายจริง ไม่ใช่การเอาจำนวนรวมของผู้ป่วยในแต่ละแห่งไปหารรวมกันทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนมหาศาล เพราะเป็นการให้ฟรี แล้วกองทุนมาจ่ายแต่จ่ายแบบถัวเฉลี่ยไม่ได้เต็มตามจริง อย่างนี้โรงพยาบาลก็ขาดรายได้ที่จะนำมาปรับปรุงพัฒนาการให้บริการแน่นอน ขอให้ผู้ประกันตนตั้งมั่นในการเป็นเสรีชนที่ดูแลตัวเองได้ และจงมองว่า ความเสมอเหมือนในแบบของขอทานที่ต้องรอการหยิบยื่นจากผู้อื่นนั้น น่าเศร้าที่สุดในโลก”