ปฏิรูปการศึกษา ทำอย่างไรให้คนซื้อ…?
ถึงวันนี้ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ระบบการศึกษาในบ้านเรามีปัญหามาก แม้ดูผิวเผินเหมือนไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ไม่เดือดร้อนมากมายนักเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ แต่เราจะพบว่า ปัญหานี้กลับซึมลึก เห็นได้ชัดจากข้อมูลเปิดเผยโดยคณะกรรมการปฏิรูป ที่พบว่า ภาพรวมประชากรไทยในวัยทำงานมีจำนวนมากถึง 20 ล้านคน ที่มีการศึกษาแค่ระดับประถม หรือต่ำกว่านั้น ในจำนวนนี้มีถึง 1 ล้านคนที่ไม่มีการศึกษาใดๆ เลย
"ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย" จะพาไปฟังทัศนะจาก 3 นักการศึกษา ในคณะกรรมการปฏิรูป ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน กับแนวคิด "นอกกรอบ" ต่อการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาแบบที่ไม่ค่อยมีใครคิดเข้ามาทำ....
“กฤษณพงศ์ กีรติกร” :
นักการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ - กรรมการปฏิรูป
“นายอานันท์ เคยบอกว่า อะไรที่มีคนเคยทำอยู่แล้ว อย่าไปทำซ้ำ ถึงแม้จะเป็นเรื่องต้องทำ ก็อย่าไปทำซ้ำ และอย่าไปคิดว่า เราจะมีคำตอบทุกประเด็นปัญหา เพียงแต่เราคิดโจทย์ไว้ก่อน ซึ่งการปฏิรูปการศึกษา ที่เราเห็น กลุ่มแรก คือ การศึกษาสำหรับเด็กที่ตกหล่นจากระบบ ซึ่งตอนนี้ก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ตัวเลขก็ได้ยินระหว่าง 2-4 ล้านคน เด็กพิการ เด็กยากจน เด็กห่างไกล เด็กที่อพยพตามพ่อแม่ที่เป็นแรงงานจะเป็นเกษตรกร หรือกรรมกรก่อสร้าง ต่อไปก็เป็นเรื่องลูกหลานของแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นเด็กที่ถูกปฏิเสธออกจากระบบทั้งหมด ตอนนี้เราก็เพียงแค่ตั้งโจทย์ และจัดกลุ่ม
กลุ่มที่สองที่เราจะต้องทำก็คือ คนในวัยทำงาน 30 กว่าล้านคนมีการศึกษาไม่จบประถมศึกษา อันนี้จะแยกเป็นการศึกษาสำหรับแรงงานเกษตร การศึกษาสำหรับแรงงานในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะคนที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานเข้าไปไม่ถึง ไม่มีสวัสดิการแรงงานใดๆ ทั้งสิ้น ไม่อยู่ในระบบที่สวัสดิการสังคมคุ้มครองเลย กับอีกอันก็อาจจะเป็นคนประกอบอาชีพอิสระ เช่น ขับรถแท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง ขายของข้างถนน รวมทั้งการพัฒนาคน 30 กว่าล้านคนที่ว่านี้
กลุ่มที่สาม เราคงจะต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการศึกษามากขึ้น ที่เรียกการศึกษาทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นโฮมสคูล กลุ่ม NGO หรือคนที่จัดการศึกษาเฉพาะทางสำหรับเกษตรกร ก็เรียกได้ว่าเป็น การศึกษาทางเลือกทั้งหมด (NON-MAINSTREM) และที่เรากำลังคุยกันก็เป็นเรื่องทำอย่างไรชุมชนถึงจะเข้ามาร่วมกับการศึกษา MAINSTREM ได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งจะมีปัญหาไปไม่ได้ด้วยตัวของมันเอง ถ้าไม่เอาชุมชนเข้ามาจัด
ทั้งหมดนี้คือเรื่องที่เรากำลังคุยกันหลักๆ และก็ฟังความคิดเห็นของคน และรอฟังความคิดเห็นจากกลุ่มสมัชชาปฏิรูปด้วย
และเรื่องที่เรากำลังมอง แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดก็คือ งบประมาณเพื่อการศึกษา แนวคิดขณะนี้คือรัฐจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากรัฐเป็นคนจัดการการศึกษาไปให้ประชาชน ชุมชน เอกชนจัด รัฐจะเป็นคนให้เงินติดตัวไปกับผู้เรียน ผู้เรียนถือคูปองไป จะเป็นคูปองการศึกษาขั้นพื้นฐาน คูปองไปเพื่ออาชีวะ คูปองไปเพื่ออุดมศึกษา หรือกระทั่งคูปองการเรียนรู้การพัฒนาตัวเองตลอดชีวิต
คือตอนนี้มีโมเดลที่เราฟังตัวอย่างจากความสำเร็จ เอาระบบโรงเรียนก่อน คือมีทั้งประเภทที่ให้ชุมชนท้องถิ่นจัดเอง และให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามาจัดกับระบบโรงเรียน เราต้องไม่ปฏิเสธทั้ง 2 ระบบ
มีตัวอย่างจากชาวบ้านที่ภาคใต้ที่จับมือร่วมกับชุมชนชาวประมง และเสอเพลอโมเดล ที่อุดรธานี โรงเรียนทำข้อตกลงกับ อบต. ขยายผลจาก 1 โรงเรียน 1 อบต. เป็น ทั้งเขตพื้นที่ ตัวอย่างทั้ง 2 นี้ เป็นโจทย์ว่าเราจะขยายผลอย่างไร เป็นเรื่องที่เราต้องคิดต่อจากนี้ ส่วนเรื่องของที่ชุมชนจัดเองก็จะเป็นเรื่องของโฮมสคูล และโรงเรียนหมูบ้านเด็กของอาจารย์รัชนี ปัญหาที่เรามองขณะนี้คือว่า ทำอย่างไรให้เกิดระบบเทียบโอนได้ระหว่างที่มีการจัดแบบนี้ ระหว่าง 8 สาระการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ ทำอย่างไรให้เงื่อนไขการไปเรียนเกิดขึ้นได้ จะถ่ายโอนจากการศึกษาระดับทางเลือกประถมไปเรียนต่อมัธยมได้ คือ มีคนที่พร้อมจะจัด แต่กลับมาเข้าสู่การศึกษากระแสหลักไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่เราฟังประสบการณ์และถามว่า อะไรติดอยู่ตรงไหน
ท่านนายกอานันท์ บอกว่า มี 5-6 กลุ่ม ที่คิดว่าเรื่องความเดือดร้อนการจัดการทรัพยากรและที่ดิน จะเป็นเรื่องที่ต้องทำก่อน ส่วนเรื่องการศึกษาคือดูเหมือนไม่เดือดร้อน แต่ไม่ทำก็ไม่ตาย แต่มันซึมลึก เป็นเรื่องที่มีปัญหามาก การศึกษาที่จะทำให้คนซื้อ คือเรื่องเด็กที่ตกหล่นจากระบบ และเรื่องที่คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาทำอยู่ เราจะไปสนับสนุนอะไรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กที่จะยุบหรือไม่ยุบ เป็นเรื่องที่คนสนใจ และอีกเรื่องคือการศึกษาของแรงงาน 20-30 ล้านคน”
“คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา”:
นักการศึกษาและการพัฒนาเด็กและเยาวชน และกรรมการปฏิรูป
"ถึงเวลาต้องไม่ไปวุ่นวายอยู่ แต่กับระบบร.ร. เหลียวดูประชากรนอกร.ร."
“คณะกรรมการปฏิรูป ชุดนายอานันท์ มองการศึกษา ในฐานะเป็นกลไกลสร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และเป็นกลไกที่น่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้ เราเชื่อว่าปฏิรูปสำเร็จได้ไม่ใช่พวกเรา สำเร็จได้หากสิ่งเหล่านี้ตรงกับใจของประชาชนและสังคมขับเคลื่อน
การศึกษากับโอกาส ปฏิรูปรอบแรกก็ไม่ได้ล้มเหลวไปเสียทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการขยายโอกาสทำได้ดี แต่ก็ยังมีช่องว่าง เรื่องเด็กปฐมวัย สัดส่วนของเด็กที่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนของเด็กปฐมวัยก็ยังต่ำอย่างน่าใจหาย ในแง่ของการศึกษาขั้นพื้นฐานสูงขึ้นมามาก ทั้งในระดับต่างๆ แต่ก็ยังมีเด็กที่ตกหล่น ออกกลางคัน โดยเฉพาะในช่วงมัธยม แม้จะเราจะขยายโอกาสทางการศึกษามากแต่ก็ยังมีช่องว่าง ทั้งในระดับอาชีวะ อุดมศึกษา ขยายตัวแต่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำ
เวทีปฏิรูปประเทศไทย เน้นว่า ที่ผ่านมาเน้นระบบโรงเรียน เน้นเด็กในวัยเรียนมากเกินไป แทบจะละเลยประชากรที่อยู่นอกโรงเรียน เกิน 26 ล้านคนมีการศึกษาต่ำกว่าชั้นประถมศึกษา ถ้าเราทุ่มกำลังทั้งหมดไปที่เด็กในวัยเรียน แต่ไม่ดูอีก 26 ล้านคนที่เป็นทั้งพ่อ แม่ คนทำงานหารายได้ ไม่มีทางที่เราจะปฏิรูปการศึกษา หรือปฏิรูปประเทศได้
จึงมีเสียงเรียกร้องว่า ถึงเวลาต้องไม่ไปวุ่นวายอยู่แต่กับระบบโรงเรียน เหลียวดูประชากรนอกโรงเรียน รวมถึงการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต อินเตอร์เน็ต ซึ่งก็มีคนที่ได้รับประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตไม่มากนัก ฉะนั้น เรื่องเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ไม่ได้มีเฉพาะในระบบโรงเรียนที่เราเป็นห่วงเป็นใยกันมาก แต่แท้จริงแล้วคนที่อยู่นอกระบบโรงเรียนก็มีปัญหา อีกทั้งจะขยายตัวกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ข้อเสนอทิศทางการปฏิรูปในอนาคต ไม่ใช่การปฏิรูปโรงเรียน แต่เป็นการปฏิรูปการศึกษาตลอดชีวิต ตั้งแต่ในครรภ์ ยังแก่เฒ่า
ถ้าเรายังประเมินคุณภาพการเรียนแบบปัจจุบัน เด็กเรียนอ่อนจะถูกผลักออกจากโรงเรียนหมดเลย เพราะเราใช้ค่าเฉลี่ยในการประเมินคุณภาพของโรงเรียน ไม่มีใครอยากได้เด็กเรียนอ่อน เด็กเรียนอ่อนจะถูกให้เขียนใบลาออกและถูกผลักออกไปด้วยวิธีการต่างๆ หากเราไม่แก้ไขเด็กอีกจำนวนมากจะไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา
มีการพูดถึงวิธีการดึงคนนอกระบบโรงเรียนเข้ามาให้ได้รับการศึกษา ไม่ใช่ในระบบโรงเรียน แต่เป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถ ซึ่งมีการไปทำประชาคมที่จังหวัดสระแก้ว เรื่องนี้น่าสนใจ เราไม่ได้บอกว่าเราจะไปสอนอะไร เราเอาตัวเลขปัญหาของสระแก้วไป เขาก็จะดูกันเองและบอกว่า มีคนว่างงานถึง 3 หมื่นคน แล้วเหลียวมาถามพวกเรา นักการศึกษา “คุณช่วยสอนอะไรให้คนว่างงานในจังหวัดของผม” “ตลาดโรงเกลือ คนเขมรขายของทั้งนั้น การศึกษาจะไปช่วยทำอะไรเพื่อให้คนสระแก้วสามารถจัดธุรกิจในพื้นที่ได้” ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทิศทางใหม่ๆ ต้องเกิดขึ้นในรอบต่อไป
นอกจากนั้นการปฏิรูป จะให้ความสำคัญกับการศึกษาทางเลือกมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยให้ “คุณค่า” หรือตามไปดูด้วยซ้ำว่าอยู่ที่ไหน คนเรายังคิดว่า คุณภาพการศึกษาของมนุษย์เกิดขึ้นเฉพาะอยู่ในโรงเรียน”
“รัชนี ธงไชย” :
นักการศึกษาทางเลือก - กรรมการปฏิรูป
"การศึกษาทางเลือกเชื่อว่า มนุษย์เกิดมาไม่สมบูรณ์ ต้องพัฒนาให้สมบูรณ์ก่อน"
“นิยามการศึกษา คือกระบวนการเรียนรู้ในการสร้างความคิด ถ้าความคิดถูกต้อง จิตใจดี การปฏิบัติก็จะดีด้วย ซึ่งการปฏิบัติ คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคมด้วยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมแบบไม่ทำลายทำร้ายกัน เราจะสัมพันธ์แบบเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ฉะนั้นกระบวนการการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ จะปฏิรูปอะไรก็แล้วแต่ต้องปฏิรูปที่ความคิดก่อน ตราบใดคิดผิด ก็จะทำอะไรที่ผิดไปหมด การศึกษาจึงต้องรีบทำโดยด่วน
เนื่องจากว่า มนุษย์เรามีความแตกต่างทางด้านดีเอ็นเอ วัฒนธรรม การเลี้ยงดู และความเชื่อ ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิตให้ดี จึงควรสอดคล้องกับความแตกต่างตรงนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือการเคารพความแตกต่าง เชื่อเรื่องกระจายอำนาจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากชุมชนที่เป็นฐานของประเทศเข้มแข็ง
การศึกษาทางเลือกจึงเชื่อว่า มนุษย์เกิดมาไม่สมบูรณ์ ต้องพัฒนาตัวเองก่อนให้สมบูรณ์ เมื่อพัฒนาแล้วก็จะเข้าใจวิธีการพัฒนาเยาวชนไทย คือการจัดระบบการศึกษาให้เยาวชนเรียนอย่างไร มีกระบวนการเรียนรู้อย่างไรให้เติบโตขึ้นมาแบบเก่งดีมีสุข ใช้ชีวิตเป็น มีความรู้คู่กับความรัก
แนวทางการจัดระบบการศึกษาทางเลือก มีแนวทางที่หลากหลายก็ขึ้นอยู่กับทฤษฎีของแต่ละคน แต่ละพื้นที่ หากเราจะมุ่งกลับไปสู่ชุมชนทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เราก็น่าจะเปิดโรงเรียนแล้วให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพราะเด็กเป็นลูกหลานของชุมชน เขาควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาลูกหลานของเขา แล้วการพัฒนาไม่ใช่คิดแต่ “หัว” เท่า เขา (ชุมชน) มี “หัวใจ” ที่จะลงไปให้ลูกหลานด้วย
การสร้างครูที่เรียนจบครู เพื่อให้ครูไปรักลูกศิษย์นั้น ทำยาก ทำให้สอนเก่งทำนะได้ แต่เก่งและรักด้วย ค่อนข้างยาก หากชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ความรู้กับความรักจะถูกสร้างโดยการปฏิบัติ “