นิรโทษกรรม...ฉบับ "ทุกข์ที่ดิน"
แนวคิด “นิรโทษกรรม” ดูเหมือนจะเป็นกระแสที่ใครหลายคนต่างหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในขณะนี้ เริ่มตั้งแต่กระแสการเมืองที่ประชาชนคนไทยพึ่งเดินผ่านความบอบช้ำมาได้ไม่นาน แนวคิด “นิรโทษกรรม” นักโทษการเมืองก็เกิดขึ้น และแล้วก็กลายเป็นกระแสลมแผ่วเบาไปในสังคม
จนเมื่อคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ชุด ศ.นพ.ประเวศ วะสี โยนหินถามทาง เปิดแนวคิด “นิรโทษกรรม” ขึ้นมาอีกครั้ง แต่หนนี้แตกต่าง ด้วยจุดประสงค์มุ่งเน้น “นิรโทษกรรมประชาชนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ” โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกิน แต่ก็ยังไม่วายที่จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ บ้างก็วิเคราะห์กันไปว่า มีผลเกี่ยวเนื่องกันกับแนวคิด “นิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง”
จะเห็นชัดจากเวทีประชุมระดมสมอง เรื่อง การแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม : กรณีคดีเกี่ยวการใช้ประโยชน์ที่ดิน ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กองการต่างประเทศ เมื่อเร็วๆนี้ ที่แม้แต่คนในวงปฏิรูปเอง ก็มีความคิดต่าง กับคำว่า "นิรโทษกรรม"
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป
" ในฐานะผู้ขับเคลื่อนหนึ่งทางสังคม ผมจำเป็นต้องใช้คำที่ดูรุนแรง"
“นิรโทษกรรม สำหรับคนที่มีความทุกข์ฟังแล้วรู้สึกจี้หัวใจ รู้สึกว่ามีความหวัง มีทางออกให้กับชีวิตที่สิ้นหนทาง ในฐานะผู้ขับเคลื่อนหนึ่งทางสังคม ผมจำเป็นต้องใช้คำที่ดูรุนแรง จะถูกหรือผิดสังคมก็ตักเตือนกันได้ แต่กระบวนการก็ยังคงเดิมคือต้องมีการเยียวยา สร้างความเป็นธรรมในด้านที่ดิน หลายต่อหลายคนเสนอให้เปลี่ยนเป็นคำอื่น แต่ทางคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปเห็นว่า คำนี้มันก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างรวดเร็ว
เมื่อเรายิ่งใช้คำนี้ ก็ยิ่งมีคนวิพากษ์วิจารณ์ นั่นเท่ากับว่าได้ประชาสัมพันธ์แนวคิดของเราไปในตัว การขับเคลื่อนประเด็นนิรโทษกรรมนั้น จำเป็นต้องสร้างความสนใจให้กับสังคม เพื่อนำไปสู่การสนทนาจนเกิดความเคลื่อนไหวทางสังคม แต่ในท้ายที่สุดจะใช้คำอะไรก็คงต้องดูความเหมาะสมในภายหลัง ขณะนี้ขอเพียงแต่ให้กระบวนการมันถูกต้อง และดำเนินการไปตามที่ประชุมระดมความคิดเห็นกันไว้ก็เพียงพอ”
นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
"สังคมควรให้ความสนใจทางด้านกระบวนการมากกว่า ที่จะมานั่งปรึกษาหารือว่าชื่อนี้ควรใ ช้หรือไม่"
“เรื่องเร่งด่วนต่อไปนี้ที่จะทำคือการแก้ไขความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ต่อไปจะใช้คำว่า นิรโทษกรรม เยียวยาหรือฟื้นฟู ก็คงไม่สำคัญ เพราะชื่อนั้นคงไม่สำคัญเท่าสิ่งที่ต้องการสื่อความหมาย คือต้องรีบช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเสียก่อน
ชื่อ นิรโทษกรรม ฟังดูแล้วยิ่งดูท้าทาย ยิ่งน่าสนใจ ผู้คนพูดกันหนาหูไม่ว่าจะเป็นสื่อที่นำเสนอข่าว หรือแม้แต่ผู้ที่ทำงานด้านปฏิรูปประเทศไทยด้วยกัน อย่างไรก็ตามสังคมควรให้ความสนใจทางด้านกระบวนการมากกว่า ที่จะมานั่งปรึกษาหารือว่าชื่อนี้ควรใช้หรือไม่”
นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการปฏิรูป
"ชาวบ้านไม่ต้องการนิรโทษกรรม เพราะนั่นเท่ากับตีตราไปแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมาย"
“จากการที่ได้ลงพื้นที่สำรวจประชาชนที่เดือดร้อน ซึ่งถูกดำเนินคดีโดยรัฐ พบว่าชาวบ้านไม่ได้ต้องการนิรโทษกรรม เพราะนั่นเท่ากับว่าตีตราพวกเขาไปแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมาย ชาวบ้านต้องการเพียงแค่พิสูจน์ความจริงว่าพวกเขาบริสุทธิ์ หรือหากยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ากระทำผิดจริง นั่นเท่ากับพวกเขาก็ยังไม่มีโทษ ดังนั้นไม่จำเป็นเลยที่ต้องใช้คำว่า นิรโทษกรรม
คำถามที่ต้องคุยกันต่อคือ คดีที่มีคำพิพากษาไปแล้วนั้น จะทำอย่างไรให้เปลี่ยนวิธีการบังคับโทษนั้น เช่น ให้ออกมาทำงานเพื่อสังคมแทนการจำคุก หรือในกรณีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงก็ควรมีการพักชะลอโทษไว้ จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นเสียก่อน”
นายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ กรรมการสมัชชาปฏิรูป
"เมื่อการนิรโทษกรรมเกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น สังคมจะเข้าใจว่า คำหนึ่งคำ ไม่ได้มีความหมายเท่ากับสิ่งที่เราทำ"
“ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การใช้คำว่า นิรโทษกรรมหรือไม่ แต่ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องนี้ได้รับการช่วยเหลือ หลายคนพูดถึงคำนี้แล้วตีความหมายเป็นอย่างอื่นบ้าง เข้าใจถูกผิดบ้างไม่เป็นไร แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมต้องรับรู้ร่วมกันคือ สิ่งที่ ศ.นพ.ประเวศกล่าวนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร
ที่ผ่านมาทั้งสื่อและคนในสังคมมีการเข้าใจความหมายผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ก็มีข้อดีอยู่ประการหนึ่งคือกระแสนิรโทษกรรมได้รับการตีแผ่อย่างแพร่หลาย จนสังคมรับรู้และรับทราบ สิ่งที่คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปต้องทำหลังจากนี้คือจะมีกระบวนการอย่างไรเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น เชื่อว่าจากนั้นสังคมจะเข้าใจด้วยตนเองว่าคำคำหนึ่งไม่ได้มีความหมายหรือผลกระทบอะไรมากมายเท่ากับวัตถุประสงค์ที่พวกเราต้องการช่วยเหลือชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม”
นายประยงค์ ดอกลำใย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
"สิ่งที่ต้องพิสูจน์ไม่ใช่ชื่อ แต่เป็นกรอบกระบวนการอย่างชัดเจน ต้องทำให้ครอบคลุมถึงผู้ที่โดนศาลตัดสินไปแล้วด้วย"
“ทุกวันนี้มีการเข้าใจผิดกันเยอะถึงแนวคิดนิรโทษกรรม ดังนั้นเพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีกคือเพิ่มเติมคำเข้าไปให้ความหมายสมบูรณ์คือ นิรโทษกรรมประชาชนผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องที่ดิน
ประเด็นสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ชื่อ แต่ต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นคือการกำหนดกระบวนการนิรโทษกรรมให้ชัดเจน โดยต้องกระทำให้ครอบคลุมถึงคนที่โดนศาลพิพากษาไปแล้ว หรือผู้คนที่กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินคดีก็ตาม ทั้งนี้เมื่อพิสูจน์ได้ว่าคนเหล่นี้เป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องมีการล้างคดีความเหล่านี้ทั้งหมด เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่า ในอนาคตภายภาคหน้าชาวบ้านเหล่านี้จะไปประกอบอาชีพอะไรต่อ บางคนอาจจะทำงานข้าราชการซึ่งไม่เป็นผลดีต่อพวกเขา หากในประวัติของเขายังถูกตีตราว่าต้องคดีความอยู่ ”
ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาครัฐยุคใหม่ไม่ศึกษานโยบายยุคเก่า แล้วกล่าวหา “ผู้บุกเบิก” เป็น “ผู้บุกรุก” เช่นนี้แล้วควรจะ “นิรโทษกรรมรัฐผู้กระทำผิด”
“นิรโทษกรรมเป็นคำพูดที่ผูกมัดค่อนข้างมาก หากทำผิดพลาดอาจเกิดโทษมหันต์ นั่นคือการยกประโยชน์ให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือการชำระโทษให้แก่ผู้ทำผิด นั่นแสดงว่าสังคมรับรู้ทันทีว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ถูกกล่าวหาและได้รับการช่วยเหลือให้พ้นผิด ซึ่งคำนี้อาจจะดูรุนแรงมากเกินไปกับประชาชน หากใช้คำว่า คืนความเป็นธรรม อาจจะเหมาะสมกว่า
ดังนั้นต้องกลับมาตั้งคำถามกันใหม่อีกครั้งว่า กระบวนการนิรโทษกรรมจะใช้กับใคร มีมาตรฐานชี้วัดอย่างไร เพราะอย่างกรณีของผู้ที่อยู่มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ หรืออยู่มาก่อนที่กฏหมายรัฐธรรมนูญจะถือกำเนิด คนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ร้าย เมื่อไม่มีโทษก็ไม่ใช่ผู้ที่ถูกกล่าวหา ดังนั้นก็ไม่มีความผิด จึงไม่จำเป็นต้องมีคำว่านิรโทษกรรม
แต่หากอยากจะใช้คำนี้ ควรใช้กับภาครัฐ คือ นิรโทษกรรมรัฐผู้กระทำผิด เพราะในอดีตเรามีช่องแบ่งนโยบายกับกฎหมายค่อนข้างชัดเจน ที่ผ่านมาถูกสั่งสอนมาตลอดว่า มติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่ตัวบทกฏหมาย แต่ที่ผ่านมามติเหล่านี้ดูมีน้ำหนักและรุนแรงกว่าด้วยกฏหมายเสียด้วยซ้ำ
ในอดีตรัฐสนับสนุนให้ชาวบ้านบุกเบิกพื้นที่รกร้าง เพราะรัฐไม่มีพลังมากพอที่จะเข้าไปสำรวจด้วยตนเอง เมื่อภาครัฐส่งเสริม แน่นอนเป็นใครก็อยากเข้าไปบุกเบิก อันส่งผลให้ลูกหลานทำมาหากินบนพื้นที่มายาวนาน สร้างทั้งระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ ระบบธรรมชาติหมุนเวียน โดยพัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้ อันเกิดเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งที่พวกเขาก็ได้คืนกำไรให้กับผืนดินที่เข้าไปใช้ประโยชน์แล้ว แต่ภาครัฐยุคปัจจุบันกลับไม่ศึกษานโยบายในอดีต แล้วหันมากล่าวหาชาวบ้านจาก “ผู้บุกเบิก” เป็น “ผู้บุกรุก” เช่นนี้แล้ว แสดงว่ารัฐต่างหากเป็นผู้กระทำผิด หากจะนิรโทษกรรม ก็ควรจะนิรโทษกรรมรัฐผู้กระทำผิด”
นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพระปกเกล้า
"เพื่อป้องกันสังคมเข้าใจผิด อาจเปลี่ยนคำเป็น เยียวยา ซึ่งตีความได้ทางเดียวว่าเข้าไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อน"
“ผมอาจจะไม่ใช่นักกฏหมาย แต่คำว่า นิรโทษกรรม ฟังแล้วดูไม่ไพเราะนัก ทั้งนี้มันคือการกล่าวหาชาวบ้านที่โดนข้อหาบุกรุกพื้นที่ไปแล้วว่าคือผู้กระทำผิด ดังนั้นเพื่อป้องกันสังคมเข้าใจความหมายผิด อาจเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนเป็นคำว่าเยียวยา ซึ่งตีความหมายได้ทางเดียวคือการเข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด แม้ว่าพวกเขาจะทำผิดหรือไม่ ศาลตัดสินถึงระดับไหนแล้วก็ตาม เราก็สามารถเข้าไปใช้กระบวนการเยียวยาได้เสมอ
ยกตัวอย่างหมอผ่าตัดจนคนไข้ตาบอด หากต้องใช้คำว่า นิรโทษกรรมกับเขาคงจะดูไม่เหมาะ แต่เมื่อเปลี่ยนกระบวนการเป็นเยียวยา ทั้งคุณหมอและคนไข้ก็ได้รับกำลังใจซึ่งกันและกัน ไม่จำเป็นต้องมานั่งหารือว่าใครผิดหรือถูก แต่ต้องมีกระบวนการบางอย่างที่เข้าไปทำให้ปัญหาระหว่างคนสองฝ่ายเบาบางลดลงหรือจางหายไปได้ยิ่งดี”