เด่น โต๊ะมีนา : 7ข้อฮัจยีสุหลง–5ข้อ BRN รัฐให้ได้ภาคใต้สงบ
ชื่อของ ฮัจยีสุหลง บิน อับดุลกอเดร์ ยังถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในบริบทของปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้เขาจะหายตัวไปอย่างเป็นปริศนาตั้งแต่ปี 2497 หรือ 61 ปีล่วงมาแล้ว
นั่นเพราะ ฮัจยีสุหลง ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพี่น้องมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเคยยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อเพื่อขอสิทธิ์การมีส่วนร่วมในการปกครองพื้นที่ จนถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ
คนจำนวนมากเชื่อว่า ฮัจยีสุหลง หายตัวไปเพราะการเคลื่อนไหวของเขา จนถูกเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มตัวไปสังหาร
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2558 ลูกหลานของฮัจยีสุหลง จึงพร้อมใจกันจัดงานรำลึกครบรอบ 61 ปี การหายสาบสูญฮัจยีสุหลง บิน อับดุลกอเดอร์ โต๊ะมีนา ที่บ้านหลังเก่าของเขาในอำเภอเมืองปัตตานี ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่พำนักของ นายเด่น โต๊ะมีนา ลูกชายของฮัจยีสุหลง และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายเด่น เป็นประธานเปิดงาน ท่ามกลางแขกเหรื่อที่มาร่วมงานหลายร้อยคน โดยเขาเอ่ยขึ้นตอนหนึ่งว่า วันที่ 13 สิงหาคม 2558 คือวันครบรอบ 61 ปีการหายตัวไปของ ฮัจยีสุหลง การจัดงานรำลึกครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมปีที่แล้ว
"ครั้งก่อนจัดบนบ้านของพ่อ แต่วันนี้ได้มาจัดบริเวณลานหน้าบ้าน เพราะตัวบ้านกำลังบูรณะโดย ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ใช้งบประมาณปี 2557 ยุค พ.ต.อ.ทวีสอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ทีแรกได้รับเงินบูรณะ 50 ล้านบาท แต่ถูกตัดเหลือแค่ 7 ล้านบาท โดยทาง ศอ.บต.เป็นผู้ดำเนินการเองทุกอย่าง"
จาก "ต่วนมีนาลย์" สู่ "โต๊ะมีนา"
นายเด่น กล่าวต่อว่า การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกหลานได้ระลึกถึงและจดจำความดีของพ่อ ตลอดจนบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งถือเป็นวันรวมญาติของตระกูล "ต่วนมีนาลย์" และญาติๆ ก็บอกว่าน่าจะจัดทุกปี วันนี้ก็มีญาติและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 400 คนมาร่วมงาน
"รัฐหรือฝ่ายความมั่นคงภาครัฐจะมองอย่างไรผมไม่รู้ แต่ผมไม่ได้จัดขึ้นเพื่อการเมือง แค่ต้องการให้ลูกหลานไม่ลืมฮัจยีสุหลง" เขากล่าว
นายเด่น เล่าว่า "ต่วนมีนาลย์" เป็นนามสกุลเดิมของตัวเขาและพ่อ แต่ด้วยความที่คนในสมัยก่อนนับถือ "อูลามะ" โดยเฉพาะคนที่นี่ เวลานับถือใครก็มักจะเรียก คำนำหน้าชื่อว่า "โต๊ะ" เช่น อิหม่าม ก็เรียกโต๊ะอิหม่าม เมื่อเวลาผ่านไป คำว่า "ต่วน" ก็หายไปจาก "ต่วนมีนาลย์" เหลือเฉพาะ "มีนาลย์" และต่อมาก็มี "โต๊ะ" เข้ามาแทน กลายเป็น "โต๊ะมีนา"
"เอกสารของราชการที่ออกให้เราทุกใบ พ่อจะเขียน 'ต่วนมีนาลย์' มีใบหนึ่งเขียนเชื้อชาติมลายู สัญชาติไทยด้วย"
เสียดาย "ทวี สอดส่อง"
ภายในงาน นายเด่น ได้พูดถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ว่า สถานการณ์จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง รัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ได้ มีคนตายทุกวัน มีระเบิดเกิดขึ้นทุกวัน เพราะรัฐบาลไม่มีความจริงใจ
"เสียดายยุค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เขาพยายามคืนศักดิ์ศรีให้กับพี่น้องมลายูมุสลิม พยายามเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ให้มีทีวีภาษามลายูที่เป็นของประชาชน เป็นเสียงจากประชาชนจริงๆ ให้ความสำคัญกับสถาบันภาษามลายู เขาคืนศักดิ์ศรีให้ทุกอย่าง ถ้าเขายังอยู่อาจให้มีศาลชารีอะฮ์ (ศาลที่ตัดสินตามบทบัญญัติในศาสนาอิสลาม) ด้วย"
"พ.ต.อ.ทวี ประกาศทุกงานว่า ฮัจยีสุหลงไม่ใช่กบฎ ทำให้เหตุรุนแรงลดลง และสถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งประเทศไทยมีคนแบบเขาคนเดียวเท่านั้น แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว" นายเด่นย้อนเล่าถึงอดีตเลขาธิการ ศอ.บต.ซึ่งเขาชื่นชมเป็นพิเศษ
ห้ามมีอบายมุข...ปัตตานีสงบแน่
นายเด่น กล่าวอีกว่า การให้สิทธิเสรีภาพกับพี่น้องประชาชนเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย รัฐบอกมาตลอดว่าให้ไปแล้ว แต่ความจริงยังไม่ได้ให้เลย ถ้ารัฐให้จริงๆ เชื่อว่าพื้นที่นี้จะสงบ
"ที่อาเจะห์ (จังหวัดหนึ่งในอินโดนีเซียที่มีปัญหาขัดแย้งและขอปกครองตนเอง) มีการฆ่ากัน ต้องมีผู้คนล้มตายถึง 30 ปีกว่าจะดีขึ้น สุดท้ายเขาให้มีการปกครองตนเอง ผมได้มีโอกาสไปคุยกับคณะกรรมการอิสลามที่อาเจะห์ ถามเขาว่าทำไมอาเจะห์ถึงสงบ เขาบอกว่าใช้นโยบาย 3 ประการ คือ 1.ห้ามมีโสเภณี 2.ห้ามมีสุรา และ 3.ห้ามมีการพนัน ถ้าปัตตานีมีแบบนี้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็สงบ"
7+5 ถ้ารัฐไม่ให้-พื้นที่ก็ไม่สงบ
"7 ข้อเรียกร้องของฮัจยีสุหลง ที่หนึ่งในนั้นเรียกร้องขอศาลชารีอะฮ์ ผ่านมา 61 ปีแล้วยังไม่ได้เลย ทั้งที่ทำง่ายนิดเดียว ถ้าเป็นแบบนี้ไม่มีทางสงบ รัฐต้องยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง"
"7 ข้อของฮัจยีสุหลง กับ 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น (ที่เคยเสนอในการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556) ถ้าเอามารวมแล้วทำให้เป็นไปได้ สถานการณ์จะดีขึ้น ข้อเรียกร้องทั้งหมดไม่ได้ผิดรัฐธรรมนูญเลย 7 ข้อของฮัจยีสุหลง เป็นการขอมานานแล้ว แต่ 5 ของบีอาร์เอ็น เป็นการขอให้เข้ากับปัญหาปัจจุบัน เมื่อรัฐไม่ให้ พื้นที่ก็ไม่สงบ"
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ตลอด 20 ปีที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายเด่น บอกว่า ได้เสนอคณะกรรมาธิการให้แก้ปัญหาภาคใต้ทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่เคยได้รับการสานต่อ
ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ริเริ่มขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทราบว่าดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่จะสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
"สายเหยี่ยว"ขวางสันติภาพ
"ในพื้นที่มีทหาร 2 สาย คือ สายเหยี่ยวกับสายพิราบ ทำให้ปัญหาแก้ยากขึ้น ขึ้น ซ้ำยังทะเลาะกันเอง ขัดแย้งกันเอง"
"เรื่องนี้เคยมีบทเรียนมาแล้วในช่วงการพูดคุยสันติภาพ (เมื่อปี 2556) ดาโต๊ะสรี อาหมัดซัมซามินฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย ให้อุสตาซ (ครูสอนศาสนา) คนหนึ่งมาเชิญผมไปกัวลาลัมเปอร์ 1 คืน ผมก็ไป เขาถามว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น คนปัตตานีรู้หรือไม่ ผมตอบไปว่าไม่รู้ เขาบอกว่าช่วยหน่อยได้ไหม ทำให้ชาวบ้านรู้ เอาทุกกลุ่มมาคุย ผมตอบไปว่ามีเยอะ หลายองค์กรมาก เขาบอกให้เอาตัวแทนมา และชุดแรกได้เลือกกลุ่มทนายมุสลิมไปคุย พอกลับมา อุสตาซคนที่มาเป็นตัวแทนดาโต๊ะซัมซามิน ถูกยิงเสียชีวิต ทั้งๆ ที่เขาทำเพื่อให้บ้านเมืองสงบ แต่กลับไปโกธรเขา ผมเสียใจ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทหารสายพิราบรู้สึกว่าเจอปัญหา"
ทั้งหมดนี้เป็นการมองปัญหาชายแดนใต้อย่างตรงไปตรงมาของ นายเด่น โต๊ะมีนา ในวาระ 61 ปีที่บิดาของเขาหายสาบสูญไป
/////////////////////////////////////////////////
7 ข้อเรียกร้องของฮัจยีสุหลง (เสนอต่อรัฐบาล พลเรือตรีหลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ปี 2490)
1.ขอให้แต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มมาปกครองใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ให้มีอำนาจที่จะปลด ระงับ หรือโยกย้ายข้าราชการได้ บุคคลผู้นี้จักต้องถือกำเนิดในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของ 4 จังหวัด และจักต้องได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนใน 4 จังหวัดนั้น
2.ข้าราชการใน 4 จังหวัดจักต้องเป็นมุสลิมจำนวน 80 %
3.ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการของ 4 จังหวัด
4.ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา
5.ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนา แยกออกไปจากศาลจังหวัด โดยมีผู้พิพากษามุสลิม (KATH) นั่งพิจารณาร่วมด้วย
6.ภาษีเงินได้และภาษีทั้งปวงที่เก็บจากประชาชนใน 4 จังหวัดจักต้องใช้จ่ายเฉพาะใน 4 จังหวัดเท่านั้น
7.ให้จัดตั้งคณะกรรมการมุสลิมมีอำนาจเต็มในการดำเนินการเกี่ยวกับคนมุสลิมทุกเรื่อง โดยให้อยู่ในอำนาจสูงสุดของผู้นำตามข้อ 1
5 ข้อเรียกร้องบีอาร์เอ็น (ยื่นต่อคณะพูดคุยสันติภาพของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปี 2556)
1.ต้องยอมรับให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ไม่ใช่แค่ผู้ให้ความสะดวก (facilitator)
2.การพูดคุยเกิดขึ้นระหว่างชาวปาตานีที่นำโดยบีอาร์เอ็น กับรัฐบาลไทย
3.ในการพูดคุย จำเป็นต้องมีพยานจากประเทศอาเซียน องค์กรโอไอซี และองค์กรเอ็นจีโอ
4.ต้องปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมด (ที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง) โดยไม่มีเงื่อนไข
5.ต้องยอมรับว่าองค์กรบีอาร์เอ็นเป็นขบวนการปลดปล่อยชาวปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาพ ฮัจยีสุหลง
2 นานเด่น โต๊ะมีนา
3 บรรยากาศภายในงาน และบ้านหลังเก่าของฮัจยีสุหลง