ปฏิรูปสื่อในสายตานักนิเทศศาสตร์
นานมากแล้วที่เราพยายามปฎิรูปสื่อ โดยเฉพาะ “ปฏิรูปสื่อกับสังคมไทย” สำหรับภาควิชาการแล้ว ถือเป็นคำที่คุ้นเคยและได้ยินมานาน หากตัดเฉพาะนักวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์ มุมมองที่มีต่อแนวทางการปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปประเทศ ทำอย่างไรจะช่วยพลิกบทบาทสื่อให้นำไปสู่การสร้างสังคมที่เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำลงได้
ในเวทีประชุมวิชาการทางนิเทศศาสตร์ จัดโดยสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อไม่นานมานี้ มีทัศนะของนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชน ที่มีต่อการปฏิรูปสื่อ ที่น่าสนใจ
ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะผู้ทำวิจัย ภายใต้กรอบแนวคิด “ภาควิชาการกับการปฏิรูปสื่อ”
“คำว่าปฏิรูปสื่อ เป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยครั้ง ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ในต่างประเทศมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย โดยมีข้อมูลประเทศที่ประสบกับปัญหาการปฏิรูปสื่อที่แตกต่างกัน ทั้งที่อังกฤษ และสหรัฐฯ ก่อนจะเจาะมาที่ประเทศไทยเรา ซึ่งในระดับสากล หลายประเทศก็อ่อนไหวกับการทำงานของสื่อ เจ้าของสื่อ โครงสร้าง และเนื้อหาที่สื่อนำเสนอเช่นเดียวกัน
สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่า วิกฤติสื่อใกล้ชิดแนบแน่นกับวิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ยุค 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ ยุคนั้นสื่อกระแสหลักมีจำนวนไม่มาก เรามาเห็นเหตุการณ์ชัดเจนขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ พฤษภาฯ 2535 ที่ชนชั้นกลางมีบทบาทสูง เกิดม็อบมือถือ ขณะที่โครงสร้างสื่ออยู่ในมือรัฐเป็นส่วนใหญ่ทำให้การรับรู้ มีข้อจำกัด
ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์ในบ้านเรา ไม่เป็นประเด็นมากนัก ยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อภาคสนาม ขณะที่องค์กรสื่อก็ต้องมีการทบทวนเรื่องโครงสร้าง โดยเฉพาะหัวข้ออมตะ การปล่อยให้สื่อกระแสหลักเป็นของประชาชน ยังคงต้องเรียกร้องกันต่อไป
การปฏิรูปสื่อยุคนี้มีความท้าทายจาก สื่อชุมชน และสื่อใหม่ วิกฤติการเมืองที่ผ่านมาสื่อชุมชน ทั้งวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม มีบทบาทสำคัญ ต้นตอมาจากภูมิภาค เพราะสื่อชุมชนยึดโยงกับท้องถิ่น ขณะเดียวกันสื่อใหม่ อย่างอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ โทรศัพท์มือถือ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ ก็มีเสรีภาพล้นเหลือ แต่ใช้อย่างขาดคุณธรรมบ้าง ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองบ้าง รวมทั้งขาดเจ้าภาพการบริหารจัดการอย่างแท้จริง อีกทั้งการที่รัฐเข้าแทรกแซงสื่อ เช่น การสั่งปิดเว็บไซต์ก็จะพบว่า ยิ่งปิดยิ่งเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ซึ่งแนวทางแก้ไข ควรใช้เรื่องจริยธรรมเข้ามากำกับการใช้เสรีภาพที่มากเกิน และควรมีเจ้าภาพ มีกฎหมายรับรอง โดยเฉพาะกับสื่อใหม่ ให้ความรู้แก่พลเมืองแทนการไล่ปิดกั้นสื่อ”
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
“โครงสร้างสื่อเก่าก็ยังเป็นปัญหา ยังเจอพายุสื่อใหม่ สื่ออินเตอร์เน็ต ทำให้วิกฤตซ้อนวิกฤติ ที่ผ่านมา ภาควิชาการเข้ามามีส่วนร่วมน้อย ดังนั้นนักวิชาการควรลงจากหอคอยไปสัมผัสของจริง จับมือกับองค์กรวิชาชีพ และภาคประชาสังคม ทำให้โครงสร้างสื่อหลุดจากมือของรัฐ และทุนใหญ่
สถาบันวิชาการสามารถช่วยเสริมปฏิรูปสื่อได้ด้วยการสร้างพลังในการตรวจสอบสื่อในภาคประชาสังคม นักวิชาการช่วยประสานงาน ร่วมกันเฝ้ามองตรวจสอบสื่อเอง
สื่อชุมชน หลายคนอาจมองภูมิประเทศ แต่วันนี้สื่อใหม่ สื่อชุมชนเข้ามาไม่ได้เกาะเกี่ยวประเด็นชุมชนพื้นที่เท่านั้น แต่เกาะเกี่ยวชุมชนในเชิงประเด็นทางการเมือง สุขภาพ ธรรมะ ด้วยขยายวงออกไปมากมาย สื่อใหม่กระจัดกระจาย ผมเลยเป็นห่วงมากคือ เมื่อเราพูดคำว่า เจ้าภาพ กลัวคนตีความผิด ว่า ต้องตั้งองค์กรใหม่เข้ามาควบคุมดูแลอีก เราไม่ต้องการมีองค์กรใดเกิดขึ้นมาควบคุมอีกแล้ว แต่สื่อน่าจะควบคุมตัวเองให้มากขึ้น โดยให้ภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมตรวจสอบ เชื่อว่าจะสร้างความเข้มแข็งให้กับสื่อในประเทศได้มากขึ้น”
ดร.สมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
“สังคมไทยเป็นสังคมพวกพ้อง เครือญาติ อยู่อย่างนี้ค่อยๆ ปฏิรูปไปสักวันคงจะเห็นผล โดยเฉพาะสื่อท้องถิ่น สื่ออินเตอร์เน็ต ในอนาคตจะมีบทบาทอย่างมาก
ขณะที่การแสดงความคิดเห็นควรเปิดเสรีจะเป็นการดีที่สุด ให้เสรีกับสื่อวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ ให้เหมือนๆ กับสื่ออินเตอร์เน็ต รัฐไม่ต้องไปไล่ปิดเว็บ เชื่อว่า โลกแห่งความเป็นจริงจะปรากฏขึ้นเอง คนไทยจะได้เรียนรู้”
รศ.ดร.พีระ จิรโสภณ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“สื่อกับจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ของเราถอยหลังเข้าคลอง จิตสำนึกสาธารณะ จิตสำนึกเพื่อชาติไม่ค่อยมี ใช้เสรีภาพ เรียกร้องเสรีภาพ แต่ไม่เคยคิดใช้เสรีเพื่อสังคมอย่างไร
วันนี้สื่อเองไม่เชื่อมีปัญหาต้องปฏิรูป โดยเฉพาะนักวิชาชีพสื่อ จะไม่เชื่อนักวิชาการง่ายๆ ดังนั้นต้องแสดงข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็น โดยนักวิชาการต้องพูดอย่างมีเหตุผล มีหลักฐาน งานวิจัย สิ่งที่เป็นปัญหาสื่อต้องปฏิรูป สิ่งที่ควรเป็นในบทบาทสื่อที่ควรปฏิรูป มายืนยัน มิใช่การวิจารณ์สื่อเอามัน สื่อจะไม่เชื่อ
ปัญหาสื่อมีมากและกว้าง ทั้งโครงสร้างของสื่อ ปัญหาการรับสาร โดยเฉพาะการรับรู้ข่าวสารเป็นปัญหาสำคัญ ทำอย่างไรให้คนไทยมีสติ ในการรับรู้ข่าวสาร ไม่หูเบา รับสารอย่างไม่มีอคติ ซึ่งหากเราไม่มององค์ประกอบผู้รับสารด้วยก็ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง”
รศ.ดร.สุรัตน์ เมธีกุล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก ประธานสมาคมวิชาชีพนิเทศศาสตร์ฯ
“จะปฏิรูป กรอบต้องชัดเจน กระแสการสื่อสารยุคโลกาภิวัตน์ เสรีภาพ พื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ คาบเกี่ยวและทับซ้อนกัน จึงไม่แปลกใจอิสระทางความคิด
ปัญหาประเทศไทย ระหว่างสังคมเมืองกับชนบทเป็นปัญหาที่เรากำลังแก้ โดยการไปสร้างระบบ สร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชนและภูมิภาค ซึ่งสื่อภาคประชาชนเป็นสิ่งหนึ่งที่เร่งให้เกิดความสมดุลทางด้านข้อมูลข่าวสาร การทำงานด้านปฏิรูปสื่อต้องจับปัญหาเพื่อให้ขับเคลื่อนได้ง่าย”
รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
“ปฏิรูปสื่อปฏิรูปประเทศ ส่วนใหญ่มองไปที่สื่อวิชาชีพ แต่ปัญหา คือสื่อภาครัฐที่เป็นประเด็น เพราะกลไกโครงสร้าง ยิ่งปฏิรูปยิ่งยุ่งเหยิง ซึ่งในส่วนของนักวิชาการ อาจารย์ที่ผลิตบุคลากรด้านสื่อ ถึงเวลาต้องมองพวกเรากันเองบ้าง ต้องปฏิรูปเชิงวิชาการ การพัฒนาต้องมีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะระบบการศึกษาป้อนคนเข้าสู่ตลาดด้วย สอนให้เชื่อมโยงในห้องเรียนและนอกห้องเรียน
เรากำลังสร้างคน ไม่ให้คิดมาก แล้วแต่จะสั่ง เห็นชัดจากผลการสำรวจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยอ่าน แต่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญ อันนี้ตอบโจทย์ที่ว่า คนไทยสามารถแสดงความเห็นได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีความรู้ ไม่ต้องรู้เนื้อหาให้ถ่องแท้
เพราะสังคมไทยเป็นสังคมความเห็นมากกว่าความรู้ อิทธิพลสื่อมีบทบาทอย่างยิ่งกับวิธีคิด แนวคิด พฤติกรรมการรับสาร มีอิทธิพลมากกว่าอาจารย์ที่สอนในห้องเรียน
เป็นไปได้หรือไม่ หากนักวิชาการจะร่วมครรลองปฏิรูปสื่อ เพื่อให้สื่อในวิชาชีพมีความเป็นเนื้อหนัง ให้ประเด็นในเชิงสร้างสรรค์ การสร้างคิดวิเคราะห์ให้กับประชาชน พวกเราควรต้องทำอย่างไรกันบ้าง ซึ่งการคิดวิเคราะห์เป็นต้องเริ่มจากห้องเรียน
ทุกวันนี้เราสอนหนังสือ หรือเราสอนคน จุดอ่อนอยู่ที่ระบบการศึกษาของวิชานิเทศศาสตร์ การพัฒนาคนต้องมีความต่อเนื่อง มีการพัฒนา แต่การศึกษาบ้านเรา เวลานี้หลักสูตรจำกัดกรอบด้วยเกณฑ์ต่างๆ มากมาย จนไม่มีเวลาขยับเขยื้อนไปสู่เป้าหมายของวิชาชีพ ยิ่งมีกรอบเข้ามาเท่าไหร่ เราก็กำลังสร้างคนไม่ให้คิดมากเท่านั้น
ดังนั้น ปฏิรูปสื่อจะสัมฤทธิ์ผลได้ ต้องทำคนให้มีคุณภาพ แล้วสื่อจะมีคุณภาพ ในระบบการเรียนการสอนก็ควรให้พื้นที่ การสอนวิชาเขียนข่าว ส่งเด็กให้นั่งฟังสัมมนา หัดเขียนข่าว เป็นต้น เพราะความเป็นนิเทศศาสตร์ ไม่ใช่แค่หลักสูตร แต่ต้องเน้นคุณภาพคนในสื่อด้วย
ขออย่าให้เป็นรายงานข่าวน้ำท่วมก็ต้องไปยืนบนน้ำให้เห็นว่าฉันยืนบนน้ำท่วมจริงๆ ทุกๆ ช่อง ก็ต้องทำแบบนี้ ใส่เสื้อกันฝน รองเท้าบู้ท ถามว่า นี่ใช่เนื้อหาหรือไม่ ต้องช่วยกันคิด อาจจะดีก็ได้ อาจจะไม่ดีก็ได้ นักศึกษาเราคิดได้หรือไม่ว่า ส่วนไหนคือสาระ ส่วนไหนคือกระพี้ แล้วพวกเขาต้องทำอย่างไร
หากสื่อไม่รู้จักการคิดวิเคราะห์ ก็จะได้สื่อแบบทุกวันนี้ เกิดสังคมทะเลาะกัน เผยแพร่ นำเสนอคลิป โดยไม่ต้องมีการวิเคราะห์กลั่นกรองความเหมาะสมก่อน สร้างความขัดแย้งให้กับสังคม
คนหูเบาในเมืองไทยมีเยอะมาก ไม่ใช่เบาโดยไม่รู้ แต่ต้องหูเบาเพราะไม่มีอะไรมาให้เลือก ไม่มีข้อมูลมาเปรียบเทียบได้
ทุกวันนี้สื่อกลัวตกข่าว แต่คำว่า ตกข่าว ความหมายล้ำลึกกว่านั้น พวกเราไปตีความว่า ตกข่าวคือ เขามี เราไม่มี เลยต้อง Copy ตามแบบกัน ซึ่งถ้าคนในสื่อขาดสติในทางวิชาชีพ เชื่อว่า ก็ไม่สามารถปฏิรูปสื่อได้ ปฏิรูปได้อย่างเดียวคือปฏิรูปตัวบทกฎหมาย ปฏิรูปหมดยกเว้นตัวเองไม่ปฏิรูป”
ตารางเปรียบเทียบภาพแนวทางการปฏิรูปสื่อ ในทัศนะของนักวิชาการฯ
จากรายงานผลการศึกษา โดยผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว นายบวรสวรรค์ เจี่ยดำรง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
แนวทางแก้ไขต่อสภาพปัญหา |
การปฏิรูปสื่อแยกตามประเภท |
||
(ก) สื่อมวลชน |
(ข) สื่อชุมชน |
(ค) สื่อใหม่ |
|
1.เสรีภาพ |
ควรปฏิรูปความเป็นเจ้าของสื่อจากรัฐสู่ประชาชนอย่างแท้จริง |
ควรมีเจ้าภาพรับผิดชอบในการบริหารจัดการในการก่อตั้งที่ชัดเจน เช่น การออกใบอนุญาต หลักการ เนื้อหา โฆษณา รายได้ |
ปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรมในการใช้งาน |
2.บทบาทภาระหน้าที่ |
บทบาทที่อยากเห็นในปัจจุบัน (1) ประสานสังคม (2) เป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น |
รับใช้ชุมชน โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน |
สร้างแนวทางที่ชัดเจน |
3.ความรับผิดชอบ |
ควรมีแนวทางปลูกฝังจริยธรรมความเป็นมืออาชีพอย่างต่อเนื่อง |
รับผิดชอบต่อชุมชน |
ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการใช้งาน |
4.กระบวนการขั้นตอนการทำข่าว |
ควรกลั่นกรอง/ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวอย่างรอบด้าน |
มีการอบรมการทำงานด้านข่าวจากสื่อมืออาชีพ |
ทำงานข่าวโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม กำกับโดยคุณธรรม |
5.การนำเสนอเนื้อหา/ข่าวสาร |
นำเสนอเนื้อหาที่มีสาระและควรมีมาตรการควบคุมโฆษณาแฝง SMS เสนอข่าวตามความจริง |
เกษตร สังคม วัฒนธรรมในชุมชนนั้น เนื้อหาในท้องถิ่น |
ให้ความรู้แก่ประชาชนในการเสพสื่อ ตรวจสอบข่าวสารจากหลายแหล่งข่าวก่อนเชื่อ |
6.ความคุ้มครอง/สวัสดิภาพในการปฏิบัติงาน |
ระดับนโยบาย อบรมการทำข่าวในพื้นที่เสี่ยงภัย ควรมีกองทุนพิเศษ เช่น ประกันชีวิต เงินพิเศษเป็นต้น ในระดับปฏิบัติ ควรจัดซื้ออุปกรณ์เช่น หมวกนิรภัย เสื้อเกราะ ฯลฯ |
เหมือนกับสื่อมวลชน |
- |
7.จริยธรรมสื่อ จรรยาบรรณวิชาชีพ |
ควรมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง และควรมีบทลงโทษที่ชัดเจน สำหรับผู้ฝ่าฝืน ทั้งจากองค์กรภาคสังคม |
สร้างจรรยาบรรณวิชาชีพจริยธรรมสื่อขึ้นมา โดยยึดปรัชญาสื่อชุมชนเป็นศูนย์กลาง |
ควรสร้างหลักการจริยธรรม จรรยาบรรณขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม |
8.การกำกับดูแลและตรวจสอบ |
ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและองค์กรอิสระได้ตรวจสอบ |
ชุมชนสร้างหลักการกำกับดูแลกันเอง โดยหน่วยงานภายนอกให้ความช่วยเหลือ หากมีการร้องขอตามกฎหมาย |
ภาคประชาชน องค์กรอิสระ รัฐ สมาคมวิชาชีพกำกับดูแลกันเอง พ.ร.บ./กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดจนสถาบันศาสนา |
หมายเหตุ: รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแผนการดำเนินงานการปฏิรูปสื่อ โดยการสนับสนุนของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พ.ศ.2553