รับมือภัยพิบัติ...ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ...!!
ในช่วงที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวลุกลามไปทั่วทุกมุมโลก ไล่เรียงตั้งแต่ประเทศชิลี จีน นิวซีแลนด์ เรื่อยมา กระทั่งญี่ปุ่น ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดมหึมาถาโถม กวาดต้อนทุกสิ่งทุกอย่างพังพินาศ ราบเป็นหน้ากอง
ขยับเข้ามาใกล้ประเทศไทย เพื่อนบ้านรั้วติดกันอย่างพม่า เจอแผ่นดินวิปโยคเช่นกัน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่ภาคเหนือของไทยก็ได้รับแรงสะเทือนเต็มๆ ถัดมาไม่กี่วัน พื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดเจอฝนหลงฤดูถล่มน้ำท่วมหนัก ทั้งๆ ที่เป็นช่วงหน้าร้อน
ด้วยสภาพอากาศแปรปรวน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนตกในฤดูเดียวกัน!! พัลวันไปหมด จนทำให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาปัญหาภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ เป็น "วาระแห่งชาติ" หวังการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเท่าทันสถานการณ์
แม้ขณะนี้ ครม.จะยังไม่มีมติในประเด็นนี้ออกมา เพราะยังต้องการให้มีการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย พาไปฟังผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ทัศนะที่น่าสนใจ...เมื่อภัยธรรมชาติกำลังรุกกระหน่ำมนุษยชาติ เราควรเตรียมพร้อมและตั้งรับกันอย่างไร
“ปราโมทย์ ไม้กลัด”อดีตอธิบดีกรมชลประทาน
"แก้ปัญหาภัยพิบัติ ไม่จำเป็นต้องตั้งองค์กรใหม่ เสียเวลา
เพียงแต่นำองค์กรที่มีอยู่เดิมในภาครัฐ มาเกลี่ย มาจัดให้ดี "
"แนวคิดเรื่องการตั้ง "องค์กรใหม่" มาดูแลเรื่อง แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภัยแล้ง ผมคิดว่า ไม่ตอบสนองและไม่ทำงานอยู่ดี เพราะภาพที่ชัดเจนที่สุดคือ ไม่ว่ารัฐบาลจะตั้งองค์กรใดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการ คณะทำงานต่างๆ ถูกตั้งมาจนเปอะไปหมด ซึ่งผมหมดศรัทธากับระบบเช่นนี้ไปแล้ว อาทิ คณะกรรมการปฏิรูป ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน สุดท้ายก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
คิดง่ายๆ องค์กรใหม่ คงมีหน้าตาที่ไม่ต่างไปจากเดิม อยู่ในกฤษฎีกา อยู่ในภาคราชการ รัฐบาล ถูกตั้งโดยนายกรัฐมนตรี สุดท้ายก็ไม่ทำงาน เนื่องจากติดขัดที่ระบบราชการ
และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ผมขอยกตัวอย่างเช่น เมื่อขาดแคลนน้ำ เกิดความแห้งแล้ง รัฐก็ประกาศภัยแล้ง เป็นอย่างนี้ทุกปี แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นกลับไม่เคยมีทีท่าว่า จะมีการปฏิรูประบบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า ภาครัฐระดับสูง ไม่สนใจ ไม่นำพา ในที่สุดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมก็ไม่เกิดขึ้น
ประเทศไทยในเวลานี้ ผมไม่เคยเห็นเลยว่า จะมีใครยกมือ หรือขานรับว่า ปัญหานั้นปัญหานี้อยู่ในความรับผิดชอบหรือเป็นหน้าที่ของตน แม้กระทั่งในระดับกระทรวงเองก็ตาม ทั้งที่หน้าที่ดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนในราชกิจจานุเบกษา ฉะนั้น การตั้งองค์กรใหม่เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติ จึงไม่ได้เป็นหลักประกันว่า การดำเนินงานจะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกัน ยิ่งทำให้เกิดความทับซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่เดิม
นอกจากนี้ องค์กรใหม่ที่ต้องอาศัย ทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ จะไประดมสิ่งเหล่านี้มาจากที่ไหน ประการสำคัญ บุคลากรจะต้องมีความรู้ ไม่ใช่จะเป็นใครก็ได้ เพราะไม่เช่นนั้น องค์กรใหม่ก็มีวี่แววว่าจะเป็นหมันอีก
ผมมองว่า บ้านเมืองเรามีองค์กรยุ่งไปหมด เลอะเทอะทั้งประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงมหาดไทย มีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ทำหน้าที่ครอบจักรวาล ทุกเรื่องด้านสาธารณะภัย แต่ในความเป็นจริง กลับพบว่า ไม่มีแก่นสาร ฉะนั้น การแก้ปัญหาภัยพิบัติไม่จำเป็นต้องตั้งองค์กรใหม่ เสียเวลา เพียงแต่นำองค์กรที่มีอยู่เดิมในภาครัฐ มาเกลี่ย มาจัดให้ดี รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับองค์กรต่างๆ ให้ตระหนักว่า การทำงานต้องเกิดผลที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรมเช่นในทุกวันนี้
"ทุกฝ่ายต้องเข้าใจว่า เราต้องทำเพื่ออนาคต ซึ่งผมมั่นใจว่าอุทกภัยต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน แต่ต่างกันตรงที่ว่าจะมากน้อยเพียงใด เช่น กรณีอุทกภัยที่อำเภอหาดใหญ่ ที่ผ่านมา คำถามคือรัฐบาลมุ่งมั่นจะสร้างกระบวนการเข้าไปศึกษา ดูแลพื้นที่หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่า ไม่มี เพราะส่งใครเข้าไปดูแลก็ทำงานไม่เกาะติด ผมจึงฟันธงว่า ท้องถิ่นจะต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดการ ดูแลพื้นที่ของตนเอง อย่าปล่อยให้เรื่องภัยพิบัติ เป็นของรัฐบาลฝ่ายเดียว"
‘เจ้าภาพ’ ในความหมายผมคือ แกนในการที่ดึงคนจากหน่วยงาน จากองค์กรต่างๆ เช่น กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยาเข้ามาร่วมทำงาน โดยเจ้าภาพทำหน้าที่เป็นผู้ประสาน ส่วนในเรื่องที่ยังขาดข้อมูลความรู้ก็จ้างหน่วยงานอื่น ศึกษาวิเคราะห์ จนกระทั่งนำไปสู่มาตรการที่ครบถ้วน รอบด้าน
ท้ายนี้ ผมอยากเน้นย้ำว่า ผมไม่ค่อยให้ความสำคัญกับองค์กรใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติมากนัก เพราะผมมุ่งที่กระบวนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าองค์กรระดับชาติ ซึ่งวาดฝันแบบนักการเมือง"
“สุริยา ยีขุน” นายกเทศมนตรีตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
"เมื่อความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า
การบริหารจัดการก็ไม่ควรเข้าลักษณะ ถนนทุกสายวิ่งเข้าสู่ส่วนกลาง"
"จากประสบการณ์ตรงในการรับมือภัยพิบัติ ผมมองว่า การทำงานแก้ปัญหาภัยพิบัติมี 3 ช๊อตด้วยกัน เริ่มตั้งแต่เมื่อรู้ว่าจะเกิดเหตุ จะต้องมีระบบเตือนภัยในระดับท้องถิ่น โดยอาศัยการเชื่อมโยงกับข้อมูลของส่วนกลาง เช่น เมื่อทราบว่า น่าจะ หรือเกิดภัยพิบัติ ข้อมูลต้องถูกส่งไปยังพื้นที่อย่างฉับไว เพื่อที่จะได้เข้าถึงปัญหาและสามารถคลี่คลายปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
ส่วนในระหว่างเกิดเหตุ ท้องถิ่นซึ่งใกล้ชิดเหตุการณ์ ใกล้ชิดพื้นที่จะต้องแอ็คชั่นรวมกันทั้งจังหวัด เช่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทุกตารางนิ้วในประเทศไทย สามารถสั่งการให้ทำอย่างโน่นอย่างนี้ได้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้อำนวยการป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัด ไฟเขียวในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ โดยไม่ต้องรอขั้นตอนมากนัก เพราะไม่เช่นนั้น หากเป็นอย่างที่ผ่านมารับรองช่วยชาวบ้านไม่ทัน คนตายหมดเสียก่อน
ฉะนั้น การทำงานดังกล่าวจะเป็นไปในเชิงรุก ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างเกิดเหตุ ส่วนนายกรัฐมนตรีก็คอยรับฟังข่าวสาร หากจะบัญชาการหรือสนับสนุนมาตรการใดเพิ่มเติมก็สั่งการลงมา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้นายกรัฐมนตรีก็จะไม่ต้องวิ่งรอกทุกเรื่อง
ช๊อตสุดท้าย เป็นเรื่องของการเยียวยา ซึ่งผมเห็นว่า การเยียวยาจะต้องไม่ ‘แทงกั๊ก’ หมายความว่า รัฐให้นำส่งรายชื่อผู้ประสบภัยตามวันและเวลาที่กำหนด แต่เอาเข้าจริงก็พบว่ามีการขยายเวลาต่อไปอีก ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ผู้ได้รับความเดือดร้อนจะจริงหรือไม่ก็ตาม เห็นว่าได้เงินชดเชย ก็ดาหน้าเข้ามายื่นความจำนนแทบทั้งสิ้น
ผมจึงคิดว่า ยุทธศาสตร์ในการเยียวยา ควรจะเป็นเรื่องที่มีขอบเขตกว้างๆ ไม่ใช่การแจกเงินคราว 500-1000 บาท เสียเวลาเปล่าๆ
แต่อย่างไรก็ตาม หากรัฐจะยังคงมาตรการดังกล่าวไว้ ก็ควรให้ระดับพื้นที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจว่า ใครควรจะได้รับค่าชดเชย ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นเพียง ‘ไปรษณีย์’ ส่งรายชื่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนไปยังส่วนกลาง และรอคอยการตัดสินใจบนฐานคิดของคนกรุงเทพ
ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า เมื่อความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า การบริหารจัดการก็ไม่ควรเข้าลักษณะที่ว่า ถนนทุกสายวิ่งเข้าสู่ส่วนกลาง แต่ในทางกลับกัน ส่วนกลางต้องเร่งระบายภารกิจ ระบายฐานข้อมูล รวมทั้งทรัพยากรไปสู่พื้นที่อย่างรวดเร็ว โดยไม่หวง เหนี่ยวรั้ง เพราะมิฉะนั้น ถึงจะยกปัญหาภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ โดยจัดตั้งหน่วยงาน องค์กร หรืออาจจะเรียกว่า ‘เฉพาะกิจ’ อย่างไรก็ตาม ก็เกิดคำถามอยู่ดีว่า...
หนึ่ง...หากนายกรัฐมนตรีต้องทุกเรื่องจะทำได้หรือไม่
สอง...หากทุกอย่างมุ่งเข้าสู่กรุงเทพ มุ่งสู่ส่วนกลางหมด ผมไม่แน่ใจว่า ขั้นตอนการทำงานจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นหรือไม่
เช่น ถ้าเกิดภัยพิบัติ ผมต้องโทรศัพท์ ทำหนังสือ ทำบันทึกข้อความไปถึงนายกรัฐมนตรี และกว่าหนังสือจะไปถึงกว่านายกรัฐมนตรีจะตอบกลับใช้เวลากี่วัน ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นประเด็นที่น่ากังวล เพราะเวลาที่น้ำป่าไหลบ่า มันไม่รอคำสั่งนายกฯ
แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผมจะไม่เห็นด้วยที่จะแต่งตั้งให้นายกรัฐมนตรีเป็นตัวหลัก เป็นศูนย์กลางในการสั่งการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมคิดว่า นายกฯ จะต้องมีแขน มีขาในการทำงาน ซึ่งตามหลักการสากล ‘การกระจายอำนาจ’ ถือว่าเป็นหัวใจของการทำงานเชิงรุก อีกทั้งหากกระจายได้อย่างครอบคุลม ทั่วถึง ก็ไม่ต่างจากทุ่งไยแมงมุมที่สามารถทำงานได้อย่างเชื่อมโยง รวดเร็ว ว่องไว ทันต่อเหตุการณ์ และสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างปัจจุบันทันด่วน"