การปฏิรูปประเทศไทย
การปฏิรูปประเทศไทย
โดย นายแพทย์ประเวศ วะสี
๑. ไม่มีรัฐบาลใดแก้ปัญหาประเทศได้ (เพราะใช้แต่กลไกที่เป็นทางการ)
สังคมไทยติดอยู่ในมายาคติ ๔-๕ อย่างที่ทอนพลังและทำลายตัวเอง มายาคติอย่างหนึ่งคือ การให้ความสำคัญกับความเป็นทางการมากเกินไป ที่จริงความไม่เป็นทางการมีมาก่อน ใหญ่กว่า และมีสาระมากกว่าความเป็นทางการ ภาษาอังกฤษว่า Formal ก็ติดใน Form หรือรูปแบบมากกว่าสาระ
โครงสร้างแท่ง (รูป ก.) จะใช้อำนาจมากกว่าปัญญา เนื่องจากสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนและยาก การพัฒนาด้วยอำนาจจะไม่สำเร็จ หากทำงานด้วยโครงสร้างนี้จะไม่สำเร็จต่อการแก้ไขปัญหา เพราะทุกรัฐบาลมุ่งแต่ใช้กลไกที่เป็นทางการ
โครงสร้างแท่ง (รูป ข.) การอาศัยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ในแต่ละพื้นที่มีบุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบันต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่ต่างคนต่างอยู่เพราะความเป็นทางการ หากบุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ จะเกิดอิทธิพลังแห่งความสำเร็จ (รูป ข.)
การบริหารจัดการใหม่ คือ การส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ องค์กร และทุกเรื่อง เกิดเป็นเครือข่ายของความร่วมมือร่วมใจของคนไทยเต็มประเทศ เพื่อจะลดพลังทางลบเพิ่มพลังทางบวก พาประเทศออกจากวิกฤตการณ์ไปสู่การสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด จากทรัพยากรต่างๆ ที่มากเกินพอจะสร้างความสุขให้คนไทยทุกคน
๒. ความฝันใหญ่ของคนไทยร่วมกัน
การสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ถือว่าเป็นจิตนาการที่ใหญ่ ประเทศใดหรือองค์กรใดมีจิตนาการใหญ่ ประเทศนั้นองค์กรนั้นจะมีพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นจริง การทำอะไรให้มีพลังไม่ใช่เริ่มต้นที่ความรู้ เพราะความรู้มักจะมีข้อจำกัดที่ทอนพลัง “ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ไม่ได้” จินตนาการใหญ่ที่ไม่มีข้อจำกัดจึงเพิ่มพลัง โดยการที่คนไทยต้องมีการจินตนาการใหญ่ร่วมกันว่า เราจะร่วมกันสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก
๓. ประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกเป็นอย่างไร
ควรมีการระดมความคิดกันทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ว่าหมู่บ้านน่าอยู่เป็นอย่างไร ท้องถิ่นน่าอยู่เป็นอย่างไร จังหวัดน่าอยู่เป็นอย่างไร และประเทศน่าอยู่เป็นอย่างไร แทนที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะเป็นผู้นิยามว่าประเทศน่าอยู่ที่สุดเป็นอย่างไร คนไทยทั้งหมดจะเป็นผู้นิยาม ในกระบวนการนี้จะเป็นการสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วม ซึ่งจะเกิดพลังขับเคลื่อนมหาศาล
ตัวอย่างองค์ประกอบของการเป็นประเทศน่าอยู่
(๑) มีเศรษฐกิจดี ประชาชนมีสัมมาชีพอย่างถ้วนหน้าและมั่นคง
(๒) มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจไมตรีจิต ไม่ทอดทิ้งกัน
(๓) มีสันติประชาธรรม ที่มีการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน มีความเป็นธรรม
(๔) มีสิ่งแวดล้อมดี ที่เกื้อกูลต่อชีวิต
(๕) มี สสส. คือ สุนทรียธรรม สันติภาพ และสุขภาพ
ทั้ง ๕ รวมกันอาจเรียกว่าเบญจลักษณ์ของการเป็นหมู่บ้านน่าอยู่ ท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดน่าอยู่ ประเทศน่าอยู่เบญจลักษณ์ดังกล่าวอาจเป็นโครงให้เพิ่มเติม ตกแต่ง ต่อเติม อย่างใดก็ได้ตามปรารถนาของแต่ละกลุ่ม
๔. การพัฒนาอย่างบูรณาการ
โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งการจะเป็นประเทศน่าอยู่ ต้องมีการพัฒนาอย่างบูรณาการ ๘ เรื่องเชื่อมโยงกัน คือ เศรษฐกิจ-จิตใจ-สังคม-วัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-การศึกษา-ประชาธิปไตย ซึ่งอาจเรียกว่า “บูรณาการ ๘”
การพัฒนาอย่างบูรณาการ เอากรมหรือหน่วยงานเป็นตัวตั้งไม่ได้ เพราะกรมหรือหน่วยงานแยกเป็นเรื่องๆ ต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เรามีตัวอย่างของหมู่บ้านและตำบลที่มีการพัฒนาอย่างบูรณาการ แล้วเกิดความร่มเย็นเป็นสุขประดุจสวรรค์บนดิน ควรส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้าน ทุกท้องถิ่น และทุกจังหวัด สามารถรวมตัวกันพัฒนาอย่างบูรณาการจนเกิดสภาวะร่มเย็นเป็นสุขเต็มพื้นที่
ถ้ามหาวิทยาลัยหนึ่งแห่งร่วมมือกับจังหวัดหนึ่งจังหวัดในการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัดภายใน ๕ ปี ทุกชุมชนท้องถิ่นจะเข้มแข็ง ภายใน ๑๐ ปี บ้านเมืองจะร่มเย็นเป็นสุข ภาคธุรกิจมีโครงสร้างอย่างกว้างขวางและบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมาก หากภาคธุรกิจรวมตัวกันและทำงานพัฒนาสังคมอย่างเป็นระบบ จะเป็นพลังมหาศาลในการสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด ภาคธุรกิจน่าจะรวมตัวกันเป็น “สภานักธุรกิจเพื่อการพัฒนา” (Business Council for Development) เชื่อมโยงกับองค์กรทางธุรกิจที่มีอยู่ในทุกจังหวัด ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอย่างบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งทุกชุมชน ทุกท้องถิ่น และทั้งจังหวัด ปัญหาต่างๆ ต่อให้ยากเพียงใดไม่น่าจะทานพลังแห่งความร่วมมือของคนไทยได้
๕. ปฏิรูปประเทศไทยอย่างน้อย ๑๐ เรื่อง
นอกจากการพัฒนาอย่างบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ยังมีเรื่องหรือประเด็นใหญ่ที่ต้องการปฏิรูปอีกหลายเรื่อง เรื่องเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกัน จะปฏิรูปแต่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ปฏิรูปการเมือง จะไม่สำเร็จ เครื่องดนตรีทั้งวงต้องบรรเลงเพลงเดียวกัน รูปข้างล่างแสดงประเด็นใหญ่ๆ ๑๐ เรื่อง ที่เชื่อมโยงกัน แต่ละเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ ยากและยังแตกแขนง แยกย่อยไปได้อีก ควรมีบุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบัน ที่จับประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือมากกว่าศึกษาค้นคว้า ให้เกิดความเข้าใจชัดเจนและผลักดันไปสู่การปฏิบัติ
ความจริงมหาวิทยาลัยต่างๆ มีอาจารย์และนักวิชาการจำนวนมาก ควรจะเป็นขุมกำลังของการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย การที่มหาวิทยาลัยไม่เป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเพราะมหาวิทยาลัยทำงานโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้งอย่างเดียว ขาดการรวมตัวกันทำงานเชิงประเด็น นอกจากโครงสร้างที่เป็นคณะวิชา ภาควิชา สาขาวิชา มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมให้คณาจารย์และนักวิชาการรวมตัวกันข้ามองค์กร ข้ามสาขาวิชา ตามประเด็น เช่น ที่ยกตัวอย่างมา ๑๐ เรื่อง หรือประเด็นอื่นใดที่คิดว่ามีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ และเกาะติดประเด็นนั้นๆ ส่งต่อความรู้ไปให้สังคมเคลื่อนไหวไปสู่ความสำเร็จ
๖. เครือข่ายปฏิรูป
ประเทศไทยที่ครอบคลุมทั้งประเทศ(บุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบัน) ในการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดนี้ ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง หรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งจะทำได้สำเร็จ แต่บุคคล กลุ่มบุคคลองค์กร สถาบันต่างๆ สามารถคิดโดยอิสระ เคลื่อนไหวเข้ามาเชื่อมโยงด้วยมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ใหญ่ร่วมกัน คือ เปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปประเทศไทยในที่สุด จะเกิดเครือข่ายปฏิรูปประเทศไทยที่ครอบคลุมทั้งประเทศเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่จุดลงตัวใหม่ด้วยพลังทางสังคม พลังทางปัญญา พลังทางการจัดการ และพลังทางสันติวิธี ที่ทุกคนเป็นอิสระ สร้างสรรค์เต็มที่ ไม่มีใครหรือองค์กรใดมีอำนาจเหนือใคร ทุกคนทุกกลุ่มเข้ามาเชื่อมโยงกันด้วยความสมัครใจและความสุขในการได้เรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
๗. เซลล์สมองทางสังคม ศูนย์ข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
ความจริงในแต่ละพื้นที่มีบุคคล องค์กร สถาบันจำนวนมาก ที่ต่างคนต่างอยู่ ทำให้ไม่มีพลังสร้างสรรค์เกิดขึ้น ดัง (รูป ก.) ที่เหมือนสังคมไม่มีเซลล์สมอง และรูป (ข.) แสดงเซลล์สมองทางสังคมทำหน้าที่เชื่อมโยงส่วนต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดพลั งสร้างสรรค์ไปสู่ความสำเร็จ
เซลล์สมองทางสังคมทำหน้าที่ ๖ อย่าง คือ
(๑) สำรวจข้อมูลในพื้นที่
(๒) ส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ
(๓) มีการจัดการความรู้ คือดึงความรู้จากการปฏิบัติเก่าที่มีอยู่ในตัวคนออกมาใช้
(๔) วิจัยสร้างความรู้ใหม่ที่ต้องการใช้งาน
(๕) สังเคราะห์ประเด็นนโยบายที่เกิดขึ้น
(๖) ทำการสื่อสารทั้งในพื้นที่และกับภายนอก
หน่วยงานที่ทำหน้าที่เซลล์สมองอาจเป็นองค์กรที่มีอยู่แล้ว เช่น อบต. โรงพยาบาลชุมชน ฯลฯ อยู่ที่การปรับตัวให้ทำหน้าที่ครบทั้ง 6 ประการ นักพัฒนาเอกชนสามารถรวมตัวเป็นกลุ่มเซลล์สมองทางสังคม
มหาวิทยาลัยควรเป็นเซลล์สมองขนาดใหญ่ ถ้ามีเซลล์สมองน้อยใหญ่ทำงานเชื่อมโยงกันเต็มประเทศ ประเทศไทยก็จะเปลี่ยน เปลี่ยนจากการเป็นสังคมอำนาจ ไม่มีเซลล์สมอง ซึ่งไม่ได้ผล ไปเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ หรือสังคมที่มีเซลล์สมอง เกิดผลสัมฤทธิ์สูง สามารถสร้างสังคมที่คนไทยทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีความสุขได้
ควรมีศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย เพื่อรวบรวมและกระจายข้อมูลข่าวสารให้รู้กันทั่วใคร ที่ไหนกำลังทำอะไร เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็สามารถเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ศูนย์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
เพื่อคนไทยครับ ประเทศไทยกำลังประสบวิกฤตการณ์ที่ยากที่สุดๆ ไม่มีใคร องค์กรใด สถาบันใด หรือรัฐบาลใด สามารถแก้ไขได้ นอกจากคนไทย กลุ่ม องค์กร สถาบัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีวิธีการทำงานอย่างเป็นระบบที่ไม่ได้ใช้อำนาจ แต่ใช้การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ หรือปัญญา เป็นเครื่องมือ เกิดพลัง 4 คือ พลังทางสังคม พลังทางปัญญา พลังทางการจัดการ พลังแห่งสันติวิธี ซึ่งเป็นอิทธิพลังหรือพลังแห่งความสำเร็จ ปฏิรูปประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่ร่มเย็นเป็นสุข หรือประเทศที่น่าอยู่ที่สุด