รัฐธรรมนูญมีไว้อ่าน หรือมีไว้แก้...?
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกิจกรรม “3 วัน สร้างสรรค์ความเข้มเข็งประชาธิปไตย” จัดโดยคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลสรุปจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางโทรศัพท์จำนวนกว่า 1,400 คน
มีข้อมูลที่น่าสนใจ ที่พบว่า คนส่วนใหญ่ร้อยละ 71 เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเพียงร้อยละ 29 เท่านั้น ที่แสดงความไม่เห็นด้วย ยิ่งหากแบ่งเป็นรายภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นด้วยมากที่สุด ถึงร้อยละ 71
สอดคล้องกับผลสำรวจก่อนหน้านี้ ที่คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็นภาค 5 กลุ่ม คือ กทม. ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ สุ่มตัวอย่าง 6,000 ราย ก็พบเช่นกันว่า ประชาชนถึงร้อยละ 34 เห็นว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 12 เห็นว่า ไม่ควรแก้ไข และร้อยละ 53 ตอบว่า ไม่แน่ใจ
เมื่อดูตัวเลข คนไทยอ่านรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน ?
น่าประหลาดใจ มีถึงร้อยละ 49.8 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย ผู้ที่อ่านเป็นส่วนน้อยมีร้อยละ 37.7 อ่านเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 9.7 และเคยอ่านทั้งหมดมีแค่ ร้อยละ 2.8
ใช่หรือไม่ คนไทยสามารถแสดงความเห็นได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีความรู้ และไม่ต้องรู้เนื้อหาอย่างถ่องแท้
และกับผลสำรวจข้างต้นบ่งบอกอะไรบ้าง
ลองมาฟังทัศนะของผู้ทรงคุณวุฒิ ตอบโจทย์นี้กัน เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้เห็นว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นความรับผิดชอบของสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็นในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล เพียงฝ่ายอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ
"อนาคตหากรัฐบาลต้องการลดปัญหาคนไทยไม่อ่านรัฐธรรมนูญ
ต้องบรรจุวิชาการเมืองการปกครอง แทรกไว้ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย”
“ปัญหาที่สำคัญของการเมืองไทย คือ ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ซึ่งในปัจจุบันเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชาชนไทยมีการศึกษาน้อย และยากจน นอกจากนี้ระบบการตรวจสอบยังมีความอ่อนแอ หากรัฐบาลมีคะแนนมากเกินไป ฝ่ายค้านก็แทบจะไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้เลย นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น
ขณะที่ทุกวันนี้คนไทยไม่อ่านหนังสือ แต่ฟังข่าว ดูทีวี ซึ่งก็ได้รับความรู้ทางอ้อม ตรงนี้ทำให้ "สื่อ" มีอิทธิพลมาก มีทั้งข้อดีในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ในขณะเดียวกัน ข้อเสีย หากนำเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อนก็อาจทำให้รับสารผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน
ในอนาคตหากรัฐบาลต้องการลดปัญหาคนไทยไม่อ่านรัฐธรรมนูญ อาจจะต้องมีนโยบายการศึกษาอย่างต่างประเทศ ซึ่งเขาได้บรรจุวิชาการเมืองการปกครอง แทรกไว้ในระบบการเรียนการสอนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อันเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเยาวชนผู้เป็นรากฐานของประเทศชาติ”
ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการปฏิรูป
"ทุกวันนี้คนไทยอาจจะไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่า คนฟังความคิดเห็นกันมากขึ้น"
“ส่วนตัวเชื่อว่ามีคนบางกลุ่มที่อ่านรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อสิทธิของตน แต่อาจจะเป็นกลุ่มน้อย แต่พวกเขาเหล่านั้น ก็รวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนพลังภาคประชาชน ไปสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ชาวบ้าน นั่นเองเป็นที่มาของจำนวนผู้ที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มากขึ้น
แม้ทุกวันนี้คนไทยอาจจะไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่า คนฟังความคิดเห็นกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ หรือผ่านแรงขับเคลื่อนภาคประชาชน ขณะเดียวกัน สื่อทุกวันนี้มีข่าวคราวเกี่ยวโยงถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นคดียุบพรรค หรือการตัดสิทธิ์ทางการเมืองต่างๆ เรื่องพวกนี้อยู่ในตลาดข่าวตลอดเวลา
โดยส่วนตัวได้อ่านบ้าง ซึ่งก็ได้เฉพาะเจาะจงไปอ่านบางมาตราที่คิดว่า น่าจะมีปัญหา เฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่จะต้องแก้ไขมากที่สุด น่าจะเป็นเรื่อง การแยกอำนาจของฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติให้ออกจากกันอย่างชัดเจน”
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และกรรมการปฏิรูป
"ผู้ที่ต้องการแก้ไขรัฐูธรรมนูญ ต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจอย่างแท้จริง"
“แม้ประชาชนทั่วไปจะไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญ แต่สามารถรับรู้ได้จากสื่ออีกหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ หรือแม้กระทั่งนักการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ซึ่งตรงจุดนี้สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน จนนำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ได้
แต่ผู้ที่ต้องการแก้ไขรัฐูธรรมนูญต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจอย่างแท้จริง หากอยากแก้ไขส่วนใด ก็ควรมีข้อมูลมาโต้แย้งตรงจุดนั้นเสียก่อน ถ้าเป็นเพียงแค่การพูดลอยๆ อย่างไม่มีมูล ก็เข้าข่ายพวกมากลากไป
อีกประการสำคัญที่ทำให้เชื่อว่าคนไทยไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญหมดทั้งฉบับนั้น คือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เข้าถึงมือประชาชนอย่างทั่วถึง เหมือนสมัยรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่มีการแจกจ่ายให้ถึงมือประชาชน”
นายธนาธิป วุ้นนที นักพัฒนาระบบราชการ อาสาสมัครกิจกรรม “3 วันสร้างสรรค์ความเข้มแข็งประชาธิปไตย”
"บางคนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ
เพราะวิ่งตามกระแส บ้างได้รับอิทธิพลจากสื่อหลากหลายช่องทาง"
“บางคนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะวิ่งตามกระแส บ้างได้รับอิทธิพลจากสื่อในหลากหลายช่องทาง บ้างได้รับอิทธิพลมาจากนักการเมืองระดับท้องถิ่น บ้างแบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามพวกพ้อง อย่างอีกฝ่ายสนับสนุนก็จะเฮโลกันว่าสนับสนุน ในขณะที่อีกฝ่ายคัดค้านก็ตกลงปลงใจว่า คัดค้านเหมือนกันหมด
นี่เป็นตัวอย่างข้างต้นที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างปริมาณคนที่อ่านรัฐธรรมนูญกับปริมาณคนที่เรียกร้องให้แก้ไข ท้ายที่สุดบางคนอาจจะไม่เคยรู้เรื่องแม้แต่น้อยว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร
โดยส่วนตัวได้อ่านภาพรวมทั้งหมดแล้ว แต่จะจำได้เฉพาะบางมาตราที่เราจำเป็นต้องใช้ อันที่จริงเราทุกคนที่เป็นคนไทย ควรจะต้องศึกษากฏหมายตัวนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
เท่าที่สังเกตจากการทำหน้าที่รับสายฟังความคิดเห็น จะพบว่า มีผู้คนหลากหลายประเภทโทรศัพท์เข้ามาเสนอความคิดเห็น มีทั้งคนที่อ่านกฏหมายรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ นักการเมืองระดับต่างๆ และชาวบ้าน แม้จะมีจำนวนเพียง 1,400 กว่าคน แต่ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความสนใจกับเรื่องการเมืองอย่างจริงจัง แต่การรับโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวจะไม่สะท้อนความคิดเห็นแทนคนไทย 60 ล้านคนได้”
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา ตอบคำถามในเว็บไซต์ www.meechaithailand.com
"อันรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าไม่ใช่คนที่มีหน้าที่หรือสนใจจริง ๆ แล้ว
ไม่ค่อยมี่ใครอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ แม้แต่ สสร.
"ถ้าประชาชนร้อยละ 49.8 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญ ก็แปลว่าร้อยละ 50.2 เคยอ่านรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอัตราที่น่าทึ่งมาก อันรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าไม่ใช่คนที่มีหน้าที่หรือสนใจจริง ๆ แล้ว ไม่ค่อยมี่ใครอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ แม้แต่ สสร.ที่เป็นผู้ทำรัฐธรรมนูญ ยังน่าสงสัยว่าทุกคนได้อ่านทุกตัวอักษรหรือไม่
ข้อสำคัญเมื่อเวลามีปัญหาอะไร เพียงได้ไปเปิดดูว่ารัฐธรรมนูญว่าอย่างไร ก็เป็นอันใช้ได้แล้ว อย่าไปกะเกณฑ์ให้ต้องอ่านหมดเลย ส่วนคนไทยสามารถแสดงความเห็นได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีความรู้ ไม่ต้องรู้เนื้อหาให้ถ่องแท้ นั้น เพราะคนไทยไม่ใช่นักอ่าน ชอบฟังแล้วเชื่อ
สำหรับการรับรู้ของคนไทยกับเนื้อหาทั้งหมดในรัฐธรรมนูญ นั้น ไม่จำเป็น และไม่ต้องถึงขนาดมีไว้ประจำบ้าน เพราะสมัยนี้สามารถเปิดเข้าไปดูใน เว็บ ได้อยู่ตลอดเวลา เมื่อไรมีข่าวอะไรที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ถ้าเพียงแต่ไปเปิดดูเสียหน่อยก่อน ก็เป็นบุญกับประเทศมากอยู่แล้ว แต่เวลาเปิดดูควรต้องเปิดดูให้ทั่ว ๆ อย่าดูที่เดียว เพราะบางทีเขาก็เขียนไว้หลายที่ มีทั้งหลัก มีทั้งข้อยกเว้น ถ้าใครเคยอ่านจนจบ ก็จะรู้ว่าควรเปิดไปดูที่ไหนบ้าง แต่ถ้าไม่เคยอ่านเลย ก็คงยากหน่อย แต่ถ้าเปิดไปบ่อย ๆ เข้าก็รู้เอง"