เปิดตัวเลขาฯโอไอซีคนใหม่ จับตากดดันไทยปม "โรฮิงญา-ไฟใต้-อุยกูร์"
องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี (Organization of Islamic Cooperation) เพิ่งเปลี่ยนตัวเลขาธิการเป็น นายอิยาด อามีน มาดานิ (Iyad Ameen Madani) ชาวซาอุดิอาระเบีย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
นายอิยาด อามีน มาดานิ วัย 68 ปี นับเป็นเลขาธิการโอไอซีคนที่ 10 โดยเขารับตำแหน่งต่อจาก ศ.ดร.เอ็กเมเล็ดดิน อิห์ซาโนกลู (Prof.Dr.Ekmeleddin Ihsanoglu) ชาวตุรกี ซึ่งดำรงตำแหน่ง 2 วาระ เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อสิ้นปี 2556
เลขาธิการโอไอซีคนใหม่เกิดในครอบครัวใหญ่และมีชื่อเสียงของซาอุดิอาระเบีย เขาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในประเทศบ้านเกิด และไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกา กระทั่งคว้าปริญญาสาขาการจัดการการผลิตจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอริโซนา
หลังสำเร็จการศึกษา เขากลับไปทำงานที่บ้านเกิด ผ่านงานมาแล้วทั้งธุรกิจสายการบิน เป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ชื่อดังของซาอุดิอาระเบีย เคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาซูรอ และเคยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมทั้งกระทรวงวัฒนธรรมและข้อมูลข่าวสาร นอกจากนั้นยังดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในระดับนานาชาติ ทั้งในองค์กรทางวิชาการและการกุศล
สำหรับองค์การความร่วมมืออิสลาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514) ใช้ชื่อเดิมว่าองค์การการประชุมอิสลาม ปัจจุบันมีสมาชิก 57 ประเทศ และมี 5 ประเทศผู้สังเกตการณ์ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น โอไอซีถือเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดของโลกมุสลิม และเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
โอไอซี มีสำนักงานเลขาธิการเป็นหน่วยงานบริหารกลาง ทำหน้าที่ปฏิบัติตามข้อมติและนโยบายซึ่งได้รับจากที่ประชุมสุดยอดและที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ
สำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย มีเลขาธิการที่มาจากการเลือกตั้งของชาติสมาชิก มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และแม้ซาอุดิอาระเบียจะเป็นประเทศที่มีบทบาทอย่างสูงในการก่อตั้งโอไอซี แต่ก็ไม่เคยมีชาวซาอุฯทำหน้าที่เลขาธิการเลย โดย นายอิยาด อามีน มาดานิ ถือเป็นเลขาธิการคนแรกจากซาอุดิอาระเบีย
หน้างานของโอไอซีที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง คือ กิจการชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม เช่น จีน เมียนมาร์ และไทย ขณะที่ท่าทีของเลขาธิการโอไอซีคนใหม่ ให้น้ำหนักความสนใจไปที่ปัญหาโรฮิงญา (ในเมียนมาร์) อุยกูร์ (ชาวมุสลิมในเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน) และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ทวงถามไทยปมปัญหาโรฮิงญา
แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงไทย ระบุว่า ที่ผ่านมาโอไอซีได้พยายามสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ถึงรัฐบาลไทยเพื่อสอบถามถึงการดูแลชาวโรฮิงญาที่คาดว่าเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ และถูกควบคุมตัวอยู่ในประเทศไทย แต่โดยมากมักไม่ได้รับคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากติดปัญหาการเมืองภายใน
จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยบางหน่วยประเมินว่า เลขาธิการโอไอซีคนใหม่อาจมีท่าทีกดดันไทยมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันมีปัญหาเรื่องชาวมุสลิมไม่ทราบสัญชาติจำนวนกว่า 200 คนที่พบใน จ.สงขลาด้วย ซึ่งหากรวมกับชาวโรฮิงญาที่ทะลักเข้ามาก่อนหน้านี้ ก็มีจำนวนนับพันคน จึงอาจมีการเสนอให้ไทยตั้ง "ศูนย์อพยพ" เพื่อดูแลคนมุสลิมเหล่านี้ก็ได้ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลไทยจะแสดงท่าที่ชัดเจนว่าไม่มีความปรารถนาให้เปิดศูนย์อพยพขึ้นในประเทศก็ตาม
หนึ่งขวบปียังไร้ทางออก
ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของชาวโรฮิงญา ปรากฏเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อต้นปี 2556 เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบและนำกำลังเข้าช่วยเหลือมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 1,000 คน ซึ่งมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ขณะถูกกักตัวอยู่ในโกดังแห่งหนึ่งย่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา
หลังจากนั้นก็มีการพบชาวโรฮิงญาตามป่าเขาในภาคใต้ตอนล่างอีกจำนวนไม่น้อย ทั้งหมดถูกควบคุมตัวและแยกกักตามห้องกักต่างๆ เพราะอยู่ในสถานะ "ผู้หลบหนีเข้าเมือง" อย่างไรก็ดี ในส่วนของผู้หญิงตั้งครรภ์และเด็ก ทางการไทยได้ส่งไปพำนักยังบ้านเด็กและครอบครัวในหลายจังหวัด
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมามีข่าวโรฮิงญาประท้วงแหกห้องกักหลายครั้ง โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นเพราะต้องอยู่รวมกันอย่างแออัดในพื้นที่แคบๆ เป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี ปัญหาโรฮิงญาไม่สามารถแก้ไขได้ในแง่ของการผลักดันกลับประเทศ เนื่องจากเมียนมาร์ไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองของตน จึงไม่สามารถส่งกลับเมียนมาร์ได้ และหากผลักดันออกทางทะเลนอกน่านน้ำไทย ก็จะถูกประท้วงจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและชาติตะวันตก
เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2557 นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพิ่งเดินทางลงพื้นที่และประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี โดยเน้นเรื่องป้องกันและปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ซึ่งเชื่อว่าใช้ไทยเป็นทางผ่านต่อไปยังมาเลเซีย แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าหรือมาตรการใดๆ ออกมาชัดเจนนัก
"มุสลิมอุยกูร์"ปัญหาใหม่
ในขณะที่ไทยยังไม่สามารถจัดการปัญหาโรฮิงญาได้อย่างเป็นรูปธรรม กลับปรากฏปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก เมื่อกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 (ตม.6) จ.สงขลา ได้จับกุมชาวมุสลิมไม่ทราบสัญชาติ มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก จำนวนกว่า 200 คน ในป่ายางพาราเขตรอยต่อหมู่ 10 บ้านคลองต่อ ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ กับ ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เบื้องต้นจึงได้ควบคุมตัวเอาไว้ในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมือง
มุสลิมไม่ทราบสัญชาติกลุ่มนี้มีราวๆ 220 คน แยกเป็นชาย 78 คน หญิง 60 คน และเด็ก 82 คน โดยทั้งหมดไม่มีเอกสารหลักฐานยืนยันว่าเป็นบุคคลสัญชาติใด แต่อ้างตัวว่าเป็นชาวตุรกี อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อ จึงประสานเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศไทย เข้าร่วมตรวจสอบและพิสูจน์สัญชาติ
อย่างไรก็ดี มีข่าวบางกระแส โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง "ฮิวแมนไรท์วอทช์" ระบุว่าชาวมุสลิมเหล่านี้น่าจะเป็น “ชาวอุยกูร์” ที่หลบหนีออกจากเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน หลังสถานการณ์ในพื้นที่ตึงเครียดจากปัญหาการปะทะกันระหว่างชาวอุยกูร์มุสลิม ชนพื้นเมืองของซินเชียง กับชาวฮั่นซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของจีน อีกทั้งยังมีความเคลื่อนไหวต่อสู้แบ่งแยกดินแดนจากชาวอุยกูร์หัวรุนแรงด้วย ทำให้ถูกรัฐบาลจีนกดดันอย่างหนัก
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่า ชาวมุสลิมกลุ่มนี้น่าจะเป็นเหยื่อของขบวนการนำพาเพื่อใช้เส้นทางผ่านไทยส่งต่อไปยังประเทศที่สาม โดยเฉพาะมาเลเซีย คล้ายกับโรฮิงญา
ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มี.ค. ตำรวจ สภ.ปาดังเบซาร์ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา สามารถจับกุมมุสลิมต่างด้าวได้อีก 77 คน เป็นชาย 27 คน หญิง 18 คน และเด็ก 32 คน ถูกปล่อยทิ้งไว้ริมถนนในเขตเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยถูกกดดันจากสหรัฐอเมริกา และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนให้รับดูแลชาวมุสลิมเหล่านี้เป็นการชั่วคราว อย่าเพิ่งด่วนผลักดันออก หรือส่งกลับประเทศจีน เพราะอาจไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะหากชาวมุสลิมกว่า 200 คนนั้นเป็นชาวอุยกูร์ ขณะที่ทางการจีนเองก็ประสานเพื่อขอพิสูจน์สัญชาติมุสลิมเหล่านี้
"ยิ่งลักษณ์"โพสต์เฟซบุ๊คดูแลอุยกูร์
แม้ขนาดของปัญหา "ชาวมุสลิมไม่ระบุสัญชาติ" ซึ่งสงสัยว่าเป็นชาวอุยกูร์ จะเล็กกว่าปัญหาโรฮิงญาในแง่ของปริมาณ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับแสดงท่าทีในเรื่องนี้ ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊คอธิบายถึงความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือ สะท้อนว่ารัฐบาลกำลังถูกกดดันจากปัญหานี้ไม่น้อยทีเดียว
"รัฐบาลไทยกำลังประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง โดยขณะนี้รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือดูแลบุคคลทั้งหมด โดยเฉพาะเด็กและสตรี ทั้งในรูปของอาหาร ที่พัก ยารักษาโรค และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ตามมาตรฐานสากลและธรรมเนียมปฏิบัติอันยาวนานของไทย ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจได้ว่าฝ่ายไทยจะดำเนินการเรื่องนี้โดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อน ความเอื้ออาทร และคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นฐานของหลักการมนุษยธรรม"
เป็นข้อความที่ปรากฏในเฟซบุ๊คของนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ตั้งแต่ตัดสินใจยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 นายกฯยิ่งลักษณ์ไม่เคยให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย ทั้งๆ ที่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่และสะเทือนขวัญเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่กลับแสดงท่าทีในกรณีชาวมุสลิมไม่ระบุสัญชาติ ซึ่งสงสัยกันว่าเป็นชาวอุยกูร์
พิจารณาจากท่าทีของนายกฯแล้ว เรื่องนี้ย่อมไม่ธรรมดาและคงไม่จบง่าย!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เลขาธิการโอไอซีคนใหม่
2 ศ.ดร.เอ็กเมเล็ดดิน อิห์ซาโนกลู (ขวา) ส่งมอบหน้าที่ให้กับ นายอิยาด อามีน มาดานิ (ซ้าย)
3-4 ชาวมุสลิมไม่ระบุสัญชาติ ซึ่งสงสัยว่าเป็นชาวอุยกูร์ ที่ถูกควบคุมตัวได้ในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ จ.สงขลา (ภาพโดย สุเมธ ปานเพชร)
ขอบคุณ : ภาพที่ 1-2 จากเว็บไซต์โอไอซี