คนไทยกับการทุจริต
ระดับการทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไต่อันดับติดอยู่ในประเทศที่มีการทุจริตคอรัปชั่น อันดับที่ 5 ของเอเชีย
และที่รู้สึกตกใจกับผลสำรวจากเอแบคโพล พบว่า 76.1% ของคนไทยคิดว่า รัฐบาลทุจริตได้ หากมีผลงาน และยังสามารถทำให้ประเทศชาติรุ่งเรื่องได้
ทัศนคติแบบผิดๆ จุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีค่านิยมที่น่าเป็นห่วง สำหรับผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง จะมีความคิดอย่างไรบ้างต่อปัญหาการทุจริตในสังคมไทย..
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น เป็นการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อสังคม”
“ระบบการทุจริตของไทย มีความซ้ำซาก ไม่สามารถแก้ไขไปได้มากนัก ปัญหาคอรัปชั่น เป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบใน3 รูปแบบ คือ 1. การใช้อำนาจในการสร้างอุปสรรคในการให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจ การใช้อำนาจในรูปแบบนี้มีการจัดการที่ดีขึ้น รัฐให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงมาจากการปฏิรูประบบราชการ มีการให้ประชาชนร้องเรียน มีการตรวจสอบระบบทำงาน
2.การให้อำนาจอนุญาตในการละเว้นจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐ ผู้ที่มีอำนาจในการดูแล รักษากฎหมาย จะใช้อำนาจของตนในการหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง
3.การใช้อำนาจในการจัดสรรงบประมาณ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสัมปทาน การจัดซื้อ จัดจ้างปัญหานี้เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อ และยังพบว่ามีการทุจริต คอรัปชั่นในโครงการที่มีการอนุมัติงบประมาณในการดำเนินงานสูง และมักจะดำเนินการนโยบายเพื่อเอื้อผลประโยชน์ในพรรคพวกหรือเครือญาติของบุคคล ที่มีอำนาจได้รับผลประโยชน์
ปัญหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นในทัศนคติของสังคมไทย ที่มีการมองว่า ผู้มีอำนาจโดยเฉพาะทางการเมืองส่วนใหญ่จะโกง แต่โกงแบบที่ต้องการให้เกิดโครงการสาธารณะออกมา ก็ยอมรับได้นั้น เป็นเรื่องที่เป็นอันตรายต่อสังคม สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนทั่วไปเริ่มเบื่อหน่าย และยอมแพ้ต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น
มุมมองในเชิงเศรษฐศาสตร์มองว่า ปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น เป็นการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อสังคม ในเชิงของธุรกิจก็ไม่เกิดการแข่งขันในเรื่องสินค้าและบริการ เนื่องจากมีการกำหนดบุคคลที่ได้ผลประโยชน์เอาไว้แล้ว อีกทั้งยังเป็นต้นทุนของธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงโครงการต่างๆของรัฐ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม จนทำให้ได้สินค้าและบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพ
การคอร์รัปชั่นยังเป็นต้นทุนทางการเมืองที่เป็นลูกโซ่ เพี่อให้ได้โครงการของรัฐ หรือเรียกว่า “ธนกิจทางการเมือง” มีการนำพรรคพวกเข้าสู่การเมือง โดยวิธีการใช้เงินซื้อเสียงเพื่อให้ได้ตำแหน่ง
ในส่วนของแรงที่ต้องการคนเก่งที่มีความสามารถ เมื่อมีโอกาสทุจริต ก็จะได้บุคคลที่ไม่มีฝีมือมาทำงาน เพราะใช้วิธีทางลัดเข้ามาสู่ตำแหน่ง"
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
“การป้องกันการทุจริต ต้องมองรากเหง้าของปัญหาทั้งระบบ”
“การป้องกันการทุจริต คงต้องมองรากเหง้าของปัญหาทั้งระบบ ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างพันธมิตรเพื่อทำให้เกิดความเข้มแข็ง รวมกันต่อสู้กับปัญหา โดยเฉพาะการชี้มูลความผิดที่เกิดขึ้น จะเกี่ยวข้องกับวินัยและอาญาที่จะต้องดำเนินการให้ครบทุกด้าน
มีตัวอย่างประเทศเกาหลีที่คณะกรรมการป.ป.ช.มีความเข้มแข็ง สามารถทำให้ประธานาธิบดีเกาหลี 2 คนออกจากตำแหน่งได้ เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลเกาหลีกลัว จึงหาวิธีการที่จะรวม ป.ป.ช.กับคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชน เข้าเป็นชุดเดียวกัน เพื่อทำให้อ่อนแอลง เนื่องจากการทำงานของกรรมการสิทธิมนุษยชนล่าช้าไม่ตอบสนองการทุจริต
ส่วนประเทศไทยการทำงานของป.ป.ช.จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่สามารถสืบหาข้อมูลได้รวดเร็ว ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการชี้มูลความผิดได้เร็ว ขณะเดียวกันแนวทางการการปราบปรามการทุจริตจะต้องมีการสร้างองค์กรเครือข่ายร่วมด้วย เพื่อให้การตรวจสอบข้อมูลลงไประดับชุมชน ต้องมีคนที่คอยช่วยประสานงานและติดต่อกับองค์กรภาคประชาชนหรือเอ็นจีโอ ซึ่งในส่วนนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสามารถเข้าถึงได้ดีกว่าป.ป.ช.
สำหรับแนวทางการต่อสู้ในเรื่องคดีทุกปัญหาจะต้องรอบครอบ เพราะกระบวนการไต่สวนโดยศาลจะต้องใช้หลักฐานประกอบการพิจารณา บางประเทศอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง การหาข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ต้องลงทุนลักลอบดักฟังทางโทรศัพท์เพื่อจะได้ข้อมูล จากการสนทนา โดยขั้นตอนนี้บางครั้งจะใช้เวลานาน
การทุจริตคอร์รัปชั่น และการรับสินบน ส่วนใหญ่มาจากการใช้อำนาจ และการออกนโยบายของรัฐ ภาคเอกชนหรือธุรกิจจำเป็นมีการจ่ายเงินให้กับผู้มีอิทธิพลหรือผู้ที่กำหนด นโยบาย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย รัฐบาลที่เข้ามาใหม่ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอีก เป็นไปได้มากที่คนที่ได้รับโครงการจากรัฐเมื่อมีการจ่ายเงินในส่วนนี้มากๆ จึงมีโอกาสที่จะทิ้งโครงการที่มีให้พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นควรจะมีการออกแบบระบบการทำงานที่ได้มาของโครงการและการจัดซื้อ เป็นการแข่งขันที่โปร่งใส ลดการเข้ามาของระบบอุปถัมภ์"
น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา
"ภาคประชาชนที่ต่อสู้กับปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก"
“การทุจริตคอร์รัปชั่นทำให้เกิดปัญหาในภาพรวมต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่ห่างกันมากถึง 12-15 เท่า โดยเฉพาะรายได้ประชาชาติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตประมาณ 48% เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้แรงงาน มีอัตราการเพิ่มขึ้นเพียง 2% ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนสูงมาก
จะเห็นว่า การแบ่งปันและการจัดสรรทรัพยากรมีปัญหา ผู้ที่ใช้ทรัพยากรเป็นผู้ที่มีอำนาจในการจัดสรร
แนวทางการต่อสู้ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จะเห็นว่ามีการตีมูลค่าของสินทรัพย์ของหน่วยงานรัฐในราคาที่ถูก เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการกำหนดราคาหุ้น อย่างเรื่องท่อส่งก๊าซที่มีการนำค่าเสื่อมมาคิดมูลค่าทรัพย์สินโดยกำหนดตามระยะเวลาของค่าเสื่อมทำให้ราคาท่อก๊าซเท่ากับศูนย์ เมื่อศาลมีคำตัดสินให้มีการคืนท่อส่งก๊าซและคิดราคาที่ดิน ทางรัฐวิสาหกิจมีการมูลค่าของราคาท่อก๊าซมาคิดเป็นราคาต้นทุน ทำให้ประชาชนต้องซื้อก๊าซแพงขึ้น 2 บาท ขณะที่ผลกำไรจะตกอยู่กับผู้ถือหุ้น หากรัฐวิสาหกิจดำเนินธุรกิจขาดทุนภาระค่าใช้จ่ายก็จะถูกผลักมาที่ประชาชนให้ต้องจ่ายค่าบริการที่แพงขึ้น
หรือ อย่างกรณีการทำธุรกิจเหมืองแร่ที่มีการปล่อยสารแคทเมี่ยมทำให้เกิดมลภาวะเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม ที่มีการจ่ายค่าธรรมเนียมเพียง 420 บาทต่อไร่ ขณะที่ใช้จ่ายในการจัดการสิ่งแวดล้อม 800 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการชดเชยปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคประชาชนที่ทำการต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก”
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
"การเชื่อมโยงระบบข้อมูลจะช่วยให้การทำงานของสื่อมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินการตรวจสอบปัญหาการโกงหรือการทุจริตได้ง่ายขึ้น"
“การทำหน้าที่ของสื่อ ที่ผ่านมาสื่อมีข้อจำกัดในการทำงานการเข้าถึงข้อมูล ถึงแม้ว่าจะมีพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ที่ใช้มาถึง 13 ปี แต่ระบบการทำงานก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการเข้าถึงข้อมูล ประกอบกับประสิทธิภาพของสื่อมวลชนเอง ซึ่งก็ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้การสืบค้นเป็นไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมายังไ ม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อใช้งานร่วมกับ เช่น ระบบของศาลยุติธรรม ซึ่งศาลฎีกามีเรื่องค้างอยู่ในศาลจำนวน 37,000 เรื่อง เรื่องที่ส่งเข้าไปใหม่มีจำนวน 10,000 เรื่องต่อปี ส่วนเรื่องที่พิจารณาเสร็จมีประมาณ 7,000 เรื่องเท่านั้น ลองคิดดูว่า ระยะเวลา 10 ปีจะมีการเรื่องที่ค้างการพิจารณาจำนวนเท่าไร
การเชื่อมโยงระบบข้อมูลที่โปร่งใสจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และทำให้สามารถดำเนินการตรวจสอบปัญหาการโกงหรือการทุจริตได้ง่ายขึ้น”
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
“การทำงานร่วมกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาชน สื่อมวลชน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นพลังที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการในการแก้ไข ปัญหาคอรัปชั่น”
“การคอร์รัปชั่น หมายถึง การใช้อำนาจโดยมิชอบ เอื้อผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง นำไปสู่ปัญหาการคอร์รัปชั่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสาเหตุในการยึดอำนาจทางการเมือง ใช้อำนาจเพื่อทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งจะเห็นในภาพของนักการเมืองที่มีการคอร์รัปชั่นในโครงการใหญ่ต่างๆ การคอร์รัปชั่นมีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนั้นการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยที่สามารถยอมรับเรื่องการคอร์รัปชั่นได้ถือเป็นความคิดที่น่าเป็นห่วงอย่า งยิ่ง
ทางออก คือ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ซึ่งปัจจุบันในเรื่องนี้สังคมไทยยังมีปัญหาอยู่ การเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. กับ ก.ก.ต. และประชาชน กับกสม. จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ทำได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการทำงานร่วมกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาชน สื่อมวลชน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นพลังที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการในการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น
และสุดท้าย ถ้าทำให้สังคมเข้าใจและเห็นคุณค่าเรื่อง สิทธิพลเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงได้รับเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง จะทำให้ประชาชนร่วมกันปราบคอรัปชั่นและต่อต้านคอรัปชั่นอย่างดีที่สุด”