ครูพี่เลี้ยงผู้เสียสละ กับการสร้างโลกใบสวยให้"เด็กพิเศษ"ชายแดนใต้
"รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี" คือคำขวัญวันเด็กที่ "นายกฯลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบให้เด็กและเยาวชนไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติปีนี้ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 13 ม.ค.61
แต่คำขวัญของนายกฯ ดูจะเหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนที่มีโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยี ขณะที่ยังมีเด็กไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดโอกาส ไม่เพียงเพราะฐานะทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีเหตุปัจจัยจากพัฒนาการด้านร่างกาย สมอง และสติปัญญา ที่เราเรียกกันว่า "เด็กพิเศษ" อีกด้วย
สถานการณ์ "เด็กพิเศษ" ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องถือว่าเข้าขั้นวิกฤติ เพราะมี "เด็กพิเศษ" จำนวนมาก ถึงกับต้องเปิดศูนย์การศึกษาพิเศษ เพื่อรองรับเด็กกลุ่มนี้ในเกือบทุกอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ร่วมกับ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ และ ด.ต.สุไพพร หนูเสือ จากกองกำกับการสืบสวน 2 ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันจัดกิจกรรมวันเด็ก "เติมร้อยยิ้มและเสียงหัวเราะให้น้องๆ" ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดปัตตานี หน่วยบริการ อ.โคกโพธิ์ เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ 13 ม.ค.61 โดยภายในงานมีการเลี้ยงอาหารและมอบของขวัญให้เด็กๆ รวมทั้งเปิดเวทีให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถ บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนานรื่นเริง
เด็กๆ จำนวน 16 คนและผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ทุกคนสวมเสื้อสีเหลืองประจำศูนย์ฯ ร่วมกันร้องเพลง ปรบมือ และสนุกกับการละเล่นต่างๆ อย่างไม่มีทีท่าเหน็ดเหนื่อย แม้บางคนต้องนั่งรถเข็นก็อยากสนุกกับเพื่อน บางคนนั่งขยับขาบนเก้าอี้ตามแต่สภาพร่างกายของแต่ละคนที่จะเอื้ออำนวย
ตัวเลขเด็กพิเศษเฉพาะที่หน่วยบริการ อ.โคกโพธิ์ อำเภอเดียว มีมากถึง 150 คน โดยศูนย์การศึกษาพิเศษฯ รับดูแลเด็กพิเศษเพื่อพัฒนาการทั้งร่างกายและสมอง เป็นการช่วยดูแลเด็กแทนพ่อแม่ผู้ปกครองที่อาจไม่มีเวลามากพอ เนื่องจากต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ
ครูพาตีเมาะ หะยีสะอุ ครูพี่เลี้ยงเด็กพิเศษ เล่าว่า เด็กกลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เป็นลูกของพ่อกับแม่ที่อายุน้อยเกินไป หรือไม่ก็คู่สามีภรรยาที่มีบุตรตอนอายุมากแล้ว เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีปัญหา เด็กๆ จึงต้องการกำลังใจมากเป็นพิเศษ
ศูนย์การศึกษาพิเศษ หน่วยบริการ อ.โคกโพธิ์ มีห้องเรียนเพียงห้องเดียว เป็นสถานที่ที่ได้รับการอนุเคราะห์จาก กศน.โคกโพธิ์ เมื่อ 4 ปีก่อน ภายในห้องแบ่งได้ 4-5 มุม ทั้งศูนย์ฯมีครูเพียง 2 คน ช่วยกันดูแลเด็กวันละกว่า 10 คนทุกวัน
ครูจิราภรณ์ ใบดอเลาะ ครูพี่เลี้ยงเด็กพิเศษ ให้ข้อมูลว่า ในอำเภอโคกโพธิ์มีเด็กพิเศษ 150 คน มารับบริการประจำที่ศูนย์ฯประมาณ 40 คน มาทุกวันไม่เกิน 10 คน เพราะมีครูเพียง 2 คนที่คอยดูแล
"ศูนย์ฯเราเปิดวันจันทร์ถึงวันพุธ ส่วนวันพฤหัสฯและศุกร์ ครูจะลงไปตามบ้านของเด็กคนอื่นๆ ที่พิการซ้ำซ้อน ต้องทำกายภาพบำบัด และผู้ปกครองไม่สะดวกที่จะมาส่งเรียนที่ศูนย์ฯ เพราะแต่ละครอบครัวไม่ได้มีรถยนต์ทุกบ้าน จะมาส่งด้วยรถมอเตอร์ไซค์ก็ไม่ได้ เพราะเด็กส่วนใหญ่กล้ามเนื้อแขนและขาเกร็ง นั่งไม่ได้นาน" เธอเล่า
"เด็กพิเศษมีเยอะ ต้องแบ่งเป็นเด็กพิการทางสติปัญญา เด็กนอนกับที่ และเด็กที่สามารถมาทำกายภาพ จึงต้องแบ่งวันและเวลา ทั้งอยู่ที่ศูนย์ฯ และลงไปเยี่ยมเด็กตามบ้าน เพราะครู 2 คนต้องทำทุกอย่าง ตั้งแต่ทำความสะอาด ล้างจาน หุงข้าว ทำกับข้าวให้เด็ก เมื่อคนหนึ่งทำ อีกคนหนึ่งต้องดูแลเด็ก เรารับตั้งแต่อายุ 4-18 ปี เขาจะอยู่รวมกันได้ ไม่แบ่งว่าใครอายุมากหรือน้อยกว่า รักกันเหมือนพี่น้อง ไม่ค่อยทะเลาะกัน"
ครูจิราภรณ์ ยังอธิบายถึงลักษณะพิเศษของ "เด็กพิเศษ" ซึ่งเมืองไทยยังไม่มีความพร้อมให้เรียนร่วมกับเด็กปกติ เพื่อให้มีเพื่อน และอยู่ในสังคมได้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เหมือนในนานาอารยประเทศ ถือเป็นปลายทางที่เมืองไทยต้องก้าวไปให้ถึง
"บ้านเราหากเด็กพิเศษไปเรียนกับเด็กปกติจะโดนเพื่อนแกล้ง แล้วเขาจะทำอะไรเด็กปกติไม่ได้ ซึ่งเมื่อโดนล้อเลียน เขาจะมีพฤติกรรมรุนแรง แต่ครูจะรู้ว่าแต่ละคนมีจุดอ่อนอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองไม่ค่อยรู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ต้องสังเกต ต้องเรียนรู้แต่ละคน ถ้าก้าวร้าว เอาแต่ใจ ครูต้องใจเย็น ไม่โวยวาย พูดโน้มน้าวให้เขาอ่อนลง ให้รู้ว่าครูดีกับเขานะ เขาก็จะอ่อนลง ตรงกันข้าม ถ้าเขาหนัก เราไปหนักตาม เขาก็หนักกว่าเดิม แต่ละคนไม่เหมือนกัน" ครูจิราภรณ์ เล่าอย่างเข้าใจหัวจิตหัวใจของเด็ก
การสอนเด็กพิเศษไม่ใช่เรื่องง่าย ครูจิราภรณ์ บอกว่า เด็กแต่ละคนต้องทำการเรียนการสอนเฉพาะบุคคล เพราแต่ละคนจะเรียนรู้ได้คนละแบบ เนื่องจากมีปัญหาไม่เหมือนกัน จึงใช้ทักษะเดียวกันไม่ได้
"ทักษะเดียวที่ใช้ด้วยกันได้ คือทักษะชีวิตประจำวันที่ต้องสอนกันทุกคน ทุกวัน เช่น การซักผ้า ล้างจาน อาบน้ำ กินข้าว แปรงฟัน เมื่อไม่มีผู้ปกครอง เขาจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของผู้อื่น จะฝึกเขาทุกวัน สอนหุงข้าว ใช้ปลั๊กไฟฟ้า ต้องสอนย้ำๆ ซ้ำๆ เดิมๆ เขาถึงจะทำได้ ทำเป็น ไม่สอนวันละอย่าง เพราะเขาจะลืมเร็ว"
อนาคตของเด็กพิเศษแต่ละคน ทางศูนย์ฯ จะรับผิดชอบชี้ทางและสร้างสรรค์โอกาสให้พวกเขาด้วย
"พอเด็กอายุครบ 18 ปี เราจะดูความสามารถและพัฒนาการของเด็กแต่ละคนว่าสามารถไปต่อได้ทีไหนบ้าง เช่น กศน. โรงเรียนพิเศษในแต่ละด้าน โรงเรียนปกติ หรือกลับบ้าน" ครูจิราภรณ์ บอก
ผลของการมีศูนย์บริการในพื้นที่ ถือว่าเป็นที่พอใจของผู้ปกครองอย่างมาก เพราะลูกๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น
"ทุกวันนี้ผู้ปกครองดีใจ ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก จากที่ทำอะไรไม่เป็นเลย ต้องใส่เสื้อผ้าให้ตลอด ก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีเพื่อนเพิ่มขึ้น รู้จักปรับตัว ปรับอารมณ์ สำคัญคือการโอบกอดเขาให้เขาไว้ใจ ไม่กลัวอะไร มีการฝึกอบรมผู้ปกครองในการทำกายภาพบำบัด อบรมแล้วก็นำไปปฏิบัติกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ลูกจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ต้องร่วมมือกันทั้งครู ผู้ปกครอง และเด็ก คนสำคัญที่จะทำให้ลูกมีพัฒนาการดีขึ้นมากสุดคือผู้ปกครอง เพราะเด็กอยู่กับผู้ปกครองมากกว่าครู" เธออธิบาย
ครูจิราภรณ์ บอกด้วยว่า ที่ผ่านมามีไม่บ่อยครั้งนักที่องค์กรต่างๆ จะเข้ามาจัดกิจกรรมสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กพิเศษ ขณะนี้ทางหน่วยบริการอำเภอโคกโพธิ์ยังขาดแคลนงบประมาณในการซ่อมแซมห้องน้ำ และปรับปรุงห้องเรียน ตลอดจนอุปกรณ์การเรียนเพื่อพัฒนาทักษะต่างๆ
"สิ่งที่เด็กๆ และครูอยากได้เป็นของขวัญวันเด็กปีนี้ คือห้องเรียนที่มีคุณภาพดีกว่านี้ และห้องน้ำที่อยู่ใกล้กับห้องเรียน เพราะที่มีอยู่ ไกลจากห้องเรียนมาก เด็กบางคนเดินไปไม่ไหว" เธอกล่าวพลางชี้ให้ดูสภาพห้องเรียนและห้องน้ำ
สุพรรณิกา พงศ์ไทย เด็กพิเศษที่เรียนอยู่ในศูนย์ฯ เธอพิการที่ขา ไม่สามารถเดินหรือยืนนานๆ ได้ เธอเผยความรู้สึกให้ฟังว่า ดีใจมากที่มีผู้ใหญ่ใจดีมาจัดกิจกรรมให้ ได้กินอาหารอร่อย และมีของขวัญมากมาย
"วันเด็กปีนี้ขอห้องน้ำให้พวกเราด้วย ไม่ต้องการอย่างอื่น แค่นี้ก็เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด หนูพิการ ขาเดินไม่สะดวก เดินเยอะไม่ได้ จึงอยากได้ห้องน้ำที่อยู่ใกล้ห้องเรียน ทุกวันนี้ห้องน้ำอยู่ไกล รอบๆ โรงเรียนมีหญ้าเยอะ หนูกลัว" สุพรรณิกา บอก
ส่วน น้องทองกวาว เด็กพิเศษอีกคนหนึ่งซึ่งมีพัฒนาการในระดับดี และสนใจด้านไอที บอกว่า จะเรียนต่อที่ กศน.และทำตามความฝันของตนเอง คือเป็นครู เพื่อนำความรู้และกำลังใจกลับมาดูแลน้องๆ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเอง และมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุขเหมือนกับคนอื่นๆ
ขณะที่ มิลล่า มะนาหิง ประธานกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ กล่าวว่า ไม่ได้หวังให้เด็กๆ มีความสุขแค่วันนี้วันเดียว เราอยากให้พวกเขามีความสุขทุกวัน จากที่ได้คุยกับเด็กและครู ทราบว่าพวกเขาต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และฝากขอร้องให้ทุกหน่วยงานเข้ามาเยี่ยม เข้ามาให้กำลังใจ
"เด็กๆ กลุ่มนี้มีความสามารถ มีโลกส่วนตัวสูง และมีความฉลาดตามแบบฉบับของตัวเอง การเข้ามาจัดกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ หวังว่าจะมีภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาแต่งเติมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้เด็กๆ มากขึ้นในอนาคต หลังจากนี้เราจะมาร่วมกันสร้างห้องน้ำให้กับเด็กๆ" มิลล่า บอกถึงโครงการในอนาคต
มาช่วยกันสร้าง "โลกใบสวย" ให้เด็กพิเศษที่ชายแดนใต้ด้วยกัน...
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : เลขา เกลี้ยงเกลา, นาซือเราะ เจะฮะ
ภาพ : สมศักดิ์ หุ่นงาม. อับดุลเลาะ หวังหนิ
บรรยายภาพ :
1-2 กิจกรรมวันเด็ก และรอยยิ้มของเด็กพิเศษชายแดนใต้
3 ครูจิราภรณ์ ใบดอเลาะ
4 ห้องน้ำที่เด็กๆ และครูอยากขอให้ช่วยสร้างใหม่เพิ่มเติม
อ่านประกอบ :
วันเด็กฯของ "เด็กพิเศษ" ครึ่งหมื่น และ "เด็กกำพร้า" กว่า 6,300 ชีวิตที่ปลายขวาน
เรียกเสียงเฮวันเด็ก! "ผอ.อนุบาลรือเสาะ" ลงทุนแต่งชุดซุปเปอร์แมน