ทำนาย "รัฐประหาร" ในสายตานิสิตรัฐศาสตร์
โหราศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับการเมือง เป็นเรื่องคู่กับสังคมไทยมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ เราจะเห็นสื่อเกาะติดสัมภาษณ์ นักโหราศาสตร์ ซินแส หมอดูเจ้าสำนักต่างๆ ออกโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ จนกลายเป็นประเพณี บ้างก็ขอให้ฟันธงดวงเมือง ดวงผู้นำประเทศ บ้างก็พยากรณ์สถานการณ์บ้านเมืองตลอดทั้งปีนี้
จนเกิดคำประชดประชัน “นักรัฐศาสตร์ที่ว่าแน่ ก็ยังแพ้โหรการเมือง” ในงานรัฐศาสตร์แฟร์ครั้ง 7 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปีนี้ได้จับจุดความเชื่อเรื่องลี้ลับของคนไทย ชอบดูดวงดูหมอ ธีมงานจึงใช้ชื่อว่า "Horopolitics” จัดประเดิมต้อนรับปี 2554 ตลอด 3 วัน ที่เพิ่งผ่านพ้นไป
ความน่าสนใจอยู่ที่การตั้งคำถามกับสังคม และการตั้งคำถามกับวงการรัฐศาสตร์ ในเรื่องการเมืองเรื่องการพยากรณ์ ความสัมพันธ์ ระหว่างรัฐศาสตร์ กับ โหราศาสตร์ ตกลงหมอดูกับนักรัฐศาสตร์นั้นเหมือน หรือแตกต่างกันหรือไม่
โดยเฉพาะ “รัฐประหารกับการทำนาย ความเป็นความตายของการเมืองไทย” หากไปถามเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตเป็นนักรัฐศาสตร์ในอนาคต 4 นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จะมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง...
นายกานต์ บุญญะกาญจน
นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการเมืองการปกครอง จุฬาฯ
“รัฐประหารก็เป็นแค่การเปลี่ยนผู้ปกครอง การบริหารยังเป็นแบบเดิม
ก็ยังอดอยาก ปากแห้ง กินไม่อิ่ม นอนไม่หลับอยู่”
“ก่อนที่จะพูดถึงการทำนาย หรือคาดเดาการรัฐประหาร ต้องพิจารณาก่อนว่า รัฐประหารคืออะไร ดีหรือไม่ดี หรือมีนิยามเชิงปฏิบัติการว่าอย่างไร นิยามส่วนตัวของผม คำว่า รัฐประหาร คือการการเปลี่ยนผู้ปกครองรัฐ แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนการบริหาร เราต้องแยกทั้ง 2 คำออกจากกันให้ชัดเจน
ผมเรียนภาควิชาการเมืองการปกครอง ก็จะไม่รู้เรื่องของการบริหาร การออกนโยบาย แล้วส่วนใหญ่เราก็จะโวยวายอยู่แค่เรื่องการรัฐประหาร เรื่องผู้นำ ผู้ปกครอง แต่ไม่ได้มองให้เป็นเรื่องเป็นราวของประชาชน ดังนั้น รัฐประหารในนิยามของผม เห็นว่า เป็นแค่เรื่องของการปกครอง บางครั้งการเปลี่ยนผู้ปกครอง การบริหารอาจจะไม่เปลี่ยนเลย แต่สังคมก็อาจจะดีขึ้น หรือไม่ดีขึ้น ก็ได้
รศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่ารัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ของพวกลูกคนมีเงิน เรียนไปไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่อาชีพ ทำอะไรไม่ได้ และเพราะเหตุผลที่เราไม่มีอะไรให้ทำนี่เอง ที่พอเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นก็เหมือนมีงานเขามาให้ทำ ยุคนี้นักรัฐศาสตร์เป็นคนไม่มีอะไรทำ เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการเมืองน้อยลง
รัฐประหารก็เป็นแค่การเปลี่ยนผู้ปกครอง การบริหารก็ยังเป็นแบบเดิม ก็ยังอดอยาก ปากแห้ง กินไม่อิ่ม นอนไม่หลับอยู่เหมือนเดิม ทุกวันนี้เราพูดกันแค่ว่า ใครจะขึ้นมาปกครองเป็นคนต่อไป แต่ไม่ได้พูดถึงว่าคนที่ขึ้นมาจะต้องมาทำอะไรให้ประชาชน
สำหรับ “คำทำนาย” เป็นเรื่องระยะสั้น และเป็นเรื่องแค่นั้นเอง แม้จะทำนายถูกในตอนแรก ก็ไม่ได้หมายความว่า คำตอบจะเป็นอย่างนั้นไปตลอด ดังนั้นอย่าได้โหยหาคำทำนายชุดใหญ่ที่จะทำนายได้ทั้งหมด เพราะนั่นไม่ใช่ทำนาย นั่นเป็นสูตร ต้องไปหานักวิทยาศาสตร์
‘กรมอุตุวิทยาการเมือง’ นั้นก็เป็นเรื่องดีถ้าฝนตก และถ้าเปียกฝนด้วย ที่ผ่านมาที่นักรัฐศาสตร์ทำนายหลายๆ ครั้งว่าฝนจะตก แต่ก็เป็นฝนแบบ ‘ฝนโบกขรพรรษ’ คืออยากเปียกก็เปียก ไม่อยากเปียกก็ไม่เปียก ซึ่งการเมืองปัจจุบันก็เป็นแบบอยากทุกข์ใจก็ทุกข์ไป ไม่อยากทุกข์ก็ไม่ทุกข์
หากถามว่าในปีหน้า หรืออีก 2 ปี จะมีการรัฐประหารหรือไม่ อาจไม่สำคัญนักถ้าเราตั้งใจทำตามหน้าที่ ปฏิบัติตามหน้าที่ คิดดี มุ่งสร้างความเจริญต่อตนเอง - สังคม ต่อให้มีหรือไม่มีรัฐประหารก็เป็นสุข ทุกอย่างอยู่ที่ใจ อยู่ที่คุณจะทำอย่างไร ผมมองว่าเป็น ‘อจินไตย’ (สิ่งที่ไม่ควรคิด) อย่างหลายเรื่องที่เราอยากทำนาย เราจะทำนายไปทำไมถ้าไม่ได้สร้างอะไรให้กับเรา หรือทำให้สังคมดีขึ้น
การเมืองก็เหมือนฝนทิพย์ที่อยากเปียกก็เปียก ไม่อยากเปียกก็ไม่ต้องเปียก ทำใจให้มีความสุข จะรัฐประหารหรือไม่คุณก็จัดการกับมันได้”
นายเสกสรร อานันทศิริเกียรติ
นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการเมืองการปกครอง จุฬาฯ
“รัฐประหารสามารถทำนายได้ แต่ทำนายได้ถูกหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
“หัวข้อรัฐประหาร กับการทำนาย เริ่มแรกต้องตั้งคำถามก่อนว่า รัฐประหาร คืออะไร และต่างจากการเปลี่ยนแปลงปกติอย่างไร รวมทั้งตั้งคำถามด้วยว่า การทำนาย คืออะไร และต่างจากการคาดการณ์ การเดาส่งเดชอย่างไร
แต่ทั้ง 2 ข้อนี้ในแง่หนึ่งก็มีความสัมพันธ์ร่วมกัน อย่างเช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส ที่เราบอกว่า เป็นการทำให้เกิดประชาธิปไตยนั้น เมื่อประชาธิปไตยเกิดขึ้นมาแล้วจากการรัฐประหาร แต่ระบอบประชาธิปไตยเองกลับเลือกที่จะปฏิเสธการรัฐประหารว่า เป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นเรื่องปกติ หนำซ้ำยังมองว่า การรัฐประหารคือ ‘รอยด่าง’ ประเทศไหนมีประวัติศาสตร์การรัฐประหารเยอะ แสดงว่าประเทศนั้นมีประชาธิปไตยที่ไม่แข็งแรง ประชาธิปไตยมีปัญหา
มันเหมือนกับการที่ลูกปฏิเสธผู้ให้กำเนิดหรือเปล่า ?? โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า รัฐประหารสามารถทำนายได้ แต่ทำนายได้ถูกหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องมีการเก็บข้อมูล ผมว่าโดยหลักแล้ว คาดการณ์ได้ แต่รายละเอียดต่างๆ ที่ลงลึกไปอาจจะคาดการณ์ไมได้
คนในปัจจุบัน หรือคนในอนาคตมักจะเข้าใจประวัติศาสตร์ได้ดีกว่าคนในอดีตเข้าใจตัวเขาเอง คนในอนาคตจะเป็นคนที่บอกว่า การทำนายที่ผ่านมา ถูกหรือไม่ถูก แต่คนในปัจจุบันก็จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างที่บอก คือพอจะเดาได้ พอจะรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างเท่านั้น
รัฐประหารที่เคยเกิดขึ้น 11 ครั้ง ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2475 มีครั้งเดียว คือ ครั้งแรกสุดที่นักประวัติศาสตร์บางท่านนับ เพราะเป็นรัฐประหารที่ทำโดยนักการเมือง การปิดสภาในเดือนเมษายน 2476 ครั้งนั้นเป็นครั้งเดียวที่นักการเมืองทำรัฐประหาร เพราะที่เหลือที่นักการเมืองทำนับว่า ไม่สำเร็จทั้งหมด กลายเป็นกบฏ แต่ทหารทำสำเร็จหมด รัฐประหารหมดเลย
ฉะนั้นก็เลยจะมาชวนให้ลองมองรัฐประหารที่เพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อไม่นานในปี 2549 ว่า คนรุ่นเราในตอนนี้อาจจะยังไม่เข้าใจ แต่พอเวลาผ่านไป 10 - 20 ปีลองย้อนกลับมามอง หรือว่าตายไปก่อนแล้วค่อยมองดูใหม่ บางทีเราอาจจะเข้าใจการรัฐประหารครั้งนั้นก็ได้
เรื่องที่อยากจะชวนให้คิดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เราพูดถึงแต่เงื่อนที่จะเกิดรัฐประหาร แต่เราไม่เคยพูดว่ารัฐประหารที่เกิดขึ้นมา 11 ครั้ง ดีหรือไม่ น่าพอใจหรือไม่ และถ้าไม่น่าพอใจ จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะเราไม่เคยคุยกันถึงผลของการรัฐประหารเลย เราคุยกันแต่จะปฏิวัติหรือไม่ แต่ไม่ถามว่า ถ้าปฏิวัติแล้วจะเกิดในรูปแบบไหน และถ้าเกิดในรูปแบบนั้นจะเกิดอะไรขึ้นตามมาในสังคมบ้าง
บางคนบอกว่าประชาธิปไตยเพิ่งเกิด เหมือนเป็นเด็กที่เพิ่งเดินไปได้แค่ 70 กว่าปี แต่ถ้าคิดให้ดีจะพบว่า น่าจะมีทางเดินของตนเองได้แล้ว จะเป็นแบบไหน อย่างไร จะเป็นแบบไทยหรือไม่ เพราะถ้าเป็นแบบไทยก็จะต้องไม่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมแอบแฝง”
นายฤชากร ไตรรัตนานุสรณ์
นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการเมืองการปกครอง จุฬาฯ
“เรามองมิติการทำนายแค่การหาความแน่นอนอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะการทำนายก็มีมิติอื่นๆ อีก”
“การทำนายก็คล้ายๆ กับการหาค่าสมการว่า ตกลงคำตอบของสมการชุดนี้ หาค่าได้เท่าไหร่ เพียงแต่ว่าประเด็นสำคัญที่เรายังมีปัญหาอยู่มากก็คือ ตกลงแล้วตัวแปรต่างๆ ในสมการนี้ เรารู้ทั้งหมดแล้วหรือยัง และรู้มากน้อยแค่ไหน ส่วนตัวแปรที่สำคัญที่สุดเป็นเรื่องของชีวิตคน หรือความสัมพันธ์ระหว่างคน ได้แก่ เรื่องจิตใจ
เราอาจจะคำนวณได้ว่า ต้นไม้ปลูกอย่างไร แต่บางครั้งเราก็คำนวณไม่ได้เหมือนกันว่าคนคิดอะไร อย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นจึงเป็นความท้ายทายของสังคมศาสตร์ตรงที่ว่า ถึงแม้เราจะมีภาพใหญ่ๆ ว่า ดูเหมือนเป็นสมการชุดหนึ่งที่หาค่าได้ แต่ด้วยเพราะใจคน หรือความสัมพันธ์ของคน จึงกลายเป็นว่า ที่เราเหมือนจะรู้ แต่แท้ที่จริงเราก็ไม่รู้อยู่ดี
สิ่งที่ผมอยากจะเน้นก็คือ การตั้งคำถามลงไปว่า รัฐประหารทำนายได้หรือไม่ ก่อให้เกิด 2 แง่ ในแง่แรกก็เหมือนกับการที่เราเพ่งมองใบไม้แค่ใบเดียว แต่ทำให้เราลืมที่จะมองถึงกิ่ง ลำต้น และต้นไม่ทั้งหมด หรือบริเวณรอบต้นไม้นั้น ในทางกลับกันถ้าบอกว่า รัฐศาสตร์จะใช้ในทางทำนายอย่างเดียว ก็ถือว่าถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะถ้าจริงๆ แล้วเรามองมิติการทำนายแค่การหาความแน่นอนอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะการทำนายก็มีมิติอื่นๆ อีกเช่น การใช้การทำนายมาเป็นเครื่องมือในการโยนหินถามทาง หรือจริงๆ แล้วการทำนายมันเป็นแค่การรู้หรือไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นโหร หรือเป็นนักข่าว ถ้าเขาเข้าถึงข้อมูลได้มากพอก็จะรู้ก่อนนักรัฐศาสตร์ หรืออาจจะสรุปอะไรได้มากกว่า”
นายติณณภพ สิงห์สมบูรณ์ทอง
นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาฯ
“เรื่องที่นักรัฐศาสตร์จะต้องศึกษา จำเป็นด้วยหรือที่จะต้องเป็นเรื่องการเมือง เรื่องรัฐประหารเท่านั้น”
“เพราะรัฐประหารหรือเปล่า ประเทศไทย จึงยังไม่พัฒนา?? คำถามนี้พูดตามตรงว่า ผมเองก็ไม่ทราบ ยังตอบไม่ได้ หากถามว่า ประเทศไทยพัฒนาแล้วหรือยัง เมื่อพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ที่เป็นสากลที่สุด อย่างทฤษฎี 5 ขั้น จะเห็นว่า ทำไมรัฐอย่างอเมริกา อังกฤษ หรือรัฐชั้นนำอื่นๆ ก้าวไปที่ขั้นที่ 5 แล้ว แต่ประเทศไทยยังอยู่ในขั้นกำลังพัฒนาอยู่เสมอ ส่วนนี้ผมจะไม่ตอบว่า เป็นเพราะรัฐประหาร เพราะผู้นำ หรือเป็นเพราะนโยบาย แต่อยากให้พิจารณาว่า ภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์ หรือว่าบริบททางสังคม รวมไปถึงค่านิยมต่างๆ รวมทั้งความเชื่อของคนในสังคม เรายังยึดโยงอยู่กับภาวะเดิมๆ ความเชื่อเดิมๆ ซึ่งผมจะไม่บอกว่ามันถูกหรือผิด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะชี้แนะให้ทุกท่านเห็น ก็คือสิ่งที่เข้ามาจัดการกับคำว่าเดิมๆ สำหรับผม คืออะไรที่ทุกคนไม่ได้สนใจ นั่นคือ วาทกรรมการพัฒนา
หาถามว่า วาทกรรมการพัฒนา ทำอะไรกับเรา ในขณะที่เรากำลังมุ่งที่จะพัฒนาไปข้างหน้า เพื่อทำให้ตนเองกลายเป็นสิ่งที่พัฒนาแล้ว หรือเจริญแล้ว แต่เราหารู้ไม่ว่า เราก็เหมือนกำลังวิ่งตามสุนัข หรือตามนักวิ่งเร็วๆ สักคนหนึ่ง สุดท้ายเราก็จะไม่มีวันพัฒนาได้อย่างเขา ทั้งนี้เป็นเพราะวาทกรรมการพัฒนา ได้สร้างวาทกรรมชุดหนึ่ง หรือความรู้รูปแบบหนึ่งขึ้นมา บอกว่า ความรู้จะเป็นความรู้ได้ ศาสตร์ต่างๆ จะน่าเชื่อถือได้ สิ่งใดจะเจริญแล้ว หรือพัฒนาแล้ว เป็นเรื่องของการพิสูจน์ ตรวจสอบได้ มีการสั่งสมตัวแปร สั่งสมประสบการณ์ มีการซ้ำการเกิด ที่จะทำให้ข้อมูลต่างๆ นั้นมีความถี่มากขึ้น
ตรงนี้กลายเป็นหัวใจสำคัญในการจะทำให้สิ่งใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความรู้ หรือตัวประเทศเป็นสิ่งที่พัฒนาแล้ว ในขณะเดียวกันความรู้ที่เกิดจากความรู้สึก ความนึกคิด ความชอบ หรือกระทั่งอารมณ์ ถูกเบียดขับออกไปกลายเป็นเรื่องของการด้อยพัฒนา
เพราะฉะนั้นสิ่งสุดท้ายแล้วที่เรามานั่งเถียงกันว่า ประเทศไทยไม่พัฒนา เพราะรัฐประหาร ข้อนี้ผมตอบไม่ได้ แต่ที่เราไม่พัฒนา ผมสามารถตอบได้ว่า อาจจะเป็นเรื่องของวาทกรรมการพัฒนามากกว่า
เรื่องที่นักรัฐศาสตร์จะต้องศึกษา จำเป็นด้วยหรือที่จะต้องเป็นเรื่องการเมือง เรื่องรัฐประหารเท่านั้น ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย เรื่องสอบเข้า เรื่องการศึกษา การแข่งขันก็ยังมี
อีกประเด็นที่ผมขอตั้งคำถามว่า แท้ที่สุดแล้ว ทำอะไรก็ตาม เราต้องตามรัฐเสมอหรือ รัฐต่างหากที่เป็นสิ่งสร้างตามสัญญาประชาคมนิยมที่มนุษย์มารวมกันเป็นสังคม แล้วมอบอำนาจให้ผู้ปกครองทำสัญญาประชาคมร่วมกัน แต่ทำไมตอนนี้เราในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง หรือในฐานะประชาชนที่เป็นองค์ประกอบของสังคม หรือของรัฐก็ตาม ทำไมเรายืนอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้รัฐเข้ามาควบคุมจัดการชีวิตเราทุกจุดขนาดนี้ นี่คือความรุนแรงอย่างหนึ่ง ซึ่งความรุนแรงไม่จำเป็นต้องมาจากรถถังหรือปืนใหญ่เสมอไป แต่ความรุนแรงยังแฝงอยู่ในโครงสร้าง และความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์อีกด้วย
ฉะนั้นไม่อยากให้มองรัฐศาสตร์เป็นเรื่องใหญ่โตเสมอไป เพราะที่จริง เป็นเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน แค่เราทำให้เป็นนิสัยไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ดีเอง อย่างน้อยก็ดีกับตัวเรา ถ้าคนอื่นทำด้วยก็ขึ้นมากๆ ก็จะเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวเราดีขึ้นเรื่อยๆ ไปด้วย สุดท้ายเราก็จะเข้าใจซึ่งกันและกันได้ นี่คือจุดประสงค์หลักว่า ทำไมต้องมีรัฐศาสตร์ ไม่ใช่แค่มีไว้เก๋ๆ ประดับขึ้นหิ้งในวงวิชาการ”