ข้อมูลที่ยังสับสนเรื่อง"พื้นที่ปลอดภัย" กับข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการฯ
เหตุรุนแรงที่พุ่งเป้าไปยังประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างชัดเจนในห้วงนี้ เริ่มจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ต.ค.59 คนร้ายลอบยิง นายสัจตา ยามา นักเรียนสาธิตอิสลาม วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ได้รับบาดเจ็บ
ถัดมาอีก 1 วัน คนร้ายลอบวางระเบิดในตลาดโต้รุ่งกลางเมืองปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บกว่า 20 คน ในจำนวนนั้น 6 คนเป็นเด็กนักเรียน และ น.ส.นริศรา มากชูชิต หรือ น้องมายด์ นักเรียนสาธิต ม.อ.ปัตตานี บาดเจ็บสาหัสจนต้องตัดขา ขณะที่ มโนชา พงษ์เสาร์ หรือ เบียร์ ลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้ม ตาบอด 1 ข้าง ขาขาดอีก 1 ข้าง
วันศุกร์ที่ 28 ต.ค. มีเหตุยิง ครูสุณิสา บุญเย็น จนเสียชีวิต และ ครูชฎพร ศรีเส้ง ได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยทั้งคู่เป็นครู กศน. เหตุเกิดในพื้นที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี
วันเสาร์ที่ 29 ต.ค. คนร้ายยิง นายอวิรุทธ์ โรจน์บำรุง อายุ 27 ปี ลูกจ้างชั่วคราวของการรถไฟแห่งประเทศไทย ประจำสถานีมะรือโบ และยังเป็นอดีต อส.ประจำ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำหน้าที่กั้นแผงกั้นบริเวณจุดตัดรถไฟหน้าโรงเรียนมะรือโบ เหตุเกิดขณะ นายอวิรุทธ์ กำลังกั้นทางรถไฟเพื่อให้ขบวนรถไฟผ่าน จากนั้นคนร้ายได้ชิงอาวุธปืนพกและวิทยุสื่อสารของนายอวิรุทธ์ก่อนจะหลบหนีไป
เหตุรุนแรงทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตลอดสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค.59 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่คณะทำงานเทคนิคร่วมฯ ในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทย นัดพบปะกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในนาม “มารา ปาตานี” ที่ประเทศมาเลเซียด้วย
วาระสำคัญของการพูดคุย เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า คือเรื่องการกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ Safety Zone ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องจากการพูดคุยคณะใหญ่เมื่อต้นเดือน ก.ย.59 ที่ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะเห็นชอบร่วมกันว่าต้องเร่งกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” จากกระแสเรียกร้องอย่างกว้างขวางของภาคประชาชนในพื้นที่
การพูดคุยเที่ยวล่าสุดนี้ใช้เวลาหลายวัน มีทั้งระดับคณะทำงานเทคนิคร่วมฯ และคณะทำงานย่อยแต่ละประเด็น
คำถามก็คือ สรุปแล้ววงพูดคุยของทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้หรือไม่ในเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย”
"อักษรา" บอกคุยหลักการจบแล้ว
พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ตัวแทนรัฐบาลไทย ให้สัมภาษณ์ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ต.ค. ยืนยันว่าการพูดคุยสันติสุขฯมีความก้าวหน้าแน่นอน และยังไม่ได้ไปเสียท่าให้กับใคร
“อย่าไปบอกว่าการพูดคุยสันติสุขฯไม่มีความคืบหน้า ขณะนี้เราคุยจบกันไปแล้วเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ต่อไปก็เป็นการลงไปกำหนดพื้นที่ โดยดูว่าจะเป็นระดับหมู่บ้าน เมือง หรืออำเภอ ซึ่งเป้าหมายของเราคือยุติความรุนแรงด้วยกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ"
"ที่ผ่านมา 37 อำเภอ(ของ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของ จ.สงขลา) เป็นความรับผิดชอบที่เราดูแลอยู่แล้ว เราทำฝ่ายเดียวมา 12 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำให้ปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคนก่อเหตุไม่ร่วมมือด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ดึงเขามาร่วมมือ ถ้าเขาให้ความร่วมมือโดยไม่ก่อเหตุ พื้นที่ก็จะสงบ งานแบบนี้ไม่ใช่การโชว์ผลงาน ทำเงียบๆ ให้เรียบร้อย ไม่ต้องบอกทุกครั้ง ไม่ต้องเท่ห์ เพราะงานนี้ไม่ใช่งานโชว์” พล.อ.อักษรา กล่าว
ข้อมูลแหล่งอื่นยันยังไม่ได้ข้อสรุป
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งอื่นอีกหลายแหล่ง เช่น แหล่งข่าวในรัฐบาล ทีมงานในคณะพูดคุยฯ รวมไปถึงแหล่งข่าวใน "ครม.ส่วนหน้า" หรือ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น แหล่งข่าวทุกแหล่งยืนยันตรงกันว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯที่กินเวลาหลายวันช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค.59 ยังไม่ได้ตกลงกันเรื่องพื้นที่ปลอดภัย และยังไม่มีข้อสรุปใดๆ
“ช่วงหนึ่งของการพูดคุยฯ ตัวแทน มารา ปาตานี บอกว่าพวกเขาไม่เกี่ยวกับระเบิดตลาดโต้รุ่ง และยังเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวบุคคลจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกจับจากย่านรามคำแหงและหัวหมากในช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาด้วย เพราะเชื่อมั่นว่าไม่เกี่ยวข้องกับแผนวินาศกรรมกรุงเทพฯ” แหล่งข่าวในกองทัพ ระบุ
สอดคล้องกับ นายมะแอ สะอะ หรือ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำขบวนการพูโล ที่บอกกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ผลการพูดคุยยังตกลงกันไม่ได้เรื่องพื้นที่ปลอดภัย ทั้งยังมีข่าวกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบางส่วน เตรียมตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวขึ้นใหม่ในพื้นที่ด้วย แต่ไม่ทราบว่าบทสรุปเป็นอย่างไร
ข้อมูลของ นายมะแอ เรื่องความพยายามตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวใหม่ สอดคล้องกับแหล่งข่าวที่อ้างเป็นสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ออกมาให้สัมภาษณ์คณะสื่อมวลชนในประเทศไทย และมีการเผยแพร่ทางสื่อต่างประเทศก่อนหน้านี้ว่า สมาชิกขบวนการพูโลบางปีกได้พยายามตั้งกลุ่มขึ้นใหม่เพื่อเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้
พื้นที่ (ไม่) ปลอดภัย กับธงปริศนา
ประเด็นการกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” ร่วมกันนั้น ที่ผ่านมาตัวแทนรัฐบาลไทยในคณะพูดคุยฯได้ผลักดันมาตลอด แต่ฝ่าย มารา ปาตานี แย้งว่าควรให้ความเห็นชอบเรื่อง “ทีโออาร์” หรือร่างกรอบการพูดคุยร่วมกันเสียก่อน จึงจะหารือเรื่องอื่นๆ ในรายละเอียดได้ รวมถึง “พื้นที่ปลอดภัย”
ตัวแทนรัฐบาลไทยในคณะพูดคุยฯ เคยเสนอให้กำหนดพื้นที่ปลอดภัยในระดับอำเภอ โดยเริ่มที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เนื่องจากเป็นพื้นที่สัญลักษณ์ เพราะเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 4 ม.ค.47 เสมือนเป็นจุดเริ่มต้นของไฟใต้รอบใหม่ เกิดขึ้นที่ อ.เจาะไอร้อง
แต่ฝ่ายมารา ปาตานี มองว่าเป็นพื้นที่ที่ใหญ่เกินไป และเคยมีการตกลงกันในการหารือกลุ่มย่อยว่า น่าจะกำหนดเป็นระดับหมู่บ้านเท่านั้น
สำหรับมารา ปาตานี เป็น “องค์กรร่ม” หรือ umbrella organization ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม อาทิ พูโล บีไอพีพี จีเอ็มพี เป็นต้น ทำให้มีข่าวเรื่องความไม่เป็นเอกภาพทางความคิดปรากฏอยู่เป็นระยะ
ตลอดสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค.59 ยังมีเหตุการณ์ที่สร้างความสนใจให้กับคนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง คือมีบุคคลลึกลับนำธงหลายผืนไปแขวนและปักไว้ริมทางในพื้นที่ อ.รามัน และ อ.เบตง จ.ยะลา
ธงดังกล่าวมีพื้นสีขาว แถบสีแดงกับดำ และมีรูปดาว 4 ดวงกับเสี้ยวจันทร์สีเหลืองอยู่บนแถบดำ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 24 ต.ค. พบธงลักษณะนี้ผูกอยู่บริเวณราวสะพานในพื้นที่ ต.อาซ่อง อ.รามัน
จากนั้นวันศุกร์ที่ 28 ต.ค. ยังพบธงแบบเดียวกันหลายผืนถูกแขวนคล้าย “ธงราว” บริเวณริมถนนทางไป อ.เบตง
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าธงรูปแบบนี้มีความคล้ายคลึงกับธงของกลุ่มพูโล แต่จำนวนดาวของธงพูโลจะมี 5 ดวง ทว่าบนธงที่พบใหม่มีดาวเพียง 4 ดวง น่าจะเป็นของขบวนการพูโล พีโฟร์ (P4) ซึ่งมี นายซำซูดิง คาน เป็นแกนนำ เบื้องต้นสันนิษฐานว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงบทบาทหวังเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เพราะพูโลกลุ่มนี้ในทางปฏิบัติไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่ม มารา ปาตานี ที่ร่วมกระบวนการพูดคุยกับรัฐบาลไทยอยู่ มีแต่ชื่อว่าเป็นหนึ่งในมารา ปาตานี เท่านั้น
อย่างไรก็ดี มีข่าวบางกระแสระบุว่า เจ้าของธงชุดนี้อาจเป็นกลุ่มพูโลใหม่ที่มีข่าวว่าสมาชิกบางปีกจะสถาปนาขึ้นก็ได้
ปีกทหารบีอาร์เอ็นยึดอำนาจ?
การปรากฏโฉมของธงปริศนา ไม่ว่าจะตีความว่าเป็นกลุ่มพูโลภายใต้การนำของ นายซำซูดิง คาน หรือกลุ่มใหม่ที่มีความเคลื่อนไหวจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือความไม่เป็นเอกภาพของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ในห้วงที่ มารา ปาตานี กำลังดำเนินกระบวนการพูดคุยกับรัฐบาลไทย
หากจำกัดวงเรื่องปรากฏการณ์ของ “ธง” ว่าเป็นเรื่องภายในของกลุ่มพูโล ก็ย่อมอธิบายปัญหาเรื่องเอกภาพได้ระดับหนึ่ง
แต่ในบริบทที่เกี่ยวโยงไปถึงกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งทางการไทยเชื่อว่ามีอิทธิพลสูงสุดในการควบคุมกองกำลังติดอาวุธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็พบร่องรอยของความเห็นต่างทางความคิดไม่น้อยเช่นกัน
ที่ผ่านมา องค์ประกอบของมารา ปาตานี อ้างว่ามีสมาชิกบีอาร์เอ็นระดับแกนนำเข้าร่วมด้วย บ้างก็ว่ามีฝ่ายทหาร เช่น นายอาวัง ยาบะ (อาวัง ยาบัต) หรือ นายมะสุกรี ฮารี แต่ก็มีข้อมูลโต้แย้งว่าคนเหล่านั้นไม่ได้มีบทบาทสูงมากพอในปีกทหารของบีอาร์เอ็น
เมื่อราวเดือน ก.ย.59 มีข่าวกระเซ็นกระสายในแวดวงฝ่ายความมั่นคงไทยว่า มีการประชุม "สภาองค์การนำ" หรือ DPP ของบีอาร์เอ็นที่รัฐทางตอนเหนือรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย โดยในที่ประชุมมีการปรับตำแหน่งและหน้าที่ความรับผิดชอบของสมาชิกสภาองค์การนำบางส่วน ด้านหนึ่งก็เพื่อทดแทนสมาชิกที่เสียชีวิต ป่วย หรือชรามาก
แต่อีกด้านหนึ่งก็มีสัญญาณที่ตีความได้ว่า สมาชิก DPP ปีกทหาร ได้เข้ายึดกุมอำนาจและรับผิดชอบหน้าที่สำคัญๆ ในสภาองค์การนำเกือบทั้งหมด ทดแทนสมาชิกที่เคยหรือกำลังมีบทบาทในกระบวนการพูดคุยกับรัฐบาลไทย ทั้งในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 56 และรัฐบาลปัจจุบัน
โดยเฉพาะผลประชุมที่มีการเน้นย้ำบทบัญญัติในธรรมนูญบีอาร์เอ็น ว่าต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชปาตานีเท่านั้น โดยจะไม่ยอมเจรจากับฝ่ายไทย หรือหากจะเจรจา ผลลัพธ์ต้องนำไปสู่เอกราชเท่านั้น
น่าคิดไม่น้อยว่าเหตุรุนแรงต่อเนื่องช่วงปลายเดือน ต.ค.59 ซึ่งเป็นห้วงเดียวกับที่มีการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯระหว่างคณะทำงานของรัฐบาลไทยกับ มารา ปาตานี เพื่อหารือเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” เป็นการส่งสัญญาณจากบีอาร์เอ็นปีกทหารว่าไม่ต้องการโต๊ะพูดคุย...ใช่หรือไม่?
ขณะที่คำสัมภาษณ์ทิ้งท้ายของ พล.อ.อักษรา เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ต.ค.ที่กรุงเทพฯ ก็น่าสนใจไม่น้อย
“ตัวผมไม่ได้มีอะไรมาก ถ้าดุมา อย่างมากก็เอาคนอื่นมาแทน” หัวหน้าคณะพูดคุยฯตัวแทนรัฐบาลไทย กล่าวตอนหนึ่ง และเมื่อถูกถามถึงข่าวการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เขาตอบว่า...“ไม่รู้ ตอนนี้ทำงานมา 3 ปี ก็ทำงานอย่างเต็มที่ แต่ระดับนายพลก็มีคนเก่งจำนวนมาก”
หรือว่าสัญญาณความสำเร็จของกระบวนการพูดคุยฯ กำลังเลือนรางลงทุกที!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 ธงปริศนาที่ปรากฏโฉมใน จ.ยะลา
2 พล.อ.อักษรา เกิดผล (แฟ้มภาพ)