ส่องชุมชนเกาะแลหนัง...ความหลัง ความหวัง และความไม่สงบ
ชื่อบ้านเกาะแลหนัง ตกเป็นข่าวครึกโครมเล็กๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์รายวันเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว หลังเกิดเหตุการณ์สุดอุกอาจเมื่อกลุ่มคนร้ายหลายสิบคนบุกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของหน่วยพัฒนาสันติ 42-3 ซึ่งประกอบกำลังร่วมกันทั้งทหารพราน ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และอาสารักษาดินแดน (อส.) ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 3 บ้านเกาะแลหนัง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา
ผลของการยิงปะทะทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย จนฝ่ายความมั่นคงต้องสั่งปิดเส้นทางเข้า-ออกหมู่บ้านนานหลายชั่วโมง และใช้เฮลิคอปเตอร์ช่วยไล่ล่าคนร้าย
ที่น่าตกใจก็คือ “บ้านเกาะแลหนัง” เป็นหนึ่งใน 8 หมู่บ้านของ ต.ปากบาง อ.เทพา หนึ่งใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่มีพื้นที่ติดต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ตลอดมาเกิดเหตุร้ายขนาดใหญ่เช่นนี้น้อยครั้งมาก
บ้านเกาะแลหนังเคยมีชื่อติดบัญชีของหน่วยงานความมั่นคงเมื่อหลายปีก่อนว่าเป็นสถานที่ฝึก "นักรบอาร์เคเค" (หน่วยรบขนาดเล็กที่เชี่ยวชาญการรบแบบจรยุทธ์) แต่ภายหลังมีการส่งหน่วยทหารเข้าไป และเริ่มชักชวนชาวบ้านให้หันมาทำฟาร์มปู ฟาร์มหอยชายฝั่ง เคยมีการพานักข่าวจากส่วนกลางลงพื้นที่เมื่อปีที่แล้วและนำเสนอข่าวกันอย่างอึงมี่ว่า บ้านเกาะแลหนังเป็นพื้นที่ปลอดภัย ปลอดจากความเกี่ยวพันกับขบวนการก่อความไม่สงบแบบ 100%
เหตุนี้เองจึงน่าสงสัยว่าทำไมบ้านเกาะแลหนังจึงยังเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอีกจนได้ ซ้ำยังเป็นการสร้างสถานการณ์ที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่รัฐที่ประกอบกำลังร่วมกันถึง 3 ฝ่ายเลยแม้แต่น้อย
เกิดอะไรขึ้นที่เกาะแลหนัง...เป็นคำถามที่ชวนติดตามยิ่ง!
กลิ่นอายหวาดระแวง
“ทีมข่าวอิศรา” เข้าพื้นที่บ้านเกาะแลหนังช่วงหลายเดือนก่อนเกิดเหตุการณ์ร้ายเมื่อค่ำวันพุธที่ 24 ส.ค. การเดินทางด้วยรถยนต์ไปยังหมู่บ้านแห่งนี้ใช้ได้เส้นทางเดียว คือจากปากทางถนนใหญ่สายหาดใหญ่-ปัตตานี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43) ลัดเลาะผ่านบ้านเกาะตีมุงระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตรก็ถึงที่หมาย
เกาะแลหนังมีสภาพเป็นที่ราบลุ่มติดอ่าวไทย ดูเผินๆ มีลักษณะคล้ายเกาะเพราะมีทะเลเวิ้งว้างอยู่เบื้องหน้า ส่วนอีก 3 ด้านก็ล้อมรอบด้วยป่าโกงกางต้นสูง ชุมชนที่นี่มีขนาดใหญ่อยู่เหมือนกัน คือมีบ้านเรือนปลูกเรียงรายกันนับร้อยหลังคาเรือน
ห้วงเวลา 1 วันกับ 1 คืนบนเกาะแลหนัง ทั้งๆ ที่มีคนในหมู่บ้านนำทางและรับรองเรื่องที่พัก แต่ไม่ว่าจะขยับไปทางไหนก็จะมีคนคอยตามคอยดูตลอด “ทีมข่าวอิศรา” ไม่สามารถถ่ายรูปภายในหมู่บ้านได้เลย แม้จะไม่มีคนห้าม แต่บรรยากาศไม่เอื้ออำนวย
กลิ่นอากาศที่ได้สัมผัสเต็มไปด้วยความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจ บริเวณที่ดูจะผ่อนคลายที่สุดคือด้านที่เป็นฟาร์มปูกับฟาร์มหอยของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่พวกเขาก็ไม่ได้อยู่ปะปนกับชาวบ้าน ทราบว่าระยะหลังมีการฝึก ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ร่วมกัน จึงมีการมาตั้งฐานร่วม 3 ฝ่ายในเวลาต่อมา
เปิดปูมเกาะแลหนัง
ที่น่าสังเกตก็คือที่เกาะแลหนังมีคนสูงอายุค่อนข้างเยอะ คุณยายวัย 80 ปีซึ่งเกิด โต และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มาตลอด เล่าให้ฟังว่าบ้านเกาะแลหนังเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ มีอายุเป็นร้อยปี ตั้งขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก ทั้งยังเป็นสถานที่พำนักของกลุ่มเชื้อพระวงศ์ดั้งเดิมของปัตตานี
“คนเก่าแก่ที่เข้ามาบุกเบิกเกาะนี้เล่าให้เมาะ (สรรพนามเรียกตนเองของหญิงสูงวัย) ฟังว่า เมื่อก่อนตอนเปิดหมู่บ้านใหม่ๆ ที่นี่มีแต่บ้านของขุนนางกับคนที่มีเชื้อสายเจ้าเก่าของรัฐปัตตานี สมัยเด็กๆ จำได้ว่าทุกคนที่นี่พูดกันด้วยคำราชาศัพท์ ทุกวันนี้ถ้าได้มีโอกาสคุยกับคนแก่ๆ ที่อายุ 100 ปีขึ้นไป จะพบว่าถ้อยคำที่พูดยังมีคำราชาศัพท์หลงเหลืออยู่ สำเนียงไพเราะเสนาะหูมาก แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครพูดกันแล้ว”
คุณยายเล่าต่อว่า ชาวบ้านบนเกาะแห่งนี้อยู่กันแบบพอเพียง หาเช้ากินค่ำ ไม่นิยมทำงานเอารวย แต่เอาแค่พอกินพอใช้และสงบสุข อาชีพหลักคือทำการประมง แต่พอหน้ามรสุมก็จะทำไร่ทำสวน เช่น แตงโม ข้าวโพด
“เมื่อก่อนที่นี่เต็มไปด้วยต้นน้อยหนาสลับกับต้นมะพร้าวซึ่งก็ยังมีเยอะอยู่จนถึงปัจจุบัน ส่วนชื่อที่เรียกว่าเกาะแลหนังนั้น เพราะที่นี่เป็นที่ร่ำลือกันในเรื่องการแสดง ชาวบ้านที่นี่เมือว่างจากออกทะเลก็จะเช่าคณะหนังตะลุง มโนราห์ มาเล่นอยู่บ่อยๆ จนเป็นที่รำลือของผู้คนนอกเกาะ”
“มีครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่นอกเกาะนี้ วันหนึ่งลูกชายเสร็จจากออกเรือก็บอกแม่ว่าจะไปเกาะ ไปแลหนัง (ภาษาใต้ หมายถึงไปดูหนัง) แล้วพ่อก็ถามแม่ว่าลูกไปไหน แม่ตอบไปว่าลูกไปเกาะแลหนัง เพราะภาษาใต้มักพูดกันสั้นๆ นับจากนั้นมาทุกคนก็เรียกกันจนติดปาก หมู่บ้านแห่งนี้ก็เลยมีชื่อว่าเกาะแลหนังไปโดยปริยาย”
คุณยายซึ่งอยู่ที่เกาะแลหนังมานานถึง 80 ปี เล่าอีกว่า แรกๆ บ้านเกาะแลหนังเป็นผืนดินผืนเดียว แต่ต่อมาถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนแยกเป็นเหมือน 3 เกาะ และคำว่าเกาะในภาษามลายูเรียกว่า “กาแล” ถ้าพูดกันด้วยภาษาถิ่น เกาะที่มีคนอาศัยหนาแน่นที่สุดคือ “กาแลลอแน” รองลงมาคือ “กาแลอเนาะรู” และสุดท้ายคือ “กาแลเมาะจิ” ที่มีอยู่เพียงครอบครัวเดียวอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวกับป่าโกงกางและต้นมะพร้าว
“เมื่อก่อนคนเฒ่าคนแก่เคยอยู่อย่างไร เดี๋ยวนี้ลูกหลานก็ใช้ชีวิตอย่างนั้น เมาะรู้สึกภูมิใจที่ลูกหลานยังมีจิตสำนึกรักถิ่นเกิด ไม่หนีไปทำงานต่างประเทศกันหมด” คุณยายวัย 80 กล่าว
ความหลังห้วงสงครามโลก
จากคำบอกเล่าของคุณยายและผู้สูงวัยอีกหลายๆ คน ได้ข้อมูลตรงกันว่า บ้านเกาะแลหนังยังมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทยเพื่อขอเดินทัพผ่านไปยังพม่าเดินหน้าสู่เอเซียกลางด้วย
“เมื่อก่อนที่นี่น่ากลัวมาก ยิ่งสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สมัยนั้นเมาะยังเป็นเด็กเล็กมาก แต่ก็จำได้ว่ามีนักรบชาวญี่ปุ่นนำเรือมาเทียบฝั่งที่หมู่บ้านของเรานานนับเดือน ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว ใครมีลูกสาวก็จับแต่งงานหมด ถ้าเป็นลูกชายก็จะส่งไปให้ญาติหรือคนรู้จักในหมู่บ้านอื่นดูแลแทนก่อน เพราะกลัวว่าทหารญี่ปุ่นจะเกณฑ์ไปเป็นกำลังรบ”
ความกลัวทหารต่างชาติทำให้เด็กๆ ไม่กล้าออกจากบ้าน และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง หลายคนก็ยังติดนิสัย ทำให้คนที่นี่ค่อนข้างเก็บตัว ไม่ชอบเดินทางไกล
“ตอนนั้นเมาะไม่มีโอกาสได้ออกไปนอกหมู่บ้านเลย ไม่มีเด็กคนไหนกล้าออกจากบ้าน จึงไม่ค่อยรับรู้ความเคลื่อนไหวของโลกภายนอกเท่าไรนัก รู้แค่ว่ามีสงครามเกิดขึ้น จนกระทั่งกองกำลังญี่ปุ่นถอนทัพกลับไปพวกเราก็ยังไม่กล้าไปไหน จึงทำให้มีน้อยคนนักที่จะรู้จักโลกภายนอก”
แผ่นดินไกลปืนเที่ยง
คำบอกเล่าของคุณยายวัย 80 ปี สอดคล้องกับ “เปาะจิ” วัย 50 ปีที่ชวนคุยขณะกำลังปลูกข้าวโพด เขาบอกว่าคนที่นี่นอกจากออกเรือแล้ว ก็จะยึดอาชีพทำสวนทำไร่ ปลูกข้าวโพด แตงโมไปตามเรื่อง
“เราอยู่กันแบบง่ายๆ ไม่ค่อยมีใครออกไปข้างนอกกัน ตัวอำเภอยังไม่ค่อยได้ไปสักเท่าไหร่ เพราะลำพังทำงานหาเช้ากินค่ำก็แทบจะหมดเวลาแล้ว ประกอบกับเส้นทางไกล สมัยเปาะจิเป็นเด็กไม่รู้จักสถานีตำรวจด้วยซ้ำ จะไปที่ว่าการอำเภอก็ตอนแจ้งเกิด หรือทำบัตรเปลี่ยนบัตรประชาชน นอกจากนั้นก็ขลุกอยู่กับงานไปวันๆ”
เปาะจิ บอกว่า ที่นี่จัดเป็นพื้นที่ไกลปืนเที่ยง อย่าว่าแต่ชาวบ้านจะออกไปหาหน่วยงานรัฐเลย เพราะในทางกลับกันก็แทบไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนเคยเข้ามา
“ทางการเพิ่งเข้าพื้นที่มาเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง กระทั่งเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น จึงส่งทหารเข้ามาอยู่”
เปาะจิ เล่าว่า เวลามีปัญหาข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านด้วยกันในหมู่บ้านแห่งนี้ จะมีระบบตัดสินข้อพิพาทตามแบบแผนประเพณีดั้งเดิม ปัญหาทุกอย่างจึงจัดการกันเองได้ แม้ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาก็ตาม
“ถึงไม่มีเจ้าหน้าที่เราก็อยู่กันได้” เปาะจิลากเสียงยาวเพื่อยืนยันว่าอยู่กันได้จริงๆ
บางสิ่งที่เปลี่ยนไป
แม้จะมีข่าวเชิงบวกจากทหารในพื้นที่ว่าโครงการพัฒนาและทำฟาร์มหอยกับฟาร์มปูประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แต่จากการพูดคุยกับชาวบ้านจริงๆ หลังคลุกคลีกันระยะหนึ่ง กลับได้รับคำตอบในแง่ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป
“ทหารเข้ามาก็ไม่ได้ช่วยอะไรชาวบ้าน เขาเข้ามาอยู่ก็จริง แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเรา อย่างโครงการเลี้ยงปู ทหารเขาให้ชาวบ้านช่วยเขาทำพื้นที่สำหรับเลี้ยง ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ของทหารหมด ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเขาจะได้อะไรกับโครงการนี้และอีกหลายๆ โครงการที่ลงมาในพื้นที่” หญิงในหมู่บ้านวัย 28 ปีบอก
เธอย้ำว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านที่นี่ยังคงใช้ชีวิตแบบเดิม...
“ทุกวันนี้เราก็ใช้ชีวิตแบบเดิม ถึงจะมีทหารเข้ามาทำงานพัฒนาก็ตาม” เธอพูดพลางชี้มือไปทางฟาร์มปูและฟาร์มหอยซึ่งมีทหารนั่งเฝ้าอยู่เงียบๆ และว่า “สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างหนึ่งหลังจากทหารเข้ามาก็คือ เมื่อก่อนคนที่นี่กลัวทหารมาก โดยเฉพาะเด็กๆ บางคนถึงกับไม่กล้าไปโรงเรียน แต่ทุกวันนี้ความกลัวลดลงเยอะแล้ว”
คำบอกเล่าของหญิงสาวอาจเป็นคำตอบของสถานการณ์ร้ายที่เพิ่งผ่านพ้นไป (24 ส.ค.) ซึ่งช่วงแรกที่ฐานหน่วยพัฒนาสันติถูกโจมตี แทบไม่มีชาวบ้านออกมาช่วย เหตุเพราะหวาดระแวงว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ขึ้นเองของบางกลุ่มบางฝ่าย แต่เมื่อมั่นใจว่าเป็นการโจมตีของกลุ่มผู้ไม่หวังดี ชาวบ้านจึงออกแรงช่วยไล่ล่าจนคนร้ายต้องทิ้งรถหนีเข้าป่าไปในที่สุด
ทั้งหมดนี้คือบางส่วนเสี้ยวของเรื่องราวที่เกี่ยวกับบ้านเกาะแลหนัง ดินแดนแห่งความหลัง ความหวัง และความไม่สงบ!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 บ้านเกาะแลหนัง
3 เหตุโจมตีฐานของหน่วยพัฒนาสันติในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านช่วยกันออกมาติดตามไล่ล่าคนร้าย