1 ศตวรรษการศึกษาไทย ก้าวไกลหรือย่ำอยู่กับที่...?
รากฐานทางการศึกษา เมื่อ 100 ปีก่อน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางไว้ให้กับชาติบ้านเมือง ตามพื้นฐานชีวิต ความเป็นอยู่ ความคิด ความเชื่อของประชาชนในสมัยนั้น วันนี้ เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ ได้เกิดผลงอกงามอย่างไรบ้าง
“ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” จะพาไปเปิดมุมมอง ผ่านทัศนะของนักการศึกษา ที่ฉายภาพให้เราได้เห็นไว้ในงานปาฐกถา ‘เสาหลักของแผ่นดิน’ ชุด ‘หนึ่งศตวรรษสองศึกษิตมหาราชผู้ยิ่งใหญ่’ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆนี้...
ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
"การศึกษาไทยมุ่งแต่เดินตามฝรั่ง บริโภคแต่ความรู้ต่างชาติ กระทั่งระบบการศึกษากลายเป็นบริโภคนิยม"
การศึกษาไทยเมื่อร้อยปีที่แล้วกับปัจจุบันไม่ได้ไปถึงไหนมากนัก...
ผมตั้งข้อสังเกต 3 เรื่องด้วยกันคือ หนึ่ง การจัดตั้งโรงเรียน หลังจากความเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้น ทำให้ความรู้ด้านวิชาการ กระบวนการเรียนรู้ที่ประเทศไทยมีอยู่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อความรู้สมัยใหม่หลั่งไหลเข้ามา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงใช้แนวคิดการจัดตั้งโรงเรียนขึ้น เพื่อต้องการให้คนทั่วไปได้เรียนหนังสือ
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์สมัยอุตสาหกรรม จะพบว่า แนวคิดเรื่องโรงเรียน จะเป็นไปตามรูปแบบที่เรียกว่า Factory model กล่าวคือ โรงเรียนที่สอนหนังสือไปเพื่อสนองประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ ฝรั่งเศส แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือ พระองค์ทรงรับเฉพาะแนวคิดมาปรับให้เข้ากับกระบวนการและรูปแบบของไทย ไม่ว่าจะเนื้อหา จุดมุ่งหมายในการเรียนการสอน กระบวนการสอนของครู รวมทั้งเป้าหมายของโรงเรียน
พระองค์ท่านทรงคิดเรื่องการศึกษา เรื่องโรงเรียนโดยยึดของไทยเป็นหลัก ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงคาดการณ์อนาคตว่า การศึกษาจะเกาะติดอยู่กับความคิดของฝรั่งเท่านั้นไม่ได้ แต่ขณะนี้บ้านเราพยายามปรับโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนนานาชาติ โดยนำหลักสูตรโรงเรียนนานาชาติมาใช้ และไม่ได้คิดอะไรใหม่ที่เป็นของเราเอง สิ่งเหล่านี้จึงต้องคิดให้ดีเสียก่อนว่า การทำโรงเรียนให้สอดคล้องกับฝรั่ง เป็นการเดินเข้าสู่กับดักของตะวันตกหรือไม่ เพราะหากต้องการพัฒนาโรงเรียนให้ก้าวหน้า จะต้องคิดแบบพระองค์ท่านที่ทรงพระราชดำรัสว่า เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของฝรั่งและนำมาคิดต่อให้ไกลกว่านั้น เพราะทำแค่ไล่ตามคงไม่พอ
"ยิ่งเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเร่งสอนภาษาอังกฤษ ก็เป็นการคิดเพียงแค่ให้เดินตามทัน เพราะหากคิดตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 จะต้องคำนึงว่า เมื่อประเทศไทยเป็นหนึ่งในอาเซียน จะพัฒนาโรงเรียนให้ก้าวหน้าอย่างไร จะมีบทบาทอยู่ในฐานะผู้นำหรือผู้ตาม ซึ่งหากไม่ทำอะไร สุดท้ายก็ต้องตกเป็นผู้ตาม ปล่อยให้สิงคโปร์ มาเลเซียผู้นำแทน"
สอง คุณภาพการศึกษา จะเห็นได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมองคุณภาพโรงเรียน ไม่ใช่เพียงแค่สอนให้รู้หนังสือเท่านั้น แต่ต้องรู้จักครอบครัว รู้จักทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวม เอาประโยชน์สาธารณชนเป็นตัวตั้ง รวมถึงทุกวันนี้ที่เราพูดถึงหน้าที่พลเมือง ความรู้คู่คุณธรรม ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านทรงดำริมาอย่างยาวนาน แต่เรากลับไม่เคยสนใจ ในที่สุด สิ่งที่ทำจึงวนเวียน เหมือนย่ำเท้าอยู่กับที่ตลอดเวลา
ขณะที่การจัดการศึกษา การดูแล การควบคุมมาตรฐานโรงเรียน ตามที่พระราชดำริของพระองค์ท่าน จะต้องไม่มองเพียงแค่การเรียนการสอน หรือมองเพียงว่าได้คะแนนสอบเท่าไหร่ แต่ต้องดูในภาพรวมว่า เมื่อเด็กเรียนจบแล้ว จะมีพฤติกรรม มีคุณลักษณ์อย่างไร เพราะการศึกษาที่ดีขึ้นอยู่กับความสำเร็จของผู้เรียนเป็นสำคัญ
แต่ที่ผ่านมา ปฏิรูปการศึกษาในบ้านเรา ไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ไม่ได้ลงไปสู่ผู้เรียนอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่จะลงไปที่อธิบดี หรือคณะกรรมการเท่านั้น ซึ่งหากนับรวมการปฏิรูปครั้งล่าสุด ที่พูดกันว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ภาคภูมิใจมาก แต่ก็ยังไม่เห็นระบบหรือกระบวนการที่ลงไปสู่ผู้เรียนจริงๆ
สาม โอกาสและความเท่าเทียมทางการศึกษา พระองค์ทรงคิดถึงเรื่องการศึกษาของคนส่วนใหญ่ วางแนวจัดตั้งโรงเรียนบนพื้นฐานที่ว่า คนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์อย่างไร
พระองค์จึงทรงวางนโยบายให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง เนื่องจากวัดมีอยู่ทั่วประเทศ อีกทั้งการเรียนในวัด ยังทำให้ได้ความรู้ทางด้านวิชาการควบคู่ไปกับความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรมอีกด้วย
แต่สมัยนี้อาศัยสถานที่ของวัดตั้งโรงเรียน แต่เอาเข้าจริงกลับตัดชื่อ "วัด" ทิ้ง
สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงวิธีคิดในปัจจุบันที่รู้สึกว่าชื่อวัดมันเชย ทั้งที่ในความเป็นจริง การจัดตั้งโรงเรียน โดยใช้วัดเป็นตัวฐานหลักได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมหาศาล สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่มองปัญหาการศึกษา โดยละเลยพระราชดำรัสและวิธีปฏิบัติที่ดีของพระองค์ท่าน มุ่งแต่เดินตามฝรั่ง บริโภคแต่ความรู้ต่างชาติ กระทั่งระบบการศึกษากลายเป็นบริโภคนิยม ดังนั้น จึงถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อให้เป็นการศึกษาไทยเป็นของไทยอย่างแท้จริง
ศ.กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิต สาขาศึกษาศาสตร์ทางวิทยวิธี
และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน สภาการศึกษา
"แม้บ้านเมืองจะเปลี่ยนไป แต่รูปแบบการศึกษาไม่มีอะไรใหม่ แถมความพยายามที่จะปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่องก็มีน้อยมาก"
พระอัจฉริยภาพด้านการศึกษาของรัชกาลที่ 5 ที่เด่นชัดประการหนึ่ง หากเทียบกับการพัฒนาการศึกษาในยุคที่ต้องเริ่มจาก ‘งบประมาณ’ หรือที่เรียกว่า ‘ไม่มีเงินไม่มีงาน’ พบว่า ในสมัยของพระองค์ ทรงสร้างโรงเรียนได้ปีละหลายร้อยแห่งโดยไม่ต้องใช้เงิน ด้วยเพราะใช้วัดเป็นฐานในการขยายการศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ชัดเจนว่า การคิดด้านการศึกษาต้องเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่และความเป็นไปได้
ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงเป็นนักวางแผนการศึกษา ทรงแบ่งการศึกษาออกเป็นในกรุงเทพและหัวเมือง โดยการศึกษาในกรุงเทพ ก็แบ่งออกเป็นการศึกษาสามัญและการศึกษาพิเศษ โดยกำหนดให้มีวิชาเลือกต่างๆ มากมาย แต่ในขณะนี้ วิชาเลือกดังกล่าวถูกเปลี่ยนสภาพเป็นวิชาบังคับเลือกไปเสียแล้ว เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับครูผู้สอนว่า มีความรู้ด้านใด
ส่วนการศึกษาตามหัวเมืองก็มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงธรรมการ เจ้าคณะมณฑลร่วมกันจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของท้องถิ่น แต่เรากลับพึ่งมาตื่น เมื่อประมาณ 5-6 ปีนี้เองว่าให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการศึกษาของตนเอง ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็เริ่มมีความพยายามให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานครฯ และเมืองพัทยา ร่วมสืบสานพระราชดำริเรื่องการจัดการศึกษาด้วยตนเอง
จากการเก็บสถิติในปี พ.ศ.2552 พบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนทั้งสิ้น 428 องค์กร และโรงเรียนจำนวน 1,590 แห่งได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและวิชาชีพให้สอดคล้องกับชีวิตของคนในท้องถิ่นมากขึ้น โดยหลักสูตรดังกล่าวได้ใช้สอนนักเรียนไปแล้วถึง 992,828 คน
ขณะเดียวกันท้องถิ่นก็กำลังความพยายามสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัย 3 -5 ปี ที่มีอยู่ 19,481 แห่งให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในเรื่องการให้ความรู้กับผู้ดูแลเด็ก เพื่อให้มีความสามารถในการดูแลเด็กได้อย่างถูกวิธี ทั้งนี้ เนื่องจากผลการวัดระดับสติปัญญาของเด็กไทย ที่ผ่านมาพบว่า มีระดับลดลงทั้งประเทศ โดยเฉลี่ยมีระดับไอคิวอยู่ที่ 91 ซึ่งสูงกว่าระดับสติปัญญาที่จะสามารถเรียนหนังสือได้ที่ระดับ 90 ไม่มากนัก
ฉะนั้น การหันไปที่เด็กเล็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวรัชกาลที่ 5 ได้ทรงวางรากฐานไว้อย่างดีมาก เพียงแต่ต้องนำเอาบริบทในปัจจุบันมาจับเท่านั้น"
ถึงกระนั้น พระองค์ก็ไม่ได้ทรงกำหนดว่า จะต้องทำอย่างที่พระองค์ทำ อีกทั้งยังทรงทำนายอนาคตการศึกษาว่า จะเร่งรัดให้เร็วเป็นไปไม่ได้ เปรียบได้กับ ช้างจะหันทิศ พร่องสู้เล็กๆ ไม่ได้ ฉะนั้น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะให้กระทรวงศึกษา ซึ่งมีคน 7 ล้านคน บวกกับครูไม่ต่ำกว่า 4 แสน บวกกับจำนวนผู้ปกครองอีกไม่ต่ำกว่า 15 ล้าน เปลี่ยนแปลงคงเป็นไปได้ยาก
แม้สถานการณ์บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปจากรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 อย่างมาก แต่รูปแบบการศึกษาก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนให้มีอะไรใหม่ขึ้นมา ความพยายามที่จะปรับปรุงการศึกษาและแก้ไขข้อบกพร่องมีน้อยมาก เรารับการศึกษาฝรั่งเข้ามา แต่ไม่ได้รับวิธีการให้การศึกษามาด้วย
แต่เมื่อเวลาผ่านไป 100 ปี ไม้กระถางก็ย่อมโตเต็มที่ ไม่สามารถงอกงามได้อีกแล้ว ฉะนั้น จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไร...ที่จะนำไม้กระถางลงไปปลูกในดินที่ดี ก่อนใส่ปุ๋ย รดน้ำพรวนดิน เอาใจใส่ กระทั่งแพร่หลายไปยิ่งกว่าเดิม