'เสี่ยเพ้ง-ณัฐวุฒิ-นิวัฒน์ธำรง-สุชาติ' 4 ชื่อแรกนักการเมือง60ราย!ถูกสอบภาษีปมทรัพย์สินเพิ่ม
'อิศรา' เปิดหนังสือ ป.ป.ช.! โชว์ 4 รายชื่อนักการเมือง จาก 60 ราย 'เสี่ยเพ้ง-ณัฐวุฒิ-นิวัฒน์ธำรง-สุชาติ' ถูกตรวจสอบภาษีปมทรัพย์สินเพิ่มหลังรับตำแหน่งทางการเมือง-เผยมีปัญหาไม่แนบสำเนาแบบแสดงรายการด้วย
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลรายชื่อนักการเมือง 113 ราย ในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะถูกคัดเหลือ 60 ราย ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำเรื่องแจ้งให้กรมสรรพากรตรวจสอบข้อมูลภาษี หลังพ้นตำแหน่งและมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยทรัพย์สินทึ่เพิ่มขึ้นของนักการเมืองกลุ่มนี้ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา39 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี และเมื่อ สตง.ตรวจแบบภ.ง.ด.แล้ว นักการเมืองส่วนใหญ่จะแจ้งรายการเสียภาษีเฉพาะเงินเดือนเท่านั้น ไม่ได้นำทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาเสียภาษี จึงเป็นการเสียภาษีที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน และถือเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี มานำเสนอไปแล้ว
(อ่านประกอบ: เผย113 ชื่อนักการเมือง ก่อนถูกคัดเหลือ60! สตง.ไล่บี้เก็บภาษีปมทรัพย์สินรอบ2)
คำถามดังที่ ตามมาจากการนำเสนอข้อมูลส่วนนี้ไป คือ แล้วจริงๆ รายชื่อนักการเมือง 60 ราย จาก 113 รายชื่อ ที่อยู่ในข่ายถูกตรวจสอบภาษีจริงๆ เป็นใครบ้าง?
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่า สตง.ได้มีการทำเรื่องถึงกรมสรรพากร ให้ตรวจสอบข้อมูลภาษีนักการเมือง 60 ราย ก่อนที่กรมสรรพากร จะทำหนังสือแจ้งถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยืนยันข้อมูลทรัพย์สินอีกครั้ง ซึ่งมีการระบุชื่อ นักการเมือง 4 ราย จาก 60 ราย ที่ถูกตรวจสอบภาษีไว้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ หลักฐานเชิงประจักษ์ดังกล่าว เป็นหนังสือป.ป.ช. เลขที่ ปช 0009/0864 ลงวันที่ 1 ส.ค.2559 แจ้งถึง อธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง แจ้งข้อมูลการตรวจสอบไต่สวน อ้างถึง หนังสือกรมสรรพากร ลับ ด่วนที่สุดที่ กค 0717/ 160 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2559, หนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลับ ที่ ปช 0009/0201 ลงวันที่ 5 เมษายน 2559
ระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง 1 กรมสรรพากรได้ขอ สำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อมูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวม 60 ราย ว่ามีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ก่อนการดำรงตำแหน่งและหลังพ้นตำแหน่ง ซึ่งมีผลต่างผิดปกติต้องดำเนินการตรวจสอบ การชำระภาษีของบุคคลดังกล่าว หรือไม่ และสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แจ้งข้อเท็จจริงให้กรมสรรพากรทราบตามหนังสือที่อ้างถึง 2 ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบและขอชี้แจงเพิ่มเติมดังนี้
1. จากการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง 60 รายดังกล่าว พบว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่ยื่นสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 4 ราย ที่ต้องขอให้กรมสรรพากรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1.1 นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ไม่แนบสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2554 โดยแจ้งว่ามีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี
1.2 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่แนบสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2553 โดยแจ้งว่าไม่มีรายได้
1.3 นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ไม่แนบสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2553 โดยแจ้งว่ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี
1.4 นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ไม่แนบสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2550 โดยแจ้งว่ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี
2. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำนวน 60 ราย ที่กรมสรรพากรแจ้งมานั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินเสร็จแล้วจำนวน 34 ราย และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวมีทรัพย์สินและหนี้สินถูกต้องและอยู่จริงตามที่แสดง และจากการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินไม่พบว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก 26 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบความความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สิน (ดูเอกสารประกอบ)
อนึ่งหนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในสตง.ว่า ในช่วงต้นปี 2559 สตง. เคยทำหนังสือแจ้งเป็นทางการ ถึงกรมสรรพากร ให้ประเมินเรียกเก็บภาษีนักการเมือง 60 ราย มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้ว โดยใช้ฐานข้อมูลการแจ้งบัญชีทรัพย์สินที่นักการเมืองเหล่านี้ แจ้งไว้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อนที่กรมสรรพากร จะทำหนังสือแจ้งตอบ กลับสตง. ว่า นักการเมืองเหล่านี้ ไม่ได้ถูกตรวจสอบพบปัญหาเรื่องการร่ำรวยผิดปกติ และมีการส่งความเห็นของ ป.ป.ช. ที่ยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาเรื่องร่ำรวยผิดปกติมาให้ สตง.ทราบด้วย (อ่านประกอบ : จับตา'สตง.'เปิดเกมไล่บี้ภาษีนักการเมือง 60 คน&ทักษิณ กับความไม่ลงรอย'สรรพากร')
สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีนักการเมืองดังกล่าว ถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายของ ศ.พิเศษ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งเป็นผู้ที่มีเชียวชาญด้านภาษี และมอบนโยบายให้มีการจัดตั้งสำนักตรวจสอบการจัดเก็บภาษี ขึ้นภายใน สตง. ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ สตง.มีความเห็นว่า ทรัพย์สินทึ่เพิ่มขึ้นของนักการเมืองถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา39 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี และเมื่อ สตง.ตรวจแบบภ.ง.ด.แล้ว นักการเมืองส่วนใหญ่จะแจ้งรายการเสียภาษีเฉพาะเงินเดือนเท่านั้น ไม่ได้นำทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาเสียภาษี จึงเป็นการเสียภาษีที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน และถือเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี ขอให้กรมสรรพากรแจ้งประเมินภาษีจากนักการเมืองเหล่านี้ด้วย
ส่วนสาเหตุการปรับลดจำนวนนักการเมืองที่อยู่ในข่ายถูกตรวจสอบภาษี จาก 113 ราย เหลือ 60 ราย นั้น เป็นเพราะต้องการที่เน้นตรวจสอบนักการเมือง ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจนเป็นหลัก
ส่วนรายชื่อนักการเมือง 60 ราย ที่เหลือ นอกจากรายชื่อของ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ที่ปรากฎชัดเจนอยู่ในหนังสือ ป.ป.ช. ที่ส่งถึงกรมสรรพากรแล้ว จะมีใครบ้างนั้น
สำนักข่าวอิศรา จะติดตามตรวจสอบ และทยอยนำรายชื่อมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบในตอนต่อๆ ไป