แกะรอย"พรานป่า"ถูกฆ่าต่อเนื่อง
เหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธสงครามดักสังหารชาวบ้านไทยพุทธขณะกลับจากหาของป่าที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี เสียชีวิตถึง 3 ศพ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ส.ค. ขณะที่เพียง 1 วันก่อนหน้านั้นก็เพิ่งมีข่าวพยายามฆ่าพรานหาของป่าอีกรายในท้องที่หมู่ 6 ต.ปูโละปูโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำให้น่าคิดไม่น้อยว่าเหตุใดชาวบ้านกลุ่มนี้จึงตกเป็นเป้าความรุนแรง
ในรอบปีเศษที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านหาของป่า หรืออาจจะเรียกว่า “พรานป่า” ถูกไล่ล่ามาแล้วหลายครั้ง และแต่ละครั้งมักเป็นการสังหารหมู่ด้วย
5 ส.ค.2554 คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนสงครามและอาวุธปืนพกขนาด 9 มม.ยิง นายอาจหาญ ดอกไม้เงิน, นายแคน ดอกไม้เงิน และ นายมนัส ศิริมหา เสียชีวิต หลังจากทั้งสามกับเพื่อนอีก 1 คนกำลังขี่รถจักรยานยนต์กลับจากหาของป่าในพื้นที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี เหตุเกิดบนถนนสายชนบท ท้องที่บ้านคอกวัว หมู่ 5 ต.ปล่องหอย อ.กะพ้อ
4 ส.ค.2554 คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิง นายทรงเกียรติ กุลบุตร อายุ 28 ปี อาชีพนายพราน ขณะขี่รถจักรยานยนต์แบบพ่วงข้างกลับจากหาของป่ากับเพื่อน เหตุเกิดบริเวณสะพานบ้านค่าย หมู่ 6 ต.ปูโละปูโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โชคดีแค่บาดเจ็บ ไม่ถึงชีวิต ส่วนเพื่อนปลอดภัย
27 เม.ย.2554 คนร้ายไม่ทราบจำนวนซุ่มอยู่ข้างทาง ใช้อาวุธปืนสงครามไม่ทราบชนิดยิง นายสมบัติ ปานดำ อายุ 32 ปี เสียชีวิตคาที่ เหตุเกิดที่บ้านตาบูเก๊ะ (บ้านย่อยของบ้านอูแบ) หมู่ 1 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ขณะที่ นายสมบัติ กำลังขี่รถจักรยานยนต์ไปหาของป่า หลังก่อเหตุคนร้ายยังได้จุดไฟเผารถจักรยานยนต์จนวอด และชิงอาวุธปืนลูกซองของนายสมบัติไปด้วย
เหตุการณ์ครั้งนี้นำมาสู่การ “ฆ่าล้างแค้น” ตามการสืบสวนของตำรวจ สภ.บันนังสตา ในเวลาต่อมา เมื่อกลุ่มของ นายพีระพล ปานดำ น้องชายของนายสมบัติ ถูกกล่าวหาเป็นผู้ใช้อาวุธปืนกราดยิงร้านน้ำชาของพี่น้องมุสลิมในท้องที่บ้านกาโสด ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อค่ำวันที่ 3 พ.ค.ทำให้มีชาวบ้านเสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 16 ราย เพราะคิดว่าชาวบ้านในหมู่บ้านนี้เป็นญาติกับคนร้ายที่สังหารนายสมบัติ
25 ม.ค.2554 คนร้ายไม่ทราบจำนวนลอบวางระเบิดบนถนนสายกาตอง-ยะหา บ้านปะแดรู ต.กาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา ทำให้ชาวบ้าน 11 คนจาก อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งโดยสารรถกระบะกลับจากหาของป่า เสียชีวิตจำนวน 9 ราย บาดเจ็บ 2 ราย และแรงระเบิดทำให้รถขาดสองท่อน โดยในที่เกิดเหตุพบซากสุนัขล่าสัตว์จำนวน 3 ตัว และซากหมูป่า 2 ตัวด้วย
รายชื่อผู้เสียชีวิต 9 ราย ได้แก่ นายบุญ สิริพันธ์, นายคนึง ชนะบัญญัติ, นายเสนอ ยอสมเพชร, นายเขียว ศรีทวี, นายดำรง แซ่ลิ่ม, นายคล่อง ปานลุง, นายวิน บัวก่อเพชร, นายสมศักดิ์ ยังสิน และนายน้อย เทพรัตน์
เหตุการณ์ในครั้งนั้น ตำรวจชุดสืบสวนวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นการสั่งการของแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากเมื่อไม่นานก่อนเกิดเหตุมือขวาของแกนนำขบวนการเคยพาพรรคพวกไปดักยิงชาวบ้านกลุ่มนี้ขณะออกหาของป่าบนภูเขาหลังบ้านอูยงซูแง หมู่ 6 ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา แล้วเกิดการยิงต่อสู้กัน ผลปรากฏว่ามือขวาของแกนนำถูกยิงเสียชีวิต และกลุ่มชาวบ้านหาของป่ายังได้แจ้งทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลา 14 ตามเข้าไปยึดอาวุธปืนเอ็ม 16 ของฝ่ายก่อความไม่สงบได้อีก 1 กระบอก ทำให้ฝ่ายขบวนการลอบวางระเบิดแก้แค้น
อย่างไรก็ดี ญาติของผู้เสียชีวิตบางรายได้ออกมาปฏิเสธว่าข้อมูลจากฝ่ายตำรวจไม่เป็นความจริง
1 เม.ย.2553 คนร้ายซุ่มโจมตีด้วยอาวุธสงคราม ทำให้กลุ่มพรานเสียชีวิต 6 คนบริเวณเชิงเขาบูโด ท้องที่บ้านบาดง หมู่ 6 ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ขณะนั่งรถกระบะลงมาจากหาของป่าบนภูเขา นอกจากนั้นยังมีศพสุนัข 2 ตัวและหมูป่าอีก 1 ตัวด้วย
ผู้เสียชีวิตได้แก่ นายดำรงค์ ทองจินดา, นายสุคนธ์ แก้วสำอาง, นายธนู เซ่งสีแดง, นายนิติพงษ์ เซ่งสีแดง, นายสมัย เซ่งสีแดง และ นายกำพล พรายแก้ว
นี่คือเหตุการณ์เพียงบางส่วนที่ “ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมเป็นสถิติเอาไว้ เพื่อยืนยันว่า “กลุ่มชาวบ้านหาของป่า” หรือ “พราน” คือคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตกเป็นเป้าสังหารอย่างต่อเนื่องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
และน่าสังเกตว่าทั้งหมดเป็นชาวบ้านไทยพุทธ!
“พรานป่า” วิถีชุมชนชายแดนใต้
จริงๆ แล้ว “พรานป่า” หรือ “การหาของป่า” หรือแม้แต่ “การล่าสัตว์” หาใช่อาชีพหรือการกระทำที่แปลกประหลาดหรือเป็นอันตรายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใดไม่ เพราะด้วยสภาพพื้นที่ที่มีผืนป่าปกคลุมทั้งป่าดิบชื้นและป่ายางพารา ประกอบกับมีทิวเขาอันสลับซับซ้อน ย่อมดึงดูดให้ชายฉกรรจ์ไม่ว่าจะพุทธหรือมุสลิมเข้าไปหาวัตถุดิบมาทำอาหารหรือล่าสัตว์กันตามปกติอยู่แล้ว
“พราน” ในที่นี่จึงมีทั้ง “มืออาชีพ” และ “สมัครเล่น” ประเภทนั่งว่างๆ ไม่รู้ทำอะไร ก็ชวนกันเข้าป่าไปล่าสัตว์ก็มี ของที่ได้จากป่า อาจจะเป็นพืช หน่อไม้ หรือสัตว์ที่ยิงได้ ก็มีทั้งที่นำไปขายและแจกจ่ายแบ่งปันกันกิน
“ส่วนใหญ่พรานที่นี่ไม่ได้เหมือนกับพรานแถวอีสาน แต่เป็นพรานชาวบ้านธรรมดาๆ อยู่ว่างๆ ก็เบื่อจึงต้องหาอะไรทำ และการหาของกินจากป่าคือทางออกที่ดี ได้แก้เบื่อ ได้ของกินมาทำอาหารด้วย มีปืนลูกซองหรือลูกกรดคนละกระบอกก็พากันเข้าป่าแล้ว ไม่ได้คิดอะไร” อดีตพรานในพื้นที่ซึ่งเคยเข้าป่าอยู่บ่อยๆ บอก
ในอดีตก่อนจะเกิดเหตุรุนแรงรายวันขึ้นในพื้นที่นี้ การเข้าป่าของกลุ่มพรานหรือชาวบ้านมือสมัครเล่นมักจะคล้ายคลึงกัน คือมีทั้งไทยพุทธและมุสลิมปนๆ กันไป ความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์หรือแตกต่างทางศาสนาไม่เคยเกิดขึ้น มีแต่ความเอื้อเฟื้อและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
หลายๆ พื้นที่ซึ่งเป็นหมู่บ้านของพี่น้องมุสลิม จึงยังมีความคุ้นชินกับการตามพรานไทยพุทธมาล่าหมูป่าที่ลอบเข้ามากัดกินรากพืชที่พวกเขาปลูกเอาไว้...
“เมื่อก่อนเวลามีหมูป่าเข้ามาแถวหลังบ้าน ฉันก็จะบอกให้หลานไปตามพรานไทยพุทธที่ตาชีมาเอาไป หรือเวลาที่มีวัวกับแพะที่บ้านตายใหม่ๆ เราก็จะให้เพื่อนบ้านไทยพุทธเอาไปกิน เพราะอิสลามห้ามกินสัตว์ที่ไม่ได้เชือดตามหลักศาสนา เราก็แบ่งปันกันแบบนี้” คุณยายวัยล่วงเลย 60 ปีจาก อ.ยะหา จ.ยะลา เล่าถึงสังคมพึ่งพาอาศัยด้วยมิตรจิตมิตรใจในอดีต
ส่วน “ตาชี” ที่คุณยายพูดถึงคือตำบลหนึ่งใน อ.ยะหา ซึ่งมีชาวบ้านไทยพุทธอาศัยอยู่หลายครอบครัว
ขณะที่พรานป่าผู้มีประสบการณ์รอบตัว ก็ให้ข้อมูลในทำนองเดียวกัน...
“เมื่อก่อนพรานป่าไทยพุทธเข้าไปในพื้นที่ของอิสลามได้ เพราะคนอิสลามไม่กินสัตว์ที่คนพุทธกิน ทำให้วัตถุดิบมีเยอะ บางทีคนอิสลามมาตามพวกเราไปล่าเองด้วยซ้ำ”
จากวิถีธรรมดาสู่ “ความหวาดระแวง”
แม้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะรุนแรงร้อนระอุมาตั้งแต่ต้นปี 2547 แต่กลุ่มพรานหรือ “ชาวบ้านหาของป่า” ตกเป็นเหยื่อค่อนข้างน้อย เพราะควมเป็น “วิถีชีวิตปกติ” คล้ายออกไปกรีดยาง (ในพื้นที่เรียก “ตัดยาง”) ที่ใครๆ ก็ทำกันจนแทบจะเป็นกิจวัตร
แต่ในระยะ 1-2 ปีหลังนี้กลุ่มพรานกลับถูกล่าสังหาร และหลายๆ ครั้งก็ถูกฆ่าหมู่ จนน่าคิดว่าเกิดจากสาเหตุอะไร
ชาวบ้านรายหนึ่งใน จ.ปัตตานี ซึ่งเฝ้ามองสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มาตลอด บอกว่า สาเหตุที่ทำให้พรานป่าตกเป็นเป้าช่วงปีสองปีมานี้ เพราะคนในพื้นที่มองว่าพรานป่าเป็น “สาย” ให้กับทหาร การเข้าพื้นที่หาของป่าซึ่งบางครั้งก็อยู่หลังบ้านชาวบ้าน หรือหลังหมู่บ้าน ก็เพื่อหาข่าวให้กับเจ้าหน้าที่
“บางครั้งพรานไทยพุทธเข้าไปยิงสัตว์หลังบ้านชองชาวบ้านอิสลาม จึงทำให้เกิดความหวาดระแวงในกลุ่มชาวบ้านอิสลาม แม้เราจะไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็ต้องกลัวไว้ก่อน เพราะหลายคนก็ถูกจับทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความผิด ฉะนั้นเวลาคนไทยพุทธมายิงนกหลังบ้าน ชาวบ้านก็จะคิดว่าพวกนี้ไม่ได้มายิงนกอย่างเดียว แต่มาหาข่าวด้วย”
ความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งหลายเสียงยืนยันตรงกันเช่นนี้ จะว่าไปก็มีมูลอยู่พอสมควร เพราะหลายกรณีที่เกิดความรุนแรงขนาดใหญ่ต่อพี่น้องมุสลิม ก็มีข่าวร่ำลือกันในพื้นที่ว่ามี “คนนำทาง” เป็น “พราน” ที่เชี่ยวชาญพื้นที่ เพราะจุดเกิดเหตุอยู่ในหมู่บ้านซึ่งติดกับป่าหรือชายป่าเชิงเขา หากไม่มีคนนำทางหรือเคยมาสอดแนมก่อนล่วงหน้า ไม่น่าจะเข้ามาก่อเหตุและหลบหนีได้อย่างรวดเร็ว คล่องแคล่ว ไม่หลงทาง
ข้อสันนิษฐานที่ว่านี้ แม้แต่ “อดีตพราน” ซึ่งปัจจุบันวางมือแล้วเพราะเหยียบกับระเบิดข้อเท้าขาด ก็ยอมรับว่าเป็นความจริง
“ที่ผ่านมามีคนที่เป็นสายให้เจ้าหน้าที่ ปลอมเป็นพรานเข้าไปด้อมๆ มองๆ ตามหลังบ้านชาวบ้าน ทำให้เขาระแวง และส่งผลกระทบถึงพรานจริงๆ ที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย ทุกวันนี้ใครๆ ก็รู้ว่าเสี่ยงหากจะเข้าไปในพื้นที่อิสลาม แต่ด้วยความอยาก ความโลภ ทำให้ต้องเข้าไปล่าสัตว์ในพื้นที่ของเขา ตรงนี้ที่ทำให้เกิดการยิงกันบ่อยมาก”
อดีตพรานผู้นี้เล่าว่า ความรุนแรงที่แผ่ซ่านปกคลุมไปทั่วพื้นที่ ทำให้บรรยากาศดีๆ อย่างในอดีตแทบไม่เกิดขึ้นแล้ว
“เมื่อก่อนผมเองก็เป็นพราน ชอบไปหาของป่าแถวๆ ต.ปะแต อ.ยะหา หรือไม่ก็ข้ามไปแถวบันนังสตา (จ.ยะลา) โน่นเลย ไปทีก็อยู่กันหลายวันเพื่อให้ได้ของมาเยอะๆ ส่วนที่พักก็ไม่พ้นบ้านเพื่อนพี่น้องอิสลาม กินข้าวนอนที่บ้านคนอิสลามตลอด เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปอาศัยอยู่เป็นเดือนเลย แต่หลังจากมีเหตุการณ์ความรุนแรงทุกอย่างก็เปลี่ยน เพื่อนเราไม่เป็นไร แต่ที่ไม่ใช่เพื่อนเราสิน่ากลัว”
รัฐยิงสายโจร โจรยิงสายรัฐ
อย่างไรก็ดี ในความเห็นของอดีตพรานผู้ช่ำชอง เขามองว่าระยะหลังไม่ค่อยมีพรานไปเป็นสายข่าวให้รัฐอีกแล้ว เพราะในพื้นที่มีเจ้าหน้าที่เต็มไปหมด แต่เจ้าหน้าที่เองนั่นแหละที่ปลอมเป็น “พราน” ทำให้ชาวบ้านที่เข้าไปหาของป่าเดือดร้อนเพราะถูกหวาดระแวง
“ตอนนี้ทหารตำรวจเต็มไปหมด ไม่จำเป็นต้องให้พรานมาเป็นสายข่าวให้ บางพื้นที่มีกำลังเจ้าหน้าที่มากกว่าประชากรในหมู่บ้านเสียอีก สายข่าวที่เป็นชาวบ้านจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป” อดีตพราน กล่าว และว่า
“ปัจจุบันการที่ใครจะตกเป็นเป้าของสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่จำเป็นต้องเป็นสายข่าวให้กับเจ้าหน้าที่หรอก เพราะทุกคนที่เป็นผู้บริสุทธิ์ต่างถูกกระทำหมด ไม่ว่าอิสลามหรือคนพุทธ และการกระทำของรัฐทุกวันนี้ก็ชัดอยู่ว่านิ่งเฉยทุกอย่างเพราะผลประโยชน์เอื้อ รัฐยิงสายโจร โจรยิงสายรัฐ ต่อไปชาวบ้านตายหมด จ่ายค่าเยียวยารัฐมองว่าจบแล้ว สังคมก็จะเหลือแค่เจ้าหน้าที่กับโจร”
อดีตพรานซึ่งตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจนข้อเท้าขาด กลายเป็นคนพิการ ยังเสนอทางออกในมุมมองของเขาเอาไว้อย่างน่าสนใจ
“ผมว่าต้องยึดปืนให้หมด ทุกคนห้ามมีปืน ยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐเองจะพกปืนได้ก็ต่อเมื่อแต่งเครื่องแบบเท่านั้น แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ ใครก็ไม่รู้นุ่งผ้าโสร่งถือเอ็ม 16 โจรหรือชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่แยกกันไม่ออกเลย เพราะต่างคนต่างมีปืน ถ้ายึดปืนคืนสังคมก็จะได้มีระเบียบขึ้น แต่วันนี้ใครขับรถเถื่อนพกปืนเถื่อนไม่ถูกจับถือว่าเก่ง พอถูกจับกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ไปเคลียร์ บอกว่าเด็กผม ออกมาก็ก่อเหตุเหมือนเดิม พอไม่มีเงิน ก็ไปรับจ้างห้าร้อยพันหนึ่งก็เอาแล้ว จ้างไปยิงใครก็ได้ พอถูกจับบางหน่วยก็เอากำนันผู้ใหญ่มารับรอง ก็ได้ออกไปอีก มันเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางแก้จบหรอก ส่วนรัฐเองนั่งมองเฉยเพราะผลประโยชน์ สังคมกลายเป็นว่าไม่มีกฎระเบียบ กฎหมายเป็นแค่กระดาษ ไม่ได้เอามาใช้หรือแก้ปัญหาอะไรได้เลย”
ถือเป็นความรู้สึกจาก “เสียงจริง” ของชาวบ้านที่ฝ่ายรัฐน่าเก็บไปคิดไม่น้อยเหมือนกัน!
ยิงตำรวจสายบุรีเจ็บ-บึ้มเสาไฟฟ้าที่เบตง
ด้านสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่นิ่ง และเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้เป็นช่วงวันหยุด โดยเมื่อเวลา 17.50 น.วันเสาร์ที่ 6 ส.ค. พ.ต.อ.อาซิส อูมายี ผู้กำกับการ สภ.สายบุรี จ.ปัตตานี รับแจ้งมีเหตุยิงกันบนถนนเลียบริมทะเล ปะนาเระ-สายบุรี ท้องที่หมู่ 2 บ้านบน ต.ปะเสยาวอ อ.สายบุรี จึงรีบนำกำลังรุดไปตรวจสอบ พบว่าผู้ที่ถูกยิงคือ ส.ต.อ.เอกรินทร์ แสงสว่าง อายุ 29 ปี เป็นตำรวจประจำ สภ.สายบุรี ได้รับบาดเจ็บ ล่าสุดแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรีได้ช่วยเหลือจนพ้นขีดอันตรายแล้ว
สอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ ส.ต.อ.เอกรินทร์ ได้เดินทางออกจากบ้านพักตำรวจซึ่งอยู่ห่างจาก สภ.สายบุรี ประมาณ 5 กิโลเมตร เพื่อไปเข้าเวรที่โรงพัก แต่ระหว่างทางซึ่งเป็นถนนสายเปลี่ยว มีคนร้ายจำนวน 2 คนขี่รถจักรยานยนต์พยายามตามประกบยิง แต่ ส.ต.อ.เอกรินทร์ ไหวตัวก่อน จึงชักปืนยิงต่อสู้ จนเกิดการยิงปะทะกันหลายนัด ก่อนที่คนร้ายจะเร่งเครื่องรถหลบหนี ส่วน ส.ต.อ.เอกรินทร์ ได้รับบาดเจ็บ เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
ก่อนหน้านั้น ในช่วงเช้า คนร้ายลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าริมถนนสาย กม.27-บ้านคอกช้าง หมู่ 11 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา แรงระเบิดทำให้เสาไฟฟ้าเสียหาย 1 ต้น โดยระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิดแสวงเครื่อง น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม บรรจุในกล่องเหล็ก นำไปผูกที่เสาไฟฟ้าแล้วจุดชนวนระเบิด เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบ
ฆ่าหมู่ 3 ศพชาวบ้านหาของป่า
วันศุกร์ที่ 5 ส.ค.คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนสงครามและอาวุธปืนพกขนาด 9 มม.ยิงชาวบ้านเสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 1 ราย เหตุเกิดบนถนนสายชนบท ท้องที่บ้านคอกวัว หมู่ 5 ต.ปล่องหอย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี
รายชื่อผู้เสียชีวิตประกอบด้วย นายอาจหาญ ดอกไม้เงิน, นายแคน ดอกไม้เงิน และ นายมนัส ศิริมหา ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยคือ นายอุดม แซ่ตั้ง เนื่องจากมองเห็นคนร้ายก่อน จึงปัดปืนและวิ่งหนีไปหลบในคูน้ำ
หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังรุดไปตรวจสอบและสอบสวนจนทราบว่า ชายทั้ง 4 คนกำลังขี่รถจักรยานยนต์ 2 คันกลับจากหาของป่าที่ อ.กะพ้อ มุ่งหน้าไปที่ อ.รามัน จ.ยะลา แต่เมื่อถึงจุดเกิดเหตุมีคนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนสงครามและอาวุธปืนพกขนาด 9 มม.ระดมยิงใส่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บดังกล่าว เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
เวลา 16.20 น.วันเดียวกัน คนร้ายไม่ทราบจำนวนลอบวางระเบิดทหารชุดรักษาความปลอดภัยครู (ชุด รปภ.ครู) กำลังพล 8 นาย สังกัดหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 21 ขณะกำลังเดินทางกลับจากปฏิบัติหน้าที่ รปภ.ครูโรงเรียนบ้านอินทนิล ตั้งอยู่ที่บ้านจาเราะบองอ หมู่ 5 ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี โดยใช้รถจักรยานยนต์จำนวน 4 คัน เหตุเกิดบริเวณด้านหน้าโรงเรียน ทำให้ ส.อ.ทรงชัย ชำนาญญา ได้รับบาดเจ็บ เพื่อนทหารช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบเช่นกัน
4 ผู้ต้องหายิงร้านน้ำชาบ้านกาโสดมอบตัว
ส่วนความคืบหน้าคดีคนร้ายไม่ทราบจำนวน มีรถกระบะเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนกราดยิงเข้าไปในร้านน้ำชา ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 (บันนังสตา-ธารโต) ท้องที่บ้านกาโสด ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้มีชาวบ้านเสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 16 ราย เหตุเกิดเมื่อค่ำวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นายพีระพล ปานดำ อายุ 24 ปี อดีตทหารพราน ได้เคยเข้าแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวน แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อหาดำเนินคดี
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ก.ค.พนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตาได้รวบรวมพยานหลักฐานและยื่นขออนุมัติต่อศาลจังหวัดยะลาเพื่อออกหมายจับผู้ต้องหาคดีกราดยิงร้านน้ำชาจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย นายพีระพล ปานดำ อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 28/5 หมู่ 3 ต.คีรีเขต อ.ธารโต จ.ยะลา ซึ่งเป็นเจ้าของรถกระบะอีซูซุ ดีแม็กซ์ สีบรอนซ์ทอง ซึ่งเป็นรถต้องสงสัยที่คนร้ายใช้เป็นพาหนะในการก่อเหตุ
นายสมศักดิ์ ทองดำ อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 29/1 หมู่ 3 ต.คีรีเขต อ.ธารโต จ.ยะลา นายประชอบ พันธเสน อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ 1 ต.คีรีเขต อ.ธารโต และนายเลื่อม รามแก้ว อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 80 หมู่ 1 ต.คีรีเขต อ.ธารโต
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา นายวิชาญ ศรีจันทร์อินทร์ กำนัน ต.คีรีเขต ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 รายเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ที่ สภ.บันนังสตา ได้แก่ พ.ต.อ.สุวัตต์ วงษ์ไพบูลย์ ผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา พ.อ.ยรรยง ทิพาปกรณ์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจยะลา 15 และ นายภักดี ศรีศาสนานนท์ ปลัดอาวุโส อ.บันนังสตา
อ้างเป็นการล้างแค้นไม่ใช่คดีความมั่นคง-ให้ประกันตัว
พ.ต.อ.สุวัตต์ กล่าวว่า จากการติดตามสอบสวนพยานในคดียิงร้านน้ำชาที่บ้านกาโสด สรุปว่าคดีนี้เป็นเหตุโกธรแค้นส่วนตัว ไม่ใช่เป็นคดีความมั่นคง เพียงแต่หลังเกิดเหตุกลุ่มก่อความไม่สงบได้อาศัยโอกาสนี้ออกใบปลิวโจมตีกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารแต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเป็นคดีโกธรแค้นส่วนตัว
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากพี่ชายของหนึ่งในผู้ต้องหาถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตขณะออกหาของป่า ผู้ต้องหาจึงพาพรรคพวกไปยิงชาวบ้านซึ่งคิดว่าเป็นญาติกับคนร้ายที่ยิงพี่ชายของตน เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งหมดได้ยื่นประกันตัว ซึ่งพนักงานสอบสวนได้อนุญาตให้ประกันในวงเงินรายละ 4 แสนบาท
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวบ้านหาของป่า 3 เหตุการณ์ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.กับ 25 ม.ค.2554 และ 1 เม.ย.2553 (ภาพผ่านการตกแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)