กำพร้า 6,000 ราย หญิงหม้าย 2,800 คน ได้เวลายุติความรุนแรงชายแดนใต้
25 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กสากล หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีการจัดกิจกรรม โดยเฉพาะการเดินรณรงค์และเปิดเวทีเสวนาสะท้อนปัญหาและร่วมกันหาทางออก
ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน กลุ่มพลังมวลชนในนามเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย แกนนำสตรี เด็ก เยาวชน กาชาดจังหวัดปัตตานี และคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดปัตตานี ตลอดจนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจำนวนกว่า 500 คน ได้พร้อมใจกันเดินรณรงค์ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ
กิจกรรมปีนี้จัดขึ้นภายในแนวคิด "รวมพลังผู้หญิง เด็ก เยาวชนชายแดนใต้ ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ" โดยมี พล.ต.อัตถเดช มาถนอม ที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานเปิดงาน
สาเหตุที่การจัดกิจกรรมที่ชายแดนใต้เป็นไปอย่างคึกคัก เพราะดินแดนแห่งนี้อยู่ภายใต้อาณาจักรของความรุนแรงมานานกว่า 10 ปี มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ถึง 18,206 คน มีหญิงหม้ายกว่า 2,800 คน และเด็กกำพร้ามากกว่า 6,000 คน
พล.ต.อัตถเดช กล่าวในพิธีเปิดงาน โดยตั้งคำถามว่าทำไมความรุนแรงจึงเกิดกับเด็กและสตรี และทำไมความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงกระทบกับสตรีมากที่สุด รองลงมาคือเด็ก
อย่างไรก็ดี พล.ต.อัตถเดช บอกว่า ความรุนแรงยุติได้โดยผู้หญิง และผู้หญิงจะต้องเป็นกำลังสำคัญในการยุติ โดยผู้หญิงต้องใช้ความรักที่มีต่อสามีและลูกเป็นเกราะป้องกัน บทบาทของผู้หญิงที่ทำหน้าที่แม่บ้านถือเป็นภาระหนักที่สุด ไม่ว่าจะเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นภรรยาที่ของสามี และเป็นแม่ที่ดีของลูก
"ผมอยากเห็นสตรีใช้ความรักในการดึงสามีกลับมาในทางที่ถูกที่ควร และใช้ความเป็นแม่แนะนำลูกในทางที่ถูกต้อง" ที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ภายใต้โครงการ "ใต้ฟ้าเดียวกัน" ร่วมกับมูลนิธิกองทุนเพื่อการศึกษาและการพัฒนา หรือ EDF จำนวน 894 ทุน ทุนละ 4,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,076,000 บาทด้วย
นอกจากนั้น ยังมีเวทีเสวนาเรื่อง "เรา..จะยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพได้อย่างไร กรณีความขัดแย้งชายแดนใต้" โดย รอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ผลพวงจากสถานการณ์ความไม่สงบทำให้ขณะนี้มียอดเด็กกำพร้ามากกว่า 6,000 กว่าคน และสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือมีผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิง เพราะจะยิ่งทำให้เด็กกำพร้าต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้นกว่าเดิม ขาดผู้อุปการะดูแลเกือบจะสิ้นเชิง
"รู้สึกสะเทือนใจกับตัวเลขผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบซึ่งเพิ่มขึ้นในทุกปี ทางเครือข่ายฯก็พยายามช่วยในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนการศึกษา ทุนอาชีพ แต่ทางแก้ที่ดีที่สุดคือยุติความรุนแรง ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน"
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตลอดสิบปีไฟใต้จะพบว่า บทบาทของผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้งเริ่มเปลี่ยนไป จากเป็นแค่ผู้หญิงธรรมดาในชุมชน ก้าวสู่เป็นนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน ช่วยงานเยียวยา ลดความโกรธแค้น เกลียดชังซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรง นอกจากนั้นยังเป็นผู้นำครอบครัว
ผลพวงจากสถานการณ์พบว่า เหตุรุนแรงเกิดเฉลี่ย 4 ครั้งต่อวัน เสียชีวิต 2 คนต่อวัน บาดเจ็บ 3 คนต่อวัน และหญิงหม้าย 1 คนต่อวัน เด็กกำพร้า 2 คนต่อวัน ซึ่งการดูแลเยียวยาจิตใจที่ผ่านมา 10 ปี เรามีนักจิตวิทยาทั้งหมดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพียง 74 คนเท่านั้น
เมื่อดูกระบวนการสันติภาพ พบว่าความขัดแย้งที่สำคัญทั่วโลกมี 104 แห่ง ปรากฏว่า 41 แห่ง หรือ 39.4% ยุติด้วยการทำข้อตกลงสันติภาพ 9 แห่ง หรือ 8.7% จบลงด้วยการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงเอาชนะ ซึ่งไม่ยั่งยืน อีก 4 แห่ง หรือ 3.8% อยู่ระหว่างการคลี่คลาย และอีก 50 แห่ง หรือ 48.1% ยังแก้ไขไม่ได้
ย้อนดูของภาคใต้ เพิ่งมีการพูดคุยสันติภาพเมื่อปีที่แล้ว แต่กระบวนการเจรจาไม่ใช่แค่เรื่องบนโต๊ะ เพราะยังต้องฟังคนนอกโต๊ะ นอกห้องเจรจาที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ความจริงก็คือบนโต๊ะมีน้ำหนักแค่ 20% เท่านั้น ส่วนอีก 80% คือสิ่งสำคัญที่ทุกกลุ่มในพื้นที่ต้องช่วยกันทำ
ขณะที่ ปาตีเมาะ สะดียามู ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกลาง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะตัวแทนภาครัฐ กล่าวว่า ความรุนแรงยุติได้ หากรัฐเข้าไปสร้างพื้นที่ของผู้หญิงให้ทำกิจกรรมลดความรุนแรง ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้หญิงคนเดียว แต่ต้องใช้พลังผู้หญิงของแต่ละหมู่บ้านเพื่อเข้าไปเป็นกลไกสำคัญในการพูดคุย
อยากให้สังคมไปเยี่ยมเหยื่อความรุนแรง
นูรีดา ปานาวา ในฐานะตัวแทนเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายไปเยี่ยมเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ เพราะเด็กที่กำลังอยู่วัยน่ารัก เมื่อขาดพ่อ ขาดแม่ เด็กเหล่านี้จะเปลี่ยนไป การได้ร่วมงาน ร่วมกิจกรรมอย่างเช่นวันนี้ จะทำให้เด็กรับรู้ว่ายังมีผู้ใหญ่ มีพี่ๆ คอยเป็นกำลังใจ
"หนูเป็นคนหนึ่งที่มาจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนรองรับเด็กที่มีปัญหา ตัวเราเองสัมผัสมาตลอดกับเด็กๆ เหล่านี้ เช่น เด็กคนหนึ่งขาดแม่ตอนเรียนชั้น ป.1 ต้องมาอยู่ประจำที่โรงเรียน ได้กลับบ้านเดือนละครั้งหรือตอนปิดเทอม ถามว่าเขาขาดความอบอุ่นไหม เพราะจะมีแค่ครูที่ดูแล คอยซักเสื้อซักผ้า คอยสอนการบ้าน แต่ไม่เท่ากับเด็กที่มีพ่อมีแม่คอยสอนให้ เด็กเหล่านั้นยังมีพ่อแม่คอยกอด มันเทียบกันไม่ได้เลย"
รอมือละห์ แซเยะ ภรรยาของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ในฐานะผู้แทนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า จุดเล็กๆ ที่จะสร้างสันติภาพและร่วมยุติความรุนแรงได้ต้องเริ่มต้นจากตัวเราเองก่อน ยิ้มให้กับตัวเองและค่อยยิ้มสู่ภายนอก
อย่างไรก็ดี กับสถานการณ์ในพื้นที่ รัฐบอกว่าได้พยายามแล้ว แต่คำถามคือที่บอกจะมาพูดคุยกันนั้น ถ้าหากขาดความร่วมมือจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะสันติภาพต้องมาจากทั้งสองฝ่าย ทั้งความเป็นรัฐและความเป็นประชาชน ฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกัน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ขบวนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
2 เด็กๆ ที่ได้รับทุนการศึกษา
3 ผู้หญิงที่ขึ้นเวทีสัมมนา (จากซ้ายไปขวา) นูรีดา, รอซีดะห์, รอมือละห์, ปาตีเมาะ, เพชรดาว