“นโยบายแรงงาน” ลูกกวาดรสใหม่ นักการเมืองใช้หาเสียงสู้ศึกเลือกตั้ง
ภายหลังที่พรรคการเมืองทยอยประกาศนโยบายหาเสียงออกมา เราจะเริ่มเห็นได้ชัดว่า มีการขับเคี่ยวนโยบายของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ที่หยิบจิ๊กซอว์ชิ้นเดียวกัน โดยเฉพาะ "นโยบายด้านแรงงาน" ขึ้นมาประกาศสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้
ทั้ง 2 พรรคเน้นนโยบายประชานิยม เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเอาใจแรงงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ออกนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 25 ในเวลา 2 ปี พร้อมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขณะที่ พรรคเพื่อไทย แถลงนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง จาก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็น 23 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเอาส่วนต่างไปเพิ่มเป็นค่าแรงขั้นต่ำทีเดียว 300 บาท และค่าจ้างปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาท
“ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” ขอต้อนรับวันแรงงาน 1 พฤษภาคมที่จะมาถึงนี้ ด้วยการรวบรวมมุมมองจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน กับความคาดหวัง หลังได้ยินได้ฟังนโยบายพรรคการเมืองที่แถลงออกมาต่อสาธารณชนกันบ้างแล้ว
“รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” กรรมการปฏิรูป และกรรมการสมัชชาปฏิรูป
หนึ่งในคณะกรรมการเครือข่ายผู้ใช้แรงงานเพื่อการปฏิรูป
“นโยบายหาเสียงของ 2 พรรค ไม่ใช่นโยบายแรงงาน เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งเท่านั้น การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการโปรยยาหอมแลกซื้อเสียง”
แม้ข้อเสนอของทั้ง 2 พรรคจะเริ่มให้ความสำคัญกับแรงงาน แต่ต้องถามว่า นายจ้างเห็นด้วยหรือไม่ และที่สำคัญพรรคการเมืองเหล่านี้เป็นพรรคนายจ้างหรือเปล่า ทั้งนี้ ยังมีนโยบายแรงงานที่มีความจำเป็นมากกว่าเรื่องค่าจ้าง แต่ก็ไม่ได้ถูกพูดถึงและให้ความสำคัญ เช่น ให้แรงงานมีสิทธิ์ มีเสียงในตัวเอง พึ่งตัวเองได้และมีฝีมือมากขึ้น
“ในทัศนะของผมพรรคการเมืองไม่มีนโยบายแรงงานที่แน่นอน แต่ละพรรคมองแต่เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ แม้นโยบายจะพยายามพูดถึงเรื่องค่าจ้างแรงงาน แต่ก็ไม่ได้มองภาพรวมของประเทศชาติ คิดแต่การลงทุน ทั้งที่นายทุนกับกรรมกรก็มีความสำคัญเท่ากัน แต่แทบมองไม่เห็นว่า ตรงไหนที่บอกจะทำเพื่อชาวไร่ ชาวนา อย่างเรื่องประกันราคาข้าว ก็ขึ้นราคาต้นทุนมากกว่าราคาประกัน ไม่มีใครกล้าพูด กล้าแตะนายทุน เพราะนายทุนคือพวกที่อยู่ในพรรค ผมจึงไม่เคยคาดหวังนโยบายเอาลูกกวาดมาหลอกแจกเด็กของทุกพรรคการเมือง”
สำหรับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ก็มีผลทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% แต่ดันขึ้นราคาสินค้าเป็น 10% นายทุนก็ได้ประโยชน์มากกว่าแรงงาน และรัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์การเมือง มองแล้วนโยบายของทั้ง 2 พรรคไม่ได้แตะนโยบายแรงงานเลย เป็นแค่ผิวเผิน มุ่งหาเสียง ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ทั้งนี้ แรงงานก็จะได้รับประโยชน์ไม่คุ้มกับที่เสียไป เพราะมีอำนาจเหนือตลาดเข้ามาควบคุมราคาสินค้า
หลายคนอาจมองว่าพรรคการเมืองเอานโยบายไปทุ่มกับรากหญ้า แต่ต้องถามว่าทุ่มจริงหรือเปล่า สมมติว่าทุ่มไป 1 บาท แต่กว่า 80 สตางค์อยู่ในมือที่นายจ้างแล้ว ลูกจ้างได้แค่ 20 สตางค์ และทุกโครงการที่รัฐบาลทำคนที่ได้ประโยชน์คือนายทุน เกือบจะไม่มีโครงการไหนที่ทำแล้วนายทุนไม่ได้ประโยชน์ ทุกวันนี้มันเป็นทุนสามานย์หมดแล้ว นักการเมืองก็สามานย์หมดแล้ว เป็นระบบโจรพายเรือให้อลัชชีนั่ง
“บ้านเมืองเราเปรียบเสมือนโจรพายเรือให้อลัชชีบิณฑบาต พรรคการเมืองทุกพรรคก็โฆษณาว่าทำเพื่อประชาชน แต่ประชาชนไม่เคยรวยขึ้น มีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่รวย ดังนั้น นโยบายทุกพรรคจึงเป็นเรื่องที่เอาลูกกวาดมาล่อเด็ก แทนที่จะแนะนำเด็กให้กินปลาทู กินข้าวปลอดสารพิษเพื่อให้สุขภาพ”
นโยบายประกันสังคมที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่จูงใจพอที่จะให้แรงงานนอกระบบเข้ามา ตัวนโยบายเหมือนจะเป็นของดี แต่ชาวบ้านกลับรู้สึกว่า การสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่คุ้มกับที่ต้องจ่าย ไป ฉะนั้น ไม่รู้จะมีคนเข้าสู่ระบบนี้ถึงแสนคนหรือไม่ สิ่งที่ต้องเร่งทำ คือ ต้องทำให้ทุกคนมีหลักประกันในอาชีพ และในแต่ละชีพต้องมีหลักประกันทางรายได้ แรงงานถึงจะเข้าสู่หลักประกันทางสังคม
“รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์”
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“นโยบาย เหล่านี้มุ่งหาเสียงอยู่แล้ว แต่ต้องนึกเลยไปว่าการหาเสียงแบบนี้ผิดกฎหมายหรือเปล่า เพราะเป็นการสัญญาว่าจะให้ แต่หากพรรคทำให้ได้จริง จะยกระดับความเป็นอยู่ของลูกจ้าง”
การขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำ ปกติแล้วเป็นการกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคี ได้แก่ ตัวแทนลูกจ้าง ตัวแทนนายจ้างและผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลาง การที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่าใดนั้น ต้องมาจากมติของ 3 ฝ่ายร่วมกัน ฉะนั้น รัฐบาลจะสั่งผ่านใครไม่ได้ เพราะนายจ้างคงไม่ยอมแน่นอน จึงนึกไม่ออกว่าการสั่งการได้อย่างไร นอกเหนือจากว่า จะเป็นช่องทางที่ไม่ถูกต้องตามทิศทางที่ควรเป็น และหากจะให้เป็นไปได้ต้องทำให้นายจ้างยอมรับ อาจมีการต่อรองกัน เช่น การยกเว้นภาษี
“นโยบายต่างๆ เหล่านี้มุ่งหาเสียงอยู่แล้ว แต่ต้องนึกเลยไปว่าการหาเสียงแบบนี้ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะเป็นการสัญญาว่าจะให้ แต่ผมคิดว่า ไม่แปลกหากพรรคการเมืองสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ เพราะจะเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของลูกจ้างให้ดีขึ้น และถือเป็นการปฏิวัติการบริหารค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าทำไม่ได้ก็เป็นการหาเสียงธรรมดาที่ กกต. ต้องพิจารณา”
ผมคิดว่าต้องมีการขยายความว่าจะใช้วิธีไหนทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มได้โดย ที่ไม่ไปใช้วิธีล้มกระดานยกเลิกคณะกรรมการค่าจ้าง เกณฑ์ในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อว่าเป็นเท่าไหร่ ฉะนั้น ถ้าขึ้นค่าจ้างเท่ากับอัตราเงินเฟ้อก็เท่ากับให้ลูกจ้างอยู่เท่าเดิม ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้น
“ลูกจ้างได้รับการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมมาตลอด ฉะนั้น ถ้าเป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดช่องว่างทางรายได้ จะต้องมีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำแบบอัตราก้าวหน้า เพื่อให้รายได้ของคนงานไม่ห่างกับคนที่ร่ำรวยทั้งหลายมากเกินไป ทั้งนี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้ลูกจ้าง เป็นส่วนน้อยของส่วนน้อย ที่ไม่ได้ทำให้ราคาของขึ้นได้ แต่ขณะนี้ที่มีการแอบอ้างว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มและฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า รัฐบาลจะต้องไปดูแลไม่ให้มีการฉวยโอกาสอย่างนี้”
ผมมองว่า นโยบายกำหนดเงินขั้นต่ำระดับปริญญาตรี 15,000 บาทนั้น ถ้าเป็นข้าราชการกันทั้งประเทศก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีภาคเอกชนด้วย แล้วค่าจ้างแพงก็มีสิทธิ์จะไม่จ้าง ในที่สุดแล้วก็จะมีการแข่งกันระหว่างคนที่ไม่มีงานทำ ที่จะไปยอมรับอัตราค่าจ้างที่พออยู่ได้ แม้จะต่ำกว่าราคาค่าจ้างที่รัฐบาลกำหนดก็ตาม
สำหรับเรื่องประกันสังคม สวัสดิการ รายได้และความมั่นคงของชีวิต วันนี้ต้องคิดไปให้ไกลกว่าที่เคยคิด เพราะขณะนี้ ระบบทุนนิยมขยายตัวกว้างออกไปนอกโรงงาน เช่น หาบเร่ แผงลอย มอเตอร์ไซด์ แท็กซี่ ก็เป็นผู้ใช้แรงงานโดยไม่มีนายจ้าง ฉะนั้น สังคมต้องออกแบบการดูแลคนเหล่านี้ จะเอารูปแบบของระบบที่มีนายจ้างในโรงงานมาใช้ไม่ได้ ปัจจุบันมีแรงงานที่อยู่นอกระบบประมาณ 24 ล้านคน ซึ่งระบบประกันสังคมที่ผ่านมาเข้ามาอยู่แล้วเสียเปรียบ แรงงานส่วนมากจึงไม่เข้ามาอยู่ในระบบ ฉะนั้น ต้องออกแบบระบบให้เป็นธรรมกับแรงงานด้วย ให้ไม่รู้สึกด้อยกว่าคนที่อยู่ในระบบ”
“ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
“กลไกแก้ปัญหาค่าจ้างระยะยาว ต้องกำหนดให้สถานประกอบการมีโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน จูงใจและเข้ารับการทดสอบเพิ่มค่าจ้างได้ตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน”
ทางออกของปัญหาเรียกร้องปรับค่าจ้างแรงงานที่เกิดขึ้นเสมอ โครงสร้างค่าจ้างภาพรวมยังจำเป็นต้องปรับให้กับแรงงานระดับฐานล่าง อีกทั้งควรใช้การปรับเป็นเปอร์เซ็นต์และกำหนดระยะเวลาในการปรับที่ชัดเจน ช่วยลดผลกระทบโครงสร้างค่าจ้างและศักยภาพการจ่ายของนายจ้าง เมื่อมีการเตรียมตัวล่วงหน้า โดยเฉพาะในนายจ้างในธุรกิจ SME ซึ่งมีสัดส่วนรองรับแรงงานจำนวนมาก แต่มีศักยภาพในการจ่ายได้น้อย
เพื่อไม่ให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปกระทบกับโครงสร้างจ้างในส่วนของแรงงาน ที่ทำงานอยู่เดิม ควรมีการแก้ปัญหาในระยะยาว อาทิ การเพิ่มกลไกให้นายจ้างที่มีแรงงานจำนวนพอสมควร ต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง รวมทั้งใช้มาตรฐานวิชาชีพกำกับ ให้ลูกจ้างสามารถทดสอบเพิ่มระดับมาตรฐานฝีมือ ว่ามีความเชี่ยวชาญอยู่ในระดับใด (แต่ละระดับมีอัตราค่าจ้างกำกับไว้) เช่น ระดับ 1 2 3 ก็จะได้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย คือ นายจ้างได้แรงงานคุณภาพและลูกจ้างได้เพิ่มศักยภาพตนเอง
ผมคิดว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่การปรับที่สะท้อนความเป็นจริง การปรับฐานค่าจ้างแรงงานควร ปรับเป็นเปอร์เซ็นต์จะดีกว่าการปรับเป็นตัวเงินเท่ากันหมด เพราะการปรับเป็นเปอร์เซ็นต์จะทำให้แรงงานทั้งประเทศได้รับการปรับเพิ่มค่า จ้างเท่ากันแต่จำนวนเงินที่ได้รับมากน้อยต่างกันตามฐานรายจ่ายและค่าจ้าง ขั้นต่ำที่ได้รับแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกันไปตามมาตรฐานค่าครองชีพของแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์จังหวัด เช่น กรุงเทพฯกับภาคอีสาน
“เพื่อไม่ให้ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นไปจนชนเพดานของโครงสร้างค่าจ้าง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อแรงงานที่ทำงานอยู่เดิม ควรมีการกำหนดกฎหรือระเบียบให้สถานประกอบการที่มีแรงงานจำนวนหนึ่ง (อาจเป็น 200 คน) ต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง เพื่อสร้างความชัดเจน สร้างแรงจูงใจ ทำให้แรงงานมีเป้าหมายในการทำงาน สามารถวางแผนอนาคตของตนเองได้ ว่าสามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้แค่ไหน ตำแหน่งอะไร รายได้เท่าไหร่ ซึ่งสถานประกอบการ SME ยังไม่มีเรื่องเหล่านี้”
การแก้ปัญหาค่าจ้างแรงงานในระยะยาว นอกจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ยังต้องคงไว้เพราะเป็นฐานของแรงงาน ใหม่ที่อยู่ในฐานล่างของโครงสร้างค่าจ้าง แต่สำหรับแรงงานเก่าก็ควรต้องได้รับการคุ้มครองและสามารถมีค่าจ้างที่เพิ่ม ขึ้นตามความรู้ ทักษะ ความสามารถ ดังนั้นการนำกลไกที่กำหนดให้สถานประกอบการควรมีโครงสร้างค่าจ้าง และการนำกลไกทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติมาใช้ จะช่วยทำให้ลูกจ้างและนายจ้างพึงพอใจกันทั้งสองฝ่าย