รัฐโยนหิน"เคอร์ฟิว"พื้นที่รุนแรงซ้ำ ยะหริ่งเครียดหลัง ปปง.อายัดทรัพย์ปอเนาะ
"เฉลิม" แย้มตำรวจชายแดนใต้ขอรัฐประกาศ "เคอร์ฟิว" เวลากลางคืนในพื้นที่เกิดเหตุรุนแรงซ้ำซาก เล็งนำเข้าที่ประชุม ศปก.กปต.15 ก.พ.นี้ ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมค้าน บอกการใช้กฎหมายพิเศษต้องกติกาเดียวกับ กทม. ด้าน ปปง.แถลงอายัดทรัพย์ "ปอเนาะญีฮาด" อ้างเหตุเป็นสถานที่ฝึกอาวุธกลุ่มก่อความไม่สงบ
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) กล่าวเมื่อวันพุธที่ 6 ก.พ.2556 ถึงสถานการณ์ตวามไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการกระทำรุนแรงต่อประชาชนจากนอกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งเหตุยิงชาวนาจาก จ.สิงห์บุรี กับสุพรรณบุรี และเหตุสังหารพ่อค้ารับซื้อผลไม้ ว่า ในการประชุม ศปก.กปต.วันที่15 ก.พ.นี้ จะต้องมีข้อสรุปที่ชัดเจนและต้องมีวิธีการดำเนินการ
ทั้งนี้ ในส่วนของตำรวจ ได้มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มาปรึกษาว่า บางพื้นที่ที่เกิดเหตุซ้ำแล้วซ้ำอีกในเวลากลางคืน ควรจะประกาศเคอร์ฟิว แต่สื่อก็วิจารณ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็โจมตี และ ชาวบ้านในพื้นที่ก็บอกว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ จนทำให้ปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ฉะนั้นในวันที่ 15 ก.พ.จะตัดสินใจหารือเรื่องนี้อีกครั้ง
"ในพื้นที่ที่เกิดเหตุซ้ำๆ อย่าง อ.กรงปินัง จ.ยะลา และ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ต้องเอามาเป็นกรณีศึกษาในการประกาศเคอร์ฟิวช่วงเวลากลางคืน และ เราจะประกาศเฉพาะพื้นที่ที่มีสถิติเกิดเหตุซ้ำซาก โดยเรื่องนี้ต้องกล้าตัดสินใจคิดเปลี่ยน ปล่อยไว้อย่างนี้เหมือนดื้อยา ข้อเสนอนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่บอกมา จะไม่เชื่อเขาได้อย่างไร โดยในการประชุมผมจะเรียก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาหารือด้วย" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
"สุกำพล"สวนทาง-ยันไม่ประกาศเคอร์ฟิวแน่
ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน. 6) พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องว่า ปัญหาคือยังไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงที่เข้มข้นเลย จึงอาจทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ยืนยันว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันเป็นกติกาเดียวกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และจะไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวแน่นอน
อนึ่ง ในปัจจุบันพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) จำนวน 33 อำเภอ เป็นพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จำนวน 32 อำเภอ ยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ที่เป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ หรือพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ขณะที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี เป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
ยะหริ่งเครียดหลัง ปปง.แถลงอายัดทรัพย์ปอเนาะ
วันเดียวกัน ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. แถลงรายละเอียดการอายัดที่ดินโรงเรียนญีฮาดวิทยา หรือปอเนาะญีฮาด ตั้งอยู่ที่บ้านท่าด่าน หมู่ 3 ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เนื้อที่ 14 ไร่ ราคาประเมิน 5.9 แสนบาท โดยบอกว่า จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่าโรงเรียนดังกล่าวดำเนินกิจการโดยผู้บริหารที่มีพฤติการณ์สนับสนุนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้จับกุม นายมะยุรี นิแว และ นายมะซูกี เซ็ง ทำให้ทราบพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความผิดมูลฐานและการก่อความมาสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 คนยอมรับว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มบีอาร์เอ็น และเคยถูกส่งตัวไปฝึกหลักสูตรคอมมานโดที่โรงเรียนญีฮาดวิทยา โดยมี นายอิสมาแอ หรือ จิแอ อุเซ็ง เป็นผู้ควบคุมการฝึก มี นายดูนเลาะ แวมะนอ หรือเปาะซูเลาะห์ ครูใหญ่ของโรงเรียนเป็นผู้ฝึก
ดังนั้น ปปง.จึงมีคำสั่งอายัดที่ดินของโรงเรียนดังกล่าว เนื่องจากมีการใช้เป็นสถานที่ฝึกกองกำลังเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร ปลูกฝังแนวความคิดและสะสมกำลังพลและอาวุธเพื่อการก่อการร้าย จึงถือเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินมาตรา 3 โดย ปปง.จะทำการอายัดที่ดินดังกล่าวไว้ก่อนเป็นเวลา 90 วัน
ทั้งนี้ หากผู้ที่ถูกอายัดทรัพย์สินประสงค์ให้มีการเพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าว ต้องยื่นคำขอต่อเลขาธิการ ปปง. พร้อมแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกอายัดมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดภายใน 30 วัน หากการชี้แจงฟังไม่ขึ้นหรือไม่สามารถชี้แจงได้ ปปง.จะส่งคำร้องให้อัยการยื่นต่อศาลขอให้มีการยึดทรัพย์ดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ทำให้พื้นที่ อ.ยะหริ่ง ตกอยู่ในภาวะตึงเครียด มีกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนปอเนาะที่ถูกอายัดทรัพย์ ขณะที่ก่อนหน้านี้ (เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ก.พ.) เพิ่งเกิดเหตุยิงชาวนาจาก จ.สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี ที่ไปช่วยชาวบ้านฟื้นฟูนาร้างในพื้นที่ ต.บาโลย เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บกว่า 10 รายด้วย โดย ต.บาโลย ก็ตั้งอยู่ในเขต อ.ยะหริ่ง เช่นกัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จากอินเทอร์เน็ต