ชำแหละ พรบ. ข้อมูลข่าวสารฯ 13 ปี ดีขึ้นจริงหรือ ?
นับจนถึงวันนี้ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ประกาศใช้มาครบ 13 ปี แล้ว ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า กฎหมายฉบับนี้ล้ำหน้ารัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 แต่หลายหน่วยงานยังคงไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ อีกทั้ง หลายต่อหลายคนก็ยังมีความเป็นห่วงวิตกกับเนื้อหา ข้อบังคับ นิยามความหมายนานาประการที่อาจส่งผลให้ไม่สามารถใช้ได้จริง บ้างก็ติติง ยังไม่มีความสมบูรณ์ บ้างก็วิจารณ์ว่า ยังตกอยู่ในห้วงอำนาจของฝ่ายบริหาร....
แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริง คือ มีผู้ขอใช้สิทธิตามกฎหมายนี้มากมาย ขณะเดียวกันจำนวนคำอุทธรณ์ คำวินิจฉัยจากคณะกรรมการข้อมููลข่าวสารก็ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในสมุดเล่มหนา คำถามคือเมื่อมีคำอุทธรณ์ คำวินิจฉัยจำนวนมากมายออกมา นั่นหมายถึงกฎหมายดังกล่าวประสบความสำเร็จ หรือยังไม่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ?
ลองไปฟังมุมมองผู้บริหารหน่วยงานรัฐ ราชการ นักการเมือง คนในแวดวงสื่อสารมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง กับการทำงานตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้
นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์
“ในขณะที่โลกเทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้า แต่ราชการกลับนิยมเปิดเผยข้อมูลผ่านแฟ้มเอกสาร”
แรกเริ่มเจตนารมณ์ของกฏหมายฉบับนี้ต้องการให้ 'เปิดเผย' มากกว่าที่จะ 'ปิดบัง' ซึ่งข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในการครอบครองของราชการ ส่วนใหญ่มักถูกปิดบังไว้ก่อน เพรากลัวจะมีผลกระทบ หรือทำให้เกิดผลเสียหายต่อหน่วยงาน ซึ่งควรจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือจัดสัมมนาทำความเข้าใจร่วมกันใหม่ ว่า แท้ที่จริงแล้วข้อมูลข่าวสารในส่วนราชการมีหลายระดับ มีทั้งข้อมูลที่ประชาชนควรรู้ ประชาชนต้องรู้ หรือประเภทวินิจฉัยก่อนว่าจะเปิดเผยหรือไม่กับใคร ดังนั้นควรจัดประเภทลำดับความสำคัญไว้ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ที่พร้อมทำความเข้าใจรับผิดชอบจะให้การทำงานง่ายขึ้น
ในขณะที่โลกเทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้า แต่ช่องทางในการเปิดเผยข้อมูลของทางราชการกลับมีน้อยนิด ซึ่งที่นิยมมากที่สุดดูเหมือนจะเป็นแฟ้มเอกสารในตู้ ใครอยากได้อะไรก็ไปค้นหาเอา ทั้งที่ความเป็นจริงทุกหน่วยงานมีเว็บไซต์ แต่ไม่เคยคิดนำข้อมูลเหล่านี้ไป เผยแพร่ นอกจากนั้น ยังพบว่าไม่ครอบคลุมผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือประชาชนในท้องถิ่นชนบทห่างไกล
กฏหมายข้อมูลข่าวสาร ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะทำให้ทุกหน่วยงานร่วมกันเปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จะต้องคิดต่อยอดไปให้ถึงขั้นที่ว่า นำสิ่งเหล่านี้ไปบรรจุไว้ในแผนชี้วัดความสำเร็จของการทำงาน เพื่อเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค พรรคเพื่อไทย
“ยุคที่ผ่านมากฏหมายยังตกอยู่ในอำนาจฝ่ายบริหารมากกว่าตกอยู่ในมือของประชาชน”
ใน ฐานะฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ตามเจตนารมณ์มาตรา 11 ของกฏหมายฉบับนี้หวังว่าจะให้ประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ของรัฐให้ความร่วมมือกับประชาชนในการส่งเสริมให้เกิดธร รมาภิบาลในหน่วยงานต่างๆ และที่สำคัญเป็นการส่งเสริมให้รู้จักใช้สิทธิเสรีภาพเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
แต่หากมีการให้คะแนนกันในด้านการความให้ร่วมมือกับประชาชนนั้น ส่วนตัวคิดว่า คะแนนเต็ม 10 อาจจะได้สัก 5 คะแนน เนื่องจากที่ผ่านไม่เคยได้รับความร่วมมือแม้แต่น้อย
ยกตัวอย่าง กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา มีประชาชนหลายคนที่มาขอให้ฝ่ายค้าน เข้าไปตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ตามสิทธิตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร ปรากฏว่า เวลาผ่านไป 3 – 4 เดือนก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ ทั้งที่กฏหมายระบุไว้ว่า ภายใน 15 วัน หน่วยงานราชการต้องชี้แจงให้ทราบว่าไม่สามารถให้ข้อมูลได้เพราะเหตุใด
รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการ มักเลือกที่จะเปิดเผยข้อมูลเพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือข้อมูลพื้นฐานเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับข้อมูลที่คาดว่าจะมีประเด็นเงื่อนงำส่อเค้าทุจริต หรือมีผลกระทบกับการบริหาร มักไม่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูล มิหนำซ้ำยังเก็บเงียบ ไร้ซึ่งการชี้แจงทุกประการ สะท้อนให้เห็นว่า พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารในยุคที่ผ่านมายังตกอยู่ในมือของอำนาจฝ่ายบริหาร และผู้กำกับหน่วยงานราชการมากกว่าตกอยู่ในมือของประชาชน
นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
“คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารต้องให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคมมากขึ้น สร้างกลไกเชื่อมต่อภาครัฐ”
ไม่ว่าจะเป็นกลไกตามบัญญัติกฏหมายข้อมูลข่าวสาร องค์กรที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร หรือสำนักงานวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารก็ดี หน้าที่สำคัญอันดับแรกคือ การทำให้แน่ใจว่าข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อประชาชนได้ถูกนำไปสร้างโอกาสใน การรับรู้ได้หรือไม่
ตัวอย่างเช่น กฏหมายหลายส่วนซึ่งได้บัญญัติว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ขณะเดียวกันในทางปฏิบัติกลับทำไม่สำเร็จ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารอาจต้องขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ประการที่หนึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้การทำงานของรัฐที่เกิดขึ้นจริง เช่น สัญญาจัดซื้อจ้างในระดับ 5 ล้านบาทขึ้นไป กระทรวง ทบวง กรม ต้องนำลงไปในพื้นที่ให้ประชาชนตรวจสอบ ซึ่งควรกระทำอย่างน้อย 2 แห่ง คือ อำเภอ และชุมชนผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อการแก้ปัญหางบประมาณที่บานปลาย อาจกำหนดในสัญญาจ้างว่าเป็นภาระของผู้รับจ้าง หรือมีมาตรการระบุโทษไว้ ในระดับจังหวัดควรมีการทำระบบบัญชี เผยแพร่สู่ประชาชนให้รับทราบ รวมถึงจัดตั้งศูนย์ข้อมูลพื้นที่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้กระบวนการตรวจสอบเข้มข้นขึ้น
ปัญหาการตรวจสอบเป็นสิ่งที่กัดกินสังคมไทยมายาวนาน อันส่งผลให้เกิดความไม่โปร่งใส แม้กระทั่งปัจจุบันที่มีการปลุกกระแสปฏิวัติยึดอำนาจ หรือรวมตัวประท้วงก็มีเหตุผลมาจากความไม่โปร่งใสเช่นกัน ฉะนั้นการที่รัฐจะลงทุนเรื่องนี้เป็นการทำให้ระบบการเคลื่อนไหวด้านข้อมูล ข่าวสารมีโอกาสรับรู้นั้นมีรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น
ถัดมาเป็นเรื่องของการสนับสนุนบทบาทในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง อย่างเช่นการทุจริต หรือประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่ประชาชนเคยเสนอให้องค์กรของรัฐใช้กลไกติดตามประเมินผลเรื่อง เหล่านี้ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ดี แต่กฏหมายข้อมูลข่าวสารกลับไม่สนับสนุนให้เกิดกลไกตรงนี้ขึ้น ปัญหาหลังจากนี้คือจะขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นได้อย่างไร
การเคลื่อนไหวของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร อาจต้องให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคมมากขึ้น เพื่อค้นหาอุปสรรคในเชิงข้อมูล และนำมาแก้ไขให้เกิดกลไกเชื่อมต่อกับภาครัฐ โดยเฉพาะการรายงานการปฏิบัติของเจ้าพนักงานต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร พร้อมการนำข้อมูลออกมาเผยแพร่สู่สังคมเป็นระยะๆ จะช่วยสร้างความตื่นตัว และเปลี่ยนทำให้ทัศนคติของหน่วยงานเปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างมีพลัง
นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“กฏหมายข้อมูลข่าวสารฯ จะมีชีวิตชีวา หากไม่เป็นเพียงการเขียนตัวหนังสือลงในกระดาษ ”
กฏหมายนี้พยายามตอบโจทย์เรื่องความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลของ สังคมไทยนั้นมีอยู่จริง โดยเฉพาะในข้อมูลที่รัฐครอบครองอยู่ ในอดีตเรามักเข้าถึงข้อมูลโดยผ่านระบบอุปถัมภ์ ผ่านตัวบุคคล ใครมีเส้นสายมากกว่าก็เข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า แม้จะเป็นเวลากว่า 13 ปีที่มีกฏหมายข้อมูลข่าวสารขึ้น ก็จะพบว่า ผู้ที่ด้อยโอกาสต่างยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เช่นเคย เนื่องจากบริบทของกฏหมายบัญญัติไว้ว่า การเข้าถึงข้อมูลนั้นประชาชนต้องตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพของตนเอง ซึ่งเชื่อว่าชาวขา คนชายขอบ ก็คงไม่รับรู้สิทธิของตนเองเช่นกัน
ดังนั้นต้องเสริมหนุนให้ภาคประชาชนให้มีความตื่นตัว ตระหนักและรับรู้สิทธิของตนเองว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารต้องหากลไกมาจัดการ ไม่ใช่เพียงแต่เขียนบัญญัติไว้ว่า “เข้าถึง” ได้เพียงอย่างเดียว
ในระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา คำวินิจฉัย ที่เกิดขึ้นโดยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น ล้วนแล้วแต่มีสาระความรู้ทั้งสิ้น ควรมีวิธีบริหารจัดการนำคำวินิจฉัยเหล่านั้นสังเคราะห์ออกมาให้เกิดเป็นองค์ ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยพัฒนาทางการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้
เรื่องที่สมควรจะทำให้เกิดขึ้นในประการต่อมาคือ ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น รายงานระบุสารพิษในพืชและอาหาร หรือผลกระทบการปนเปื้อสารพิษในสารภาพแวดล้อม เนื่องจากเป็นปัญหาที่ขัดแย้งอย่างใหญ่หลวงในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้ควรเป็นข้อมูลที่ประชาชนสามารถเข้าได้ถึงได้เร็ว และมากที่สุด เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยรักษาชีวิตคนในพื้นที่ และทำให้สถานภาพขององค์ข้อมูลข่าวสารเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้ควรมีการออกระเบียบ กฏเกณฑ์ หรือระบุโทษทางวินัย เพื่อสร้างความร่วมมือของหน่วยงานอย่างเคร่งครัด และหากต้องการให้กฏหมายข้อมูลข่าวสารดูมีชีวิตชีวา ต้องมีกลไกทำให้ประชาชนเห็นว่าได้รับสิทธิอะไรบ้าง เพราะเป็นเพียงการเขียนตัวหนังสือลงในกระดาษ แต่ไม่เกิดการบังคับใช้จริง ก็คงไม่มีความหมาย
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
“13 ปีมีคำอุทธรณ์ คำวินิจฉัย เกิดขึ้นมากมาย นั่นหมายถึงประสิทธิภาพในการเปิดเผยข้อมูลยังเป็นปัญหาใหญ่”
แม้จะมีการบังคับใช้กฏหมายมากกว่า 13 ปี แต่ก็ยังไม่แน่ใจสามารถบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ จากการสังเกตพบว่า คำวินิจฉัยของกรรมการข้อมูลข่าวสารนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนไม่สามารถแยกแยะประเด็นที่เป็นสาธารณะส่วนตัว หรือตนเองเป็นผู้ถูกกระทำได้ โดยเฉพาะการผิดระเบียบวินัยซ้ำๆ ก็ไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นบรรทัดฐาน ปัจจุบันหน่วยงานเหล่านี้กลับมีความคิดล้าหลัง เพียงแค่ข้อมูลการประชุมคณะกรรมาธิการยังไม่ได้รับการเปิดเผย
ตามมาตรา 9 ตอนหนึ่งกล่าวว่า บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีสิทธิขอตรวจดูข้อมูลได้นั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในทางกลับกันเนื้อหาสาระที่จำเป็นจะต้องเปิดเผยนั้น ยังมีความครอบคลุมไม่เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมามีแต่ข้อบัญญัติให้เปิดเผยเพียงเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ราชการต้องร่วมทุนกับเอกชนเพียงเท่านั้น ทั้งที่ควรจะมีอีกหลายประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ
เช่น กรณีการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือครองที่ดิน แม้จะเป็นเรื่องของบุคคล แต่ต้องคำนึงถึงด้วยว่า ที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัด แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างกรมที่ดินกลับมีมาตรการ “ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่มีทางเปิดเผย” เหล่านี้ควรให้อำนาจประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล คงไม่ต้องรอให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีก่อน ถึงจะรู้ว่าถือครองที่ดินไว้เท่าไหร่ นั่นอาจรวมถึงการเปิดเผยรายชื่อเจ้าของทะเบียนรถยนต์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม เนื่องจากรถยนต์สามารถใช้ก่ออาชญากรรมได้ หากทำมาตรานี้ให้สมบูรณ์ จะก่อให้เกิดการทำงานในเชิงรุกที่ชัดเจน
การสร้างขั้นตอนที่ยืดเยื้อยาวนานเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมากฏหมายกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายใน 30 วัน แต่สถานการณ์จริงกินเวลาเป็น 2 - 3 เดือน ทำให้เกิดต้นทุนในการขอข้อมูลที่สูงมาก ซึ่งควรจัดระบบใหม่ให้เหมือนรูปแบบงานธนาคาร ที่เข้ามากรอกข้อมูลขอเอกสาร ก็รอรับได้ทันที เว้นแต่ว่าเป็นกรณีที่มีความอ่อนไหว หรือคาดว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศชาติ จึงทำเรื่องอุทธรณ์ขึ้นมา ทั้งนี้ตัวบ่งชี้ตัวหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นล้มเหลวคือ 13 ปีที่ผ่านมามีคำอุทธรณ์ คำวินิจฉัยเกิดขึ้นมากมาย นั่นเท่ากับว่าประสิทธิภาพในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทุกหน่วยงานนั้นยัง เป็นปัญหาใหญ่
ในขณะเดียวกันการบังคับใช้กฏหมายข้อมูลข่าวสาร ควรแก้ไขให้มีความครอบคลุมมากขึ้น โดยดูจากเนื้อหาของข้อมูลข่าวสารนั้น อย่างเช่น กรณี ทรู คอร์ปอเรชั่น เข้าซื้อกิจการโทรศัพท์มือถือของบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส หรือฮัทช์ แม้จะเป็นการทำธุรกิจของภาคเอกชน แต่ตัวสินค้าเป็นโครงข่ายบริการสาธารณะ ที่มีผลกระทบกับสังคมวงกว้าง ประชาชนควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับรู้รับทราบข้อมูลเหล่านี้
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ทัศนคติของราชการยังไม่เปลี่ยน ยังกลัวที่จะให้ข้อมูลแล้วเกิดผลกระทบกับการทำงาน หรือเพิ่มภาระหน้าที่เกินความจำเป็น”
เมื่อกฏหมายข้อมูลข่าวสารฯ ปรากฏขึ้นในสังคมไทย มีผลกระทบทำให้ระบบราชการรู้จักตนเองดีขึ้น ซึ่งความเป็นจริงประการหนึ่งคือกฏหมายข้อมูลข่าวสารของไทย เป็นกฏหมายที่เปิดกว้างต่อสังคมมากที่สุดในโลก คือประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากมาย และมีข้อจำกัดข้อห้ามน้อย
แต่ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฏหมายกลับเป็นปัญหาใหญ่มากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน โดย เฉพาะนิยามความหมายของหน่วยงานที่จำเป็นต้องให้ข้อมูลนั้นยังไม่ชัดเจน บางครั้งหน่วยงานภาคเอกชนไม่ควรจะถูกกฏหมายฉบับนี้บังคับไปด้วย ซึ่งส่งผลให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารตีความผิดจากคำนิยามที่ ไม่ชัดเจน อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลบางส่วน
อีกทั้งทัศนคติของหน่วยงานราชการยังไม่เปลี่ยนแปลง หลายฝ่ายเกรง ว่า เมื่อให้ข้อมูลไปจะก่อให้เกิดผลกระทบกับการทำงานของตน หรือเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่เกินความจำเป็น ทำให้หลายฝ่ายแทนที่จะเลือกเข้าสู้เพื่อแก้ปัญหา กลับเลือกดองกฏหมายทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น
ดังนั้นในทศวรรษที่ 2 ต้องชี้แจงให้ผู้บริหาร และหน่วยงานราชการ ทราบถึงประโยชน์ในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันหลาย ฝ่ายเสนอให้ระบุโทษหากหน่วยงานราชการไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย ถือว่าเป็นมาตรการที่เด็ดขาดเกินไป โดยส่วนตัวเห็นว่า หากปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวผู้บริหารได้แล้ว จะส่งผลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามไปโดยปริยาย
ทั้งนี้อาจมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขในกฏหมายข้อมูลข่าวสารฉบับนี้ ทั้งเรื่องสำนักงานที่ตั้งชัดเจน กระบวนการวินิจฉัยอย่างเป็นธรรม และถูกต้อง รวมถึงการร่างกฏหมายข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ที่จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับกฏหมายฉบับนี้