ผบ.ทบ.สั่งแจงปม"สะเดา"เผยชาวบ้านค้าน - ศอ.บต.ตั้งคณะทำงานสอบเหตุรุนแรง
"ประยุทธ์" สั่ง กอ.รมน.แจงปม "อ.สะเดา" ไม่เกี่ยวพื้นที่สถานการณ์ไฟใต้ ชี้บีอาร์เอ็นพยายามประดิษฐ์ถ้อยคำ หน่วยข่าวรายงานชาวบ้านรุมค้าน ขณะที่ "ทวี" เซ็นตั้งคณะทำงานตรวจสอบเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนแล้ว มอบ เสธ.ทัพ 4 นั่งประธาน พร้อมตั้งศูนย์ประสานงานส่งเสริมสันติภาพ สั่งผู้ว่าฯชายแดนใต้ทุกจังหวัดพิสูจน์ทราบทันทีที่เกิดเหตุร้าย หวังสร้างความเข้าใจ ยิงรายวันประปราย ชรบ.ดับ 1 เจ็บ 1 ที่บันนังสตา
กรณี ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับแกนนำบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ ได้มีถ้อยแถลงเมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ค.2556 เกี่ยวกับความตกลงร่วมกันในการริเริ่มยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งปรากฏว่าในคำแถลงระบุถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับ 5 อำเภอของ จ.สงขลา (จากเดิม 4 อำเภอ) โดยรวม อ.สะเดา จ.สงขลา เข้ามาด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบ และไม่มีปฏิบัติการทางทหาร รวมทั้งไม่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษนั้น
ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 15 ก.ค.2556 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวในเรื่องนี้ว่า "เราไม่ได้ไปรวมกับเขา ถ้าเขาอ้างก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่ได้รวมกับเขาอยู่แล้ว เดี๋ยวรัฐบาลคงจะโต้แย้งกลับไปทางบีอาร์เอ็น และ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) จะแจ้งไปยังรัฐบาลว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้อง"
กอ.รมน.ชี้ "บีอาร์เอ็น" พยายามประดิษฐ์ถ้อยคำ
วันเดียวกัน ที่กระทรวงกลาโหม หน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการแถลงครั้งที่ 4 ตามนโยบายของรัฐบาล
พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า เรื่อง อ.สะเดา ถือเป็นการประดิษฐ์ถ้อยคำของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ต้องการระบุอะไรลงไปก็จะระบุ ระหว่างที่รอทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พิจารณานั้น หน่วยงานความมั่นคงก็กำลังเร่งลดระดับความรุนแรงในพื้นที่อยู่
"เราต้องยึดหลักการของเรา ไม่ใช่ไปฟังเขา โดยจะดูระดับความเข้มข้นของการก่อเหตุและแยกเป็นรายอำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มี 33 อำเภอ รวมกับ 4 อำเภอใน จ.สงขลา รวมเป็น 37 อำเภอ" พ.อ.บรรพต กล่าว
พ.อ.จรูญ อำภา ที่ปรึกษา สมช. กล่าวว่า อ.สะเดาเป็นช่องทางเข้าออก สามารถใช้ส่งกำลังบำรุงของฝ่ายความมั่นคงได้ การแถลงยุติความรุนแรงโดยนำ อ.สะเดา มารวมกับพื้นที่ที่มีปัญหาถือเป็นความอ่อนไหว เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และมีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการคมนาคมขนส่งสินค้าเข้า-ออกตลอดเวลา
"จะต้องไปพูดคุยกับเจ้าของพื้นที่ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กอ.รมน.จังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องนี้กำลังพิจารณากันอยู่ ส่วนการพูดคุยสันติภาพนั้นผมไม่อยากให้มองว่าเป็นการได้เปรียบหรือเสียเปรียบ หรือเป็นการชิงไหวชิงพริบ แต่เป็นการหาจุดร่วมเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน" พ.อ.จรูญ ระบุ
ประชาธิปัตย์จี้รัฐบาลชี้แจง
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในคำแถลงยุติความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน มีการระบุถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับอีก 5 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งได้เพิ่ม อ.สะเดา ขึ้นมาอีก 1 อำเภอทั้งที่ไม่มีเคยมีปัญหาความขัดแย้ง และยังเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งประเด็นนี้อยากได้คำอธิบายจากรัฐบาลเหมือนกันว่า ทำไมวันนี้ อ.สะเดา กลับกลายเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาแล้วหรืออย่างไร
"ขอให้รัฐบาลระมัดระวังเรื่องการพูดคุย สิ่งที่เราเป็นห่วงคืออาการของทางกลุ่มบีอาร์เอ็นที่จะใช้การพูดคุยนั้นไปสู่เป้าหมายของเขามากกว่าที่จะนำการพูดคุยมาแก้ปัญหา และขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเรียกชื่อ 5 อำเภอของ จ.สงขลา ที่แตกต่างกันในคำแถลง คือ อ.นาทวี กับ อ.สะเดา ใช้ภาษาอังกฤษทับศัพท์ แต่ อ.จะนะ อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย กลับเรียกเป็นภาษายาวี " นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หน่วยข่าวเผย"คนสะเดา"ค้านรวมพื้นที่ไฟใต้
แหล่งข่าวจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข่าวและความเห็นของประชาชนในพื้นที่ อ.สะเดา ทราบว่ามีความตื่นตัวและให้ความสนใจกับแถลงการณ์ลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนของรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นที่มีการระบุถึง อ.สะเดา เป็นอำเภอที่ 5 ของ จ.สงขลา เป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้นับรวม อ.สะเดา เข้าไปอยู่ในกลุ่ม 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่มีอาณาเขตติดต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
มีรายงานว่าตลอดทั้งวันของวันจันทร์ที่ 15 ก.ค. ได้มีพ่อค้า ประชาชนหลายกลุ่ม รวมทั้งนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ เดินทางเข้าไปที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อขอความชัดเจนเรื่องนี้ และบางส่วนได้ขอพบ นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอทราบท่าทีของทางราชการด้วย
ฟังเสียงคนสะเดามีทั้งหนุน-ค้าน
จากการสอบถามความเห็นของคนในพื้นที่ พบว่ามีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน นายเอกลักษณ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี ชาวบ้านไทยพุทธ อ.สะเดา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการรวมพื้นที่ อ.สะเดา เป็นพื้นที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ เพราะที่ผ่านมากลุ่มบีอาร์เอ็นไม่เคยพูดถึง อ.สะเดา อยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่ของพวกตน อยู่มาวันหนึ่งจะมาบอกว่าสะเดาเป็นพื้นที่ของตนคงยอมไม่ได้ ไม่มีใครยอม ถ้ายอมไปมีแต่จะทำให้เกิดปัญหา อีกอย่างคนที่นี่พูดภาษามลายูไม่ได้ ยิ่งจะเป็นปัญหามากขึ้น อยู่แบบนี้ดีแล้ว ชาวบ้านก็ทำมาหากินได้ แต่ถ้าไปอยู่กลุ่มเดียวกับมลายู จะเกิดปัญหา ชาวบ้านจะเดือดร้อน
"หลังจากได้ดูคำแถลงทางโทรทัศน์ก็ได้คุยกับเพื่อนบ้านหลายคน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพื่อนที่เป็นมุสลิมก็ยังบอกไม่เอา ไม่ยอม พูดมลายูไม่เป็น พวกเราคนพุทธจะยอมได้อย่างไร จึงอยากให้รัฐทบทวนให้ดี เพราะประชาชนที่นี่ก็มีแรงมีพลังในการเรียกร้องเหมือนกัน"
ขณะที่ นายอนันต์ สาและ ชาวบ้านมุสลิม อายุ 27 ปี กล่าวว่า เห็นด้วยกับการรวมพื้นที่ เพราะอาจมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ในอนาคตก็จะเปิดประชาคมอาเซียน จะได้พัฒนาภาษามลายูให้ดีกว่าเดิม เพราะว่าตอนนี้คนที่นี่ส่วนใหญ่ไม่พูดภาษามลายู เนื่องจากพูดไม่เป็น บางคนฟังไม่รู้เรื่องเลย
"แต่ อ.สะเดา เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ก็จะเป็นเรื่องที่ดี คนที่นี่จะได้พัฒนาโดยเฉพาะเรื่องภาษารับประชาคมอาเซียน อีกอย่างเราเป็นมลายูด้วยกัน ถ้าอยู่ร่วมกับพื้นที่มลายูก็น่าจะดีในการพัฒนา เช่น ด้านศาสนา การศึกษา และการพัฒนาอีกหลายๆ ด้านที่คนมุสลิมด้วยกันจะเข้าใจกัน ทุกวันนี้ อ.สะเดา มีข้อดีคือมีด่านชายแดน 2 แห่ง ทำให้มีการพัฒนาบ้าง แต่ถ้าไม่มีด่าน การพัฒนาก็อาจจะไม่มีโอกาสเท่านี้" นายอนันต์ กล่าว
"ทวี"ตั้งคณะทำงานตรวจสอบเหตุรุนแรงรอมฎอน
วันเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ลงนามในคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2556 หรือฮิจเราะห์ศักราช 1434 เพื่อส่งเสริมและประสานงานให้เกิดสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอน
ในการนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานและศูนย์ประสานงานส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนฯ โดยมี พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (รองผอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน โดย พล.ต.ชรินทร์ เป็นหนึ่งในคณะพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็น ในฐานะตัวแทนกองทัพภาคที่ 4 ด้วย
ทั้งนี้ คณะทำงานดังกล่าวมี 48 คน ประกอบด้วยตัวแทนส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมทั้งตัวแทนภาคประชาสังคม โดยมีรองเลขาธิการ ศอ.บต.ทุกคนเป็นที่ปรึกษา รวมทั้ง นายสมเกียรติ บุญชู ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มีประสบการณ์การพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐด้วย
คณะทำงานชุดนี้มีอำนาจหน้าที่สำคัญคือการติดตามและตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ตลอดช่วงเดือนรอมฎอนและหลังจากนั้น รวมระยะเวลา 60 วัน (10 ก.ค.ถึง 7 ก.ย.2556) ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นตกลงร่วมกันลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ตามที่ได้มีการแถลงโดยทางการมาเลเซีย พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเกิดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนขึ้นหรือไม่ก็ตาม
สำหรับ "ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนจังหวัดชายแดนภาคใต้" ใช้ตัวย่อว่า ศปร. ตั้งสำนักงานที่สำนักประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ศอ.บต. หมายเลขโทรศัพท์ 073-203887 โดย พ.ต.อ.ทวี ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนใต้ทุกจังหวัดให้ประสานงานกับ ศปร.ทันทีที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น พร้อมเร่งรัดพิสูจน์ทราบเพื่อสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุดด้วย
ยิงรายวันประปราย – ชรบ.ดับ 1 เจ็บ 1
ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ช่วงหลังจากทางการมาเลเซียแถลงยุติความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน ปรากฏว่ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเพียงประปราย โดยเมื่อเวลา 06.25 น. วันอังคารที่ 16 ก.ค.คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิง นายมะยาหะลี อาลี อายุ 44 ปี ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หมู่ 4 บ้านบันนังกูแว ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เสียชีวิต เหตุเกิดขณะที่ นายมะยาหะลี กำลังขี่รถจักรยานยนต์ไปสวนยางพาราในท้องที่หมู่ 10 บ้านบาโงยแจเกาะ ต.บันนังสตา เบื้องต้นตำรวจยังไม่สรุปสาเหตุการสังหาร
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 15 ก.ค.เวลา 13.45 น.ที่ อ.บันนังสตา เช่นกัน คนร้ายไม่ทราบจำนวนซุ่มอยู่ข้างทาง ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิง นายตอเหล็บ สะแปอิง อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 73 หมู่ 1 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดขณะที่ นายตอเหล็บ กำลังขี่รถจักรยานยนต์เพียงลำพังบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 บริเวณสะพานบ้านปาลอบาตะ หมู่ 13 ต.ตลิ่งชัง อ.บันนังสตา เบื้องต้นตำรวจยังไม่สรุปสาเหตุการลอบยิงเช่นกัน แต่ให้น้ำหนักไปที่ความขัดแย้งส่วนตัว อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า นายตอเหล็บ เป็น ชรบ.เช่นกัน
วันอาทิตย์ที่ 14 ก.ค.เวลา 20.30 น.คนร้ายไม่ทราบจำนวนมีรถยนต์เก๋งไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียนเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิงใส่รถของ นายอิสมะแอ บาเหะ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 110 บ้านรือเปาะ หมู่ 4 ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ขณะขับอยู่บนทางหลวงหมายเลข 4057 ท้องที่บ้านกวาลอมาแด หมู่ 4 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ทำให้ นายอิสมะแอ ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ นางมารียะ หะมะ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 140/1 หมู่ 5 ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งนั่งมาในรถด้วย ได้รับบาดเจ็บเช่นกัน
สอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ นายอิสมะแอ และ น.ส.คอรีย๊ะ สามะแอ อายุ 35 ปี ภรรยา ได้เดินทางไปรับ นางมารียะ ที่ อ.สุไหงโก-ลก เพื่อกลับบ้านที่ อ.เมืองนราธิวาส แต่ระหว่างทางขากลับถูกคนร้ายดักยิงทำให้ นายอิสมะแอ และนางมารียะได้รับบาดเจ็บดังกล่าว ส่วน น.ส.คอรีย๊ะ ปลอดภัย เบื้องต้นตำรวจยังไม่สรุปสาเหตุการลอบยิง
วันเสาร์ที่ 13 ก.ค.พบศพชายไม่ทราบชื่อบริเวณริมแม่น้ำโก-ลก ท้องที่บ้านลูโบ๊ะฆง หมู่ 3 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส สภาพศพถูกยิงบริเวณศีรษะ และมีบาดแผลถลอกที่แขนกับข้อมือ คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่รยความมั่นคง กล่าวถึงเหตุการณ์คนร้ายลอบยิงประชาชนได้รับบาดเจ็บ 2 รายที่ อ.สุไหงโก-ลก (กรณีของ นายอิสมะแอ และนางมารียะ) ว่า ไม่ใช่เรื่องก่อความไม่สงบและไม่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่เป็นเรื่องส่วนตัว โดยผู้บาดเจ็บก็อาการไม่สาหัสมากนัก ทั้งนี้ในรอบ 7-10 วันที่ผ่านมาคิดว่าคุมสถานการณ์ได้ บีอาร์เอ็นปฏิบัติตามคำพูด และได้แสดงว่าคุมสถานการณ์ได้แล้ว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : รถจักรยานยนต์ของ นายตอเหล็บ สะแปอิง อยู่ในสภาพเกือบล้มคว่ำ หลังเจ้าตัวซึ่งเป็น ชรบ.ถูกยิงได้รับบาดเจ็บในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)