"บิ๊กเมา"จับมือมาเลย์ดีเดย์พูดคุยดับไฟใต้ - BRN แพร่คลิปถามหาความจริงใจ
วันที่ 4 ม.ค.62 กลายเป็นหมุดหมายใหม่ของการเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะมีการพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างคณะพูดคุยฯของรัฐบาล นำโดย พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กับผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย นำโดย ตันสรี อับดุลราฮิม มูฮัมหมัด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย
ทั้ง พล.อ.อุดมชัย และ ตันสรี ราฮิม เพิ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลประเทศของตนให้เข้ามาทำหน้าที่ในกระบวนการพูดคุยฯ จึงถือว่าการพบปะกันเป็นการเริ่มต้นเปิดโต๊ะพูดคุยรอบใหม่
วาระของการพบปะกันที่โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ กลางกรุุงเทพฯ มี 2 ประการ คือ 1.แนะนำตัวคณะพูดคุยฯชุดใหม่อย่างเป็นทางการ และ 2.ประสานงานและปรึกษาหารือเกี่ยวกับแนวทางการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป
"บิ๊กเมา" ย้ำเปิดรับทุกกลุ่มร่วมออกแบบการพูดคุย
ภายหลังการหารือ ได้มีการแถลงข่าวร่วมกัน โดย พล.อ.อุดมชัย กล่าวว่า ทางการไทยได้ชี้แจงทิศทางการทำงานของคณะพูดคุยฯ ฝ่ายรัฐบาลไทยให้ผู้อำนวยความสะดวกได้รับทราบ 4 เรื่อง
เรื่องแรกคือ รัฐบาลไทยได้ดำเนินการพูดคุยตามนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งควรเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของคนทุกกลุ่ม
เรื่องที่ 2 คณะพูดคุยฯ ของรัฐบาลไทยมีแนวทางชัดเจนในการเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นของผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม และประชาชนทุกเชื้อชาติ ศาสนาให้สะท้อนความเห็นอย่างเสรีและปลอดภัย
เรื่องที่ 3 คณะพูดคุยฯ รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกแบบกระบวนการพูดคุยให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และประชาชนทุกฝ่าย เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญของความต่อเนื่องและยั่งยืนของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ
เรื่องที่ 4 คณะพูดคุยฯ ยืนยันภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล 3 เรื่อง คือ การเปิดพื้นที่พูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างรอบด้าน, การพูดคุยต้องมีความต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างความพร้อมของทุกภาคส่วนให้สนับสนุนกระบวนการพูดคุยฯ และมีความเข้าใจพัฒนาการของกระบวนการพูดคุยฯตามความเป็นจริง
ไฟใต้ปัญหาภายใน ต้องไม่นำไปสู่แยกดินแดน
"แนวทางในการทำงานร่วมกัน คือมาเลเซียจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ตามที่ทางการไทยร้องขอ ส่วนกรอบการทำงาน เนื่องจากเป็นปัญหาภายในของประเทศไทย ฉะนั้นทางออกต้องตั้งอยู่บนความเป็นพหุวัฒธรรม และสุดท้ายจะไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน โดยทางการไทยจะเปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่ามีความต้องการอะไรบ้าง" พล.อ.อุดมชัย กล่าว
หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายรัฐบาลไทย บอกอีกว่า กลุ่มผู้เห็นต่างฯที่จะร่วมพูดคุย จะเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในการพูดคุยฯ ซึ่งไม่แยกว่าเป็นกลุ่มไหน ขอให้เกิดจากความพร้อม จึงไม่ควรเร่งรัดการพูดคุยฯ ทั้งนี้เพื่อให้แต่ละกลุ่มมีความเห็นร่วมกัน และนำไปสู่สันติวิธี โดยดำเนินการต่อยอดจากหัวหน้าคณะพูดคุยฯชุดเดิม ซึ่งทำไปตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ก่อนหน้านี้
ชวน BRN ร่วมวงก่อนประชาชนไม่ยอมรับ
ส่วนกลุ่มบีอาร์เอ็นจะเข้าร่วมพูดคุยด้วยหรือไม่นั้น พล.อ.อุดมชัย บอกว่า ระยะเวลาหนึ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ชอบใช้ความรุนแรง กลุ่มบีอาร์เอ็นก็จะไม่ได้รับการยอมรับ และไม่สามารถบังคับบัญชาใดๆ ในพื้นที่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาบีอาร์เอ็นใช้วิธีสื่อสารผ่านสื่อทางเดียว รัฐบาลไม่สามารถพูดคุยตอบรับความต้องการใดๆ ได้ จึงอยากให้หันมาพูดคุยกัน
ด้าน ตันสรี ราฮิม ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย กล่าวว่า ทางการมาเลเซียพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกตามที่รัฐบาลไทยร้องขอ ส่วนกรอบในการพูดคุยกันนั้น รัฐบาลไทยจะเป็นผู้วางกรอบเอง
โฆษก BRN แพร่คลิปถามหาความจริงใจ
ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือราวๆ คืนวันที่ 3 มกราคม ต่อเนื่องเช้ามืดวันที่ 4 มกราคม มีผู้ใช้นามว่า Information Departement-BRN ซึ่งหมายถึงฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ "บีอาร์เอ็น" เผยแพร่คลิปเสียงประกอบภาพในเว็บไซต์ YouTube เนื้อหาเป็นการแถลงในวาระครบรอบ 15 ปีการต่อสู้เพื่อปฏิวัติในปาตานี โดยคลิปมีความยาว 11.55 นาที ปรากฏภาพผู้แถลงคือ อัลดุลการิม คาลิบ ใช้ภาษามลายู โดย อับดุลการิม เคยออกมาแถลงในนาม BRN มาแล้วหลายครั้ง
สาระสำคัญของคำแถลง ระบุถึงบทบาทและผลการดำเนินการของกลุ่ม BRN ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ว่าครบรอบ 15 ปีการต่อสู้ของประชาชนปาตานี ซึ่งเป็นการต่อสู้ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นการต่อสู้ที่เปิดประวัติศาสตร์ใหม่สำหรับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวมลายูต่ออาณานิคมสยาม (หมายถึงรัฐบาลไทย) และยังสามารถสร้างความหวาดกลัวให้กับสยามมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์อื่นๆ ในขณะเดียวกันยังเป็นการยกระดับชาวปาตานีว่า ไม่กลัว และยังกล้าจะต่อสู้ต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนปาตานีที่พร้อมจะต่อสู้ร่วมกันกับ BRN
นอกจากนี้ 15 ปีของการต่อสู้ยังมีประเด็นมากมายที่ชาวปาตานีไม่เคยได้รับจากสยาม แต่สยามกลับให้โอกาสแก่ชาวปาตานี เช่น คนที่จบศาสนาไม่มีที่สอน, หน่วยราชการส่วนใหญ่ไม่เปิดโอกาสให้กับชาวมลายูเข้าไปทำงาน, นักธุรกิจชาวมลายูมีไม่มากเท่าปัจจุบัน โดยในอดีตโอกาสทั้งหมดเป็นของคนที่ไม่ใช่ชาวปาตานี แต่ในช่วง 15 ปีนี้ สยามกลับให้โอกาส ซึ่งการให้โอกาสของสยามเป็นเพียงการซื้อใจชาวปาตานี
"สยามทำเพราะต้องการมีอิทธิพลเหนือคนมลายู โดยให้ทุกอย่าง สยามต้องการสันติภาพ แต่ถ้าเราไม่สู้ เราจะได้ทุกอย่างไหม" เป็นเนื้อหาการแถลงตอนหนึ่ง
คำแถลงยังระบุด้วยว่า หากสยามต้องการสันติภาพจริง เรายอมเจรจาได้ ปรองดองได้ แต่ถ้าการเจรจาเป็นเพียงเทคนิค เราต้องต่อต้าน ก่อนจะทิ้งท้ายว่า BRN จะต่อสู้อย่างเข้มแข็ง ไม่ช่วยและไม่สนับสนุนสยาม "เราจะชนะ สู้ต่อไปเพื่อเสรีภาพ"
---------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 การแถลงร่วมกันระหว่าง พล.อ.อุดมชัย กับ ตันสรี ราอิม (ขอบคุณ ชลธิชา รอดกันภัย ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี เอื้อเฟื้อภาพและเนื้อข่าว)
3 ภาพจากคลิปแถลงของ BRN
อ่านประกอบ : 15 ปีไฟใต้...หมุดหมายสันติสุข?