อีกยกกับการปะทะเพื่อค้นคำตอบ เปิดเขื่อนปากมูล น้ำแห้งจริงหรือ ?
เสียงเรียกร้องขอคืนอิสรภาพ ให้สายน้ำเพื่อชุมชนกว่า 60 หมู่บ้าน ยังคงดำเนินต่อไป
17 ปี "เขื่อนปากมูล" กับทางเดินที่ผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้อย่างยาวนาน มีทั้งทะเลาะ โต้แย้งกันเรื่อยมา วันนี้หลายคนใจจดใจจ่อ ว่า การเปิด-ปิด เขื่อนปากมูล ได้เดินมาถึงขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสินใจ คณะรัฐมนตรีจะตัดสินใจอย่างไรกับ ประเด็นเขื่อนปากมูล เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดตั้งกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาในรูปแบบคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและคณะทำงานขึ้นหลายคณะ อีกทั้งสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เองก็เป็นผู้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องผู้ชุมนุมเขื่อนปากมูล ให้เปิดเขื่อนเป็นเวลา 5 ปี จากเดิมให้เปิด 4 เดือนปิด 8 เดือน
แต่กระนั้น อุปสรรคขวากหนามก็ยังไม่หมดไป เกิดการเบี่ยงเบนประเด็นข้อเท็จจริง และสร้างความสับสนขึ้นมาอีก “เปิดเขื่อนปากมูล น้ำแห้ง”
ข้อสงสัยกับคำถามนี้ เท็จ จริง ประการใด ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย พาไปฟังข้อมูลทางวิชาการ และทัศนะที่หลากหลาย...
นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
"เราใช้น้ำมากที่สุด จนกระทั่งน้ำไหลลงแม่น้ำโขงน้อยที่สุดแล้ว"
“เขื่อนปากมูล เป็นครูให้กับสังคมไทย เป็นบทเรียน ให้เรียนรู้ ให้เห็นทุกอย่าง แต่เขาก็ไม่เรียนกัน....
ผมมองว่า เรื่องปากมูล เป็นเรื่องของการยกระดับน้ำ น้ำแห้ง น้ำไม่แห้ง ผมไม่เข้าใจว่า เป็นประเด็นได้อย่างไร ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องการบริหารจัดการ โดยข้อเท็จจริง แม่น้ำสาขาแม่น้ำโขงที่ไหลลงจากประเทศไทย ไทยได้ใช้ "น้ำ" มากที่สุด จนกระทั่งน้ำไหลลงแม่น้ำโขงน้อยที่สุดแล้ว เราได้ใช้จนเกือบไม่มีน้ำไหลลงไปแล้ว
ดังนั้น เราจะได้ยินมีการพูดตลอดเวลาว่า ปล่อยให้น้ำไหลลงแม่น้ำโขง ไหลลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง
ข้อเท็จจริง คือเราได้ใช้น้ำเยอะที่สุดแล้ว ครั้งนี้เชื่อว่า ชาวบ้านคงเป็นการต่อสู้กันอีกหลายยก”
ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กรรมการปฏิรูป
"แม่น้ำไม่ใช่ท่อพีวีซี มันลาดชัน มีแก้มลิงธรรมชาติ ไม่เหมือนการเทน้ำรวดเดียวผ่านท่อ"
“กรณีเขื่อนปากมูล ข้อถกเถียงเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าแทบไม่มีแล้ว ทุกคนยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องสำคัญ โดยสรุปของคณะอนุกรรมการที่ไปศึกษาเสนอรัฐให้เปิดเขื่อนถาวร แต่ก็มาเกิดข้อถกเถียงใหม่ เปิดเขื่อนน้ำจะแห้ง
เปิดเขื่อน น้ำจะแห้งนั้น แม่น้ำไม่ใช่ท่อพีวีซี มันมีความลาดชัน มีแก้มลิงธรรมชาติ ที่เ ป็นการกักเก็บน้ำเยอะมาก ไม่เหมือนการเทน้ำรวดเดียวผ่านท่อ ซึ่งข้ออ้างเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะมีการเมืองท้องถิ่น ที่สามารถตั้งเครือข่ายหัวคะแนน ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับเครือข่ายหัวคะแนน
เพราะกลไกสำคัญ คือ เครือข่ายหัวคะแนน นั้นกลายเป็นผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายให้กับ ส.ส. ดังนั้นเรื่องเขื่อนปากมูล จะต้องไปดูเครือข่ายหัวคะแนน ใครได้หรือเสียกับเรื่องนี้หรือไม่
กระบวนการตัดสินใจด้านนโยบายสาธารณะ ในสังคมไทย มีการจัดช่วงชั้นของสังคมไว้อย่างแน่นหนา หมายความว่า มีข้าราชการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในรัฐวิสาหกิจ เขามีสิทธิในการตัดสินใจมากกว่าคนอื่น ซึ่งที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า สังคมไทยลึกๆ มีความเชื่อคนไม่เท่ากัน มีคนบางคนมีความรู้ ความดีมากกว่า ที่มีอำนาจตัดสินใจเหนือคนอื่น
โดยเฉพาะ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ จะอ้างว่า เก่ง ดี เสมอ เพื่อจะยึดอำนาจการตัดสินใจเอาไว้ แม้แต่นักการเมือง ก็จะไม่กล้าตัดสินใจ หรือไปขวางกลุ่มคนราชการ รัฐวิสาหกิจอย่างออกหน้าจนเกินไป รวมทั้งนักการเมืองที่กุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ ได้สูงมากในอดีต ก็ยังแก้ปัญหาแบบประนีประนอม เพื่อให้ทุกฝ่ายพอใจ คือเปิดเขื่อน 4 เดือน ปิดเขื่อน 8 เดือน
กระบวนการและช่วงชั้นการตัดสินใจ กลายเป็นบีบบังคับและยากมากในการเปิดเขื่อนปากมูล ทั้งๆที่หมดสภาพไปนานแล้วไม่ว่าจะมาเถียงกันด้วยเหตุผลอะไร ก็แล้วแต่ โดยไม่มีประโยชน์อะไรเหลืออยู่ แต่ที่ทำไมไม่มีใครกล้าตัดสินใจ
เหตุผลลึกๆ คือ วัฒนธรรมและสังคมของเราเองที่บีบบังคับนักการเมืองไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งนี้จึงเชื่อว่า จะมีการเลื่อนการตัดสินใจออกไปอีกแน่นอน เพราะใกล้เลือกตั้งแล้ว
ไม่มีพรรคการเมืองไหนเป็นตัวแทนคนระดับล่างสักพรรคเดียว ขณะเดียวกันก็ไม่มีสื่อ หรือทีวีช่องไหน ที่สนใจความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตามไปดูปัญหาและนำมาเล่าให้คนในกรุงเทพเข้าใจ การต่อสู้พลังจึงน้อยมาก เพราะไม่มีการจัดองค์กร และไม่ว่าจะแพ้หรือชนะในครั้งนี้ สิ่งที่ต้องคิดคือ จะพัฒนาการจัดองค์กรอย่างไรให้เกิดพลัง
ประเทศไทยอาจยังต้องใช้ถนน เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองต่อไปอีกนานพอสมควร ถ้าต้องการมีพลัง บังคับให้รัฐฟังท่านบ้าง ต้องคิดเรื่องการจัดองค์กร”
นายมนตรี จันทวงศ์ เครือข่ายประชาสังคม ไทยเพื่อแม่น้ำโขง
"เปิดเขื่อนปากมูลน้ำจะแห้ง ใช้เพื่อปิดกั้นข้อเรียกร้องของชาวบ้าน”
“เปิดเขื่อนน้ำแห้งหรือไม่แห้ง อยู่ที่ว่าจะเอาอะไรมาวัด ซึ่งประเด็นการพิจารณา 1. ต้องดูระดับน้ำมูลกับระดับน้ำโขง ที่อ.โขงเจียม มีความสัมพันธ์ในลักษณะอย่างไร ซึ่งพบว่า ระดับน้ำมูล จะถูกควบคุมโดยแก่งตะนะ ซึ่งเป็นเสมือนฝายธรรมชาติ เป็นตัวคุมน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนทั้งหมด ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง
ขณะที่สัดส่วนของน้ำในแม่น้ำโขง ที่อ.โขงเจียม (มีนาคม 2553) มาจากจีน 38.80% ที่เหลือส่วนใหญ่ มาจากลำน้ำสาขาในลาว ฝั่งไทยแทบไม่มีน้ำไหลลงแม่น้ำโขงแล้ว รวมทั้งแม่น้ำมูลด้วย
2.ระดับน้ำมูลตั้งแต่จ.อุบลราชธานี ลงมาจนถึงปากแม่น้ำมูล จะลดระดับลงอย่างไร โดยพบว่า แก่งสะพือ คือฝายกั้นน้ำมูลตามธรรมชาติ ซึ่งจะรักษาระดับน้ำมูลขึ้นไปจนถึง จ.อุบลราชธานี
และ 3. ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการไหลของแม่น้ำมูล ที่จ.อุบลฯ ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเขื่อนปากมูล เท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนตอนบน ในลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง
โดยเฉพาะ ประตูน้ำแรกสุดที่กั้น น้ำมูลไว้ไม่ให้สู่ตัว จ.อุบลฯ คือ เขื่อนราษีไศล ข่าวแม่น้ำมูลแห้ง ก็เกิดจากเขื่อนราศีไศล ปิด ไม่เปิดน้ำเลย แล้วท้ายเขื่อนก็แห้ง แม่น้ำมูลก็แห้ง
ดังนั้น การปิดประตูเขื่อนราษีไศล คือ สาเหตุสำคัญของทำให้แม่น้ำมูลแห้งลงไปจนถึง จ.อุบลฯ
น้ำในหน้าแล้งจะไหลมาเท่าไหร่ อยู่ที่การปิดเปิดเขื่อนจากข้างบนด้วย หากมีการแกล้งกัน เปิดเขื่อนปากมูลอย่างไรน้ำก็แห้งแน่นอน ไม่ได้แห้งโดยธรรมชาติ
ผมคิดว่า ความรู้นี้มีอยู่ทั้งหมดแล้ว โดยสรุป เปิดเขื่อนปากมูล น้ำที่แห้ง คือน้ำเขื่อน แต่แม่น้ำมูล ไม่ได้แห้ง ก็จะกลับมาเหมือนในอดีต การใช้คำว่า เปิดเขื่อนปากมูลน้ำจะแห้ง นั้นใช้เพื่อปิดกั้นข้อเรียกร้องของชาวบ้าน”
นายประวัติ รัฐิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
“ปัจจุบันน้ำในแม่น้ำมูลเริ่มแห้งขอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าแล้ง ไม่มีน้ำเพื่อการเกษตรและน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งน้ำในแม่น้ำโขงตื้นเขินเนื่องจากการสร้างเขื่อนของประเทศจีน การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลนั้น ทุกฝ่ายควรมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและหาทางออก โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทุกฝ่ายเป็นสำคัญ”
นายชัยยุทธ โยธามาตย์ รองปลัดเทศบาลนครอุบลราชธานี
“หากมีการเปิดเขื่อนปากมูลถาวร จะส่งผลกระทบต่อประชาชนเหนือเขื่อนปากมูลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าแล้งจะไม่มีน้ำเพื่อการเกษตรและเพื่ออุปโภคบริโภค เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ด้วย การแต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลของคนในพื้นที่ โดยพิจารณาเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย”