“วัดใจ” 2 ขั้วการเมือง จริงจังแค่ไหน กับนโยบายกระจายอำนาจ
เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า สังคมไทยมีความสลับซับซ้อน การบริหารแบบรวมศูนย์ที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย การที่คณะกรรมการปฏิรูป ออกข้อเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของประเทศนั้น ก็เพราะเชื่อว่า “การกระจายอำนาจการบริหาร” สามารถเปิดพื้นที่การต่อรองแก่คนทุกกลุ่ม ทำให้การทุจริตฉ้อฉลที่ส่วนกลางลดขนาดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมเข้มแข็ง ประเทศชาติก็เข้มแข็ง ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ก็สามารถอยู่ร่วมกับกระแสโลกาภิวัตน์ได้โดยไม่เสียเปรียบ
สอดคล้องต้องกันกับเครือข่ายองค์กรท้องถิ่น ที่ร่วมกันยื่นข้อเสนอปฏิรูประบบการปกครอง 10 ข้อ ต่อสังคม โดยหวังจะผลักดันให้พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องมีนโยบายเพื่อการนี้
“ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” พาไปฟังทัศนะ ข้อเสนอ ความเห็น และคำมั่นสัญญาของตัวแทนขั้วการเมือง 2 พรรคใหญ่ กับข้อเสนอเพื่อปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ กระจายอำนาจ....
“วิทยา บุรณศิริ” ผู้แทนพรรคเพื่อไทย
ผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
“พรรคเขียนนโยบายส่วนนี้ไว้ชัด จะทำให้เป็นไปตามที่คาดหวัง ทุกภารกิจต้องเรียบร้อยภายใน 4 ปี ถ้ามีเลือกตั้ง”
“ประเด็นบทบาทหน้าที่ของท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ผมมองว่าสิ่งที่ท้องถิ่นยังขาดอยู่ คือ การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและนโยบายทางสังคมในรูปแบบที่สอดแทรกการให้บทบาทกับท้องถิ่น เราพบข้อเท็จจริงว่ายังมีความแตกต่างทางด้านเม็ดเงินและงบประมาณในสัดส่วนที่ท้องถิ่นพึงจะมี
รูปแบบข้อเสนอที่คิดว่าสามารถปฏิบัติได้ทันที โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย แต่ในบางเรื่องก็ขัดกันเอง โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้แก่ อปท. ในระดับที่พอเพียงต่อการดูแลประชาชน โดยเบื้องต้นให้ใช้สัดส่วนงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของรายได้ของรัฐบาลภายใน 5 ปีนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 และให้มีการถ่ายโอนภารกิจให้ อปท. นั้น ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังไม่ได้แก้กฎหมาย ฉะนั้น ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ทำได้ลำบาก
ในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง เมื่อดูรายละเอียดเชิงนโยบายแล้ว ในภาพรวมมีสิ่งที่ต้องฝากให้นำไปพิจารณา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพูดกับนายกฯอภิสิทธิ์ ว่าจะต้องทำภารกิจของท้องถิ่นให้ครบเสียก่อน เพราะในจำนวน 245 ภารกิจของท้องถิ่นมีเม็ดเงินที่พึงจะได้รับอยู่ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ท้องถิ่นตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาพวกท่านไม่ได้ทำ
ผมอยากแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอ ประการแรก คือ ท่านต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน อปท. กว่าพันแห่งทั่วประเทศต้องย้อนดูตัวเองว่า ได้ตรา พ.ร.บ.ในเชิงรายได้อย่างไว้ไรบ้างที่ไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายหลัก เหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้องถิ่นไม่เคยทำ ทั้งที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย
“ผมต้องขอตำหนิว่า สภา อบจ. ตามนายก อบจ. ไปหมด ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ นายกชี้อะไรคุณก็ไปตามนั้น เป็นเรื่องที่ผิด เราพบว่ามีสภา อบจ. และสภาเทศบาลเพียงไม่ถึง 5% เท่านั้นที่ขับเคลื่อนเรื่องกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งนำไปสู่ความโปร่งใส หรือเพื่อดูแลพี่น้องประชาชน”
ในเรื่องการถ่ายโอนภารกิจ หากส่วนท้องถิ่นไม่ติดตาม เรียกร้องหรือไม่นำเสนอก็จบ อย่างน้อยๆ ท่านต้องถามตัวเองก่อนว่าพร้อมหรือยังในข้อเสนอที่จะจัดตั้งสภาองค์กรส่วนท้องถิ่นแห่งชาติ บทบาทใหญ่นี้ท่านจะผลักดันได้ถึงขนาดไหน ตกผลึกหรือได้โครงสร้างที่ผ่านการสำรวจเรียบร้อยหรือยัง
ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายมีการตราขอบอำนาจไว้ครบหรือไม่ ด้านบุคลากรใหญ่เกินไปหรือเปล่า การขยายภารกิจเฉพาะบางที่ไม่ควรใหญ่โตขนาดนั้น เช่น ท้องถิ่นขนาดเล็กแล้วไปทำให้ใหญ่ ในขณะที่ต้องมีรายได้ลดลง ผมอยากให้พวกท่านดูให้รอบคอบยิ่งขึ้น
“พรรคการเมืองผมเป็นผู้บัญญัติเรื่อง พ.ร.บ.แผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ 2542 จึงยืนยันว่าพรรคผมเขียนนโยบายส่วนนี้ไว้ชัด และจะทำให้เป็นไปตามที่คาดหวัง ทุกภารกิจจะต้องเรียบร้อยภายใน 4 ปี ถ้ามีการเลือกตั้ง และมีพรรคการเมืองที่หน้าตาเปลี่ยนแปลง จะต้องทำภารกิจให้มั่นคง รวมทั้งเรื่องเม็ดเงินด้วย ทั้งนี้สำหรับปัญหาการเจริญเติบโตของท้องถิ่นที่มีอุปสรรคปัญหา เช่น บางท้องถิ่นต้องการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว หรือความพร้อมในการจะยกระดับเป็นท้องถิ่นพิเศษ เป็นสิ่งที่พรรคจะสนับสนุน และพร้อมดำเนินการแก้ปัญหา”
อย่างในประเด็นการประกันรายได้แต่ละ อปท. ไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทนั้นก็เป็นส่วนที่ผมเห็นด้วย แต่สิ่งที่ขอฝากไว้ คือ ผมเป็นคนไม่งอมืองอเท้า สมัยที่ผมเป็นนายก อบจ. แม้อำนาจที่มีในขณะนั้นได้แค่รับทราบ ผมก็จะดิ้นรนจนได้คำว่า อนุมัติ และรู้จักการหาเงินโดยใช้กฎหมายของตนเอง นั่นก็คือข้อบังคับ หรือการตราข้อบัญญัติที่เราสามารถทำด้วยตนเองได้
“เราสามารถดึงกิจกรรม ดึงเงินบริจาคได้ ไม่อย่างนั้นก็จะมีแต่รายจ่ายในการทำจัดกิจกรรมอย่างเดียว โดยไม่ได้นำงบประมาณที่มีมาสร้างประโยชน์ให้ประชาชน ให้ท้องถิ่นเลย พวกท่านยอมทุกอย่างกระทั่งให้ผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอขอเงินท่าน กดขี่ท่าน ทั้งๆ ที่ไม่มีงบประมาณอยู่แล้ว เรื่องนี้ผมก็ขอฝากไว้ด้วย ให้ต่อสู้กันมากขึ้น”
ผมยืนยันว่าไม่ว่าผมจะอยู่พรรคใด หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ไม่เคยลืมภูมิหลังของตัวเองที่มาจากท้องถิ่น ผมเคยเป็นประธานสภา อปท. มาก่อน และขอฝากไว้ด้วยว่า เรื่องทั้งหมดที่นำเสนอมานับว่าดี แต่ต้องดูหลังบ้านเราด้วยว่า พร้อมหรือยัง เรื่องที่ร้องเรียนก็เยอะมาก ม็อบก็เยอะไปหมด เหล่านั่นก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของท้องถิ่น
ผมพร้อมที่จะให้ความเข้มแข็ง แต่อย่างที่ผมเรียนไป คือ ยืนยันตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย เบื้องต้นได้นำเรียนกับผู้ใหญ่และกรรมการในพรรคแล้วว่า
ประการแรก ภายใต้ขอบเขต 4 ปีจากนี้ไป ต้องทำภารกิจให้ครบและให้เม็ดเงินให้ครบก่อน
ประการที่สอง ต้องแยกนโยบายเชิงสังคมให้ชัดเจน ว่าหากจะให้ท้องถิ่นทำต้องแยกเงินออกมาด้วย ไม่ใช่ให้รวมกันมา
ประการที่สาม พรรคจะสนับสนุนท้องถิ่นที่มีความเข็มแข็งจนกระทั่งเป็นรูปแบบพิเศษได้ เพื่อสร้างเสริมศักยภาพให้ช่วยผลักรัฐบาลกลาง เช่น ภูเก็ต แม่สอด หรือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่อาจจะเป็นการแก้ปัญหาได้ แต่ว่าจะเป็นรูปแบบพิเศษอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับบริบทในเวลานั้น
สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมสนับสนุนการกระจายอำนาจ”
“ชำนิ ศักดิเศรษฐ์”
ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์
“วันนี้เราไม่เพียง “ปฏิรูป” อปท. แต่ต้องปฏิรูปองค์กรชุมชนท้องถิ่นให้เป็นองค์กรที่บริหารจัดการตนเอง แก้ปัญหาได้เองด้วย”
“สิ่งที่ผมต้องการเตือนก็คือ เวทีนี้เรากำลังพูดกันในเรื่ององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ฉะนั้น เราทุกคนจึงต่างเป็นผลผลิตของการปฏิรูปประเทศขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้ว เพราะว่าหลังจากที่เราได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ผมก็คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เราได้ปฏิรูปองค์กรปกครองท้องถิ่นครั้งใหญ่ นั่นคือ การกระจายอำนาจ ที่มีความชัดเจนเพียงแต่ว่าโครงสร้างขององค์กรปกครองท้องถิ่นในครั้งนั้นถูกตกแต่งให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือ ภายใต้การเลือกตั้ง และภายใต้แต่ละองค์กรนั้นมีบทบาทตามอำนาจหน้าที่ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายเป็นการเฉพาะ
ท่านจะเห็นได้ว่า ช่วงนั้นเราได้เปลี่ยนสภาตำบล จากนิติบุคคลมาเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เราได้ปรับเปลี่ยนให้ การสุขาภิบาลซึ่งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น
“การปฏิรูปรอบนั้น ผมเข้าใจว่าเป็นการปฏิรูป ในเรื่องของโครงสร้างเป็นสำคัญและปรับแต่งให้องค์กรที่มีอยู่ในขณะนั้นเป็นไปตามกฎหมายเสียก่อน ก็หวังว่ารอบสองนี้จะเป็นช่วงของการปฏิรูปปรับแต่งให้องค์กรไปสู่องค์กรที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา”
อันที่จริงคำว่า 35% ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณเป็นตัวเลขที่จงใจเขียน เพราะรู้ดีว่าความท้าทายของการกระจายอำนาจไม่ใช่เรื่องหนักใจของพรรคการเมือง ทุกพรรคอยากโชว์ แต่เมื่อได้อำนาจรัฐก็เปลี่ยนไป กลับหวงแหนการกระจายอำนาจ
วันนี้เราไม่เพียง “ปฏิรูป” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องปฏิรูปองค์กรชุมชนท้องถิ่นให้เป็นองค์กรที่บริหารจัดการตนเอง แก้ปัญหาท้องถิ่นได้เองได้ด้วย ไม่ให้เป็นเพียงประชากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น
“ผมมองว่าปัญหาอยู่ที่การเปลี่ยนแปลง อบต. ไปเป็นเทศบาล ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามแผนการกระจายอำนาจที่คิดไว้แต่ต้น คำว่า ‘เทศบาลนคร’ กับ ‘เทศบาลเมือง’ กลับไม่มีความแตกต่างในเชิงอำนาจเลย ต่างกันเพียงขนาด กับสมาชิกสภาเท่านั้น จริงๆ แล้วต้องมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากเมืองทั่วไป คือ เป็นศูนย์กลางที่ต้องแบกรับภาระ เช่น เป็นเมืองท่องเที่ยวหรือมีโครงสร้างหรือขนาดที่มีผลต่อการปกครอง”
ข้อเสนอของเครือข่ายท้องถิ่น ไม่พบส่วนที่เป็นปัญหา และผมมองว่าแต่ละข้อล้วนมีความจำเป็น ทั้งในเรื่องการทำเทศบาลเมือง และเมืองพิเศษก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ รวมทั้งความคิดที่ตกผลึกของการศึกษาชุมชน ที่ผ่านมารอบแรกเป็นการรองรับการถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคไปสู่ท้องถิ่น ส่วนเรื่องการถ่ายโอนงบประมาณ ก็นับว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐต้องทำ ให้มีการเพิ่มสัดส่วนไปเรื่อยๆ จนบทสุดท้าย 5 ปี นับตั้งแต่งบประมาณ ปี 2555 เชื่อว่าจะได้ครบ 35%
อีกส่วนหนึ่ง คือ องค์กรชุมชนของท้องถิ่นต้องจัดให้มีสภาท้องถิ่น กับผู้บริหารท้องถิ่น เพราะบทบาทของชุมชนไม่ควรอยู่ในฐานะผู้รับบริหาร แต่ต้องร่วมกันบริหารจัดการ เพราะรัฐส่วนกลางยังจำเป็นต้องดูแลประชาชน ทุกคน ทุกระดับ อีกทั้งวิกฤติในอนาคต ในเรื่องสิ่งแวดล้อม อาหาร ก็เป็นปัญหาความมั่นคง ที่ท้องถิ่นได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก และช่วยเหลือตนเองได้น้อยมาก โครงสร้างองค์กรชุมชนจึงต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
สำหรับเรื่ององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ส่วนท้องถิ่นไม่อยากให้มีนั้น ด้วยโครงสร้างทางการเมืองไทยเป็นแบบนี้ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่ละที่ก็มีความแตกต่างกันในด้านวัฒนธรรม จึงยังคงมีความจำเป็นต้องมีอยู่ และต้องกำหนดภารกิจ บทบาทให้เกิดความชัดเจน ในความเป็นจังหวัด อย่าลืมว่ามีความเป็นท้องถิ่นอยู่ด้วย ฉะนั้น ส่วนท้องถิ่นต้องร่วมมือกับชุมชนให้เกิดเป็นเครือข่าย เพื่อรักษาความเป็นท้องถิ่นเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยในความคิดรวบยอดของข้อเสนอทั้งหมดว่า ไม่เป็นปัญหาทางปฏิบัติ สามารถเกิดขึ้นได้และมีความจำเป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้ต้องหาทางตกแต่งในเชิงปฏิบัติที่สมจริงด้วย ยกตัวอย่างเช่น กองทุนหมู่บ้าน นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่เป็นการขายนโยบายตรงจากทำเนียบไปถึงหมู่บ้านมากเกินไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าไปดูแลคนทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ผมจึงไม่เห็นด้วยและคิดว่าไม่สามารถเป็นจริงได้”