อนาคตฮาลาลชายแดนใต้ (1) สามปัญหาที่นิคมอุตสาหกรรมหยุดชะงัก
"ปัญหาแรก เจ้าของที่ดินยังไม่ได้รับเงินค่าที่ดิน สอง การปรับเปลี่ยนรัฐบาล และสาม เรื่องของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่"
เป็นคำอธิบายจาก อาแด วอหะ กำนันตำบลน้ำบ่อ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี ที่ระบุถึงความล่าช้าของการเปิดเดินเครื่องศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลปัตตานี แม้ว่าตัวอาคารได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ 100% มานานแล้ว แต่จนถึงป่านนี้กลับยังไม่มีบริษัทหรือนักธุรกิจรายได้เข้ามาร่วมลงทุน
ด้วยเหตุนี้ โครงการสานฝันฮาลาลจากชายแดนใต้สู่ตลาดโลกด้วยการสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลครบวงจร บนเนื้อที่กว่า 173 ไร่ ที่ ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ 12 ปีก่อนโน้น จึงต้องหยุดชะงัก แม้จะมีการผลักดันกันมาทุกรัฐบาลก็ตาม
ที่ผ่านมา ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลปัตตานี เคยถูกวางเพลิงมาแล้ว 2 ครั้ง ทำให้ห้องประชุมใหญ่และอาคารผลิตได้รับความเสียหาย ขณะที่ช่วงก่อสร้างก็มีการลอบวางระเบิดในละแวกใกล้เคียงเพื่อโจมตีเจ้าหน้าที่ระดับสูง และเผาอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นระยะด้วย ปัจจุบันมีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.ช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อย แต่การเดินเครื่องโครงการก็ยังไม่นับหนึ่งเสียที
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มี.ค.58 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นตัวแทนของรัฐบาล คสช.เดินทางลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาอีกครั้ง และกำนันอาแดก็ได้สรุปภาพรวมของปัญหา 3 ประการ ให้คณะของรองนายกฯรับทราบ
วัตถุประสงค์สำคัญที่ พล.อ.ประวิตร ลงพื้นที่เที่ยวนี้ ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่าจะผลักดันอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นกอบเป็นกำ อันจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ในที่สุด
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการเดินทางลงพื้นที่ พล.อ.ประวิตร ได้สัมผัสกับปัญหาทั้งด้วยตัวเองและรับฟังรายงานจากผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งชาวบ้าน
เริ่มจากช่วงเดินทางด้วยรถยนต์เข้าไปยังศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลปัตตานี ปรากฏว่าถนนทางเข้าเป็นลูกรัง สองข้างทางเต็มไปด้วยป่ายางพาราสลับกับส่วนผลไม้ ทันทีที่ลงจากรถ พล.อ.ประวิตร จึงตั้งคำถามเอากับข้าราชการที่มารอต้อนรับทันทีว่า "ทำไมไม่สร้างถนนก่อนที่จะมีการสร้างตัวอาคาร ถือว่าเป็นความคิดที่แปลก"
จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวกับพี่น้องประชาชน ผู้นำศาสนา และข้าราชการในพื้นที่ว่า เมื่อศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร นิคมอุตสาหกรรมฮาลาลฮาลาลปัตตานีสามารถขับเคลื่อนไปได้ทั้งหมด จะมีอาชีพเกิดขึ้นมากมาย พี่น้องในพื้นที่จะได้ไม่ต้องไปขายแรงงานอยู่ในต่างประเทศ มั่นใจว่าอนาคตของนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลต้องสดใส พื้นที่นี้จะสงบสุข
นายมะลาดี เจะแว เจ้าของที่ดินรายหนึ่งที่ถูกนำไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลฯ กล่าวกับรองนายกฯว่า เป็นเจ้าของที่ดินกว่า 50 ไร่ แต่รัฐยังไม่จ่ายเงินค่าที่ดิน เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ จึงขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขด้วย
"วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของเจ้าของที่ดินทั้ง 7 คนฃที่ยังเป็นปัญหา ได้มีโอกาสเล่าถึงความรู้สึกและความเดือดร้อนจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล คิดว่าหลังจากนี้น่าจะมีการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐบ้างในเรื่องของที่ดินที่ยังเป็นปัญหาอยู่"
นายมะลาดี ย้ำว่า ส่วนตัวดีใจที่จะเกิดการพัฒนาขึ้นในพื้นที่ อย่างน้อยลูกหลานก็จะได้มีงานทำ ชาวบ้านไม่ต้องไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็อยากเรียกร้องขอให้ดูแลเรื่องค่าที่ดินบ้าง เพราะที่ดินที่ใช้ก่อสร้างล้วนมีเจ้าของทั้งสิ้น
ขณะที่ กำนันอาแด นอกจากได้เสนอ 3 ปัญหาใหญ่กับรองนายกฯแล้ว ยังบอกว่ารู้สึกดีใจที่รองนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจเรื่องการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ นับเป็นความหวังใหม่ของคนพื้นที่ที่จะร่วมขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลให้เกิดขึ้นจริงต่อไป
หลังรับฟังปัญหา พล.อ.ประวิตร ได้ให้นโยบายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปว่า ปัญหาพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล มอบให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้นำไปสู่การปฏิบัติโดยเร็วและต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ได้เน้นย้ำให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยการสร้างเส้นทางเข้าพื้นที่นิคมฯ พร้อมผลักดันโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เช่น การจัดตั้งศูนย์แปรรูปผลิตภัณฑ์ไก่ตามโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ เพื่อเร่งสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน รวมถึงการประสานบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ให้เข้ามาลงทุน
ด้าน นายลือชัย เจริญทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางจังหวัดไม่เคยนิ่งนอนใจ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาที่ดิน ล่าสุดมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาแล้วสำหรับงบประมาณที่จะช่วยเหลือเยียวยาเจ้าของที่ดิน ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องเอกสารเพื่อความถูกต้อง และจ่ายให้กับเจ้าของตัวจริง คาดว่าการช่วยเหลือส่วนนี้จะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือน มี.ค.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ด้านหน้าของนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลปัตตานี ที่ อ.ปะนาเระ
2 พล.อ.ประวิตร ขณะลงพื้นที่