‘ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร’ คนจนได้ประโยชน์หรือไม่
คนในสังคมเริ่มยอมรับกันแล้วว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นผลพวงของความไม่เป็นธรรมในหลายๆ ด้านสอดประสานมารวมกัน ทั้งด้านรายได้ และในด้านการจัดสรรทรัพยากร พูดเฉพาะทรัพยากร “ที่ดิน” ที่ถือเป็นฐานชีวิตและปัจจัยการผลิตสำคัญสำหรับทุกคนนั้น แค่เพียงเรื่องเดียว ก็นับได้ว่า มีการถือครองอย่างเหลื่อมล้ำมากที่สุด
ด้วยเพราะ “ที่ดิน” ส่วนใหญ่ ตกอยู่ในมือของคนเพียงส่วนน้อย เปิดดูได้จากข้อมูลของศูนย์อำนวยการต่อสู้เอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) เมื่อปี 2547 ที่ได้รายงานไว้ว่า
มีผู้ไม่มีที่ดินทำกินจำนวน 889,022 ราย
มีที่ดินทำกิน แต่ไม่เพียงพอจำนวน 517,263 ราย
มีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 811,279 ราย
ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ชัด ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ที่เห็นเด่นชัดที่สุด ด้วยเหตุนี้ ทำให้คณะกรรมการปฏิรูป ชุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน จึงได้กล้าเข้ามาจับประเด็นปัญหาความเดือดร้อน จนออกเป็นข้อเสนอเบื้องต้นเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งระบบ 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.ให้โอกาสและสิทธิคนจนต้องคดีที่ดินเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม 2.แก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ทำกิน หรือมีที่ดินไม่พอทำกิน
กล่าวโดยสรุป คณะกรรมการปฏิรูป มีการเสนอให้รัฐดำเนินการปฏิรูปใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ ปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตร ปฏิรูปการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร ปฏิรูปกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร ปฏิรูปการใช้ที่ดินเพื่อการ เกษตร และปฏิรูปการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร
ก่อนจะบอกกลยุทธ์การขับเคลื่อนข้อเสนอดังกล่าวด้วยว่า ให้เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินเพื่อการเกษตรแห่งชาติ และกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมาเสียก่อน ตั้ง “สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” เป็นเจ้าภาพหลัก
นอกจากนี้ ภายในระยะเวลา 3 เดือน ก็ให้จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมาโดยเร็ว ขณะที่งบประมาณก้อนแรก รัฐจะประเดิมปีแรกจำนวน 1 แสนล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการเพื่อการเกษตรสำเร็จลุล่วงต่อไป
ที่สำคัญที่สุดการปฏิรูปแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำ ในการจัดการที่ดิน เพื่อเกษตรกรของชาติที่ว่ามานี้ ยังต้องอาศัย พลังขับเคลื่อนจากภาคสังคม เพื่อให้ข้อเสนอต่างๆ นั้นนำไปสู่การปฏิบัติการลงมือแก้ปัญหา ซึ่งผู้คลุกคลีเรื่องที่ดิน มีหลากหลายมุมมองต่อข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป
“พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์” ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
"ความกล้าหาญของ คปร. ที่เสนอมาตรการจำกัดเพดานการถือครองที่ดิน ทำให้สังคมไทยมีความหวังมากขึ้น"
สำหรับปัญหา “ ที่ดิน” ในขณะนี้ เป็นปัญหาสูงสุดของเกษตรกรไทย และเป็นปัจจัยชี้ขาดว่า เกษตรกรจะดำรงอาชีพกสิกรรมต่อไปได้หรือไม่
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า รัฐเพิกเฉยละเลยปัญหาเหล่านี้มายาวนาน กระทั่งเกิดความขัดแย้งในสังคมวงกว้าง คนจนไร้ที่ทำกิน ต้องออกมาเดินขบวนประท้วง เพื่อแสดงตัวตนให้รัฐเห็นว่า พวกเขามีปัญหา ทุกข์ร้อน แต่สุดท้าย ไม่ว่าจะกี่รัฐบาล ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากทุกรัฐบาล ไม่มีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่แท้จริงในการแก้ปัญหาคนจน ประการสำคัญ นักลงทุน นักเก็งกำไรที่ดิน เจ้าของบริษัทธุรกิจทางการเกษตร หรือบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ล้วนเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองทั้งสิ้น กลไกและสถาบันทางสังคมจึงถูกควบคุม อีกทั้งคนจน เกษตรกร ก็ไม่มีอำนาจต่อรองมากพอที่จะต่อสู้ ฉะนั้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเช่นนี้ จึงทำให้คนจน คนรวยมีความเหลื่อมล้ำกันสูงมาก
"เกษตรไม่ต่ำกว่า 1 ล้านครอบครัวไร้ที่ดินทำกิน บางรายมีที่ดินก็จริง แต่ไม่เพียงพอ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคนอีกกลุ่มที่มีเพียงหยิบมือ แต่กลับถือครองที่ดินเป็นหมื่นๆ ไร่ และข้อเท็จจริงพบว่า มีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบจำนวนมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลจากระบบการถือครองที่ดิน ที่ปล่อยเสรี ไม่มีการจำกัด กอรปกับไม่มีระบบจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ทำให้ประเทศไทยไม่มีแนวทางในแก้ปัญหาเรื่องการถือครองที่ดิน ซึ่งแน่นอน ข้อเสนอของ คปร.จะช่วยแก้ไขปัญหาที่ดินในประเทศไทยได้ และความกล้าหาญของ คปร. ที่เสนอมาตรการจำกัดเพดานการถือครองที่ดิน
ทำให้สังคมไทยมีความหวังมากขึ้น และยังสร้างกฎกติกาใหม่ในสังคม โดยจัดสรรที่ดินให้เพียงพอต่อการทำเกษตร ส่วนที่เหลือก็แบ่งให้คนอื่นใช้บ้าง โดยจัดเก็บไปไว้ในธนาคารที่ดิน ไม่ใช่ปล่อยให้ที่ดินทิ้งร้างไร้ประโยชน์”
พันจ่าโทอุดร บุญช่วยแล้ว เครือข่ายปฏิรูปทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
"สำคัญกว่าการให้ที่ดิน คือ ต้องสอนให้เกษตรกรรู้จักบริหารจัดการที่ดินตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินเปลี่ยนมือ"
ข้อเสนอในการจำกัดเพดานการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรไม่เกิน 50 ไร่ต่อครัวเรือน สามารถลดการกระจุกตัว และเกิดการคายที่ดินในมือนายทุนผู้ถือครองได้มากพอสมควร และการซื้อที่ดินเพิ่มจะลดลง เนื่องจากจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ภาครัฐหรือภาคส่วนต่างๆ จะต้องทำการจัดสรรที่ดินโดยคำนึงถึงการพึ่งพาตนเองได้ มากกว่าเพื่อความร่ำรวย
ประเด็นที่สำคัญกว่าการให้ที่ดิน คือ มาตรการที่จะทำให้เกษตรกรรู้จักการบริหารจัดการที่ดินตนเอง โดยการให้ความรู้ เพื่อให้ที่ดินสามารถอยู่กับเกษตรกรต่อไปได้ รวมถึงการบริหารจัดการที่ดินให้เป็นประโยชน์ และเป็นธรรม ยังเป็นสิ่งที่เราขาดอยู่มากทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ปัจจุบัน เมื่อมีการเสนอชื่อรับที่ดิน ไม่ว่าจะในมาตรการไหน หรือของภาคส่วนใด คนที่มีฐานะเสนอชื่อเข้าไปรับที่ดินจำนวนมาก นับว่าเป็นการให้โดยไม่เป็นธรรม และส่งผลต่อเนื่องในการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์โดยไม่ได้เปลี่ยนชื่อ ที่มักเกิดขึ้นเสมอทั้งในที่ดินของราชพัสดุ หรือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ที่สุดท้ายก็เปลี่ยนมือไปเป็นของนายทุน และรัฐก็ยังจัดการไม่ได้
ดังนั้น กระบวนการที่จะมาคัดเลือกเกษตรกร หรือผู้ที่จะได้รับจะต้องเป็นธรรม และต้องไม่ลืมแก้ไขของเก่า รวมทั้งสร้างมาตรการในการควบคุม ดูแลเกษตรกรผู้รับที่ดินไปแล้วให้มีการใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
ส่วนการตั้งกองทุนธนาคารเพื่อการเกษตร ที่เป็นมาตรการเพื่อลดการกระจุกตัวการถือครองที่ดินด้วยว่า ควรที่จะใช้ ‘ระบบสหกรณ์’ ตาม แนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาบริหารจัดการ ให้คนที่จะได้รับการจัดสรรที่ดินรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง มีกิจกรรมที่ชัดเจน มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน และให้รู้จักการออมก่อน ไม่ใช่แค่การเข้าชื่อแล้วจัดสรรให้เปล่าๆ ไม่อย่างนั้นเกษตรกรก็จะไม่รู้คุณค่า และจะไม่สามารถที่ตรวจสอบอะไรเกษตรกรได้เลย
สำหรับการกำหนดขอบเขตการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร โดยที่ผู้ถือครองที่ดินดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ทำการเกษตรด้วยตนเองนั้น เป็นเรื่องที่เห็นด้วย แต่สำคัญที่ว่า จะมีมาตรการในการตรวจสอบอย่างไร ทั้งการตรวจสอบการเปลี่ยนมือ การใช้ที่ดินอย่างเกิดประโยชน์ที่ไม่ใช่การให้เปล่า เพราะจริงๆ มาตรการฝาแฝดเหล่านี้มีอยู่แล้ว แต่จะทำให้โปร่งใสได้อย่างไร และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอยู่จำนวนมาก ทำงานจริงจัง โปร่งใส เอื้อประโยชน์ต่อใครหรือไม่
ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว แต่พอขยับก็ล้มแล้ว เหมือนกับว่าพอโยนหินถามทางก็มีคนมาต้าน ดังนั้น 5 มาตรการที่ประกาศออกมาต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ม แข็งเข้ามาช่วยผลักดัน ซึ่งกลุ่มคนที่ร่วมผลักดันกันอยู่ตอนนี้ก็เป็นกลุ่มเดิมๆ ที่เห็นหน้ากันอยู่ประจำ ปัจจัยหนึ่งเพราะภาคประชาชนไม่มีทุนที่จะต่อสู้ในระยะยาวและต้องทำมาหากิน
ขณะที่ภาคส่วนที่จะขับเคลื่อนได้อย่างมีพลังมากที่สุด คือ สื่อมวลชน ที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างหนัก แต่ ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน เพราะสื่อเองก็มีปัจจัยติดขัดในการทำงานอยู่หลายข้อ หากสื่อกระเพื่อมแรง คนจะมีใจร่วมมากขึ้น แต่ถ้าสื่อไม่นำก็เท่ากับว่า ขับเคลื่อนกันอยู่แค่วงแคบๆ ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งก็จะตั้งหน้าตั้งตารอ โดยไม่ลุกขึ้นมาช่วยเหลือตนเอง เพื่อให้ภาคการเมืองขยับบ้าง
ขณะที่กระบวนการในส่วนของภาคการเมืองไม่ได้ยาก เพียงแต่เขาไม่ทำเอง ถ้าการเมืองขยับในสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว ประชาชนไม่จำเป็นต้องมาขับเคลื่อน รวมตัวกันขนาดนี้ มาตรการทั้ง 5 ข้อนี้ถ้าออกไป เชื่อว่า ประชาชน เกษตรกรถูกใจอยู่แล้ว แต่จะให้ชาวบ้านมาขับเคลื่อนโดยที่ภาคการเมืองไม่อนุมัติให้เกิดขึ้นก็ไม่มี ความหมาย
นายประยงค์ ดอกลำไย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ
"ตัว ชี้ขาดอยู่ที่ประชาชน หรือคนจนที่รับประโยชน์ ที่ต้องเร่งสร้างรูปธรรม ปฏิบัติการจริง ทำพื้นที่นำร่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สังคม"
สำหรับการจำกัดพื้นที่นั้น จะมีเรื่องปัจจัยทางกายภาพของแต่ละภาคเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นในแต่ละภูมิภาคอาจจะจำกัดไม่ถึง 50 ไร่ก็ได้ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกายภาพด้วย แต่ตัวเลขกลางที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอออกมา 50 ไร่นั้น ถือเป็นตัวเลขที่เหมาะสม เมื่อคำนึงถึงฐานทรัพยากร คือ ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์อยู่ในขณะนี้ แต่จะแก้ปัญหาได้หรือไม่อย่างไรก็เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางการเมืองด้วย
มาตรการในการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้านั้น จะต้องเป็นอัตราก้าวหน้าจริงๆ และเชื่อมโยงกับธนาคารที่ดิน เหมือนกับการทำฝนเทียม ที่เมื่อฝนตกลงมาเราก็คิดว่า ทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินจะได้ประโยชน์จากการกระจายนี้ แต่มันกลับกระจายไปสู่คนที่รวยกว่า ที่มีอำนาจการซื้อก็จะซื้อไว้
ฉะนั้น ถ้าจะให้คนจนหรือเกษตรกรสามารถเข้าถึงการกระจายที่ดิน จึงต้องมีธนาคารที่ดิน ที่ทำหน้าที่เหมือนตุ่ม หรือภาชนะที่ใช้กักเก็บน้ำฝนที่จะตกลงมาไว้จัดสรรและกระจายออกไปได้ นี่คือกลไกที่สำคัญของของธนาคารที่ดินที่จะตอบว่า คนจนจะเข้าถึงที่ดินได้อย่างไร
นอกเหนือจากกลไกการเข้าถึงที่ดินแล้ว กลไกที่จะทำให้เกษตรกรหรือคนจนที่ได้ที่ดินสามารถเก็บรักษาไว้ได้อย่าง ยั่งยืนก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องหามาตรการด้วย เช่นที่เครือข่ายปฏิรูปได้ทดลองทำในเรื่องระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินในลักษณะของ กรรมสิทธิ์ชุมชนหรือกรรมสิทธิ์ร่วม เช่นในกรณีตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่จัดพื้นที่ 1,800 ไร่ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของสมาชิกสหกรณ์ ทำให้ไม่สามารถไปจำหน่าย จ่าย โอน หรือแบ่งแยกเอกสารสิทธิ์นี้ออกไปได้ แต่สามารถเปลี่ยนมือได้ภายใต้กลไกของสหกรณ์ ส่วนคนที่จะมาใช้พื้นที่นี้ต้องเป็นเกษตรกร หรือต้องเข้ามาเป็นสมาชิกของสหกรณ์ และจะต้องประกาศมาตรการ การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมด้วย เพื่อให้ที่ดินไม่ถูกเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินไปเป็นอย่าง อื่น
ขณะนี้ เมื่อความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินเพิ่มขึ้น มีช่องว่างมากขึ้น ประชาชนระดับล่างได้รับความเดือดร้อน คนจนทั้งในเมืองและภาคการเกษตรจะกดดันภาคการเมืองและสังคม เพื่อทำให้ข้อเสนอนี้ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย แต่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด เพราะจะมีการต่อรองทางการเมือง ซึ่งปัจจุบันก็พบว่า มีนักการเมืองบางคนที่อยู่ในรัฐบาลก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยในการจำกัด เพดานการถือครองที่ดินแล้ว หลังจากที่ คปร. เสนอ 5 มาตรการออกไป
ในด้านความเข้มแข็งของภาคสังคม และภาคส่วนอื่นๆ ขณะนี้มีแต่ประชาชนชั้นล่างที่เริ่มเห็นปัญหา จากที่เคยมองว่าเป็นกรรมเก่า เนื่องจากได้รับข้อมูล ข้อเท็จจริงจาก คปร. ที่นำมาสู่ข้อเสนอนี้ ทำให้ประชาชนตื่นตัวและหันมาสนับสนุนมากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมที่จะเชื่อมโยงปัญหาที่อยู่อาศัยของคนในเมือง อย่างคนชั้นกลางระดับล่างที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัยด้วย
วันนี้ ตัวชี้ขาดอยู่ที่ภาคประชาชน หรือคนจนที่จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ ที่จะลุกขึ้นมาทำให้เป็นรูปธรรม เช่นเรื่อง ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เช่น ที่ 15 ชุมชน ในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน ทำอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้มากขึ้น ก็ตอบคำถามสังคมได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย จึงต้องเร่งสร้างรูปธรรม การปฏิบัติการจริงหรือนำร่องเพื่อที่จะทำให้เจตนารมณ์ของคณะกรรมการปฏิรูป ไม่เกิดการตั้งคำถามแบบลอยๆ หรือเกิดร้อยแปดคำถามจากคนไม่เห็นด้วย เพราะถ้าชาวบ้านจัดการได้จริง เป็นรูปธรรม ความเชื่อมั่นก็จะเกิดขึ้น คำถามก็จะน้อยลง
ดังนั้นก็ต้องจับตาดูว่า คปร. จะมีการปฏิบัติการเชิงรุกกับภาครัฐเพื่อให้ยอมรับข้อเสนอ 5 มาตรการนี้ที่ค่อนข้างตรงจุดปัญหาของภาคเกษตรกรแล้ว มาปฏิบัติและกำหนดเป็นนโยบายมากน้อยแค่ไหน รวมถึงเร่งรัดนโยบายที่มีอยู่แล้วให้เกิดเร็วขึ้น และประกาศใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจเกษตรกรมากขึ้น ไม่อย่างนั้นข้อเสนอของ คปร. ก็จะเป็นแค่กระดาษที่รัฐบาลจะฟังหรือไม่ฟังก็ได้”
นายกฤษกร ศิลารักษ์ สมัชชาคนจน (เขื่อนปากมูล)
"ปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะสำนึกของผู้ปฏฺิบัติและขยับกลไก ไม่เช่นนั้น มาตรการของ คปร. คงเป็นได้แค่แผนแม่บท"
การจำกัดเพดานการถือครองที่ดินที่ 50 ไร่ เป็นแนวคิดที่ถูกทิศทางอย่างยิ่ง แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนายทุนต้องออกมาต่อสู้แน่นอน ที่สำคัญ อาจนำไปสู่กระบวนการซุกซ่อนที่ดิน โดยให้ผู้อื่นถือครอง ฉะนั้น จะต้องมีมาตรการสกัดกั้นกระบวนการเหล่านี้ ขณะเดียวกัน จะต้องมีการปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะสำนึกของผู้ปฏิบัติ และขยับกลไก ไม่เช่นนั้น มาตรการของ คปร. คงเป็นได้เพียงแค่แผนแม่บท ที่ไม่มีกลไกขับเคลื่อน ในที่สุด รูปธรรมก็เกิดขึ้นยาก
ส่วนมาตรการเรื่องจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินนั้น คำถามคือ จะถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะขณะนี้ชาวบ้านมีแหล่งเงินทุนค่อนข้างมาก ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.) ธนาคารออมสิน หรือโครงการหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ซึ่งวิธีการใช้เงิน
ปัจจุบัน ส่งผลให้ชาวบ้านขาดวินัย อีกทั้ง แนวคิดกองทุนธนาคารที่ดิน อาจใช้ได้กับบางพื้นที่เท่านั้น แต่ถ้าคิดจะผลักดันถึงขั้นเป็นโมเดลของประเทศ จะต้องลงลึกในรายละเอียดมากกว่านี้
ยกตัวอย่างเช่น จากประสบการณ์พบว่า เมื่อชาวบ้านอยากได้ที่ดิน รัฐก็จัดสรรให้โดยง่าย ทำให้ชาวบ้านไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ เพราะตนเองไม่ได้ร่วมลงขัน ในที่สุด ที่ดินก็หลุดมือแบบง่ายๆ เช่นกัน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง ว่าจะให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร ส่วนคณะกรรมการที่จะเข้ามาบริหารกองทุน จะมีเกณฑ์การคัดเลือกอย่างไรให้เข้ามาบริหารกองทุนอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ตีราคาที่ดินของชาวบ้าน และของนายทุนในราคาเดียวกัน
นอกจากนี้ ข้อกังวลใจอีกเรื่องหนึ่ง คือการกำหนดพื้นที่เพื่อการเกษตร เพราะขณะนี้การตีความเรื่องพื้นที่การเกษตรว่า เป็นเกษตรเพื่อการยังชีพ ส่งออก หรืออุตสาหกรรม ยังไม่มีความชัดเจน แม้ในภาพรวมอาจเรียกได้ว่า มาตรการดังกล่าวเป็นความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาที่ดิน แต่ปัญหาที่ยังซับซ้อนมีรายละเอียดแฝงเร้น ข้อเสนอจึงต้องลึกและชัดเจนกว่านี้
อ่านข้อเสนอแนวทางปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่