“วิกฤตชาติ ประชาธิปไตย สังคมไทยและทางออก”
ประเทศไทยทุกวันนี้ถูกใช้เป็นเวทีประลองกำลัง ระหว่างผู้ถืออำนาจ กับผู้แย่งชิง ยิ่งนานนับวันกลายเป็นปมขัดแย้งที่เหนียวแน่น สร้างความเดือนร้อน และร้าวฉานไปทุกหย่อมหญ้า สะสมกลายเป็นวิกฤตชาติที่ยืดเยื้อยาวนาน ประกอบกับ 'ศึกนอก' ที่ถาโถม ยิ่งตอกลิ่มให้สังคมไทยระส่ำระส่าย
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดเวทีเล็กๆ กลางเมือง เชิญนักคิด อย่างพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ในฐานะกรรมการปฏิรูป รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการปฏิรูปและกรรมการสมัชชาปฏิรูป และนายประมวล เพ็งจันทร์ นักเขียนอิสระ ร่วมขมวดประเด็นหาทางออก... สนทนากันในหัวข้อ “วิกฤตชาติ ประชาธิปไตย สังคมไทยและทางออก” ณ ลานหินโค้ง
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดสุคะโต อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และกรรมการปฏิรูป
“หากคิดสร้างจิตสำนึกในระยะยาว ต้องเริ่มปฏิรูปการศึกษา อาจใช้เวลา 15 ปี หรือ 1 ชั่วอายุคน แต่ก็ต้องทำ ส่วนระยะสั้น เร่งสร้างการเมืองให้มีเสถียรภาพมั่นคง อิงกับธรรมะ”
“หวังลาภ หวังกอปรโชค นิยมทางลัด เป็นพื้นฐานของสังคมไทยอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อเกิดการไหลเข้าของทุนนิยม บริโภค ก็ส่งผลกระทบต่อการปลูกจิตสำนึก การสอน การสร้างทัศนะคติของผู้คน อีกทั้งสถาบันดั้งเดิม ครอบครัว ชุมชน วัด โรงเรียน สื่อมวลชน ฯ ก็โอนอ่อนผ่อนตามกระแสทุนนิยม บริโภคนิยม
สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เคยขอร้องให้พระสงฆ์ ยกเลิกการสอนวิสันโต เพราะไม่ส่งเสริมการพัฒนาระบอบปฏิวัติ สงฆ์ก็โอนอ่อนผ่อนตาม หันมาสอนว่า ‘งานคือเงิน เงินคืองานบันดาลสุข’ แทนที่จะสอนให้รู้จักพอ ทำให้คนต่างตักตวงเงินทอง เอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียนซึ่งกันและกัน มองว่าวัตถุเท่านั้นที่เป็นของจริง และจะมีความสุขได้ด้วยเงิน เกิดเป็น ‘วัฒนธรรมแห่งการละโมบ’ ขณะเดียวกัน ก็ได้รับอิทธิพลจากสงครามเย็น เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเรื่อยมา นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา และสงครามระหว่างสีเช่นทุกวันนี้ กลายเป็น ‘วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง’ ท้ายสุด สังคมไทยก็ซวนเซ เซทรุด ความเป็นชาติเกิดขึ้นไม่ได้
ที่ผ่านมา สถาบันศาสนา สถาบันสงฆ์อิงกับรัฐมาก จึงโอนอ่อนตามนโยบายของรัฐบาล อยากจะสั่งให้ผู้คนละสันโดษ มีความโลภมากขึ้น ก็มาบอกให้พระสอนว่า ต้องรวย ต้องมั่งมีศรีสุข ซึ่งความรวยไม่ใช่เรื่องผิด แต่เมื่อเอาความรวยเป็นที่ตั้ง ทำให้ละเลยคุณธรรม และการเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ฉะนั้น สถาบันศาสนาต้องเข็มแข็ง เร่งฟื้นตัว ทั้งทางสติปัญญาและศาสนธรรม
สถาบันวัดวาอารามอ่อนแอ ตั้งรับไม่ทัน เพราะคุ้นชินกับสังคมแบบชาวบ้าน ไม่คุ้นกับสังคมเมือง ทำให้สอนธรรมะแบบพื้นๆ ไม่สามารถเชื่อมโยงธรรมะเข้ากับชีวิตประจำวันของคนกรุงได้ การทำมาหากินจึงตกอยู่ใต้ความโลภ คนมีความสัมพันธ์กันด้วยความเกลียดชัง นำไปสู่ความเสื่อมโทรมด้านสายใยแห่งความเป็นชาติ และวิกฤตความเป็นมนุษย์ ถ้าไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ ประชาธิปไตยหรือความยุติธรรมก็เป็นไปได้ยาก
การสร้างสำนึกใหม่ ต้องปฏิรูประบบโครงสร้าง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง เพราะระบบเหล่านี้ไม่ส่งเสริมให้คนทำความดี มีแค่ ‘เงิน’ กับ ‘เส้น’ ก็ประสบความสำเร็จได้ ประการสำคัญ หากคิดสร้างจิตสำนึกในระยะยาว ต้องเริ่มที่ระบบการศึกษา อาจใช้เวลา 15 ปี หรือ 1 ชั่วอายุคนถึงจะสำเร็จ แต่ก็ต้องทำ ส่วนระยะสั้นต้องสร้างการเมืองให้มีเสถียรภาพมั่นคง โดยระบบการเมืองต้องอิงกับธรรมะ สามารถรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกระจายผลประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง ไม่ทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายตัว ไม่ทำให้สองมาตรฐานเกิดขึ้น”
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการปฏิรูปและกรรมการสมัชชาปฏิรูป
“เราหยิบวิธีคิดจากฝรั่ง แต่ลืมหยิบกลไกถ่วงดุลมาด้วย ทุนนิยม จึงผิดเพี้ยนกลายเป็น ทุนสามานย์”
“ปรัชญาเศรษฐศาสตร์มีแนวคิดว่า พัฒนาการของระบบทุนนิยมที่ผ่านกลไกระบอบรัฐธรรมนูญ ได้ปลูกฝังความเชื่อที่ว่า เศรษฐกิจสังคมจะเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ ต้องอาศัยผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นแรงขับเคลื่อน ตามทฤษฏีที่เรียกว่า ‘นกสร้างป่า’ นกเมื่อกินเมล็ดพืช มันก็ขี้ไปทั่ว จนงอกงามกลายเป็นป่า
เมื่อถามว่า นกเจตนาสร้างป่าหรือไม่ คำตอบคือ ไม่
ป่าเป็นเพียงผลพลอยจากการขับถ่ายของนก หรืออาจเรียกได้ว่า ป่าเป็นผลพลอยได้จากประโยชน์ส่วนตนของนก ฉันใดฉันนั้น นิยามของ ‘ทุนนิยม’ จึงหมายถึงการขับเคลื่อนของตนเอง และสร้างผลพลอยได้ให้กับสังคม อยากหากำไร ก็สร้างโรงงานขายของ อยากขายของมากก็ต้องมีสินค้ามาก อยากมีสินค้ามากก็ต้องจ้างแรงงานมาก สิ่งเหล่านี้เกิดผลพลอยได้ทางสังคม แม้จะเป็นคำอธิบายที่ฟังดูดี แต่สิ่งที่ผิดเพี้ยนคือ เมื่อทำต่อไปเรื่อยๆ จะกลายเป็น ‘ทุนสามานย์’ ทุกคนจะมุ่งแข่งขัน ในที่สุด ผลพลอยได้ของสังคมจะน้อยกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว ฉะนั้น โดยรวมจะต้องสร้างกลไกถ่วงดุลให้เกิดขึ้น
ยกตัวอย่าง หากนายทุนได้กำไรมาก สหภาพแรงงานจะเข้ามาถ่วงดุล กระจายรายได้ไปสู่แรงงาน หรือพอนายทุนเอาเปรียบ ขายของแพง ผู้บริโภคก็ประท้วง ถ้าเป็นเช่นนี้ทุนนิยมก็มีต่อไปได้ เนื่องจากกลไกด้านผลประโยชน์ส่วนตัวถูกปรับเข้าหากัน แต่กลไกทุนนิยมของไทยนั้นแปลก เมื่อต้องการแสวงหากำไร ก็จะใช้วิธี เพิ่มราคาสินค้า กับ ลดต้นทุนการผลิต กดค่าแรงให้ถูกลง
ขณะเดียวกันเป็นผู้น้อยก็ต้องคอยเดินตาม เป็นผู้ใหญ่ค่อยว่ากัน เพราะเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด แต่กลับถูกผู้ใหญ่ถีบ สิ่งเหล่านี้ชัดเจนว่า เราหยิบวิธีคิดจากฝรั่ง แต่ลืมเอากลไกถ่วงดุลมา ซึ่งถ้าคิดจะสร้างกลไกใหม่จริงๆ อย่างน้อยที่สุด ต้องแก้การเห็นแก่ตัวเฉพาะกลุ่ม
สังคมฝรั่งการแข่งขันต้องผ่านการซื้อขาย การเมืองถูกใช้เป็นตลาดสังคม เมื่อนักการเมืองอยากเป็นรัฐบาลก็ต้องผลิตนโยบายออกมาขายประชาชน เมื่อประชาชนซื้อ ก็เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกัน ฉะนั้น หากจะปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ สร้างพลังแห่งความดีมาต่อสู้พลังแห่งความชั่ว เร่งเพาะเมล็ดพันธุ์ความดีให้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อถ่วงดุล ต่อสู้กับพลังความเห็นแก่ตัว ขจัดความไม่เสมอภาพ เพิ่มคนที่มีอำนาจน้อยให้มีอำนาจมากขึ้น
ที่สำคัญ ต้องเข้าใจว่า สังคมทุนนิยม ทุกอย่างมีการแลกเปลี่ยน ทุกอย่างมีการลงทุน ไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบ ไม่ยอมให้ใครขโมยสิทธิ์ ขณะเดียวกัน สิทธิ์ที่มีก็ต้องทวงกลับคืนให้ได้ นั่นเป็นกลไกที่ต้องนำมาใช้หากคิดจะเลือกเส้นทางทุนนิยม แต่ถ้าไม่คิด ก็ไม่จำเป็น
ประมวล เพ็งจันทร์ นักเขียนอิสระ
“สังคมมักบอกว่า เราเป็นเจ้าของประชาธิปไตย แต่สุดท้ายกลับไม่เคยมีพื้นที่ให้คนที่เห็นต่าง และดูเหมือนใครที่คิดต่าง จะถูกมองเป็นปัญหาของสังคม”
การเมืองเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติชาติที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถสร้างระบบการเมืองใหม่ขึ้นมาได้ เมื่อมาถึงจุดนี้ ทุกคนมีวิธีคิดมุ่งเพื่อที่จะเอาชนะซึ่งกันและกันโดยไม่คำนึงว่า สิ่งที่ทำมีผลกระทบอย่างไร หากแพ้จะกลายเป็นผู้ล้มเหลว จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เป็นผู้แพ้
วิธีคิดเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับจิตสำนึกของความเป็นชาติ ไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญอีกกี่ฉบับ หากจิตสำนึกแห่งการแข่งขัน ความคิดที่จ้องจะเอาชนะยังอยู่ในใจคน การเมืองไทยจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
ยิ่งเมื่อกลายเป็นผู้เสียเปรียบก็จะไม่ยอมรับกติกาที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันถ้าได้เป็นหนึ่งในรัฐบาลก็เปิดใจยอมรับว่า เป็นกติกาที่ดี ดังนั้น ผู้เสียเปรียบจึงพยายามทำทุกทางเพื่อแสดงให้เห็นว่า กติกานี้ไม่ดีอย่างไร ซึ่งกลไกเหล่านี้ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหา แต่เป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาทับของเก่า ที่สำคัญการแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้มุ่งไปที่ภาพรวมของชาติ แต่เป็นการแก้ปัญหาเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง และหวังว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปนั้นจะนำมาซึ่งชัยชนะทางการเมือง นับเป็นการทำลายความสมานฉันท์ สามัคคีปรองดอง หรือผลประโยชน์ร่วมกันของชาติเสมอมา
ฉะนั้น ยิ่งการเมืองมีพัฒนาการด้านนี้มากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเสียจิตสำนึกของความเป็นชาติร่วมกันมากขึ้นเท่านั้น สังคมมักบอกตัวเองเสมอว่า เราเป็นเจ้าของประชาธิปไตย แต่สุดท้ายกลับไม่เคยมีพื้นที่ให้กับคนที่เห็นต่าง นี่คือสิ่งที่น่าเสียใจ
สำหรับสังคมประชาธิปไตยที่น่าจะมีพื้นที่ให้กับคนเห็นต่าง ดูเหมือนว่า หากใครเห็นต่างสุดท้ายก็จะกลายเป็นปัญหาของสังคม ซึ่งทางออกมีอยู่ 2 ส่วน เมื่อพูดถึงปัญหาทางโครงสร้างทุนนิยม ต้องตั้งคำถามก่อนว่า มีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนหรือไม่ พร้อมทั้งทำความเข้าใจว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะติดพันกับทุนนิยมเป็นสิ่งปกติ เหมือนกับการบริโภคอย่างที่คิดว่าจะทำให้เกิดโรคอ้วนหรือโรคเบาหวาน หากยังมีความต้องการที่จะบริโภค คงต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ หากสังคมคิดว่า เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ คงต้องกลับมานั่งทบทวนแล้วเปลี่ยนโครงสร้างใหม่
ยกตัวอย่าง สังคมต้องการไฟฟ้า เกิดความคิดจะสร้างเขื่อนหรือสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ คำถามจะขึ้นตามมาว่า สิ่งนี้จำเป็นกับสังคมมากน้อยเพียงใด คนเห็นด้วยก็จะว่าสามารถเพิ่มการลงทุนในประเทศได้ ขณะเดียวกันคนที่ต่อต้านก็คงต้องมี ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน ซึ่งมันไม่ใช่ทางออก
หากที่ผ่านมาเป็นสังคมที่ไม่พึงประสงค์ ประเด็นที่เราจะถกเถียงกันคือต้องการสังคมแบบไหน ในขณะเดียวกันหากต้องการความสะดวกสบายแบบทุนนิยม และเราไปเรียกร้องความต้องการจากสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดความขัดแย้งในตนเอง ดังนั้นทางออกคือสร้างฉันทามติให้เกิดขึ้น อันเป็นการตัดสินใจของคนจำนวนมาก ที่เลือกเดินไปตามแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ท้ายที่สุดเมื่อพบสิ่งที่เป็นปัญหาหรือผลข้างเคียง ประชาชนต้องทำใจยอมรับมัน ดังนั้นต้องทำความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกในชาติร่วมกัน”