ถึงเวลาปลดแอกโทษอาญา...คดีเช็ค (?)
หลังจาก ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ นำเสนอผลวิจัยเรื่อง “นิติเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยกฎหมายเช็ค” ซึ่งระบุถึงปัญหาและต้นทุนอันเกิดจากการกำหนดโทษอาญาคดีไว้ว่า ปี พ.ศ.2551 มีจำนวนคดีเช็คค้างอยู่ในชั้นศาลประมาณ 17,000 คดี โดยแต่ละคดีใช้เวลาพิจารณาราว 21.2 เดือน ทำให้ต้นทุนการพิจารณาคดีเช็คในภาพรวม ทั้งของรัฐและคู่กรณี รวมกันเป็นมูลค่าถึง 909-1,351 ล้านบาทต่อปี
หนำซ้ำ เมื่อนำต้นทุนเทียบกับประสิทธิภาพของการใช้โทษอาญา นับว่าเป็นวิธีที่ไม่คุ้มค่า เนื่องจากผู้เสียหายได้รับชำระหนี้คืนเพียงแค่ร้อยละ 65-80 ของมูลค่าหน้าเช็ค ซึ่งสวนทางกับความต้องการที่แท้จริงของเจ้าหนี้ คือการได้เงินคืน อีกทั้ง โทษอาญา ยังมีผลกระทบรุนแรงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิ่งเหล่านี้จึงชัดเจนว่า...คดีเช็ค ไม่ควรมีโทษอาญา
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ในบริบทของสังคมไทย จะขานรับ-โต้แย้งข้อเสนอดังกล่าวมากน้อยเพียงใด...
“สัก กอแสงเรือง” นายกสภาทนายความ
“การใช้โทษอาญาคดีเช็คจึงนำไปสู่การกระทำความผิดอย่างอื่นตามมา”
อันที่จริง ฐานความผิดเรื่องการใช้เช็ค ไม่ใช่เป็นโทษอาญา แต่เป็นความรับผิดทางแพ่ง เพราะเช็คมีลักษณะเป็นตั๋วเงิน ดังนั้น เมื่อตั๋วเงินถูกปฏิเสธ ย่อมสามารถใช้สิทธิ์ทางแพ่งเรียกเงินตามเช็คได้ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลต้องการให้คดีเช็คเป็นโทษอาญา เพื่อให้เช็คมีความน่าเชื่อถือในระดับที่เจ้าหนี้ยินดีและยอมรับชำระหนี้ด้วยเช็ค
แต่ทว่า สภาพบังคับดังกล่าว ก่อให้เกิดผลลัพธ์ 2 ด้านด้วยกัน คือ หนึ่ง มีการนำเช็คไปใช้ชำระหนี้โดยตรง สอง มีการใช้เช็คอย่างมีนัยยะแอบแฝง ใช้เช็คเป็นเครื่องมือสำหรับบีบบังคับลูกหนี้ โดยเปลี่ยนสัญญากู้ยืมธรรมดาๆ ให้กลายเป็นการออกเช็คชำระหนี้ เพื่อเจ้าหนี้จะได้มีสิทธิฟ้องอาญา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ชัดเจนว่า ต้องการทำเรื่องที่ไม่เป็นอาญา ให้เป็นอาญา ในที่สุดก็เกิดความเสียหาย ความไม่ถูกต้องตามมา
“ลูกหนี้บางรายไม่เคยมีเช็ค ไม่มีแม้กระทั่งบัญชีธนาคาร แต่เจ้าหนี้ก็ดำเนินการเปิดบัญชี พร้อมกับให้ลูกหนี้ออกเช็คให้เสร็จสรรพ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ เช่น ลูกหนี้บางรายกู้เงิน 10,000 บาท แต่ถูกบังคับให้ออกเช็คมูลค่าถึง 20,000 บาท เพื่อบังคับลูกหนี้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรม การหลีกเลี่ยงกฎหมาย ตลอดจนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีความตรงไปตรงมาอย่างที่ควรจะเป็น”
การใช้โทษอาญาคดีเช็คจึงนำไปสู่การกระทำความผิดอย่างอื่นตามมา ประการสำคัญ ความผิดอาญาคดีเช็ค ยังทำให้รัฐเสียค่าใช้จ่ายในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญามากขึ้น เพราะหลังจากเจ้าหนี้แจ้งความฟ้องร้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน รัฐจะเป็นผู้ดำเนินการตามกระบวนการทางอาญาทั้งหมด โดยแบกต้นทุนค่าใช้จ่ายไว้เอง ซึ่งโดยหลักการถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะภาษีอากรของประชาชน ควรใช้อย่างเหมาะสมมากกว่าสูญไปกับความผิดที่ไม่สมควรเป็นโทษทางอาญา
อย่างไรก็ตาม หากมีการยกเลิกโทษอาญาคดีเช็คจริง ก็ใช่ว่าเจ้าหนี้จะเสียสิทธิ์ เนื่องจากยังสามารถฟ้องบังคับคดีทางแพ่งได้ กอปรกับ หากต้องการความมั่นคงเพิ่มขึ้น ก็ยังสามารถกำหนดให้มีผู้สลักหลังเช็ค เพื่อเป็นหลักประกันว่า เจ้าหนี้จะสามารถบังคับลูกหนี้ได้ถึง 2 คน
“ท้ายนี้ ผมคิดว่า การเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจาการใช้เช็ค พ.ศ.2534 จำเป็นที่จะต้องมีเจ้าภาพ เพื่อเสนอเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาล หรือรวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 10,000 ราย เพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว”
“ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
“หากยกเลิกโทษอาญาคดีเช็ค ต้องมีมาตรการเยียวยาเจ้าหนี้ที่ดี ไม่เช่นนั้นเท่ากับว่า เอาใจลูกหนี้เต็มๆ”
ความเป็นไปได้ในการยกเลิกโทษอาญาคดีเช็ค ไม่ใช่เรื่องยากเย็น เพียงแค่ไปแก้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจาการใช้เช็ค พ.ศ.2534 แต่ผลดีผลเสียนั้นสามารถมองได้หลายทาง ในด้านลูกหนี้ โดยปกติแล้ว หากออกเช็คโดยไม่มีเจตนาชำระเงิน หรือออกเช็คโดยรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ จะต้องมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจาการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นโทษอาญา ดังนั้น หากยกเลิกโทษอาญา ย่อมเป็นผลดีและสร้างความพอใจให้กับลูกหนี้
ส่วนเจ้าหนี้นั้น โทษอาญา โทษจำคุกเป็นเสมือนสิ่งที่ลอกคอลูกหนี้ให้มาชำระหนี้ ในภาพรวมจึงต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียของระบบกู้ยืม ระบบชำระหนี้ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่เช่นนั้น อาจทำให้คนไม่ยอมชำระหนี้ เชิดเงินกันมากขึ้น
สิ่งสำคัญ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่ทำให้ลูกหนี้ชำระหนี้ รวมทั้งมีวิธีเยียวยาที่เหมาะสมสำหรับเจ้าหนี้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว การยกเลิกโทษอาญาคดีเช็ค ย่อมเป็นเรื่องดี และแท้จริงแล้วโทษอาญาไม่ได้ให้คุณกับใครเลย
แต่ทั้งนี้ อาจเพราะกระบวนการทางแพ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ
ผมมองว่า ถ้าใช้มาตรการทางปกครอง อาทิ เมื่อเจ้าหนี้นำเช็คไปขึ้นเงิน และพบว่ามีการกระทำในลักษณะที่เป็นการออกเช็คโดยไม่ประสงค์ หรือไม่มีเงินในบัญชี ทำให้ไม่สามารถขึ้นเงิน จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีหน่วยงานเข้าอายัดทรัพย์ไว้ก่อน เช่น หากมีการออกเช็คเพื่อซื้อรถ ซื้อบ้าน ก็ยึดรถ อายัดบ้านไว้ก่อน เพราะไม่เช่นนั้น กว่าเจ้าหนี้จะฟ้องร้อง ดำเนินคดี พิจารณาตามกระบวนการวิธีพิจารณาทางแพ่ง บังคับคดี นำทรัพย์ขายทอดตลาดแล้วเสร็จ เจ้าหนี้ก็ตายพอดี
ในมิติดังกล่าวสะท้อนว่า ลูกหนี้เป็นฝ่ายได้เปรียบ ในขณะที่เจ้าหนี้ไม่ได้อะไรเลย และในทางกลับกัน หากลูกหนี้ติดคุก เจ้าหนี้ก็ไม่ได้อะไรเช่นกัน ฉะนั้น สิ่งที่ผมเน้นย้ำคือ จะต้องมีมาตรการล็อกทรัพย์ลูกหนี้ โดยที่ทรัพย์ดังกล่าว จะต้องมีมูลค่าเพียงพอต่อการชำระหนี้ ยกตัวอย่างเช่น ติดหนี้ 100,000 บาท อาจยึดรถยนต์ราคา 300,000 บาท หรือติดหนี้ 1,000,000 บาท ก็อายัดบ้านราคา 1,500,000 บาท อีกทั้งต้องมีมาตรการตามทรัพย์ เพื่อป้องกันการผ่องถ่ายทรัพย์
ดังนั้น ถ้าจะยกเลิกโทษอาญา จะต้องมีมาตรการเยียวยาเจ้าหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่า เป็นการเอาใจลูกหนี้เต็มๆ ฉะนั้นในความคิดผม ควรจะยกเลิกโทษอาญาหลังจากมีมาตรการที่ดีที่เหมาะสมเกิดขึ้นเสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้น อาจกลายเป็นการเปิดสังคมให้คนโกงกัน
ประการสุดท้าย ถึงแม้ว่าโทษอาญาจะไม่ได้ทำให้ใครสมประโยชน์ แต่อย่างน้อยที่สุดในเวลานี้ โทษอาญาก็ทำให้ลูกหนี้พยายามหาเงินมาชำระหนี้ เนื่องจากข้อเท็จจริงพบว่า เช็คเป็นตราสารที่ไม่ได้รับการชำระหนี้มากที่สุด ประมาณการณ์ได้ว่า ในหนึ่งวันแต่ละโรงพัก อาจมีผู้ต้องหาคดีเช็คหนึ่งราย
“ดร.ปกป้อง ศรีสนิท” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“เจ้าหน้าที่รัฐ ควรไปดูแลคดีเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของสังคมมากกว่าไปทำหน้าที่ทวงหนี้ให้กับบุคคล”
ในทัศนะของผม เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็ค เนื่องจากเหตุผลทางวิชาการดังนี้ ความผิดอาญา จะต้องเป็นการกระทำที่คนส่วนมากหรือสังคมไม่ให้อภัย เช่น การฆ่าคน ชิงทรัพย์ แต่การออกเช็คโดยไม่มีเงินนั้น ผมเชื่อว่า เป็นเรื่องที่สังคมสามารถให้อภัยกันได้ เพราะเช็คเด้งอาจเกิดจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง
ส่วนในด้านหลักสิทธิมนุษยชนสากล ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ข้อ 11 ห้ามมิให้รัฐใดลงโทษจำคุกเพราะบุคคลไม่ชำระหนี้ ดังนั้น การที่ประเทศไทยกำหนดโทษทางอาญาของความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คจึงขัดกับกติกาดังกล่าว
อีกประการหนึ่ง ผมมองว่า ไม่คุ้มที่จะใช้โทษอาญาในคดีเช็ค เนื่องจากผู้ทรงเช็คมีช่องทาง 3 ช่องทางคือ หนึ่ง ฟ้องคดีอาญาด้วยตนเอง สอง ร้องทุกข์ให้ตำรวจและพนักงานอัยการดำเนินคดีฟ้องให้ สาม ฟ้องคดีแพ่ง ซึ่งทุกช่องทางล้วนสามารถทำให้เจ้าหนี้ได้เงินคืนได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่มักเลือกช่องทางที่ประหยัดที่สุด นั่นคือ การร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน เพราะไม่มีต้นทุน ไม่ต้องหาพยานหลักฐาน ไม่เสียค่าธรรมเนียมศาล ไม่ต้องเสียค่าทนายความ
แต่ผมกลับคิดว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่มีจำนวนจำกัด ควรไปดำเนินคดีที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของสังคมมากกว่า ไม่ใช่ถูกใช้เพื่อทวงหนี้ให้กับบุคคลซึ่งมีช่องทางในการทวงหนี้ที่หลากหลาย