ทำอย่างไร...? คนไทยถึงจะรักการอ่าน
5 สิงหาคม 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้...การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็น "วันรักการอ่าน" อีกทั้งกำหนดไว้ด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2552-2561 จะเป็นทศวรรษแห่งการอ่าน หวังให้มีการขับเคลื่อน ส่งเสริมการอ่านให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ผ่านมาเกือบ 2 ปี “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดผลสำรวจเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา พบว่า เกินครึ่ง คนไทยไม่รู้ด้วยซ้ำ ประเทศไทยมีวันรักการอ่าน โดยให้เหตุผลต่างๆ นานา ทั้งไม่ได้สนใจหรือติดตามข่าวสาร,ไม่ทราบว่า วันรักการอ่านเป็นวันใด เดือนใด และไม่เคยได้ยินจากการประชาสัมพันธ์จากสื่อต่างๆ ฯลฯ
และเมื่อถามทำไม? คนไทยจึงไม่ค่อยรักการอ่าน 40.51% 1 จะบอกว่า ด้วยสภาพสังคม/สิ่งแวดล้อมรอบตัวของคนไทยในปัจจุบันมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น เกมส์ อินเตอร์เน็ต การแชท เป็นต้น, 26.12% ไม่ได้รับการปลูกฝังให้มีนิสัยรักการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์ /ขาดต้นแบบ แบบอย่างที่ดีในการอ่าน และ 20.09% คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือเพราะอ่านแล้วรู้สึกเบื่อ ไม่สนุก ง่วงนอน /จะชอบฟังหรือชอบดูมากกว่าอ่าน
ข้างต้นสะท้อนชัดว่า คนไทยไม่มีวัฒนธรรมการอ่าน มีแต่วัฒนธรรมการพูด !! แล้วเราจะช่วยกันสร้าง “วัฒนธรรมการอ่าน” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไร ทำอย่างไร ให้ค่าเฉลี่ยในการอ่านหนังสือ เพิ่มขึ้นจากปีละ 5 เล่ม เป็นปีละ 10 เล่มต่อคน วันนี้ มีผู้ใหญ่หลายคน ทั้งห่วงและแสดงความกังวล รวมตัวเป็นเครือข่ายร่วมกันนั่งคิด
เราจะทำอย่างไร? คนไทยรักการอ่าน และอ่านอย่างไร? จึงจะทำให้ชีวิตมีความสุข...
รัชนี ธงไชย หรือครูแอ๋ว
ครูใหญ่ รร.หมู่บ้านเด็ก จ.กาญจนบุรี
หนึ่งในกรรมการปฏิรูป
“เด็กบางคนอ่านหนังสือจากหน้าคอมฯ ฉะนั้น สื่อหนังสือต้องเปิดกว้าง
ไม่ใช่เป็นหนังสือเป็นรูปเล่มอย่างเดียว”
“ยุค 3จี กำลังเข้ามา เมื่อ 3 จี เข้ามา สื่อจะมาอย่างรวดเร็ว เราจะไม่สามารถสกรีนสื่อให้เด็กได้แล้ว ซึ่งหากมองในแง่ดี เราต้องมีการให้คำแนะนำเด็กไว้ก่อนเนิ่นๆ การอ่าน จึงไม่ใช่แค่เรื่องการอ่านหนังสืออีกแล้ว
ดังนั้น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เตรียมปรับหลักสูตร เขยิบการอ่านออกไปเป็นการอ่านในอินเตอร์เน็ต มากขึ้น เพราะเราพบว่า เด็กบางคนไม่ชอบอ่านหนังสือเลย แต่พอรุ่นพี่พาไปที่คอมพิวเตอร์ ให้เขาพิมพ์เรื่องที่เขาอยากรู้ สิ่งที่เขาอยากรู้มันอยู่หน้าจอมคอมฯ
เมื่อเราพบว่า เด็กบางคนอ่านหนังสือจากหน้าคอมฯ ฉะนั้น สื่อหนังสือของเราต้องเปิดกว้างได้แล้ว คงไม่ใช่เป็นหนังสือเป็นรูปเล่มอย่างเดียว ยิ่งหากเด็กรักการอ่าน รู้จักใช้สื่อ ใช้คอมฯ ให้เป็น ก็จะเสริมเรื่องความรู้ให้เกิดขึ้นอัตโนมัติ
โดยอย่างยิ่งหากรัฐบาลให้การสนับสนุน มีการแปลความรู้ดีๆ จากวิกิพีเดีย ยูทิวป์ แปลให้เป็นภาษาไทย และให้เด็กสามารถเข้าไปหาได้ จะทำให้เด็กสนุกในการเรียน และครูผู้สอนก็ไม่เหนื่อย เพราะขณะนี้ 1. ครูบังคับให้เด็กเรียนในสิ่งที่เด็กไม่อยากรู้ 2. ความรู้ล้าสมัย 3. ความรู้นั้นไปใช้กับชีวิตในอนาคตไม่ได้
เด็กพันธุ์ใหม่วันนี้ คิดไกลกว่าเรา เราตามไม่ทัน ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องนำความรู้ใหม่ๆ มาดักหน้าให้เด็กได้ศึกษา เขาจะรู้ทัน และ รู้ก้าวหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวของผู้ใหญ่ เราอย่ามองอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องร้าย เชื่อว่าหากมีการจัดให้ดี จะมีประโยชน์”
ผศ.ดร.ผดุง พรมมูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายโครงการพิเศษ
มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต
“สังคมไทยหากช่วยกันอ่านและทำให้เกิดความคิด ทางปัญญา
เราจะไม่เห็นสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”
“เด็กไทยเรา จากการประเมินผลของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) วิชาภาษาไทย ได้ 0 หรือแม้กระทั่งประเมินทุกสาระวิชา ไม่ถึงร้อยละ 50 ผมตั้งคำถามไว้ คืออะไร
ผมไม่เคยโทษเด็กเลย ผมโทษ 1.กระบวนการไม่ดีหรือไม่ ทั้งการประเมินและทดสอบ 2. ข้อสอบไม่ดีหรือไม่ จนทำให้เด็กไทยเป็นแสนๆ คนทำคะแนนตกขนาดนั้นเชียวหรือ และสิ่งสำคัญเราไม่ควรไปติดกับดักการประเมิน แต่ต้องกลับมาตั้งคำถามด้วยว่า เพราะอะไร
หลายท่านบอกว่า เด็กไม่ค่อยอ่านหนังสือ ครูรุ่นหลังก็ไม่ค่อยอ่านหนังสือ แล้วคุณอ่านอะไร อ่านอักษรอิเลคทรอนิกส์ใช่หรือไม่ นี่คือคลื่นการเรียนรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลง
ภาษาเด็กไม่ได้มีภาษาหนังสืออย่างเดียว มันมีภาษาเสียง ภาษาภาพ
หากจะปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่าน ต้องเริ่มจากเด็กเล็กๆ เริ่มจากฐานราก ซึ่งการศึกษาประเทศไทย เมื่อมองการจัดการ แล้ว เรามองไปที่ข้างบน ขณะนี้เริ่มตาสว่างแล้ว กลับมามองว่า ถ้าจะพัฒนาคนของประเทศให้มีคุณภาพ ให้กลับมามองที่ปฐมวัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าติดกับดักเงื่อนไขผู้ปกครอง ที่เมื่อนำลูกเข้ามาห้องเรียนแล้ว จะมาเคี่ยวเข็ญครูว่า ต้องอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น อ่านภาษาอังกฤษ ไม่รู้จะรีบไปไหน ชอบเอาลูกเป็นรถแข่ง ให้ลูกเรียนไม่กี่ช่องของชีวิต ทั้งๆที่คนอยากจะเป็นอะไรตั้งหลายอย่าง ดังนั้น ต้องมาพลิกวิธีคิดของคนในสังคมไทยด้วย
เรื่องการอ่านสำคัญ คนถ้าไม่อ่าน ทุกอย่างก็โง่ตามหมด หากเราเพาะให้เด็กๆ ได้อ่าน “ปัญญา” เขาจะเกิด อ่านด้วยหนังสือ สื่ออิเลคทรอนิกส์ หรือภาษาตา ภาพ อะไรก็ได้ เพื่อให้เขาได้ข้อมูล คิดวิเคราะห์ ซึ่งการอ่านให้ได้อารมณ์และรสชาติ ต้องได้หยิบจับ สิ่งนี้จำเป็น เพราะจะต่างจากการอ่านจากหน้าจอ
การอ่านแบบที่หยิบจับได้ พอเกิดการรับรู้ โครงสร้างตัวอักษร คำ วลี และประโยค กระบวนการในสมองจะทำให้เกิดการจับใจความ จับประเด็น และเกิดการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นกลไกอัตโนมัติ
สำหรับสังคมไทยหากช่วยกันอ่านและทำให้เกิดความคิด ทางปัญญา เราจะไม่เห็นสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทั้งหมดต้องกลับไปที่การอ่าน ปลูกฝังทัศนคติ ความคิดดีๆ เพราะคนที่อ่านหนังสือ และได้อ่านหนังสือเยอะๆ ดีๆ เขาจะคิดอะไรออก”
“ธิดา พิทักษ์สินสุข” หรือ ครูหวาน
ตัวแทนจากสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย
“ร.ร.อนุบาลมีภารกิจที่สำคัญมาก ในการทำงานกับพ่อแม่ผู้ปกครอง
เพื่อสร้างวิถีชีวิตเด็กที่เอื้อต่อการอ่าน”
“โรงเรียนอนุบาลเป็นวงจรสกัดการอ่าน ในภาคเอกชน เด็กที่มาเข้าเรียนส่วนใหญ่ อ่านหนังสือออก เพราะมีการกระตุ้นเรื่องการอ่านค่อนข้างเยอะ แต่อุปสรรคเกิดขึ้นกับโรงเรียนอนุบาลที่ไม่มีระดับประถมต่อเนื่อง หลายแห่งพบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองกลัวว่า ลูกจะเข้าสอบระดับประถมไม่ได้ ทางโรงเรียนจึงมีการเร่งรัด การอ่านที่ไม่ได้เหมาะสมกับวัยของเด็ก ทำให้เด็กโตขึ้นอ่านได้ แต่ไม่อยากอ่าน
ในอดีตโรงเรียนอนุบาลเอกชนรับเด็กในวัย 3- 6 ปี ปัจจุบันถอยมาที่ 2 ขวบแล้ว ทำให้ต้องมีการพัฒนาครูอนุบาลถอยหลังลงไปอีก ลงไปถึงระดับวัยเตาะแตะ นี่คือความลำบากของครูอนุบาลที่ต้องทำความเข้าใจเด็กช่วงวัยนี้ เช่น ครูไม่เข้าใจเด็ก 2 ขวบ เริ่มอ่านหนังสือกันแล้ว เช่น หนังสือภาพ
โรงเรียนอนุบาลมีภารกิจที่สำคัญมาก ในเรื่องของการทำงานกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ในการสร้างวิถีชีวิตสำหรับเด็กที่เอื้อต่อการอ่าน ซึ่งเวลาเราจะผลักดันอุปนิสัยอะไรที่ดีๆ เรามักจะทำงานผ่านเด็ก โดยวัยที่เหมาะที่สุด คือ วัยอนุบาล เด็กเล็กๆ ไม่ว่าจะรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ เราก็ทำงานผ่านเด็ก เป็นต้น
ดังนั้น การอ่านก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อวัฒนธรรมไทย ไม่ใช่วัฒนธรรมการอ่าน เราจะหวังว่า ให้พ่อแม่เป็นต้นแบบ การอ่านนั้น ทำได้ยาก แต่หากทำงานผ่านเด็ก เช่น ให้การบ้านเด็กไปผลักดันให้พ่อแม่ต้องอ่านหนังสือกับลูกทุกวัน พยายามให้เกิดขึ้นวันละเล็กวันละน้อย สร้างให้เกิดวัฒนธรรมการอ่าน ขึ้นในบ้าน ต่อยอดปลูกฝังให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านได้ในอนาคต”