เมื่อประเทศไทย จะมี กม.คุมม็อบ
ผู้ชุมนุมที่เดินทางเข้ามาปักหลักชุมนุมประท้วง บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า อย่าง “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ ขปส.” ที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชน 4 เครือข่าย คือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูน และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คป สม.) ได้เก็บข้าวเก็บของเดินทางกลับภูมิลำเนาไปเป็นที่เรียบร้อย
ขณะเดียวกันอีกฟากของมุมถนน ม็อบเสื้อเหลืองยังคงหมายมั่นปักหลักยึดท้องถนนเป็นที่ชุมนุมต่อไป
ทว่า ในอีกมุมหนึ่ง การเมืองในสภา ก็กำลังหยิบยกร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ....ขึ้นมาพิจารณา ล่าสุด 10 มีนาคมที่ประชุมสภาฯ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ... ด้วยคะแนนเสียง 229 ต่อ 85 ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสนอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 36 คน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย
นอกจากความเคลื่อนไหวในและนอกสภา ความตื่นตัวของสังคมก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น หนักหน่วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะขณะนี้ผู้คนจากหลายภาคส่วน ทั้งที่เคยได้รับกระทบ หรือเฝ้าติดตามสถานการณ์ชุมนุมอย่างใกล้ชิด เริ่มทบเท้าออกมาตั้งข้อสังเกต แสดงความกังวล แสดงความเห็น และคาดหวังต่างๆนาๆ ต่อกฎหมายฉบับนี้ ที่จะมีขึ้นในเมืองไทย...
“ชาย ศรีวิกรณ์” นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA)
"พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่เป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมมีกระบวนการที่นำไปสู่การพูดคุย"
ในเรื่อง พ.ร.บ.การชุมนุมฯ จะต้องดูรายละเอียดของหลักการอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่คาดหวังคือ ให้สังคมมีกระบวนการที่จะนำไปสู่การพูดคุย
เรายินดีที่จะให้มีการเรียกร้อง แต่ขึ้นอยู่กับว่า จะเรียกร้องอย่างไรให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้เช่นกัน ว่า การชุมนุมควรจะมีขอบเขตแค่ไหน อย่างไร จึงจะอยู่ในจุดที่ผู้เดือดร้อนสามารถยอมรับได้ โดยอยู่พื้นฐานความเกรงอกเกรงใจ การเคารพสิทธิ เราก็ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น การเดินขบวนผ่าน
ผมคิดว่า ในเรื่องนี้เราสามารถนำมาตรฐานจากต่างประเทศมาศึกษาวิธีการดำเนินการ ศึกษากติกาที่ได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลก เพราะที่ผ่านมา เรามักอ้างกันว่า ให้ยูเอ็น ให้คนกลางเข้ามามีบทบาท แต่เรากลับไม่เคยหยิบมาตรฐานของเขาเข้ามาด้วย ตามแบบที่ว่า อ้างอย่างเดียว ไม่เคยทำตาม
ในความคิดของผม พ.ร.บ. การชุมนุมฯ จึงพุ่งเป้าไปที่กระบวนการหาแนวร่วมในการสร้างสังคม มองว่าเรียกร้องอย่างไรให้เหมาะสม โดยไม่ใช้วิธีการยกระดับ เพื่อบังคับผู้อื่น หรือใช้ความเดือดร้อนเป็นที่ตั้ง ซึ่งผมคิดว่าหาก พ.ร.บ. การชุมนุม ตอบโจทย์ดังกล่าวก็จะใช้งานได้ดี
“พ.ร.บ. การชุมนุม ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา (solution) แต่เป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการเกิดขึ้น เพราะการชุมนุมที่ไม่ละเมิดเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ในอีกแง่ยังเป็นกระบวนการที่ทำให้ภาครัฐสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ เนื่องจากสังคมยอมรับในกระบวนการที่เกิดขึ้น”
“ศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์” ผอ.สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า
"ผมทำนายว่า พ.ร.บ. การชุมนุม จะไม่สามารถใช้บังคับได้ แต่จะเป็นแค่กฎหมายอีกฉบับเท่านั้น"
การใช้ พ.ร.บ. การชุมนุม นั้นเป็นมิติเชิงโครงสร้างที่สะท้อนว่า การชุมนุมจะมีกฎหมายเป็นตัวควบคุม บังคับ ซึ่งคำถามคืออาจนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ไม่ชอบการบังคับ
ซึ่งในมุมนี้ ผมทำนายว่า พ.ร.บ. การชุมนุม จะไม่สามารถใช้บังคับได้ แต่จะเป็นแค่กฎหมายอีกฉบับเท่านั้น
เพราะสิ่งสำคัญยิ่งกว่ากฎหมายคือ กระบวนการออกกฎหมายที่จะต้องเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันอย่างแท้จริง ว่า สิ่งใดที่สามารถกระทำได้หรือไม่ อย่างไร โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม นำผู้มีส่วนได้เสียมาหารือร่วมกัน เพื่อช่วยกันคิด จนกระทั่งเกิดการยอมรับที่ตรงกัน ส่วนใครหน่วยงานใดจะเป็นผู้ยกร่างคงไม่สำคัญ แต่สิ่งที่เน้นย้ำคือ การยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมทางสังคม (Social justice) ควบคู่ไปกับกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย (Legal justice) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นวิถีประชาธิปไตยที่แท้จริง
“ผมสังเกตว่า ทุกคนเรียกร้องแต่ประชาธิปไตย แต่คำถามคือ ขณะนี้ประชาชนมีความเป็นพลเมืองหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า กลุ่มคนร้อยละ 20 เป็นคนที่มีจิตอาสา ขณะที่ร้อยละ 20 เป็นพวกชอบป่วน ป่วนทุกเรื่อง ส่วนอีกร้อยละ 60 เป็นกลุ่มคนที่ยืนดูเฉยๆ ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เห็นว่านี่เป็นประเทศของเราและออกมาร่วมไม้ร่วมมือกัน”
“นพ.แท้จริง ศิริพานิช” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
"หัวใจสำคัญประการหนึ่งของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ จะต้องดูแลให้ข้อร้องเรียนของผู้ชุมนุมได้รับการเยียวยาอย่างจริงจัง"
ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชน ได้นำ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ฉบับนี้ ที่รัฐบาลมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ยกร่างมาวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น อาทิ การขออนุญาตก่อนการชุมนุม คำถามคือ ถ้าไปขอแล้วไม่อนุญาต ก็ถือว่าเป็นการละเมิด ส่วนถ้าผู้ชุมนุมไม่ยอมตาม ยังออกไปชุมนุมอีก ก็ถือว่าผิดกติกาเช่นกัน ในที่สุด ถ้าเป็นแบบนี้ก็ตายกันหมด ฉะนั้น พ.ร.บ.การชุมนุมฯ จะต้องดูให้ดี ไม่ใช่ไปห้ามหรือควบคุมผู้ชุมนุม เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญให้สิทธิในการชุมนุม ตัวบทกฎหมายที่ออกมา จะต้องเข้าไปทำหน้าที่ดูแล สนับสนุนการชุมนุมอย่างสันติ สงบ ไม่มีอาวุธ
ผมคิดว่า หัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ จะต้องดูแลให้ข้อร้องเรียนของผู้ชุมนุมได้รับการเยียวยาอย่างจริงจัง เพราะไม่เช่นนั้นการชุมุนมก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่จบสิ้น ซึ่งก็เปรียบได้กับ ‘โรค’ หากปวดหัว ให้กินยาก็หาย แต่ถ้ารุนแรงถึงขั้นเป็นเนื้องอก ไม่นานอาการปวดก็กลับมาอีก ฉะนั้น จึงต้องลงไปดูถึงสาเหตุของอาการที่แท้จริง พร้อมกับรักษาเยียวยา ประการสำคัญ เมื่อผู้ชุมนุมได้รับการเยียวยา ก็เท่ากับว่า ผู้อื่นได้รับประโยชน์ตามไปด้วย เนื่องจากเป็นการคลายปมที่ต้นเหตุ แต่ทว่าประเทศไทยกลับไม่มีกลไกเหล่านี้ ส่วนที่มีก็เป็นศูนย์รับเรื่องของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งพบว่า เรื่องที่มีการร้องเรียนต่อรัฐบาล กลับถูกส่งต่อไปให้กระทรวงผู้ถูกร้องเรียน ทำหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่ชัดเจนว่าไม่ถูกต้อง
“นภัสกรณ์ ลิ้มสุวรรณเกษม” ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการประตูน้ำ
"พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ต้องผ่านประชามติ การมีส่วนร่วมที่ครอบคลุม เพราะคำว่ากฎหมายย่อมมีสภาพบังคับกับคนไทยทุกคน"
หาก พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มีสถานะเป็นเครื่องมือเท่านั้น ก็น่าจะมีการออกเป็นกฎหมายได้ แต่ลำดับแรกจะต้องมีการเผยแพร่หลักการในเบื้องต้นให้ประชาชนทุกคนได้รับรู้ว่า มีเนื้อหาสาระอย่างไร จากนั้นทำประชามติ เพื่อให้เกิดข้อยุติว่า จะยอมรับหรือไม่ เพราะเมื่อออกมาเป็นกฎหมายแล้ว ย่อมมีสภาพบังคับกับประชาชนทุกคน
“ในฐานะผู้เดือดร้อน เราอยากให้มีกฎหมายบังคับการชุมนุม แต่ในอีกมุมหนึ่ง ในฐานะประชาชน วันหนึ่งเราอาจต้องออกมาชุมนุมเช่นกัน ฉะนั้น เมื่อถามว่าควรมี พ.ร.บ.การชุมนุมฯ หรือไม่ ก็ต้องย้อนกลับไปว่า หากกฎหมายอื่นไม่สามารถจะบังคับผู้ชุมนุมได้ ก็สมควรจะต้องมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมา เพื่อดูแลสิ่งเหล่านี้"
ที่ผ่านมากฎหมายของเรา อย่างเช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ถูกนำไปตีความตามความคิดเห็นของตนเอง ทำให้บังคับไม่ได้ ซึ่งก็เป็นไปตามลักษณะนิสัยคนไทย ที่มีความเป็นศรีธนญชัย เล่นคำ เล่นแง่ไปเรื่อย เพราะฉะนั้นหากมี พ.ร.บ.ฉบับนี้เกี่ยวกับการชุมนุมอย่างแท้จริง กระทั่งไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้ ก็สามารถที่ออกมาบังคับใช้ได้ แต่ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่เป็นเครื่องมือของรัฐที่ใช้บังคับประชาชนอย่างไม่ถูกต้อง ฉะนั้น สิ่งที่เน้นย้ำคือ ต้องผ่านประชามติ การมีส่วนร่วมที่ครอบคลุม เพราะการชุมนุมไม่ได้เกิดเฉพาะในกรุงเทพ แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ อีกทั้งคำว่ากฎหมายก็มีสภาพบังคับกับคนไทยทุกคน
“ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"หาก พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มุ่งจำกัดสิทธิผู้ชุมนุมอย่างเดียว ก็ไร้ประโยชน์ เพราะ กม.ใหม่ ควรใช้จัดระเบียบเจ้าหน้าที่มากกว่า"
สิ่งที่เป็นปัญหาและขาดหายไปใน พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ฉบับนี้คือ ข้อกำหนดวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลผู้ชุมุนุม ซึ่งสาระดังกล่าว นับเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายการชุมนุม
ถ้าเป็นกฎหมายของประเทศที่ออกมาอย่างดี เขาจะกำหนดชัดเจนว่า การชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เจ้าหน้าที่ห้ามใช้แก๊สน้ำตา ห้ามใช้เสียงความถี่สูง ยิงเข้าใส่ประชาชนที่เดินทางมาชุมนุมหน้าสภาอย่างสงบเงียบ ส่วนในกรณีที่เหตุการณ์นำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นจลาจล ก็มีการกำหนดไว้เช่นกันว่า เจ้าหน้าที่จะสามารถทำอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้เกิดการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่
แต่ประเทศไทย พ.ร.บ.การชุมนุมฯ กลับไปมุ่งเน้นเรื่องการควบคุมผู้ชุมนุม ซึ่งมันไม่สางประโยชน์ ยกตัวอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม แต่กลับไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากเขาใช้กฎหมายที่มีอยู่ นั่นคือรัฐธรรมนูญอเมริกาที่รับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และเมื่อใดที่การชุมนุมนั้นไปละเมิดสิทธิผู้อื่น ศาลก็จะไม่คุ้มครองอีกต่อไป พูดง่ายๆ อเมริกา ไม่มี พ.ร.บ.การชุมนุม แต่ใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการบังคับผู้ชุมนุม ซึ่งผมคิดว่า หาก พ.ร.บ. มุ่งเน้นในเรื่องของการจำกัดสิทธิของผู้ชุมนุมอย่างเดียว ออกกฎหมายมาก็ไร้ประโยชน์ เพราะกฎหมายที่เรามีอยู่เดิม ยังใช้บังคับไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าจะมีกฎหมายใหม่ขึ้นมา ควรเอามาใช้จัดระบบระเบียบของเจ้าหน้าที่ดีกว่า