โอไอซีห่วงไฟใต้-หนุนพูดคุย ไทยโล่งไม่เอ่ยถึง "มารา ปาตานี" ในแถลงการณ์
ที่ประชุมสุดยอดประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และสนับสนุนให้มีกลุ่มตัวแทนชุมชนมุสลิมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสันติภาพ แต่ไม่ปรากฏชื่อองค์กร "มารา ปาตานี" ในแถลงการณ์
แถลงการณ์ของโอไอซี มีขึ้นหลังสิ้นสุดการประชุมที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันศุกร์ที่ 15 เม.ย.59 ที่ผ่านมา ระบุว่า โอไอซีขานรับรูปแบบการจัดตั้ง “กลุ่มตัวแทนชุมชนมุสลิมในภาคใต้” และการตัดสินใจเดินหน้ากระบวนการสันติภาพของรัฐบาลไทยภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซีย
นอกจากนี้ โอไอซียังเรียกร้องให้กลุ่มตัวแทนชุมชนมุสลิมดังกล่าว เปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและร่วมมือทำงานด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เพื่อรับประกันว่ากระบวนการสันติภาพจะได้รับการยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับการตระหนักถึงสันติภาพ ความสามัคคี และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทย
ขณะเดียวกัน โอไอซีเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับประกันความปลอดภัยในการเดินทางของสมาชิกกลุ่มดังกล่าวนี้ และคุ้มครองไม่ให้พวกเขาถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีระหว่างเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ
นอกจากโอไอซีได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในภาคใต้ของไทยแล้ว ยังแสดงความหวังว่ารัฐบาลไทยจะดำเนินมาตรการที่สร้างสรรค์ในการปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ รวมถึงในแถลงการณ์ร่วมไทย-โอไอซี เมื่อปี 2550 ที่มีการเน้นย้ำอีกครั้งในปี 2555 ระหว่างที่เลขาธิการโอไอซี และผู้แทนในขณะนั้น เดินทางเยือนไทยด้วย
สำหรับประเด็นนอกเหนือจากปัญหาชายแดนใต้ของไทย บรรดาผู้นำโอไอซีได้ประกาศร่วมกันว่าจะต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย ขจัดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างนิกายศาสนา และแก้ไขกรณีพิพาทในภูมิภาค พร้อมทั้งประณามอิหร่านที่แทรกแซงกิจการภายในของหลายรัฐในภูมิภาคและรัฐสมาชิกอื่นๆ
ฝ่ายมั่นคงชี้แถลงการณ์เป็นบวกกับไทย
แถลงการณ์ของที่ประชุมสุดยอด 57 ผู้นำรัฐสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย ซึ่งมีทั้งหมด 2 ข้อ จากผลประชุมรวม 218 ข้อนั้น หน่วยงานด้านความมั่นคงวิเคราะห์ว่า เนื้อหาโดยรวมยังเป็นบวกกับไทย โดยเฉพาะการไม่ระบุชื่อ “มารา ปาตานี” หรือ “ปาตานี” ในแถลงการณ์ แต่ใช้คำว่า “กลุ่มผู้แทนชุมชนมุสลิมในภาคใต้ของไทย” แทน
ทั้งนี้ “มารา ปาตานี” เป็นองค์กรตัวแทนที่ผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกระบวนการพูดคุยกับรัฐบาลไทย และพยายามล็อบบี้โอไอซีให้ยกสถานะของกลุ่มตน โดยมีรายงานความเคลื่อนไหวของมารา ปาตานี ในการเข้าพบเลขาธิการโอไอซี นายอิยาด อามี มาดานิ ระหว่างเดินทางเยือนมาเลเซีย รวมทั้งไทย เมื่อเดือน ม.ค.59 ที่ผ่านมา
ส่วนข้อเรียกร้องของ “กลุ่มผู้แทนชุมชนมุสลิมในภาคใต้” ที่ร้องขอให้รัฐบาลไทยรับรองสถานะของพวกตน และให้มอบความคุ้มครองแก่สมาชิกคณะพูดคุยสันติสุขในการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย รวมถึงปกป้องจากการถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีในระหว่างที่ยังคงเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติสุขนั้น โอไอซีก็ไม่ได้ใช้ถ้อยคำที่กดดันไทยมากเกินไป โดยใช้คำว่า “สนับสนุน” ให้ไทยดำเนินการ และเลี่ยงใช้คำว่า immunity ซึ่งหมายถึงให้รัฐบาลไทยให้ความคุ้มกันสมาชิกคณะพูดคุยฯ แต่ใช้เพียงคำว่า guarantee of safety หรือหลักประกันความปลอดภัยแทน
เนื้อหาของแถลงการณ์สุดท้ายของที่ประชุมสุดยอดผู้นำโอไอซี ถูกปรับแก้โดยได้รับการสนับสนุนจากมิตรประเทศที่สำคัญของไทย จนทำให้ข้อความที่อาจกระทบกับความมั่นคงไทยในปัญหาชายแดนใต้ถูกตัดออกไป โดยเฉพาะการไม่มีคำว่า “มารา ปาตานี” หรือ “ปาตานี” ในเอกสารทางการของโอไอซี
"ปนัดดา" ตอกย้ำยุบ ศอ.บต.ปี 45 ต้นตอไฟใต้
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า เหตุการณ์สำคัญที่หลายคนลืม แต่เป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้บริหาร คือ รัฐบาลประกาศยุบ ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พตท. 43 หรือ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 ในปี 2545 ถือเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงที่คนไทยทุกคนต้องจดจำและถือเป็นบทเรียนสำคัญสืบไป เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งหลายทั้งปวงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตราบจนทุกวันนี้
สำหรับปี 2545 เป็นช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งมี นายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพการประชุมสุดยอดผู้นำรัฐสมาชิกโอไอซี จากเว็บไซต์โอไอซี http://www.oic-oci.org/oicv3/home/?lan=en