รู้จักโครงการ
การปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะของคนไทย
“มหาวิกฤตสยาม” ที่กำลังคุกคามอยู่ในทุกด้าน เชื่อมโยงทั้งระบบการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม จนกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยครั้งใหญ่
ดังที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้เรียกว่า วิกฤตการณ์ที่ยากที่สุดในการหาทางออก ไม่รู้จะเริ่มต้นจากจุดใด และไม่สามารถแก้ได้เพียงแค่การ “ปฏิรูปการเมือง” อย่างที่เคยมีความพยายามทำกันมา
โครงการการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทยที่กำลังดำเนินอยู่จริง มีเครือข่ายสถาบันทางปัญญาและบุคคลเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้ประสานและสนับสนุน
“การปฏิรูปประเทศไทยนี้ จะขับเคลื่อนขยายตัวจนเป็นกระแสใหญ่ที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าร่วม
เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก”
สถาบันวิชาการที่รวมตัวกันในรูปแบบที่เรียกว่า “เครือข่ายสถาบันทางปัญญา กระทำโดยประชาชนคนละไม้คนมือ ทำในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนท้องถิ่น ไม่ต้องรอคอยอำนาจรัฐระดับชาติ หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อระดมสมองหาทางถอดรหัสการปฏิรูปประเทศไทย โดยหนึ่งในนั้น คือ การพุ่งเป้าไปที่การปฎิรูปธรรมาภิบาลระบบการเมืองการปกครอง ด้วยเห็นว่าคือจุดที่เป็นตอใหญ่ของปัญหาในเวลานี้
การปฏิรูปประเทศไทย ซึ่ง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้เสนอ “เป้าหมายร่วม” ให้กับคนไทยทั้งมวล ไว้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด และคนไทยมีสุขภาวะ โดยให้ลักษณะทั้ง 5 ประการ คือ
1) ประเทศแห่งความพอเพียง โดยการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ โดยสัมมาชีพนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองสงบสุข
2) ประเทศแห่งความดี เช่น มีน้ำใจ มีความปลอดภัย มีความยุติธรรม มีสันติภาพ และมีธรรมาภิบาล เป็นต้น
3) ประเทศแห่งความงาม ศิลปะ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
4) ประเทศแห่งปัญญา สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติ เนื่องจากเป็นสังคมแห่งอำนาจนิยม เป็นสังคมการเรียนรู้น้อย ดังนั้นสังคมไทยจำเป็นต้องปรับจากสังคมแห่งอำนาจนิยมไปสู่สังคมแห่งปัญญานิยม ซึ่งปัญญานิยมนี้ควรเป็นวิสัยทัศน์ใหญ่ของประเทศไทย
5) ประเทศแห่งสุขภาวะ ทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญา
ทั้งหมดนี้ เป็นเบญจคุณ ได้แก่ พอเพียง ดี งาม ปัญญา และความสุข
ประเทศไทยจะมีคุณลักษณะเบื้องต้นดังที่กล่าวมา อาจกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนา ประกอบด้วย 10 ยุทธศาสตร์ (ในเบื้องต้น) ดังนี้
1) สร้างจิตสำนึกใหม่ (new consciousness) ประเด็นนี้ได้มีการหารือว่าประเทศไทยภายใน 2 ปีข้างหน้าจะต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ วิธีคิดใหม่ เป็นสังคมที่คิดเพื่อส่วนรวม หลุดจากความคิดที่คับแคบและคิดเฉพาะเรื่องส่วนตัว
2) สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ หากทำได้จะทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข เศรษฐกิจดี ความชั่วไม่มี ครอบครัวอบอุ่น สัมมาชีพนี้ในความเป็นจริงควรเป็นเป้าหมายใหญ่และเป็นตัวชี้วัดของประเทศ ไม่ควรเป็น GDP ซึ่งไม่ได้บอกศีลธรรม หากแต่สัมมาชีพนี้สามารถระบุได้ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทั้งนี้นโยบาย เช่น ที่ดิน เทคโนโลยี จำเป็นจะต้องหนุนให้เกิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่
3) สร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม การเมือง และประชาธิปไตย ซึ่งมีเจ้าภาพในการดำเนินการ
4) สร้างระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ ทำอย่างไรให้มีระบบการศึกษาที่สามารถอภิวัฒน์คุณภาพคนทั้งประเทศได้อย่างรวดเร็ว กุญแจสำคัญคือ คุณภาพคน ซึ่งจะต้องหาเจ้าภาพในการดำเนินงานให้ได้
5) สร้างธรรมาภิบาล การเมือง การปกครอง และระบบความยุติธรรม เพราะที่ผ่านมา ประเทศเสียหายเนื่องจากขาดธรรมาภิบาลในเรื่องต่างๆ ทั้งการเมือง การปกครอง องค์กรต่างๆ ซึ่งตรงนี้กระทบกับระบบใหญ่ของประเทศ
6) สร้างระบบสวัสดิการสังคม เป็นระบบที่ทำอย่างไรให้ชีวิตเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานทั้งหมดดีขึ้น นโยบาย ระบบและยุทธศาสตร์ควรเป็นอย่างไร ถ้าทำได้สังคมไทยดีขึ้น ชีวิตเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานดีขึ้น
7) สร้างความสมดุลของสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
8) สร้างระบบสุขภาพเพื่อสุขภาวะของคนทั้งมวล มีเจ้าภาพ องค์กรมาก มีเครื่องมือเยอะ และเชื่อมกับประเด็นอื่นๆ โดยมองสุขภาพไม่ใช่แบบเดิม แต่มองครอบคลุม 4 มิติ กาย จิต สังคม และปัญญา ซึ่งเชื่อมโยงทุกเรื่อง
9) สร้างสมรรถนะในการวิจัยและสามารถทำเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ สำหรับประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าห่วง ทั้งนี้เราจำเป็นจะต้องรู้ทั้งหมดว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลกบ้าง มหาวิทยาลัยเองจำเป็นต้องมีการปฏิรูป หากมหาวิทยาลัยไม่จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์และปล่อยให้เรื่องดังกล่าวอยู่ในมือของบุคคลที่มีความรู้น้อย จะนำพาประเทศไปสู่ความเสียหาย
10) สร้างระบบการสื่อสาร ที่ผสมผสานการสร้างสรรค์ทั้งหมด เพราะว่าการสื่อสารสำคัญมาก เป็นตัวเชื่อมโยงและทำให้ทั้ง 9 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนไปได้
ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงทั้งหมดได้ ทำให้สามารถขับเคลื่อนงานและมีคนมาเชื่อมต่อได้ แต่ละคนสามารถทำได้หลายเรื่อง ขอเพียงแต่ว่าช่วยกันพัฒนาและปรับปรุง
โดยเครือข่ายสถาบันทางปัญญาจะจัดเวทีให้แก่บุคคลที่อาสามาร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศไทยโดยอาศัย “ความรู้” และ “กระบวนการเรียนรู้” ร่วมกัน ซึ่งบุคลากรส่วนใหญ่จะมีบทบาทสำคัญในองค์กร เช่น มหาวิทยาลัยและสถาบันทางปัญญารูปแบบอื่น โดยแต่ละท่านได้ทำงานศึกษาวิจัยในประเด็นปัญหาตามสาขาความถนัดของตน ล้วนมีจุดมุ่งหมายภายใต้หัวข้อเดียวกันคือ “ปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะของคนไทยทั้งมวล
หากการปฏิรุปประเทศไทยทุกด้านคงไม่อาจทำสำเร็จได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ และมิใช่เพียงการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อย่างที่เคยมีมาแต่ละรูปแบบหนึ่งจะจัดให้มีกิจกรรมลักษณะการวิจัยเชิงปฎิบัติการและการรณรงค์ต่อเนื่องไป โดยใช้เวลา 1-3 ปี และคาดว่าแวดวงผู้สนใจเรื่องปฎิรูปประเทศไทยจะขยายกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ
หมายเหตุ
เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ขึ้น เพื่อดำเนินการประสานงานสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศในมิติต่าง ๆ
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการของ “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถครอบคลุมความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด อย่างครบถ้วนรอบด้าน สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำโครงการ “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย เพื่อการขยายการรับรู้และการมีส่วนร่วม” ขึ้น โดยมีการขยายงานด้านรายงานข่าวและการผลิตสารคดีเชิงข่าวไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายขึ้น อีกทั้งจะทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านการรายงานข่าวการผลิตสารคดีเชิงข่าวไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายขึ้น และทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านการเผยแพร่ของสำนักงานปฏิรูป (สปร.)