80 ปีไม่มีไฟฟ้า...ชาวบ้านยะลาใช้ชีวิตใต้แสงเทียน
"อยากให้ทางภาครัฐช่วยเข้ามาติดตั้งเสาไฟฟ้าในหมู่บ้านเร็วๆ เพราะพวกเราจะได้มีไฟฟ้าใช้เดินทางในช่วงกลางคืน และได้ดูทีวีเหมือนคนอื่นบ้าง"
นี่คือคำร้องขอแบบซื่อๆ ของ ด.ช.อภิรักษ์ ลาเต๊ะ เด็กน้อยในหมู่บ้านฮูยงซูแง ซึ่งเป็นบ้านย่อยของบ้านกูวิง ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา ที่อยากให้บ้านเกิดของเขามีไฟฟ้าใช้เสียที
ไม่ใช่แค่เพียงหนูน้อยอภิรักษ์เท่านั้นที่รู้สึกแบบนี้ แต่เด็กๆ และคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ไปจนถึงคนแก่คนเฒ่านับร้อยครัวเรือน กว่า 400 ชีวิต ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา เพราะหมู่บ้านของพวกเขาไม่มีไฟฟ้าใช้มานานกว่า 80 ปีแล้ว
หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ "ป่าสกายอกูวิง" บ้านของพวกเขาตั้งอยู่ไม่ห่างจากถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่าง อ.ยะหากับ อ.กาบัง จ.ยะลา มีเสาไฟฟ้าแรงสูงตั้งอยู่เรียงราย แต่คนในหมู่บ้านกลับได้แต่นั่งมอง เพราะไม่มีการต่อสายไฟฟ้าเข้ามายังหมู่บ้านของพวกตน
ที่ผ่านมา ชาวบ้านก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปตามมีตามเกิด หากบ้านไหนพอจะมีเงินมากพอ ก็ไปหาซื้อเครื่องปั่นไฟมาใช้ หรือไม่ก็ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แต่ถ้าครอบครัวไหนยากจน ก็จะใช้แสงสว่างจากแสงเทียนหรือตะเกียงในการดำเนินชีวิตยามค่ำคืน
ในอดีตเมื่อปี 2544 หรือเกือบ 20 ปีที่แล้ว รัฐบาลในสมัยนั้นเคยมอบเสาไฟโซลาร์เซลล์ให้กับชาวบ้านที่นี่ แต่ทุกวันนี้เสาไฟเหล่านั้นชำรุดเสียหายทั้งหมด ชาวบ้านบางส่วนก็พยายามเจียดเงินรายได้ที่มีอยู่ไม่มากนัก เพื่อซ่อมแซมใช้เอง บางส่วนก็ไปหาซื้อเครื่องจักรรถไถนามาทำเป็นเครื่องปั่นไฟเพื่อใช้ในบ้านและละแวกใกล้เคียง แล้วก็ต้องแบกภาระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงแทน
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้นำชุมชนหลายต่อหลายรุ่นได้พยายามทำหนังสือร้องเรียนเพื่อขอขยายเขตจ่ายไฟ ปักเสาไฟฟ้า และพาดสายไฟ แต่เรื่องกลับเงียบหายเข้ากลีบเมฆทุกครั้ง โดยเหตุผลหนึ่งที่ชาวบ้านได้รับก็คือ หมู่บ้านฮูยงซูแงอยู่ในเขตป่าสงวน แต่ก็น่าแปลกที่ทุกบ้านกลับสามารถขอ "บ้านเลขที่" ได้ และในชุมชนยังมีมัสยิด โรงเรียนตาดีกา เหมือนชุมชนขนาดใหญ่ทั่วไป ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มีอาชีพทำสวนยางพารากับสวนผลไม้ และทุกคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาจึงไม่มีไฟฟ้าใช้
อับดุลรอซิ ทาเยาะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบาโร๊ะ บอกว่า เคยเสนอเรื่องเข้าสภาท้องถิ่นเพื่อขอไปยังอำเภอเพื่อให้ดำเนินการขยายเขตไฟฟ้า โดยดำเนินการมาหลายรอบแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีความคืบหน้า โดยล่าสุดเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มีการขยายเขตไฟฟ้าแรงสูง แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีโครงการเชื่อมต่อไฟฟ้าแรงต่ำที่ใช้ในหมู่บ้าน
"ผมได้สอบถามไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดยะลา ได้รับคำตอบว่ามีปัญหาในเรื่องที่หมู่บ้านอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ" นายก อบต.บาโร๊ะ ระบุ และยอมรับตรงๆ ว่า เรื่องนี้เกินอำนาจหน้าที่ของ อบต.จริงๆ สุดท้ายจึงทำได้แค่ให้กำลังใจชาวบ้านและเด็กๆ ที่อยู่ในวัยเรียน ซึ่งต้องการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด
อาแซ สาแลง ผู้ใหญ่บ้านกูวิง บอกว่า ชาวบ้านกว่า 400 คนอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มานานกว่า 80 ปี ก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติเสียอีก บางบ้านก็มีโฉนดครอบครองที่ดินถูกต้อง บ้างก็เป็น สค.1 (หนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน) พวกเขาเคยไปร้องเรียนกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดยะลา รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะแต่ละหน่วยงานต่างโยนเรื่องกันไปมา ทำให้ชาวบ้านได้แต่ตั้งความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะมีไฟฟ้าใช้เหมือนหมู่บ้านอื่นๆ บ้าง
"มีครั้งหนึ่งโทรไปสายด่วน 1881 ซึ่งเป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) พอเล่าปัญหาให้เขาฟัง เขาถามกลับว่ายังมีอีกหรือหมู่บ้านแบบนี้" ผู้ใหญ่บ้านเสียงขื่นเหมือนกำลังเล่าตลกร้าย
ความลำบากที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ส่งผลต่อวิถีชีวิตทุกด้าน ยะโก๊ะ สาแม อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านฮูยงซูแง บอกว่า ขนาดเด็กๆ ในหมู่บ้านต้องการเรียนอัลกุรอาน ยังเรียนได้แค่วันละ 1 ชั่วโมง เพราะไม่มีไฟฟ้า ระหว่างเรียนต้องใช้ไฟส่องสว่างจากแบตเตอรี่รถยนต์ จึงมีเวลาสั้นๆ แค่ 1 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น
"เด็กๆ ที่นี่ต้องเรียนอัลกุรอานเร็วขึ้น ต่างจากเด็กในพื้นที่อื่นๆ เพราะมัสยิดเราไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้ไฟจากแบตเตอรรี่รถยนต์ เด็กจึงเรียนอัลกุรอานได้แค่วันละหนึ่งชั่วโมง เรียนเยอะเหมือนที่อื่นไม่ได้ แบตเตอรี่ที่มัสยิดใช้อยู่ 2 ปีก็ต้องเปลี่ยนครั้งหนึ่ง แบตเตอรี่ลูกละ 2,000-3,000 บาท ก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมา ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งสำคัญ และการศึกษาทุกวันนี้ หากไม่มีไฟฟ้า ก็จะได้รับผลกระทบมาก ดูได้จากเด็กที่หมู่บ้าน เรียนจบปริญญาตรีมีแค่ 3 คนเท่านั้นเอง" อิหม่ามมัสยิดฮูยงซูแง บอก
อีดีล สาแม เยาวชนหนึ่งใน 3 คนของหมู่บ้านที่เรียนจบถึงปริญญาตรี เล่าว่า เรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ตอนนี้เป็นครูที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งหนึ่ง เด็กๆ ในหมู่บ้านนี้ต้องใช้ความอดทนอย่างมากในการเรียนหนังสือ หากคนไหนไม่มีความอดทน ก็จะเรียนได้สูงสุดแค่ชั้นประถม
"อย่าว่าแต่อ่านหนังสือเลย ชุดนักเรียนผมยังไม่เคยได้รีดเหมือนเพื่อนๆ เพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ ผมเพิ่งได้รีดเสื้อตอนอยู่หอในมหาวิทยาลัยช่วงเรียนปริญญาตรี" เยาวชนผู้บากบั่นจนจบปริญญา เล่าย้อนความหลัง
ข้อจำกัดเรื่องการตั้งหมู่บ้านอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อนำไปถามผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ นายอดิมาน มะแอ ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา กลับได้รับคำตอบที่แตกต่างออกไป นายอดิมาน บอกว่า ที่ผ่านมาไม่มีใครรายงานปัญหานี้ให้ทราบ จึงคิดว่าเรื่องจบไปนานแล้ว แต่เมื่อทราบก็กำลังประสานกับกรมป่าไม้ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้เร็วที่สุด
"ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา ได้รายงานไปทางกรมป่าไม้แล้ว แต่ทางกรมฯขอเอกสารเพิ่มเติม ทางเราก็ทำหนังสือไปที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สาขานราธิวาส ให้มาร่วมตรวจสอบตามที่กรมป่าไม้ขอเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องนี้ดำเนินการตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ติดปัญหาอยู่ที่เรามีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงทำให้งานล่าช้า ฉะนั้นผมจะประสานไปยังสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สาขานราธิวาส ให้มาร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา ดำเนินการตามที่ทางกรมป่าไม้สั่งการ เพื่อส่งเอกสารกลับไปยังกรมป่าไม้ให้ครบถ้วน คิดว่าไม่น่ามีปัญหา"
"ที่ผ่านมาไม่มีใครรายงานผม นึกว่าเรื่องจบไปแล้ว ผมในฐานะที่มีส่วนรับผิดชอบจะกำชับเรื่องนี้อย่่างเต็มที่" นายอดิมาน กล่าว
จากความเคลื่อนไหวล่าสุดทำให้ชาวบ้านฮูยงซูแงยังคงตั้งความหวังว่า พวกเขาจะได้มีไฟฟ้าใช้เหมือนคนอื่นๆ ก่อนที่จะตายจากโลกอันสว่างไสวเพราะแสงไฟนี้ไปเสียก่อน...
--------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : อับดุลเลาะ หวังหนิ